อ่านหนังสือวันละเล่ม "ปฏิจจสมุปบาท สำหรับคนรุ่นใหม่"

6 August 2015
Posted by peekan

หนังสือเล่มนี้ เขียนขึ้นเพื่อแสดงกตเวทิตาคุณ ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. ระวี ภาวิไล เนื่องในโอกาส อายุวัฒนมงคล ครบ 80 ปี ( 17 ตุลาคม 2548) เขียนขึ้น โดย พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล) บอกให้ทราบ ผู้เขียนได้แสดงความกตญูกตเวที ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และสรรเสริญ  สาธุ
เหตุที่ชอบอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะอยากให้ทุกคนรู้ว่า
– ธรรมทั้งหลายเหล่าใด คือ สังขตธรรม อสังขตธรรม และบัญญัติธรรม เป็นปัจจัยช่วยอุปการะ แก่ปัจจยุปบันธรรมเหล่าใด คือ สังขตธรรม โดยอาการต่างๆ มีเหตุสัตติ อารัมมณสัตติ เป็นต้น
– จะได้เข้าใจชีวิต และแก้ไขชีวิตให้ถูกต้อง
– เพื่อแสดงให้เห็นว่า   คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นความจริงอันประเสริฐ
คำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสเรื่องของวิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักของความเชื่อว่า ” ต่่อเมื่อใดที่ รู้และเข้าใจตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศล เป็นอกุศล มี โทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น
พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ พระอุบาลีว่า
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ 1.) เอกันตนิพพิทา ความหน่ายสิ้นเชิง ไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้ม 2.) วิราคะ ความคลายกำหนัด ไม่ยึดติดรัดตัว เป็นอิสระ 3.) นิโรธะ ความดับ หมดกิเลส หมดทุกข์ 4.) อุปสมะ ความสงบระงับ 5.) อภิญญา ความรู้ยิ่ง ความรู้ชัด 6.) สัมโพธะ ความตรัสรู้ 7.) นิพพาน ความดับกิเลสสิ้นเชิง สุขสงบ เย็น
พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ พระนางมหาปชาบดีโคตมี ว่า
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ 1.) วิราคะ ความคลายกำหนัด ความไม่ติดพัน เป็นอิสระไม่เป็นไปเพื่อกำหนัดย้อมใจ หรือเสริมความติด 2.) วิสังโยค ความหมดเครื่องผูกรัดไม่ประกอบทุกข์ 3.) อปจยะ ความไม่พอกพูนกิเลส 4.) อัปปิจฉตร ความมักน้อย ไม่มักมาก 5.) สันตุฏฐี ความสันโดษ พอใจในผลอันสมด้วยเหตุ (ตามมีตามได้) 6.) ปริเวก ความสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ 7.) วิริยารัมภะ ประกอบความเพียร ไม่เกียจคร้าน 8.) สุภรตา ความเลี้ยงง่าย
ธรรมเหล่านั้นพึงรู้ว่า เป้นธรรม เป็นวิจัย เป็นสัตถุสาส์น คือคำสอนของพระศาสดา
“ปฏิจฺจ”  แปลว่า อาศัยกัน
“สมุปบาท” แปลว่า เกิดขึ้นด้วยกัน
“ปฏิจจสมุปบาท” คือ ธรรม (มีอาการ 12) ที่เกิดขึ้นด้วยกัน โดยอาศัยกัน จึงเป็นการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน หรือธรรมมีอาการ 12 อันอิงอาศัยกัน โดยมิได้มีธรรมหนึ่ง ธรรมใดเกิดขึันโดยอิสระ หรือเป็นเอกเทศ
“เหตุ” แปลว่า สิ่งอันเป็นที่ตั้งของผล
“ปัจจัย” แปลว่า เครื่องอาศัย หรื่อ เครื่องเป็นไป “ปัจจัย” จึงหมายถึงสิ่งที่เป็นเหตุและไม่ใช่เหตุ แต่สิ่งนั้นก็เป็นเครื่องอาศัยให้เป็นไป  สำหรับในปฏิจจสมุปบาท ท่านใช้คำศัพท์ว่า “ปัจจัย” เช่น “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี”
ท่านมุ่งหมายถึงสิ่งที่เป็นเครื่องอาศัยให้เกิดขึ้น โยงกันไปเป็นสาย ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เหตุโดยตรง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร คือการที่ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ… โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เกิดร่วมด้วย กองทุกข์ทั้งมวลนี้เกิดขึ้นอย่างพร้อมมูล
องค์ของปฏิจจสมุปบาท มี 12 คือ
1.) อวิชา 2.) สังขาร 3.) วิญญาณ 4.) นามรูป 5.) สฬายตนะ 6.) ผัสสะ 7.) เวทนา 8.) ตัณหา  9.) อุปาทาน 10.) ภพ  11.) ชาติ  12.)ชรามรณะ
1. อวิชา (Ignorance) คือความไม่รู้  ไม่รู้ความจริง ไม่รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิกที่ในอกุศลจิต 12
มีพระพุทธภาษิต ตรัสอธิบายว่า “อวิชชา” นั้นได้แก่ ความไม่รู้ในอริยสัจจ์ 4
2. สังขาร (Karma Formation)  คือ สิ่งอันเป็นผลมาจากการปรุงแต่ง  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี องค์ธรรมไได้แก่ เจตนาเจตสิก ทีในอกุศลจิต 12 โลกียกุศลจิต 17
3.วิญญาณ (Consclousness) คือ ความรู้แจ้งในอารมณ์ จิต ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัส เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี องค์ธรรม ได้แก่ โลกียวิบากจิต 32
4.) นามรูป (Mind and Matter) เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี   นาม  องค์ธรรมได้แก่  เจตสิก 35 ที่ประกอบกับโลกกียวิปากจิต 32  รูป องค์ธรรม ได้แก่ ปฏิสนธิกัมมชรูป ปวัตติกัมมชรูป  จิตตชรูป   นามรูป คือนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมหมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คื่อรู้ไม่ได้ทางตา หูจมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ สิ่งที่เป็น นามได้แก่  เวทนา  ความเสวยอารมณ์ สัญญา  ความจำได้หมายรู้ สังขาร การปรุงแต่ง วิญญาณ คือความรู้แจ้งอารมณ์
5.) สฬายตนะ (Six sense-bases) เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี องค์ธรรมได้แก่ อัชฌิตติกายตนะ 6 คือ  ปสาทรูป 5 โลกียวิปากจิต 32
อายตนะ หมายถึง ที่ต่อ, เครื่องติดต่อ, แดนต่อความรู้, เครื่องรู้และสิ่งที่ถูกรู้
– อายตนะภายใน 6 เป็นที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือ อัชฌัตติากยตนะ ได้แก่ จักษุ (ตา), โสตะ (หู). ฆานะ (จมูก), ชิวหา (ลิ้น),  กาย (กายประสาท), มโน (ใจ)
– อายตนะภายนอก 6 เป็นที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้, เป็นแดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอก หรือ พาหิรายตนะ ได้แก่ รูปะ คือ รูป สิ่งที่เห็น หรือวัณณะ คือ สี , สัททะ คือ เสียง, คันธะ คือ กลิ่น, รสะ คือ รส, โผฏฐัพพะ คือสัมผัสทางกาย สิ่งที่ถูกต้องกาย, ธรรม หรือ ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ, สิ่งที่ใจนึกคิด
6.) ผัสสะ (Contact) เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี  องค์ธรรมได้แก่ ผัสสะเจตสิก ที่ประกอบกับโลกียวิปากจิต 32
ผัสสะ หรือสัมผัส หมายถึง ความกระทบ การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก ความประจวบกันแห่ง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ มี  ดังนี้
6.1) จักขุสัมผัส ความกระทบทางตา คือ ตา+รูป + จักขุวิญญาณ
6.2)โสตสัมผัส ความกระทบทางหู คือ หู + เสียง + โสตวิญญาณ
6.3) ฆานสัมผัส ความกระทบทางจมูก คือ จมูก + กลิ่น + ฆานวิญญาณ
6.4) ชิวหาสัมผัส ความกระทบทางลิ้น คือ ลิ้น + รส + ชิวหาวิญญาณ
6.5) กายสัมผัส ความกระทบทางกาย คือ กาย + โผฏฐัพพะ + กายวิญญาณ
6.6) มโนสัมผัส ความกระทบทางใจ คือ ใจ + ธรรมารมณ์ + มโนวิญญาณ
7. เวทนา (Feeling) เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี   องค์ธรรมได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ประกอบกับโลกียวิปากจิต 32    เวทนาคือความเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์
– แบ่งออกเป็น เวทนา 3, เวทนา 5, เวทนา 6
8. ตัณหา (Craving) เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี  องค์ธรรม ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ประกอบกับ โลภมูลจิต  32  ตัณหา คือ ความทะยานอยาก
– แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ 1.) กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม. ความอยากได้ คือสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง 5
2.) ภวตัณหา คือ ความทะยานในภพ, ความยากในภาวะของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเป็น อยากคงอยู่ตลอดไป
3.) วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในวิภพ ความอยากในความพรากพ้นไปแห่งตัวตนจากความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปราถนา อยากทำลาย อยากให้ดับสูญ
9. อุปาทาน (Attachment)  เพราะตัณหา เป็น ปัจจัย  อุปาทานจึงมี องค์ธรรม ได้แก่ โลภะทิฏฐิ ที่ประกอบกับ โลภมูลจิต 8 อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น
– แบ่งออกเป็น 4 อย่าง คือ 1.) กามุปาทาน ความยึดติดถือมั่นในว่าเป็นเรา จนเป็นเหตุให้เกิดหวงแหน ริษยา ลุ่มหลง เข้าใจผิด ทำผิดฯลฯ 2.) ทิฏฐุปาทาน  ความยึดติดถือมั่นในทิฏฐิ ความยึดติดฝังใจในลัทธิ ทฤษฏี และหลักความเชื่อต่างๆ คำว่า “ทิฏฐิ” หมายถึง ความเห็น ทฤษฏี และความเห็นผิด, การดื้อดึงในความเห็น 3.) สีลัพพตุปาทาน คือความยึดติดถือมั่นในศีล และข้อวัตรอำนาจกิเลส ความถือมั่นศีลพรต คือธรรมเนียมที่ประพฤติตากันมาจนชิน โดยเชื่อว่าขลัง เป็นเหตุให้งมงาย   4.) อัตตวาทุปาทาน คือ การยึดติดถือมั่นใน วาทะว่าตน คือ ความยึดถือสำคัญมั่นหมายว่านั่นนี่่เป็นตัวตน  ยึดถือว่า นี่เรา นั่นของเรา จนเป็นเหตุแบ่งแยกเป็นพวกเรา พวกเขา และเกิดความถือพวก
10. ภพ (ภวะ)  (becoming)  เพราะอุปาทาน เป็น ปัจจัย ภพจึง มี  ภพ แบ่งออกเป็น  กัมมภวะ องค์ธรรมได้แก่  เจตนาเจตสิกที่ในอกุศลจิต 12 โลกียกุศล 17 , อุปปัตติภวะ องค์ธรรมได้แก่  โลกียวิปากจิต 32  เจตสิก 35  กัมมชรูป  20 ภพคือ ภาวะแห่งชีวิต หรือที่อยู่อาศัย
– แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ 1.) กามภพ คือภพที่เป็นกามารวจรจร  ภพของสัตว์ที่เสยวกามคุณอารมณ์ คืออารมณ์แห่งอินทรีย์ทั้ง 5 ได่่แก่ อบายภูมิ 4 มนุษยโลก และกามาวจรสวรรค์ทั้ง 6  2.) รูปภพ คือ ภพที่เป็นรูปาวจ ได้แก่ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงรูปฌาน
3.) อรูปภพ คือ ภพที่เป็นอรูปาวจร ภพของสัตว์ที่เข้าถึงอรูปฌาน ได้แก่ อรูปพรหมทั้ง 4
11. ชาติ (birth) เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี แบ่งเป็น นามชาติ องค์ธรรมได้แก่ ความเกิดขึ้นของโลกียวิปากจิต 32 เจตสิก 35 , รูปชาติ  องค์ธรรมได้แก่ ความเกิดขึ้นของกัมมชรูป  20   ชาติคือความเกิด หรือ การปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย ตลอดจนการได้มาซึ่งอายตนะ
12. ชรามรณะ (decay and death) เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี แบ่งเป็น ชรา องค์ธรรมได้แก่ ความแก่ของโลกียวิปากจิต 32 เจตสิก 35 กัมมชรูป 20,  มรณะ  องค์ธรรมได้แก่ ความดับของโลกียวิปากจิต 32 เจตสิก 35 กัมมชรูป 20
สรุป   สืบเนื่องจากภพและชาติอันจิตอาศัย  ตราบที่เรายังมีขันธ์ 5 พร้อมบริบูรณ์
กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท คือ กระบวนการหมุนเวียนเกิด-ดับ แห่งชีวิต และความทุกข์ของบุคคล
ปฏิจจสมุปบาท คือ การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารไม่รู้จักจบสิ้น อุปมาเหมือนมด ซึ่งเดินวนเวียนอยู่ที่ขอบปากแก้ว ฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตัดปฏิจจสมุปบาทเสียให้ขาดอย่าปล่อยให้มันพาหมุนไปตามอำนาจเช่นนั้น
ปฏิจจสมุปบาทธรรม หมายความว่า ธรรมที่เป็นเหตุ มีจำนวน 11 ได้แก่ อวิชชา เป็นต้น มีชาติ เป็นที่สุด
ปฏิจจสมปบันธรรม หมายความว่า  ธรรมที่เป็นผล มี จำนวน 11 ได้แก่ สังขาร เป็นต้น มี ชรา มรณะ เป็นที่สุด
ปฏิจจสมุปบาทสายดับ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทไว้ 2 ประเภท  และแต่ละประเภทก็แสดงไว้เป็นแบบความสัมพันธ์ 2 นัย โดยนัยแรกจะทรงแสดง กระบวนการเกิด เรียกว่า สมุทยวาร และนัยหลังจะแสดง กระบวนการดับ เรียกว่า นิโรธวา
1.  ประเภทที่เป็นกลางๆ  ไม่ระบุชื่อหัวข้อปัจจัย
ก.  เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
ข. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับด้วย
2.  ประเภทที่เป็น  หลักประยุกต์  ดยการแจกแจงทุกหัวข้อ ซึ่งนัยแรกจะแสดง สมุทยวาร คือ กระบวนการเกิดไปตามลำดับ ที่เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบได้กับ ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์  ส่วนนัยหลังจะแสดง นิโรธวาร คือขบวนการดับ อันเป็นการแสดงย้อนลำดับ จึงเรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบกับ ทุกขนิโรธ ความดับแห่งทุกข์
.   พระบาลี ” อวิชฺฺชาปจฺยา สังขารา สงฺขาราปจฺยา วิญญาณ …. เป็นต้น”
เพราะอวิชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี, เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะ นามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี, เพราะผัสสะเป็น ปัจจัยเวทนา จึงมี
เพราะ เวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี, เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะ ภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี, เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ จึงมีพร้อม
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีได้ด้วยประการฉะนี้
. พระบาลี “อวิชฺชา เตวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ สงฺขารนิโรธา วิญญาณนิโรโธ… เป็นต้น”
เพราะอวิชชา สำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ, เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ, เพราะนามรูปดับ สฬายตนะ จึงดับ
เพราะสฬายตนะ ดับ ผัสสะจึงดับ, เพราะสฬายตนะดับ เวทนา จึงดับ, เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหา ดับ อุปาทาน จึงดับ, เพราะอุปาทานดับ ภพ จึงดับ, ภพ ดับ ชาติ จึงดับ,
เพราะชาติ ดับ ชรามรณะ จึงดับ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
จะเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทแบบ นิโรธวาร หรือ ปฏิโลมปฏิจจสมุปบา ที่แสดงกระบวนการดับแบบย้อนลำดับนี้ ก็คือ ทุกขนิโรธ ความดับแห่งทุกข์  ในหลักอริยสัจ 4
ทุกข์ เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล
ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก เป็นผล โดยมี ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ตัณหา เป็นเหตุ
ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ เป็นผล โดยมี ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นเหตุ
คำถาม คือ แล้วอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นฝ่ายเหตุของความดับทุกข์ จะอยู่ที่แห่งใดในวงปฏิจจสมุปบาท
คำตอบ คือ ณ ที่ๆ มี วิปัสสนา คือ สังขาร สภาพที่ปรุงแต่ง อันยังภาพให้สิ้นไป โดยมีศีลเป็นบาทฐาน มีสมาุธิเป็นกำลัง มีการอธิษฐานเพื่อความพ้นทุกข์ คือถึงพระนิพพาน
เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างเหตุที่ดี เมื่อปัจจัยพร้อม ต่างคนก็ต่างไป ถึงซื่งพระนิพพาน
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ + สัมมาสังกัปปะ คือความดำริชอบ
พระพุทธองค์ ทรงแสดงว่า  “อนุปฺปนฺนานํ  กุลานํ  อุปาทาย วายาโม” แปลว่า ความเพียรเพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นแก่เรา
การเวียนว่ายตายเกิด ย่อมมีชาติ ความเกิดนับถอยหลังไปไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น กุศลใดๆ ที่นอกจากโลกกุตรกุศลแล้ว ที่ยังไม่เคยเกิดในสันดานของแต่ละคนนั้นย่อมไม่มี
เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้รัู้จักทางที่จะทำให้ตนหลุดพ้นจากทุกข์  คือ มรรคมีองค์ 8
ทำอย่างไร เราจะพ้นจากอำนาจแห่งปฏิจจสมุปบาท
ปฏิจจสมุปบาท มักพาคนเราให้หมุนไปได้ ตัวอย่างเช่น จักขุประสาท กับรูปารมณ์ กระทบกันเข้ามันเกิดจักขุวิญญาณขึ้น
จักขุประสาท คือ ประสาทางตา
รูปารมณ์ คือ รูปที่เป็นสีต่างๆ  เมื่อกระทบกันแล้ว มันก็เกิดอาการเป็นรูปขึ้นมา อาการเห็นรูปนั้น เรียก จักขุวิญญาณ จิตเมื่อเกิดอาการเห็นรูป แล้ว  มันก็เกิด หรือไม่ชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ เชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาทพาหมุน ไปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตัด ปฏิจจสมุปบาทเสียให้ขาด
วิธีการตัด
– เมื่อเห็นรูปทางตา ได้แก่เมื่อจักขุประสาท กับรูปารมณ์กระทบกันเข้า จักขุวิญญาณเกิดขึ้น แล้วผัสสะก็เกิดขึ้น เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว เวทนา คือ ความยินดี ยินร้ายก็เกิดขึ้น เมื่อปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาทพาหมุนไป ส่วนวิธีที่จะปฏิบัติมิให้ปฏิจจสมุปบาทพาหมุนไป คือ ตัดปฏิจจสมุปบาทให้ขาดนั้น ขณะที่ผัสสะเกิดขึ้นต้องตัดตรงที่ผัสสะให้ขาดอย่าให้ไปถึงเวทนา  โดยใช้สติกำหนดให้เพียงแค่เห็นเท่านั้น
ทางเดียวที่จะนำพาไปถึงความพ้นทุกข์ได้ คือ การเห็นแจ้งเป็นพิเศษ
ในวันหนึ่งๆ ปัญญา  แทบจะไม่เกิดเลย เพราะฉะนั้น ต้องสร้างเหตุ คือการเจริญสติ อยู่เนืองๆ เพื่อไปสู่การเจิรญวิปัสสนา
อานิสงส์ ของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานสามารถนำบุคคลให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏทุกข์ได้จริง อย่างมากจะเหลือเพียง 7 ชาติ และถ้าเจริญสติจนมั่งคงแล้ว และได้อรหัตตมัคค อรหัตตผลจิตเกิดขึ้นแล้ว  กิเลสก็ดับสิ้น
ธรรมที่รู้ได้โดยยากในโลกนี้ มี 4 อย่าง คือ อริยสัจ1 สัตว์โลก1 ปฏิสนธิ 1 ปฏิจจสมุปบาท 1 เป็นธรรมที่รู้ได้ยาก ยากที่จะอธิบาย ยากที่จะแสดงให้เข้าใจ
ยังมีคำสอนของพระพุทธองค์อีกหลายหมวดให้ได้ศึกษาค่ะ แล้วแต่ชอบหมวดไหน เพื่อสร้างเหตุ ปัจจัยในภพหน้า
“รู้ชัดด้วยตนเองเป็นปัจจัตตัง”  เหตุและปัจจัยพร้อม ทุกอย่างก็จะมาเอง
หนังสือที่ได้อ่าน
1. พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน.  ปฏิจจสมุปบาท สำหรับคนรุ่นใหม่.  เชียงใหม่ : กองทุนธรรมวิหาร, 2548. (BQ 240 ภ65)
2. ภันทันตะ อาสภมหาเถระ.  ปฏิจจสมุปบาทสังเขปกถา และ พระไตรลักษณ์.  กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2545. (BQ 4240 ภ63)
3. หลวงพ่อเสือ.  ธรรมบรรยาย : ปฏิจจสมุปบาท.  กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์, 2528. (BQ 4240 ห47)

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร