ต้นไม้ในพระพุทธศาสนา
ความเกี่ยวเนื่องของพันธ์ไม้ กับพระพุทธศานานั้นมีหลายลักษณะ นับตั้งแต่วรรณคดีพระศาสนา กวีได้รจนากล่าวถึงไม้บนสวรรค์ ไม้ชนิดนี้คนสามัญไม่เคยพบเห็น เป็นไปได้ว่าโลกแห่งจินตนาการอิงอยู่บนความจริงทางวัตถุ ดังนั้น ธรรมชาติจริงของทองหลาง จึงถูกแต่งเสริมเป็นปาริชาต รวมทั้งมณฑา บนพื้นพิภพสู่มณฑาบนสวรรค์
ในสมัยพุทธกาล พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงวางพระวินัย บัญญัติ ห้ามมิให้ภิกษุใด ตัดต้นไม้ ผู้ใดฝ่าฝีนย่อมมีโทษ
ในทางธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้ต้นไม้เป็นอุปกรณ์การศึกษาแสดงธรรมโปรด เช่น ใบไม้ในกำมือตถาคตกับใบไม้ในป่า ที่ใดมากกกว่ากัน ในราวป่าย่อมมากกว่า แต่ใบไม้ในกำมือตถาคตนั้น เหมือนธรรมที่ทรงแสดงแล้ว พิจารณาว่าจำเป็นควรรู้ หรือนำสิ่งทั้งห้าของไม้มาอุปมาสั่งสอนแก่พระผู้เข้ามาบวชว่า
1. ลาภสักการะรวมทั้งชื่อเสียง เหมือนกิ่งไม้ ใบไม้
2. ความถึงพร้อมสมบูรณ์ด้วยศีล เหมือนสะเก็ดไม้
3. ความตั้งมั่นในสมาธิบริบูรณ์ เหมือนเปลือกไม้
4. ญาณทัศนะหรือเกิดปัญญา เหมือนกระพี้ไม้
5. วิมุติหลุดพ้นจากกิเลสกระทั่งใจไม่ตกเป็นทาสกิเลสอีก เหมือนแก่นไม้
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาของต้นไม้มีดังนี้
1. กุ่มบก ลักษณะ ไม้ต้นขนาดกลาง ใบประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ ปลายใบแหลม คล้ายใบทองหลาง ออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกขาว แล้วค่อยๆแปรเปลี่ยนเป็นเหลือง เกสรสีม่วง จะทิ้งใบเมื่ออกดอก ผลกลม หรือรูปไข่ ผิวนอกสาก และเปลือกแข็งสีเขียวนวล
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าเสด็จไปชักผ้าบังสุกุลอันห่อศพนางบุณณทาสีในอามกสุสาน (ป่าช้าผีดิบ) แล้วทรงดำริว่า ชักเสร็จจะตาก ณ ที่ใด รุกขเทวดาที่สถิตยังไม้กุ่มบก จึงน้อมกิ่งกุ่มบกลงมาเพื่อถวายให้ทรงตากจีวร
2. เกด หรือ ราชายตนะ ลักษณะ ไม้ต้น เนื้อแข็ง ลำต้นเป็นปุ่มๆ โตช้า ออกดอกราวเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ลูกขนาดลูกองุ่นแห้ง รสหวาน กินได้ วงศ์เดียวกับละมุดสีดาและพิกุล
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
ต้นเกด หรือ ราชายตนะ เป็นหนึ่งในจำนวนต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้น ต้นละ 7 วัน
ต้นไม้ที่พระพุทธองค์ประทับใต้ต้นหลังบรรลุพระโพธิญาณ คือ ต้นสาละ ต้นโพธิ์ ต้นจิก ต้นไทร และต้นเกด
3. ข้าว ลักษณะ ไม้ล้มลุก มีหลายพันธุ์ ใช้เมล็ดเป็นอาหารหลัก เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
เมื่อฤาษีสิทธัตถะเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา นางสุชาดา นำข้าวมธุปายาสมาถวาย จากนั้นบำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหัตถผลเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3. จิก, มุจลินท์ ลักษณะ ไม้ต้น ใบใหญ่เป็นมัน ดอกขาว ออกเป็นช่อยาว เกสรแดง ชอบขึ้นตามที่ชื้นหรือน้ำท่วมถึง
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับ 7 วัน หลังตรัสรู้
ทรงประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธ 7 วัน แล้วเสด็จไปประทับใต้ต้นจิกอีก 7 วัน ในขณะที่ประทับใต้ต้นจิกนี้ ได้มีฝนตกอยู่ไม่ขาดสาย อากาศหนาวจัดมาก มีพญานาคชื่อ “พญามถจจลินท” เห็นพระพุทธองค์แล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเกรงว่าพระพุทธองค์จะลำบากและทรมานจึงทำขดล้อมพระวรกายของพระพุทธเจ้าไว้ 7 รอบ และแผ่พังพานปกคลุมพระเศียร ดูคล้ายกับเป็นเศวตฉัตรช่วยกันฝนและช่วยให้บริเวณนั้นอุ่นขึ้น
4. ตะเคียนทอง ลักษณะ ไม้ต้น เนื้อแข็ง ดอกขาวนวล มีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อ ผลรูปไข่เป็นไม้ใช้งานก่อสร้างได้ดี เรือหลวงโบราณกับเรือแข่งใช้ไม้ตะเคียน ทางยาใช้แก่น แก้คุดทะราดและโลหิตเป็นพิษ
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าครั้งแสดงยมกปาฏิหาริย์ (แสดงเปลวไฟและกระแสน้ำ เป็นคู่ออกจากพระวรกาย) พวกดียรถีย์จะทำแข่ง จึงสร้างมณฑลพิธีมีเสาทำด้วยตะเคียน
5. ตาล, ลัฏฐิ ลักษณะ ไม้ต้น มีขนาดสูง ใบใหญ่ ดอกเพศผู้กับเพศเมียอยู่คนละต้น ตาลผู้ออกงวงคล้ายมะพร้าว แต่ไม่มีผล ตาลเมียมีผลใหญ่ น้ำหวานออกจากงวงตาลผู้คือสิ่งที่ทำน้ำตาลสด บ้างเรียกตาลโตนด
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
บาลีเรียก ลัฏฐิ พรรษที่สองของพระพุทธเจ้า เสด็จประทับ ณ ลัฏฐิ วนุทยาน (สวนตาล)เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร
6. ไทร, นิโครธ ลักษณะ ไม้ต้นขนาดใหญ่ มีหลายชนิด ไทรย้อยจะมีรากอากาศลงดินกลายเป็นลำต้นฝอย
สรรพคุณทางยา ใบกับรากรักษาแผล กิ่งและใบใช้แก้ปวดศีรษะ น้ำเลี้ยงของกิ่งใช้รักษาโรคตับ
บาลีเรียก นิโครธ หรือ อชาละนิโคธ อชะปาลนิโครธ หมายถึง เป็นที่พำนักของคนเลี้ยงแกะ , ต้นนิโคธ แปลว่า ต้นไทร
ภาษาสันสกฤต “บันฮัน”
ภาษาฮินดู “บาร์กาด”
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
ตอนที่ 1 พระพุทธเจ้าทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยาแล้วเสด็จไปประทับนั่งควงไม้อชปาลนิโครธทรงรับข้าวมธุปายาส
ตอนที่ 2 เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ 7 วัน และจึงได้ย้ายไปประทับ ณ ต้นไทรนิโครธ เป็นเวลาอีก 7 วัน เป็นต้นไทรชนดใบกลม
7. ปาริฉัตร, ปาริชาต (ชื่อไทย ทองหลางลาย) ลักษณะ ไม้ขนาดกลาง ผลัดใบ ต้นอ่อนมีหนามแข็ง แต่จะหมดไปเมื่อต้นแก่ ใบเป็นช่อ ช่อหนึ่งมี 3 ใบย่อย ดอกแดงเข้ม มีช่อดอกยาวประมาณฟุต ครั้นแก่ดอกจะเป็นฝัก ใช้เม็ดเพาะ
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
บาลีเรียก ปาริจฉตฺต สันสกฤตเรียก ปาริชาต หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดาวดึงส์ได้ทรงนำไม้นี้สู่โลกมนุษย์ คราวเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เทวดาถวายดอกปาริฉัตรเป็นพุทธบูชา
8. ไผ่, เวฬุ ลักษณะ เป็นพืชที่มีเนื้อไม้แข็ง ความสูงแล้วแต่ชนิด อาจสูงได้ถึง 30 เมตร ขึ้นรวมกันเป็นกอใหญ่ มีเหง้าใต้ดินที่มีลักษณะแข็ง
ลำต้นตรง มีข้อและปล้องชัดมีกาบแข็งสีฟางหุ้น (culum sheath) มีตาที่ข้อ ปล้องกลวง ไผ่ที่มีลำต้นโตที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซ็นติเมตร ปล้องยาวประมาณ 60 เซ็นติเมตร ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปหอก หรือรูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลม ขอบใบสากคายมีขนทั่วไป ดอก ช่อยาวออกตามซอกใบ และปลายกิ่ง ผล ขนาดเล็กมาก มี 1 เมล็ด ไผ่ออกดอกแล้วต้นจะตาย
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
เวฬุวนาราม คือพระอารามแห่งแรกของพระพุทธศาสนา พระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้น้อมถวาย ต่อมาพระภิกษุเป็นพระอรหันต์ 1250 รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระอารามนี้พร้อมกัน วันเพ็ญเดือนสาม จึงทรงแสดงโอวาทปฏิโมกข์
9. ฝ้าย ลักษณะ ไม้พุ่ม มีหลายชนิด เมล็ดให้น้ำมัน ปุยหุ้มเมล็ดใช้ทอผ้า
สรรพคุณทางยา รากทำยาขับปัสสาวะ ใบแก้โรคบิดและตะคริวในท้องเด็ก
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
คราวหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จส่งพระอรหันตสาวกรุ่นแรก 60 องค์ออกประกาศพระศาสนา โดยผ่านอุรุเวลาประเทศ ครั้นถึงไร่ฝ้ายจึงเสด็จประทับรุขมูลใต้ต้นฝ้าย
10. พุทธรักษา ลักษณะ ไม้เหง้าอย่างขิง ข่า แตกกอ ต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลำต้นอ่อน ใบรูปหอก มีส่วนกว้าง ดอกออกจากยอดลำต้นเป็นช่อ มีสีต่างๆ
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
ต้นแคนนาอินเดีย มีชื่อสามัญในอินเดียว่า “พุทธสรณะ” แปลว่า พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งหรือคุ้มครอง ตรงกับภาษาไทย พุทธรักษา หากยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า บุษามินตรา
11. โพ, โพธิ์ ลักษณะ ไม้ต้น มีขนาดใหญ่ โพธิ์ มีหลายชนิด โพศรีมหาโพธิ หมายถึง ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับและตรัสรู้ คำว่าโพธิ มิได้เป็นชื่อของไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นชื่อเรียกต้นไม้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์ประทับใต้ต้นไม้ต้นนั้นๆและได้ตรัสรู้
โพธิ แปลว่า เป็นที่รู้ เป็นที่ตรัสรู้ โพธิรุกข หมายถึง ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับและตรัสรู้
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เจ้าชายสิทธัตถะ ในระหว่างบำเพ็ญพรต เพื่อหาสัจธรรมได้ประทับนั่งที่โคนต้นโพธิ จนกระทั่งพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ คือ อริยสัจ 4 ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 หลัง หลังจากพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว แต่ก็ยังต้องทำจิตให้แน่วแน่ตั้งมั่นยิ่งขึ้นจนกิเลสมิอาจรบกวน พระองค์ทรงประทับอยู่ใต้นต้นโพธิอีกเป็นเวลา 7 วัน และกล่าวกันว่า ต้นพระศรีมหโพธิที่พระพุทธองค์ประทับจนตรัสรู้นั้น ได้ถูกประชาชนผู้นับถือศาสนาอื่นๆ โค่นทำลาย แต่ด้วยบุญญาภินิหาร เมื่อนำนมโคไปรดที่รากจึงมีแขนงแตกขึ้นใหม่ และมีชีวิตอยู่มานานและค่อยๆ ตายไป แล้วกลับแตกหน่อขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
เป็นโพธิบัลลังก์ คืออาสนะที่ประทับทำความเพียรจนตรัสรู้ จึงถือป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือดั่งอนุสาวรีย์พระพุทธองค์
ต้นโพธิ เป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า
สหชาติ หมายถึง บุคคล หรือต้นไม้ที่เกิดขึ้นในวัน เดือน ปีเดียวกันกับพระพุทธเจ้า
มียกตัวอย่าง เช่น
– พระพุทธกัสสปะ พระองค์ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ หรือ โพธิรุกข ชื่อ “ต้นโพธินิโครธ”
– พระพุทธโคตมะ พระองค์รตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ชื่อ “ต้นโพธิใบ”
ตรัสรู้ พระองค์ทรงนั่งขัดสมธิ ณ ใต้ต้นโพธิ์ ผิณพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้ายังไม่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณจะไม่ละความเพียรลุกไปจากที่นี้ แม้เลือดในกายจะแห้งไป เนื้อจะหมดไป จะเหลือแต่พระตจะ (หนัง) พระนหาลุ (เอ็น) และพระอัฐิก็ตาม ขณะทรงบำเพ็ญเพียร พญามารยกพลสนามาผจญ พระองค์ทรงเอาชนะด้วยพระบารมี 10 ทรงทำจิตใจให้หายฟุ้งซ่าน ที่เรียกว่า ทำสมาธิ คือ เพ่งจิตลงสู่จุดเล็กที่สุดตามที่ต้องการ เรียกว่า “ได้ฌาน” หรือ “เข้าฌาน” การรวมจิตเข้าสู่สมาธิในชั้นฌาน นั้น จิตจะรวมตัวเข้าทีละน้อยจนถึง 8 ขั้น เรียกว่า “สมาบัติ 8 ” การที่จิตถูกหลอมตัวเข้าไปเพ่งอยู่ในจุดที่เล็กที่สุดนั้น จิตจะต้องปล่อยวางอารมณ์วุ่นวายต่างๆ ทีละน้อยๆ จนกระทั่งความนึกคิดในทางชั่วร้ายต่างๆ หมดสิ้นไป เมื่อถึงขั้นสุดท้ายแล้วจิตก็กลายเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ไม่มีความคิดร้ายที่เรียกว่า “กิเลส” แม้จะถอนตัวออกจากสมาธิแล้วจิตก็ยังคงสภาพบริสุทธิ์อยู่อย่างนั้นตลอดไป คือบรรลุอรหัต เป็นพระอรหันต์ หมายถึง ผู้สิ้นกิเลสแล้ว เมื่อดับชีพแล้วก็จะไม่ไปเกิดอีก เรียกว่า นิพพาน
พระสิทธัตถะเจริญสมถภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิ แน่แน่วบริสุทธิ์ ปราศจากอุปกิเลสอารมณ์เครื่องเศร้าหมอง สุขุม โดยบรรลุฌานต่างๆ ดังนี้
1. ปฐมยาม ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ แปลว่า ความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในกาลก่อน คือระลึกอดีตชาติได้
2. มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ จุตูปปตญาณ (หรือ ทิพพจักษุ) แปลว่า ความรู้ในจุติ และเกิดของสัตว์ทั้งหลาย รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายดีเลวต่างกันเป็นด้วยอำนาจกรรม สามารถหยั่งรู้การเกิด การตาย การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย
3. ปัจฉิมยาม ทรงบรรลุ อาสวักขยณาณ แปลว่า รู้เหตุสิ้นเครื่องเศร้าหมอง อันหมกหมุ่นอยู่ในจิตสันดาน กำหนดรู้ขันธ์พร้อมทั้งอาการ เป็นเหตุเป็นผลเนื่องกันไป และรู้อริยสัจจ 4 ในที่สุดบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในเวลาปัจจุสมัยรุ่งอรุโณทัย ในวันเพ็ญเดือน 6ขณะพระชนม์ 35 พรรษา ได้พระปัญญาตรัสรู้ธรรมเป็นพิเศษ จึงได้พระนามว่า“สมฺมาสมฺพุทฺโธ” แปลความว่า ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
อริยสัจจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่
1. ทุกข์ ความไม่สบายกายใจทั้งปวง แบ่งออกเป็น
– สภาวทุกข์ ได้แก่ ทุกข์กำเนิด หรือทุกข์ประจำตัว ได้แก่ ความเกิด แก่ ตาย
– ปกิณณกทุกข์ เหตุแห่งความทุกข์ ได้แก่ ทุกข์ที่ต่างคนต่างมี เช่น ความคับแค้นใจ ความเศร้าโศก
หมายความว่า ให้เรากำหนดรู้
2. สมุทัย คือ เหตุเกิดแห่งความทุกข์ ได้แก่ ความทะยานอยาก (ตัณหา) แบ่งออกเป็น
2.1) กามตัณหา ความอยากได้ เป็นคนมักมาก เห็นแก่ตัว ตะหนี่ ฯลฯ
2.2) ภวตัณหา คือ ความยากเป็น อยากเป็นโน่น อยากเป็นนี่ เช่น อยากโก้เก๋ อยากมีหน้ามีตา มีชื่อเสียง
2.3) วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากเป็น เช่น ไม่อยากเป็นหมาย ไม่อยากเป็นบ้า
หมายความว่า ให้เราละ
3. นิโรธ ความดับทุกข์ ทรงแนะนำให้เรารู้จักลักษณะของการดับทุกข์ เป็นขั้นๆ เป็นลำดับ
หมายความว่า ให้เราทำให้แจ้ง
4. มรรค วิธีปฏิบัติเพื่อให้ทุกข์ดับ มี ดังนี้
4.1) สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หรือความเข้าใจถูกต้อง
4.2) สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ความมุ่งหมายอันถูกต้อง
4.3) สัมมาวาจา การพูดที่ถูกต้อง คือ พูดจริง ไพเราะ พูดมีประโยชน์ ฯลฯ
4.4) สัมมากัมมันตะ การงานชอบ การกระทำที่ถูกต้อง
4.5) สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ การเลี้ยงชีวิตด้วยวิธีถูกต้อง
4.6) สัมมาวายะมะ ความเพียรชอบ ความพากเพียรอย่างถูกต้อง
4.7) สัมมาสติ สติชอบ ความระลึกอย่างถูกต้อง
4.8) สัมมาสติ สมาธิชอบ ความดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง
หมายความว่า ให้เราทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ่นไป
12. หว้า ลักษณะ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ทรงพุ่มกลมหนาทึบ เป็นไม้ในสกุล “Eugenia” คือพวกเดียวกับ กานพลู ชมพู่ อยู่ในวงศ์ “Myrtaceae” พืชต้นนี้ ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้าน ปลายกิ่งห้อยลง ใบ เดี่ยวออกตรงข้าม ใบอ่อนจะมีสีแดงเรื่อ และบาง รูปรี หรือรูปไข่กลับ ปลายแหลมโคนมน ผิวใบเป็นมัน ใบแก่ค่อนข้างหนา มีต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป ดอก ช่อ ออกเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆ กลีบเลี้ยงรูปถ้วย กลีบดอกสีขาวร่วงง่าย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผล รูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อผลแก่สีออกชมพู แดง แก่จัดสีดำ มี 1 เมล็ด
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
– ตอนแรก ตามเสด็จพระราชบิดาไปในพระราชพิธีแรกนาขวัญ
เมื่อครั้งพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จไปทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญได้นำพระราชบุตรมีอายุ 8 ขวบไปด้วยและให้ประทับใต้ต้นหว้าใหญ่ บรรดาพระพี่เลี้ยง ต่างก็พากันไปดูพิธีแรกนาขวัญกันหมด พระกุมารจึงนั่งสมาธิ และบรรลุถึงปฐมฌาน เป็นเหตุที่น่ามหัศจรรย์ แม้ว่าตะวันจะบ่ายคล้อยไปแล้ว ร่มเงาของไม้หว้าก็ยังบดบังให้ความร่มเย็นแก่พระองค์โดยปราฏกเป็นปริมณฑลตรงอยู่ ประดุจเงาของตะวันตอนเที่ยง
– ตอนที่สอง พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาร์ย์ปราบทิฏฐิมานะชฏิลชื่ออุระเวลกัสสปะ
พระฤาษีอุรุเวลกัสสปะได้ทูลนิมนต์ภัตตากิจพระพุทธองค์ตรัสให้ไปก่อนแล้วจะตามไป จากนั้นเสด็จเหาะไปนำผลหว้าใหญ่ประจำทวีปป่าหิมพานต์แล้วกลับไปสู่ที่โรงเพลิงก่อนที่กัสสะปะชฏิลจะไปถึง
13. ประดู่ลาย ลักษณะ เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทา แก่นสีน้ำตาล และมีริ้วสีดำแซม เรือนยอดเป็นพุ่มใหญ่โปร่ง ใบออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีใบย่อย 3-5 ใบ ใบย่อยมีรูปมน-ป้อม หรือมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบอ่อนมีขนนุ่ม แต่พอแก่ขนจะหลุดร่วงไป ดอกสีเหลืองอ่อนๆ ปนขาว ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบตามกิ่ง เมื่อออกดอกใบจะร่วงหมด เกสรผู้มี 9 อัน รังไข่รูปยาวรีๆ และจะยาวกว่าหลอดท่อรังไข่ ฝักรูปบันทัดแคบๆ ปลายฝักแหลม แต่ละฝักมีเมล็ด 1-3 เมล็ด
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโทธนะพระราชบิดาแล้ว ได้พาพระอานนท์ พระราหุล พร้อมด้วยพระสงฆ์ บริวารไปสู่กรุงราชคฤห์ ประทับยังสีสปาวัน คือ ป่าไม้ประดู่ลาย หรือ ประดู่แขก
14. สีเสียด ลักษณะ ไม้ขนาดกลาง ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทาคล้ำ แตกเป็นสะเก็ดหลุดห้อยลงตามกิ่งก้าน มีหนามโค้งออกเป็นคู่ ถ้าต้นโตเต็มที่กิ่งก้านจะแตกที่บริเวณกลางต้นขึ้นไป บริเวณโคนของต้นจะไม่มีกิ่ง
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– เมื่อพระพุทธองค์สำเร็จพระสัมสัมโพธิญาณได้ 8 พรรษา ได้เสด็จประทับ ณ “ภูสกภวัน” คือ ป่าไม้สีเสียด ใกล้สุงสุมารคีรีในภัคคฏฐี
15. สะเดาอินเดีย ลักษณะ เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ และเมื่อใบอ่อนผลิจะแทงช่อดอกมาพร้อมกัน ลำต้น เปลาตรงเปลือกสีเทา เปลือกแตกเป็นร่องตามความยาวของลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แก่นสะเดาอินเดียมีสีแดง
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– ในพรรษาที่ 11 พระพุทธเจ้าได้จำพรรษาใต้ต้นปจิมมันทพฤกษ์ คือ ต้นสะเดา ซึ่งเป็นมุขพิมานของนเฬรุยักษ์ อยู่ใกล้นครเวรัญชา
16. มะม่วง ลักษณะ ไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ลำต้น เปลาตรง เปลือกสีน้ำตาล หรือน้ำตาลดำ ถ้าสับเปลือกมียางใสๆ ซึมออกมา ยางเมื่อถูกอากาศนานๆ จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ยางนี้จะกัดผิวหนัง ใบดกหนาทึบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับอยู่ใน “สวนอัมพวาราม” ของหมอชีวโกมารภัจจ์ คือ ป่ามะม่วง
17. ส้ม ลักษณะ ส้มเป็นพันธุ์ไม้ต้นขนาดเล็กถึงกลาง ใบเป็นใบประกอบชนิดที่มีใบย่อยหนึ่งใบ ส่วสนก้านใบจะเป็นปีก เรียก winged petiole จะมีขนาดใหญ่ หรือเล็กแล้วแต่ชนิดของส้ม เช่นส้มเขียวหวาน ถ้านำใบมาส่องดู จะเห็นเป็นจุดใสๆ ซึ่งเป็นจุดของต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป เมื่อขยี้ใบดมดูจะมีกลิ่นหอม เพราะมีน้ำมันหอมระเหย ลำต้น กิ่งก้าน มีหนามแหลมอยู่ทั่วไป ดอก ออกเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆ หรือปลายยอด มีกลิ่นหอม กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย ผล กลม หรือ กลมรี ผลแก่ผิวผลสีเหลือง ภายในมีเนื้อและเมล็ด เนื้อรับประทานได้ หวานหรือเปรี้ยว
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศานา
– ส้มที่กล่าวถึงในพุทธประวัติก็เช่นเดียวกับมะม่วง คือเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จไปทรงเก็บมะม่วง ก็ได้ทรงเก็บผลส้มมาด้วย
18. มะขามป้อม ลักษณะ ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ แต่จะผลิใบใหม่เร็วมาก เปลือกสีเขียวอ่อนปนเทา กิ่งจะโน้มลง
ใบเป็นใบเดี่ยว แต่ทว่าดูแล้วเหมือนใบประกอบ เพราะใบขนาดเล็กมาก เล็กกว่าใบมะขาม ใบออกจะสลับเรียงแถวในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนาน ดอกช่อสีนวล ออกเป็นกระจุกตรงโคนกิ่งย่อยออกมายาวประมาณ 1-3 เชนติเมตร แล้วจึงเป็นส่วนของใบ ดอกแยกเพศ แต่อยู่ในกิ่งเดียวกัน ผล กลมมีเส้นแนวยาวตามผิวผลหกแนว ผลแก่มีสีเขียวอ่อน รสเปรี้ยวอมฝาด เมล็ดกลมแข็งมี 1 เมล็ด
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงเก็บมะม่วง ก็ได้ทรงเก็บมะขามป้อมด้วย
19. มะตูม ลักษณะ เป็๋นไม้ต้นขนาดเล็ก ถึงขนาดกลางผลัดใบ ลำต้น กิ่งมีหนามแหลมคมยาว เปลือกสีเทา อมขาว มักแตกเป็นแผ่นๆ ห้อยย้อยลง ใบเป็นใบประกอบ เรียงสลับ ใบย่อยรูปวงรีหรือรูปไข่แกมใบหอก ขอบใบหยักมน แต่ละใบประกอบมีใบย่อย 3 ใบ สองใบด้านข้างขวาซ้ายมีขนาดเล็ก และอยู่ตรงข้าม ส่วนใบตรงกลางมีขนาดใหญ่กว่าสองใบข้างๆ หลังใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีเขียวอ่อน ดอก ช่อออกที่ซอกใบและที่ปลายกิ่ง กลีบดอกด้านนอกสีเขียวอ่อน ด้านในสีนวลถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอม มี 5 กลีบ
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– มะดูม ในพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ นิโครธาราม เขตกบิลพัสดุ์ เช้าวันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่พระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับ ได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทรงพักผ่อนในเวลากลางวัน และทรงประทับ ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม
20. จันทน์แดง ลักษณะ เป็นไม้ในสกุล “Pterocarpus” ได้แก่พวกประดู่ ประดู่ป่า จันทน์แดงเป็นไม้ใหญ่ แตกกิ่งก้าน ใบ เป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยรูปไข่ปลายใบเว้าเข้า ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็กสีเหลือง รูปดอกเหมือนรูปตอกถั่ว ผล กลมแห้งเป็นฝัก ภายในมี 2 เมล็ด
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– กล่าวว่า มีเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ ได้ปุ่มไม้จันทน์แดงจึงนำมาทำเป็นบาตร แล้วนำไปแขวนไว้บนยอดเสาซึ่งทำขึ้นจากไม้ไผ่ต่อๆ กันจนสูงถึง 60 ศอก และประกาศว่าผู้ใดสามารถเหาะมาเอาบาตรไปได้ จะเชื่อว่าท่านผู้นั้นเป็นองค์อรหันต์ พระปิณโฑลภารทวาชเถระได้แสดงปาฏิหาริย์ไปนำเอาบาตรมาได้ ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงตำหนิในการกระทำเช่นนั้นแล้วทำลายบาตรให้เป็นจุล แจกให้พระภิกษุทั้งหลายบดใช้เป็นโอสถใส่จักษุ และทรงบัญญัติห้ามมิให้สาวกกระทำปาฏิหาริย์สืบไป
21. สมอ ลักษณะ เป็นไม้ต้น ขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ ลำต้น เปลาตรง เปลือกต้นขรุขระ สีน้ำตาลแก่ค่อนข้างตำ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม หรือเกีอบตรงข้าม รูปวงรี หรือรูปไข่ บริเวณขอบใบใกล้ๆ กับโคนใบจะมีตุ่มหูดหนึ่งคู่ ปลายใบเป็นติ่งแหลม ดอกช่อยาว ออกดอกที่ซอกใบหรือ ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน มี่กลิ่นหอม ผล รูปเกือบกลม มีสัน 5 สัน ช่อผลห้อยลง ผลแก่สีเขียวอมเหลือง ผลแห้งสีดำ มี 1 เมล็ด
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– ในพุทธประวัติ กล่าวว่าขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับเสวยวิมุตผลสุขสมบัติอยู่ใต้ต้นไม้ พระอินทร์ทรงเห็นว่า พระพุทธองค์ควารเสวยพระกระยาหาร จึงนำผลสมอทิพย์มาถวาย เมื่อเสวยแล้วจะช่วยให้ลดอาการกระหายน้ำและช่วยระบายด้วย
22. มณฑา ลักษณะ เป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยว ออกสลับ รูปใบหอกขนาดใหญ่ เนื้อใบค่อนข้างเหนียว แผ่นใบมักเป็นคลื่นหรือลอน
ดอก เดี่ยว สีเหลืองอ่อนขนาดใหญ่ ออกตามซอกใบใกล้ๆ ปลายกิ่ง ดอกรูปไข่แหลมหัว แหลมท้าย มักห้อยลง กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียวอ่อนอมเทา หนาแข็ง กลีบดอก 6 กลีบ สีเหลืองอ่อน แข็ง จัดเป็น 2 ชั้น เกสรตัวผู้ และตัวเมียมีจำนวนมาก ผลเป็นผลกลุ่ม ดอกจะบานในเวลาเช้าตรู่ มีกลิ่นหอมแรง
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– ดอกมณฑาในพุทธประวัติกล่าวว่า พระมหากัสสะเถระ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ บริวาร 500 รูป จะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ กรุงกุสินารา ได้หยุดพักอยู่ข้างทาง เห็นอาชีวกผู้หนึ่ง ถือดอกมณฑามาแต่เมืองกุสินารา โดยเอาไม้เสียบดอกมณฑาเข้าเป็นคันกั้นต่างร่มเดินสวนทางมา พระมหากัสสะปะเห็นดังนั้นก็สงสัยมาก เพราะดอกมณฑาเป็นดอกไม้ที่มิได้มีในมนุษยโลก แต่จะปรากฏเฉพาะตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ครรภ์พระมารดา หรือเมื่อประสูติออกสู่มหาภิเนษกรมณ์อภิสมโพธิ ตรัสเทศนาพระธรรมจักรกระทยมกปาฏิหาริย์ เสด็จจากเทวโลก กำหนดปลงพระชนมายุสังขาร จึงจะบันดาลตกลงมาจากเทวโลกแต่บัดนี้มีดอกมณฑาปรากฏ หรือพระพุทธเจ้าจะเข้าสู่ปรินิพพานเสียแล้ว จึงเข้าไปถามอาชีวกผู้นั้น และได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จสู่ปรินิพพานมาแล้ว 7 วัน พระมหากัสสะปะจึงพาพระภิกษุสงฆ์รับเดินทางไปสู่นครกุสินารา
23. หญ้ากุศะ ลักษณะ เป็นหญ้าชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นในที่แล้ง และขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำ เป็นหญ้าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ใช้ในทางศาสนา ในงานมงคล เช่น การแต่งงาน ฯลฯ ชอบขึ้นเป็นกอ เหง้าใหญ่อวบ ใบ รูป ยาวแหลมเหมือนหอก ขอบใบแหลมคม ดอก
ช่อ รูปปิรามิต หรือเป็นแท่งตั้งตรง แข็ง สีน้ำตาลอ่อน ดอกจะออกตลอดฤดูฝน
ความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
– หญ้ากุศะ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ในพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระสิทธัตถุ ได้รับหญ้ากุศะ 8 กำ จากโสตถิยะพราหมณ์ นำเอามาทรงลาดต่างบัลลังก์ ภายใต้ควงศรีมหาโพธิ พอรุ่งอรุณก็ได้สำเร็จพระโพธิญาณ และต่อมาก็ได้ทรงชนะมารบนบัลลังก์หญ้ากุศะนี้ หญ้านี้จึงเป็นหญ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
24. หญ้าแพรก ลักษณะ เป็นต้นหญ้าขนาดเล็ก ชอบเลี้ยวแผ่ไปตามดิน แตกแขนงออก และมีรากงอก ใบ เดี่ยว ขนาดเล็ก ออกสลับ ดอก ช่อ ขนาดเล็ก สีเขียวหรือสีม่วง ก้านช่อออกดอกตรงข้อ
ความเกี่ยวกนื่องกับพระพุทธศาสนา
– ในพุทธประวัติกล่าวว่า พระสิทธัตถะได้ทรงพระสุบิน ก่อนที่จะสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณคำรบสองว่า ต้นหญ้าแพรกต้นหนึ่งได้ขึ้นแต่พื้นพระนาภี และเจริญสูงขั้น ไปจนจดคัดนาดลของนภากาศ ซึ่งทำนายว่าการที่หญ้าแพรกงอกจากพระนาภี สูงไปจดอากาศนั้เน เป็นบรรพนิมิตที่ได้ตรัสเทศนาพระอริยมรรค์มีองค์ 8 (อัฎฐังคิกมรรค) แก่เทพยดาและมนุษยทั้งปวง
25. บัว ลักษณะ บัวหลวงเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน เหง้ามีลักษณะเป็นท่อนยาวมีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลือง แข็งเล็กน้อย ถ้าตัดตามขวางจะเห็นรูกลมๆ หลายรู ไหลจะเป็นส่วนที่จะเจริญไปเป็นต้นใหม่ ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปโล่ ออกสลับ แผ่นใบจะชูเหนือน้ำ รูปใบเกือบกลม ขนาดใหญ่ ขอบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบมีนวล ก้านใบแข็งเป็นหนาม ถ้าตัดตามขวางจะเห็นรูภายใน ก้านใบจะมีน้ำยางขาว เมื่อหักจะมีสายใยสีขาว ใบอ่อนสีเทานวล ปลายม้วนงอขึ้นทั้งสองด้าน ก้านใบจะติดตรงกลางแผ่นใบ ดอกเดี่ยว มีสีขาว สีชมพู กลิ่นหอม บัวหลวงจะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมือนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี่้ยง 4-5 กลีบ ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว หรือสีเทาชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกจำนวนมาก เรียงซ้อนหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนมากสีเหลือง ปลายอับเรณูมีระยางคล้ายกระบองเล็กๆ สีขาว เกสรตัวเมียจะฝังอยู่ในฐานรองดอกรูปกรวย สีเหลืองนวล ผล รูปกลมรีสีเขียวนวล มีจำนวนมากฝังอยู่ในส่วนที่เป็นรูปกรวย เมื่ออ่อนมีสีเหลือง รูปกรวยนี่้เมื่อเป็นผลแก่จะขยายใหญ่ขึ้นมีสีเทาอมเขียวที่เรียกว่า ฝักบัว มีผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่เป็นจำนวนมาก
ความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา
– ตอนแรก กล่าวถึง สุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายาว่า มีพระเศวตกุญชรใช้งวงจับดอกบัวหลวงสีขาวที่เพิ่งบานใหม่ๆส่งกลิ่นหอม และทำประทักษิณสามรอบ แล้วจึงเข้าพระครรภ์พระนางสิริมหามายาด้านข้าง ในขณะนั้นได้เกิดบุพนิมิต 32 ประการ ประการหนึ่งเกี่ยวกับดอกบัว คือมีดอกบัวปทุมชาติห้าชนิด เกิดดารดาษไปในน้ำ และบนบกอย่างหนึ่ง มีดอกบัวปทุมชาติ ผุดงอกขึ้นมาจากแผ่นหินแห่งละเจ็ดดอกอย่างหนึ่ง และต้นพฤกษาลดาชาติทั้งหลาย ก็บังเกิดดอกปทุมชาติออกตามลำต้นและกิ่งก้านอีกอย่างหนึ่ง
– ตอนที่สอง เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่สวนลุมพินี ทรงบ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร และย่างพระบาทไป 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ 7 ดอก ต่อมาเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญพระชนมายุได้ 7 พรรษา พระราชบิดาโปรดให้ขุดสระโบกขรณี 3 สระสำหรับพระราชโอรสทรงเล่นน้ำ โดยปลูกอุบลบัวขาวสระหนึ่ง ปลูกปทุมบัวหลวงสระหนึ่ง และปลูกบุณฑริกบัวขาวอีกสระหนึ่ง
– ตอนที่สาม กล่าวถึง ครหพินน์เจ็บใจที่สิริคุตถ์หลอกเดียรถีย์อาจารย์ ให้ตกลงในหลุมอุจจาระ จึงคิดแก้แค้นแก่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สิริคุตถ์ เคารพเลื่อมใสมาก โดยล่อให้ตกลงในหลุมที่ก่อไฟด้วยไม้ตะเคียน เมื่อพระพุทธองค์ย่างพระบาทลงในหลุมเพลิง ก็พลันมีดอกบัวผุดขึ้น และรองรับพระบาทไว้มิให้เกิดอันตรายใดๆ
– ตอนที่สี่ เมื่อพระพุทธองค์ ได้ทรงพิจารณาถึงธรรมมะทีได้ทรงตรัสรู้ว่าเป็นธรรมะอันล้ำลึก ยากที่ชนผู้ยินดีในกามคุณจะรู้ได้ แต่ผู้ที่มีกิเลสเบาบางอาจรู้ตามก็มี จึงเกิดอุปมาเวไนยสัตว์เหมือน “ดอกบัว” ว่าเวไนยสัตว์ย่อมแบ่งออกเป็น 4 เหล่า คือ
1.) อุคคติตัญญูบุคคล คือผู้ที่มีกิเลสน้อยเบาบาง มีสติปัญญาแก่กล้า จะพึงสอนให้รู้แจ้งในธรรมพิเศษโดยฉับพลัน เปรียบเทียบเหมือนกับ ดอกปทุมชาติที่โผล่พ้นน้ำขึ้น พอสัมผัสกับแสงพระอาทิตย์ก็จะบานทันที
2.) วิปัจจิตัญญูบุคคล ผู้ที่มีกิเลสค่อนข้างน้อย มีอินทรีย์ปานกลางถ้าได้ธรรมคำสั่งสอนอย่างละเอียด ก็สามารถรู้แจ้งเห็นธรรมวิเศษได้ เปรียบเทียบ เหมือนกับ ดอกบัวที่เจริญเติบโตขึ้นมา พอดีกับผิวน้ำจักบานในวันรุ่งขึ้น
3.) เนยยบุคคล ผู้ที่มีกิเลสไม่เบาบาง ต้องหมั่นศึกษาพากเพียรเล่าเรียน และคบกัลยาณมิตรจึงสามารถรู้ธรรมได้ เปรียบเทียบ เหมือนกับ ดอกบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำ คอยเวลาที่จะโผล่ขึ้นมาจากน้ำ และจะบานในวันต่อๆ ไป
4.) ปทปรมบุคคล ผู้ที่มีกิเลสหนา ปัญญาทึบ หยาบ หาอุปปนิสัยไม่ได้เลย ไม่สามารถจะบรรลุธรรมพิเศษได้ เปรียบเทียบ เหมือนกับ ดอกบัวที่เติบโตและจมอยู่ใต้น้ำไม่สามารถจะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำได้ จะอยู่ได้เพียงใต้น้ำและเป็นอาหารของเต่า ปลา ปู
สิ่งที่ได้จากการอ่าน คือ ได้กุศล ทราบถึงพระราชประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ทรงประกาศพระสัจธรรมม คำสอนและเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ ทรงเปรียบเทียบต้นไม้และธรรมชาติว่าเป็นเสมือนเพื่อนมนุษย์ ชาวพุทธรู้สึกยินดี จิตใจผ่องใส เมื่ออยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเพราะเชื่อว่า
” ณ ที่ใดมีธรรมชาติ ณ ที่นั้นมีธรรมะ “
” ณ ที่ใดมีธรรมะ ณ ที่นั้นมีพระพุทธเจ้า” สาธุ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้นก็คือธรรมชาติ”
หลวงตาสนิทบอกว่า การปลูกป่าทำให้เรามีชีวิตยืนยาว
อ่านหนังสือมาจาก
1. ธรรมเกียรติ กันอริ. วรรณพฤกษ์พรรณนา : ไม้ในวรรณคดีและพุทธศาสนา ไม้มงคล. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสิ่งแวดล้อมเพื่อ ชีวิต,2538 (PL4227.5ธ44)
2. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. ไม้พุทธประวัติ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2541. (BQ1136r73r47 2541)
3. อุดม เชยกีวงศ์. ต้นไม้ในพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : เสริมปัญญา, 2551 (BL444อ73 2551)