กัลปนา…
ช่วงนี้ทำรายการโสตทัศนวัสดุที่เป็นสารคดีทั้งหลาย ได้เห็นคำคำหนึ่งปรากฎอยู่ในสารคดี 2-3 เรื่อง คือคำว่า “กัลปนา” เช่น พุทธศาสนาและการกัลปนาความมั่นคงของบ้านเมืองคาบสมุทร หรือ พุทธศาสนาและการกัลปนาจากตำนานนางเลือดขาว และเป็นคำที่ตัวเองก็ไม่คุ้นเคยเลยซักนิด เลยไปค้นหามาเล่าสู่กันฟัง
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายถึง กัลปนา ว่าเป็นคำกริยาหมายถึง เจาะจงให้ หากเป็นคำนามหมายถึง ที่ดินหรือสิ่งอื่น เช่น อาคาร ซึ่งเจ้าของอุทิศผลประโยชน์ให้แก่วัดหรือศาสนา อีกความหมายหนึ่งคือ ส่วนบุญที่ผู้ทําอุทิศให้แก่ผู้ตาย
สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า กัลปนา เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า อุทิศให้ เจาะจงให้ หรือยกให้ เดิมหมายถึง ส่วนบุญที่ผู้ทำอุทิศให้แก่ผู้ตาย โดยเชื่อว่าจะช่วยผู้ตายให้ประสบผลสำเร็จตามความปรารถนาของผู้อุทิศให้ เรียกว่า กัลปนาบุญ หรือกัลปนาผล
ต่อมาความหมายขยายกว้างออกไปกว่าเดิมคือหมายถึง ที่ดิน เรือกสวน ไร่นา สิ่งของ และคนที่ผู้เป็นเจ้าของหรือเจ้านายอุทิศให้แก่ศาสนาด้วย เช่น กัลปนาที่ หรือที่กัลปนา คือ ที่ดินที่ผู้เป็นเจ้าของอุทิศเฉพาะผลประโยชน์ให้แก่ศาสนาหรือเพื่อบำรุงศาสนสถาน แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเจ้าของที่ดินนั้นอยู่ กัลปนาสัตว์ หรือกัลปนาสิ่งของ คือ สัตว์หรือสิ่งของที่มีผู้ถวายแก่ศาสนา เป็นต้น
ในปีรัตนโกสินทรศก 121 ได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในมาตรา 6 ว่า “ที่วัดและที่ดินวัด” จำแนกได้เป็น 3 อย่างคือ ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา และนิยามคำว่า “ที่กัลปนา” คือที่แห่งใดๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงพระราชอุทิศเงินอากรค่าที่แห่งนั้นขึ้นวัดก็ดี หรือที่ซึ่งเจ้าของมิได้ถวายเป็นกรรมสิทธิ์ อุทิศแต่ผลประโยชน์อันเกิดแต่ที่นั้นขึ้นก็ดี ที่เช่นนั้นเรียกว่า ที่กัลปนา คำว่า ที่กัลปนา จึงหมายเอาเฉพาะที่ดินซึ่งมีผู้อุทิศผลประโยชน์อันเกิดจากที่นั้นให้วัด แต่วัดไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น
ต่อมาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 40 กล่าวถึง “ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด” มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ 1) ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดจนตลอดเขตวัดนั้น 2) ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด และ 3) ที่กัลปนา เป็นที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัด หรือพระศาสนา หมายถึงเอาทั้งที่ดินและที่ให้เช่าอย่างอื่นอันมิใช่ที่ดิน ซึ่งมีผู้อุทิศผลประโยชน์อันเกิดแต่ที่นั้นถวายวัดหรือพระศาสนา
พูดมาเสียยืดยาวสรุปแล้ว “กัลปนา” ก็คือ ที่ดิน หรือสิ่งอื่น ซึ่งเจ้าของอุทิศเฉพาะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในที่ดินผืนนั้น หรือในอาคารนั้น ให้แก่วัด หรือพระศาสนา โดยที่กรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสิ่งอื่นเหล่านั้นยังเป็นของเจ้าของที่ดินนั้นอยู่ อย่างเช่น ที่ดิน 20 ไร่ที่ปลูกข้าวนี้ ถวายเป็นกัลปนา ถ้าเกี่ยวข้าวได้แล้วทางวัดจะเอาข้าวไปทำอะไรก็ได้ แต่ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินอยู่
—————————————-
บรรณานุกรม
ราชบัณฑิตยสถาน. (2554). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ :
——–ราชบัณฑิตยสถาน.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2549). สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1.
——–พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.
PaLungJit.org. (2556). ความหมายของคำว่า “กัลปนา”. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2558,
——–จาก http://board.palungjit.org/f61/ความหมายของคำว่า-กัลปนา-419773.html