ครอบครัวหัวแห้ว 1
ครอบครัวหัวแห้ว…อยู่ด้วยกันสองคนพ่อลูก พ่อชื่อแห้ว ลูกชื่อยินดี แม่ทิ้งยินดีไปตั้งแต่อายุ 4 ขวบ พ่อเปิดร้านขายหนังสือ ทุกๆ เช้าพ่อต้องตื่นมาทำงานบ้าน ไปส่งยินดีที่โรงเรียนก่อนเปิดร้าน บ่อยครั้งที่พ่อไปส่งยินดีที่โรงเรียนด้วยความเร่งรีบ เพราะยินดีตื่นสาย หรือไม่พ่อก็คุยกับเพื่อนที่ร้านกาแฟจนลืมดูนาฬิกา พ่อโดนคุณครูตักเตือนเรื่องการมาสายของยินดีเสมอ วันหนึ่งพ่อทำอาหารมื้อพิเศษให้ยินดี นั่นก็คือ “ไข่ต้ม” ยินดีไม่กิน ไม่อยากกินจึงออกไปรอพ่อหน้าบ้านเพื่อไปโรงเรียน แต่เย็นนั้นกลับมาจากโรงเรียน ยินดีหิวมาก ยินดีไปที่โต๊ะกินข้าวทันที ไข่ต้มมื้อเช้ายังอยู่ ยินดีกินจนหมด แล้วพบว่ามันช่างเป็นไข่ต้มที่อร่อยที่สุดเลย…ยินดีเดินไปที่ครัวเห็นความตั้งใจของพ่อในการทำกับข้าว ครัวถึงเลอะเทอะขนาดนี้ ยินดีรู้สึกเสียใจที่ไม่ยอมกินข้าวเช้ามื้อนี้ ทุกวันเสาร์พ่อจะพายินดีและเพื่อนๆ ไปเที่ยว เพื่อนยินดีจะมาที่บ้านเพื่อให้พ่อปั่นสามล้อพาไปเที่ยวกัน เพื่อน ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ไป เพราะพ่อแม่ของเขาไม่มีเวลาว่างพาไปเที่ยวเหมือนพ่อของยินดี จนเพื่อนๆ อยากให้พ่อแห้วเป็นพ่อของทุกคน พ่อชอบพาไปให้อาหารปลา ระหว่างทางกลับจะแวะกินน้ำเต้าหู้ของคุณตาที่ขายบนรถเข็นเป็นประจำ ร้านน้ำเต้าหู้นี้จะเปิดเพลงจากวิทยุให้ฟังเสมอ คุณตายังบอกพ่ออีกว่า “หากอยากลืมความทุกข์ เราก็แค่ร้องเพลง” เมื่อพระอาทิตย์ตกดินพ่อจะไปส่งเพื่อนของยินดีที่บ้าน
พ่อเป็นคนเลี้ยงลูกด้วยการตี พ่อบอกถ้าไม่ตีให้เจ็บก็ไม่จำ แต่พ่อจะสอนให้เห็นสิ่งที่ถูกต้องและบอกสาเหตุที่ตี
วันหนึ่งคุณครูประกาศในห้องเรียนว่าจะมีการแข่งขันกีฬาสี ขอความร่วมมือผู้ปกครองให้ส่งนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมตามความถนัดของนักเรียน พ่อยกมือทันทีให้ยินดีแข่งขันว่ายน้ำ หลังจากการประชุม ยินดีถามพ่อว่า “พ่อจำผิดรึเปล่าหนูว่ายน้ำไม่เป็นนะ” พ่อบอก “ลูกสามารถลอยตัวได้ ก็ถือว่าลูกว่ายน้ำเป็นแล้ว” การฝึกซ้อมว่ายน้ำของยินดีคือ หัดท่าทางต่างๆ ในทีวี เพราะพ่อไม่มีเวลาพาไปสระ พ่อต้องทำงานแต่พ่อจะแวะมาให้กำลังใจยินดีเป็นระยะๆ จนถึงวันกีฬาสี ยินดีนึกถึงคำที่พ่อบอก “มองท้องฟ้า ตีมือให้สุดแรงเกิด แล้วใช้ชัยชนะก็จะเป็นของเรา” ยินดีเตรียมพร้อมเมื่อเสียงปืนดังขึ้น รีบพุ่งลงน้ำด้วยความเร็วสูง จากนั้นก็รีบหมุนมือตีน้ำไปสุดแรงเกิด เสียงเชียร์ดังสนั่นจนแยกไม่ออกว่าเสียงไหนเสียงพ่อ ว่ายไปสักพักยินดีได้ยินเสียงร้องเฮดังมาก ยินดีคิดว่าตัวเองต้องถึงเส้นชัยแล้วแน่ๆ แต่แล้วเสียงกองเชียร์ก็เงียบไป ยินดีเอื้อมมือแตะขอบสระ พ่ออุ้มยินดีขึ้นจากน้ำ พ่อบอกเดี๋ยวเราไปเลี้ยงฉลองกัน ด้วยความโกรธ ยินดีจึงพูดไปว่า “เลี้ยงฉลองอะไรอีกหละ รางวัลก็ไม่มี หนำซ้ำยังว่ายน้ำกลับไปที่เดิมอีก” พ่อรีบตอบ “ก็ลูกได้รางวัลว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์ชนะใจพ่อไง” 555
บ่ายวันอาทิตย์พ่อถือลังกระดาษมาพร้อมลูกหมา 2 ตัว ยินดีดีใจมาก ทั้งอาบน้ำและตั้งชื่อลูกหมาว่า จุ๋ม กับ จิ๋ม บางครั้งแอบพาเจ้าจุ๋มและจิ๋มเข้าไปนอนด้วย รุ่งเช้ายินดีหาจุ๋มและจิ๋มหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เดินออกมาหน้าบ้านก็เห็นพ่อโบกมือให้รถคันที่ขับเคลื่อนออกไป พ่อบอกเจ้าของหมามารับไปแล้ว มันถูกลืมไว้หน้าสถานีรถไฟ นายรถไฟสงสารเลยฝากพ่อเลี้ยงไว้ ยินดีร้องไห้เสียใจที่ต้องจากจุ๋มและจิ๋ม พ่อบอกยินดีว่า “แค่เราดูแลรักษามันให้ดี มันก็รู้ว่าเรารักมัน ความรักในบางครั้งเราต้องเสียสละรู้ไหมลูก
พ่อชอบสอนให้เข้มแข็ง ไม่ขี้แยหรือร้องไห้เมื่อเจอปัญหา พ่อบอกเสมอว่า
– เสียเหงื่อให้กับงาน ดีกว่าเสียน้ำตาลให้มดแดง
– บนยอดเขา มีเพียงเหล่าผู้กล้า…ที่พิชิตมันได้
คำคมที่ประทับใจ
1. หากอยากลืมความทุกข์ เราก็แค่ร้องเพลง
2. แค่เราดูแลรักษามันให้ดี มันก็รู้ว่าเรารักมัน ความรักในบางครั้ง เราต้องเสียสละ
3. เสียเหงื่อให้กับงาน ดีกว่าเสียน้ำตาลให้มดแดง
4. บนยอดเขา มีเพียงผู้กล้า…ที่พิชิตมันได้
ขอบคุณข้อมูล
กนกพร คงสุวรรณ. (2557). ครอบครัวหัวแห้ว 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก.