นิสัย จะใช้อย่างไรให้เป็นประโยชน์
นิสัย คำสั้น ๆ และน้ำเสียงเฉพาะตัวที่วิทยากรท่านหนึ่งมักใช้เป็นคำลงท้ายที่พวกเราชาวสำนักหอสมุดกลางจะได้ยินตลอดการอบรมจนติดหูและทำให้อดคิดถึงเจ้าของวลีนี้ไม่หาย หวังว่าสักวันสำนักหอสมุดกลางจะได้เชิญท่านมาเป็นวิทยากรที่ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานอีกสักครั้ง
เมื่อพูดถึงนิสัยก็บังเอิญมาพบหนังสือชื่อ “ใช้นิสัยให้เป็นประโยชน์” หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้กลั่นกรองจากประสบการณ์ 30 ปีของตนเองจนได้เครื่องมือที่อยากให้ทุกคนได้ใช้ในการเผชิญกับความผิดพลาดและเอาชนะมัน ด้วยคนเราอาจยังไม่รู้ หรือรู้เป็นอย่างดีว่าลักษณะนิสัยเดียวกับที่นำความสำเร็จมาให้ก็สามารถทำให้ล้มเหลวได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการที่แต่ละคนจัดการกับนิสัยของตัวเองจะเป็นตัวบ่งบอกว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ดังนั้นหากเราจัดการกับลักษณะนิสัยได้ดีมันจะเป็นข้อดีและในทางกลับกันมันจะกลายเป็นสาเหตุของวิกฤตหากจัดการกับมันไม่ได้ ผู้เขียนสรุปว่าวิกฤตส่วนใหญ่เกิดจากลักษณะนิสัย 7 ประการได้แก่
1. อัตตา: ฉันคือยอดมนุษย์ การจะประสบความสำเร็จคือคนที่มีอัตตาสูงพอประมาณ แต่อัตตาก็เป็นตัวทำลายด้วยเช่นกัน อัตตามีความหมายประมาณเดียวกับ ยโส หรือ โอหัง ตัวอัตตาเองไม่ได้ดีหรือแย่คนอัตตาสูงคิดถึงแต่ตนเองจนมองไมเห็นความต้องการของผู้อื่น การควบคุมอัตตาต้องอ่านรู้อารมณ์ของตนเองว่ารุนแรงขนาดไหน พฤติกรรมของอัตตาที่ทำให้เกิดผลเสียคือ การสำคัญตนผิดว่ามีสิทธิ์ในบางสิ่งโดยไม่ได้คิดว่าจริง ๆ แล้วสมควรได้รับหรือไม่ บางเรื่องควรเสี่ยงหรือไม่ ความหยิ่งผยองต้องการคำชมจากผู้อื่นตลอดเวลา การตีโพยตีพายทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ การไม่ยอมรับความผิดพลาด วิธีดึงอัตตากลับมาจากเครื่องมือ POWER Pinpoint คือวิเคราะห์อัตตาในชีวิตของคุณอย่างเพ่งพินิจ Own it ยอมรับว่าหากไร้อัตตาแล้วความอ่อนน้อมถ่อมตนนำไปสู่ชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ
2. การปฏิเสธ: ลืมตา แต่ไม่เห็น บางครั้งการปฏิเสธไม่ใช่ความกลัว การปฏิเสธมีรูปแบบที่มักทำงานร่วมกันในการสร้างความเชื่อผิด ๆ และนำไปสู่ความไม่สมดุล คือ 1. ไม่เชื่อว่ามันเกิดขึ้น เช่น คนสูบบุหรี่แม้จะมีหลักฐานข้อพิสูจน์ถึงอันตรายมากมาย ความไม่ใจแข็งที่จะหยุดได้ ทำให้พวกเขาเปลี่ยนความเชื่อใหม่ (ว่าฉันไม่เป็นมะเร็งปอดหรอก) เพื่อจะได้สูบบุหรี่ต่อไป (น.53) 2. ฉันเป็นข้อยกเว้น อาจเพราะคิดว่าตนเองเป็นคนฉลาดมาก หรือเป็นคนใหญ่คนโต 3. ใคร ๆ ก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะฉะนั้นคงไม่เป็นไร เช่น สถาบันหรือองค์กรที่ทุกคนใช้การปฏิเสธเป็นกลไกป้องกันตนเอง คนที่มีความคิดอิสระอาจรู้สึกถูกกดดันให้คล้อยตามกลุ่ม (น.63) 4. สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพราะฉะนั้นฉันไม่จำเป็นต้องปรับตัว 5. ถ้าไม่มองอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกินไปทุกอย่างจะดีเอง เช่น การรู้จักกันเพียง 4 สัปดาห์แล้วจะแต่งงานกันด้วยเห็นว่าเขามีคุณสมบัติดีพร้อมนั้น ที่ถูกต้องควรศึกษากันอย่างลึกซึ้งให้ถ่องแท้ก่อน (น.71) 6.ฉันอยากได้มาก เพราะฉะนั้นไม่เป็นไรหากว่าฉันจะทำอะไรก็ตามเพื่อให้ได้มา คนบางคนที่ได้รับความสำเร็จมาก ๆ ก็อยากได้รับชื่อเสียงตลอดจนไม่คิดแยกแยะว่าสิ่งที่ทำไปดีหรือไม่ดี เช่น ลอกเลียนผลงานคนอื่นจากกรณีตัวอย่าง (น.77-78) 7.การรับรู้ที่ไม่สอดคล้องกัน 8.ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม ฉันไม่ได้เสพติด การแก้ข้อเสียของการปฏิเสธคือ การรู้จุดบอดของตัวเราเองและการยอมรับ
3. ความกลัว: เผชิญหน้ากับปีศาจ ความกลัวสามารถเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงฉุดที่ทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง เมื่อเจอกับสิ่งที่ทำให้เราตกใจกลัวสมองจะปล่อยสารเคมี 2 กลุ่มออกมาคือ เอนโนแคนนาบินอยด์ และโอปิออยด์ สารนี้จะทำให้เราไม่รู้สึกเจ็บ มีพลังและความคิดที่ชัดเจนซึ่งจะช่วยได้ในขณะที่เราต้องการมากที่สุด ความกลัวทำให้คนสามารถทำทุกสิ่งเพื่อที่จะอยู่รอด (น.95) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความกลัวคือ กลัวถูกจับได้ กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวความล้มเหลว กลัวสูญเสียสถานะ กลัวความลับถูกเปิดเผย กลัวผลสะท้อนกลับทั้งทางกายและใจ วิธีการจัดการกับความกลัวคือ กล้าเสี่ยง, เริ่มทีละก้าวเล็ก ๆ, ลงมือทำซะ, ประเมินใหม่และปลอบใจตนเอง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้องยอมรับความกลัวที่มีต่อมันเพื่อที่จะสามารถพัฒนาแผนการจัดการกับมัน
4. ความทะเยอทะยาน: ฉันจะครองโลก ความทะเยอทะยานเป็นแรงผลักดันให้สูงขึ้นไปในชีวิตหรือหน้าที่การงาน ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมายและเป็นแรงกระตุ้นชั้นยอด ความทะเยอทะยานทางบวกเป็นเครื่องนำทาง ต้องใช้เวลาในการพัฒนา แรงทะเยอทะยานสูงเหนือการควบคุมเป็นสิ่งอันตรายและเป็นสิ่งที่พบเสมอในผู้ที่ประสบผลสำเร็จมากนำไปสู่การกระทำบุ่มบ่ามไม่ยั้งคิด การฉ้อโกง การใช้ทางลัด หากทะเยอทะยานจากอัตตามากเกินไปนำไปสู่การสำคัญตนผิด บางคนมีความทะเยอทะยานบวกด้วยความใจร้อนเพื่อให้สู่เป้าหมายเร็วขึ้น เช่น นักกีฬาใช้สารต้องห้าม บางคนมีความทะเยอทะยานบวกด้วยความโลภเพราะคิดว่าเงินซื้อได้ทุกสิ่งทุกอย่าง บางคนมีความทะเยอทะบานบวกด้วยความหลงตัวเอง บางคนมีความทะเยอทะบานบวกด้วยความไขว้เขวไปจากสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง หรือคิดว่าเป้าหมายนั้นไม่ดีพอ
5. ความผ่อนปรน: พบกันครึ่งทาง การรู้จักอะลุ้มอล่วยหรือยอมบ้างทำให้เราคบหาเข้ากับใคร ๆ ได้ แต่เราต้องไม่ปล่อยให้ใครมาฉวยสิทธิ์ของเราไปทำให้เราเสีย การผ่อนปรนมีหลายระดับ ด้านหนึ่งคือยอมมากเกินไปให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นก่อนตัวเองเสมอจนบางครั้งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายแก่ตนเองเท่านั้นแต่กับระบบที่ใหญ่กว่าด้วย คนจะคิดว่าพวกเขาไม่เห็นจะต้องใส่ใจกับความต้องการของคุณ กลายเป็นคน “หงอ” ที่ใคร ๆ พากันเอาเปรียบ นิสัยนี้เป็นปัญหากับชีวิตโดยรวมแตกต่างจากนิสัยอื่น เช่นการปฏิเสธความจริงหรือขี้กลัว และสุดอีกด้านคือไม่ยอมเลย คนที่ไม่ยอมใครเลยถือว่าเป็นพวกงี่เง่า ดื้อรั้นหรือถึงขั้นทำตัวเป็นอริไร้ความยืดหยุ่นและทำงานเป็นทีมไม่เป็น (น.173-174)
6. ความอดทน: เมื่อไรควรทน และเมื่อใดควรเลิก การอดทนเป็นสิ่งที่ดี จนกลายเป็นสิ่งไม่ดี คนเราต้องมีความอดทนระดับหนึ่งในชีวิตประจำวันเพื่อจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ ในอีกทางหนึ่งหลายคนมีนิสัยอดทนมากเกินไปจะทำให้คนเห็นว่าคุณเป็นคนหงอ กุญแจสำคัญในการเป็นเจ้าของความอดทนคือ การเปรียบเทียบสิ่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างการลงมือทำทันทีกับการลงมือทำในภายหลัง บางครั้งความอดทนไม่ใช่สิ่งดีงามเสมอไป เราต้องถามตัวเองว่าความอดทนจะให้อะไรกับเราและเราต้องยอมรับ (น.229)
7. การปรนเปรอตนเอง: อย่าเยอะ (แต่ก็อย่าน้อย) ชีวิตที่ไม่มีการปรนเปรอหรือหาความสุขใส่ตัวไม่ใช่ชีวิต (น.15) สิ่งที่จัดว่าเป็นการปรนเปรอตนเองของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ค่านิยม ประเพณีและความชอบของแต่ละคน เช่น การปรนเปรอตัวเองกับการบริโภคทุกอย่างที่ขวางหน้า การปรนเปรอตนเองมากเกินไปกับการเสพติด เช่น รับประทานอาหารอันโอชะ ฟังเพลงไพเราะ กลิ่นหอม สัมผัส อีกด้านของการปรนเปรอตนเองมากไปคือ การไม่ปรนเปรอตนเองเลย ซึ่งพบค่อนข้างน้อย
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนต้องมีความสมดุล ข้อคิดเกี่ยวกับการจัดการวิกฤต ที่ต้องจดจำคือ เชื่อความรู้สึกลึก ๆ ของตัวเอง รู้ข้อเท็จจริง อย่าคิดว่าเรารู้ทุกสิ่ง ความจริงจะปรากฏออกมาเสมอเพียงแต่ว่าเมื่อไรเท่านั้น อ่านสถานการณ์รู้ภูมิทัศน์ รู้ว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร รู้ว่าเมื่อไรควรทนเมื่อไรควรเลิก ยอมรับว่ากำลังมีปัญหา ไม่ตีโพยตีพาย รู้ว่าเมื่อไรควรเดินออกมา สิ่งต่าง ๆ มักจะเลวร้ายลงก่อนที่จะดีขึ้น วิกฤตเกิดขึ้นได้ไม่ว่าเราจะมีอำนาจ ชื่อเสียง หรือเกียรติยศมากแค่ไหน ลักษณะที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนเหล่านี้เป็นทั้งคุณและโทษคือมนุษย์มีทั้งด้านดีและเลว
สิ่งที่ผู้เขียนคิดค้นเครื่องมือช่วยจำเรียกว่า POWER ขึ้นมาเพื่อหยุดนิสัยต้นเหตุและนำความสมดุลกลับมา กล่าวคือ
Pinpoint (บ่งชี้) ทำการระบุว่าลักษณะนิสัยใดที่เป็นสาเหตุ
Own it (ยอมรับ) ยอมรับว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย
Work it through (จัดการ) จัดการต่อบทบาทที่มีต่อชีวิตคุณ
Explore it (สำรวจ) สำรวจวิเคราะห์ว่าอาจมีผลต่ออนาคตของคุณอย่างไร
Rein it in (ควบคุม) คิดหาวิธีควบคุมและคงความสมดุลเสียใหม่
หากสนใจอ่านเนื้อหาเพิ่มเติม ดูที่
สมิธ, จูดี้. (2557). ใช้นิสัยให้เป็นประโยชน์. นนทบุรี : ปราณ
BF637.S4 ส46