ช ช้างกับ ฅ ฅน

pic003      หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประเภทสารคดี (สพฐ.) ในปี 2551 เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้จากสารพัดแหล่งสารสนเทศ ที่เกี่ยวกับช้าง แล้วเล่าออกมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สนุก ได้ความรู้ทุกด้าน ทั้งเชิงวัฒนธรรม ประเพณี โบราณคดี ศาสนา อารยธรรม วิทยาศาสตร์ ครบถ้วนมาก แม้ว่าตัวเล่มจะมีจำนวนหน้าไม่มากนัก แต่สามารถรวบรวม ถ่ายทอด เรื่อง “ช้าง” ได้ขนาดนี้ บ่งบอกถึงการทุ่มเทอย่างมากของผู้เขียน ตั้งแต่ การค้นคว้า การอ่าน การวิเคราะห์รวบรวม การสังเคราะห์เป็นเรื่องใหม่ และที่สำคัญต้องทำด้วยหัวใจรัก จึงสามารถเขียนบรรยายผูกเรื่อง และสอดแทรกประสบการณ์ส่วนตัว และอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างสนุกสนาน
ผู้เขียน เริ่มต้นเรื่องตั้งแต่ กำเนิดช้าง ที่ดิฉันอ่านแล้วก็ยังงงงง กับการเทียบอายุของช้าง (ด้วยความที่สมองไม่ยอมรับรู้ และคำนวณกับตัวเลข) ผู้เขียนคำนวณแล้วบอกว่า ต้นตระกูลช้างเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่คำนวณจากอายุของโลก 4,500 ล้านปี ดิฉันอ่าน 2 หน้านี้หลายรอบก็ยังทำความเข้าใจไม่ได้ ขนาดผู้เขียน ใช้ปฏิทินของเดือนธันวาคม 2547 มาโยงให้เห็น ก็ยัง งง (รู้สึกแย่กับสติปัญญาของตัวเอง)
เรื่องต่อมา เป็นเรื่องที่เราชาวศิลปากรคุ้นเคย คือ ‘สัตว์ศักดิ์สิทธิ์’ คือ พระคเณศ เป็นเทพเจ้าแห่งอุปสรรค เป็นเจ้าแห่งศิลปะวิทยาการ เป็นครูใหญ่ในทางฝ่ายศิลปะ นาฏศิลป์ และการช่าง  เป็นเครื่องรางของขลัง เช่น แหวนพิรอดที่ว่ากันว่า ต้องถักด้วยขนหางช้าง จะมีฤทธิ์กันผีปีศาจได้ชะงัดนัก หรือลอดใต้ท้องช้างเพื่อสะเดาะเคราะห์ บางท้องถิ่น ชาวบ้านเชื่อว่า ช้างป่ามีหูทิพย์ ถ้าใครไปว่าหรือท้าทาย ตกกลางคืนจะออกมากินข้าวในนา เรื่องหูทิพย์ ดิฉันเองก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่จำได้ว่าเมื่อตอนเด็ก ๆ สวนสามพรานซึ่งมีช้างอยู่มาก ควาญจะพาช้างมากินหญ้าท้ายสวนที่บ้านบ่อย ๆ ดิฉันกับเพื่อน ๆ ก็ชอบไปดู มีเพื่อนผู้ชายคนหนึ่ง ตะโกนว่าช้างว่า “ไอ้หัวโต ตาเล็ก” ว่าอยู่หลายครั้ง (ไม่ต้องหูทิพย์ก็คงได้ยิน) จนช้างเดินตรงเข้ามาหา ทำให้ต้องวิ่งหนีกันวุ่นวาย
ส่วนช้างในพระศาสนา ผู้เขียนก็เล่าเรื่อง ฉัททันตชาดก ที่พระพุทธองค์เคยเกิดเป็นพญาช้างฉัททันต์ และอุทิศงาของตนให้กับพรานโสณุดร  และเล่าถึงช้างนาฬาคีรีที่พระเทวทัตปล่อยมาทำร้ายพระพุทธเจ้า และช้างอีกเชือกหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่เรายังพบเห็นกัน ก็คือ ช้างปาลิไลยกะ ที่ได้พบพระพุทธเจ้าแล้วเกิดเลื่อมใส ปัดกวาดโคนไม้ที่ประทับ ตักน้ำมาถวาย (น่าจะต้องใช้งวงทำนะ) เราจึงเห็นรูปช้างปาลิไลยกะมอบชูหม้อน้ำถวายอยู่คู่กับพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ หรือ ปางป่าเลไลย์
ต่อมาเล่าถึงวัดช้างล้อม และเล่าถึงตำนานพื้นบ้านของอำเภอลับแล ที่ชายชาวนาตามจับฝูงช้างที่มาทำลายข้าวในนาไปจนถึงเมืองสุโขทัย และเห็นรอยเท้าช้างหายเข้าไปในวัดร้าง เมื่อเขาเข้าไปดู ก็พบเพียงซากเจดีย์ใหญ่ รอบฐานมีรูปปั้นช้างเรียงราย เมื่อเดินดูโดยรอบก็พบประกายวาววับที่ตารูปปั้นช้าง จึงแกะดวงตาของช้างที่เป็นปรอทนั้นกลับมาจนหมด ทำให้ช้างเหล่านั้นไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตมาได้อีกเลย…ดิฉันยังนึกเสียดายว่าเพิ่งอ่านพบ ถ้ารู้ก่อน เมื่อมีโอกาสได้ไปวัดช้างล้อมที่สุโขทัย ก็จะได้เดินดูให้ละเอียด
pic005 เรื่องลูกช้างลูกคน ที่มีลูกช้างพลัดหลงกับแม่ช้าง แล้วมีคนไปพบเข้า จึงนำกลับมาที่บ้าน และให้กินนมของแม่ลูกอ่อน ผู้เขียนยังบรรยายแบบติดตลกว่า แม่ลูกอ่อนชาวตากคนนี้ต้องเลี้ยงลูกตัวเอง แล้วน้ำนมยังมีเหลือสำหรับลูกช้างที่ต้องกินนมเป็น 10 ลิตรขึ้นไป ต้องเป็นยอดคุณแม่ทีเดียว ส่วนตบท้ายก็บอกว่า ลูกช้างที่มาเป็นลูกคนนั้นเป็นกรณีพิเศษ แต่ลูกคนที่กลายเป็น”ลูกช้าง” นั้น กลับพบเห็นได้ทั่วไปตามสำนักคนทรงและศาลเจ้าที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์…
ตอน หูช้าง เป็นการรวมเรื่องของสิ่งต่าง ๆ ที่เรียกว่า หูช้าง ได้แก่ ขนมหูช้าง  เป็นขนมที่อยู่ในรายการที่เป็นเครื่องกระยาบวช ในพิธีการสังเวยต่าง ๆ เป็นขนมที่ทำจากแป้ง ไข่เป็ด และน้ำตาลทราย ซึ่งผู้เขียนรวบรวมข้อมูลจากพจนานุกรม จากคำบอกเล่าของคนโบราณ หลายคน ซึ่งแตกต่างกัน จึงทำให้ยังสรุปไม่ได้ว่า ตกลงขนมหูช้างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เมื่อเป็นของบังคับในการทำพิธีสังเวย จึงมักใช้ขนมอื่น ๆ เช่น ขนมถั่วแปป  หรือข้าวเกรียบว่าว แทน เพราะคิดเอาเองว่าหน้าตาคล้ายหูช้าง นอกจากเป็นขนมแล้ว ยังเป็นชื่อปลาทะเล ชื่อต้นไม้ ใช้เรียกแผ่นกระดานที่ทำเป็นรูปฉาก แผ่นกระจกรถยนต์สำหรับเปิดรับลม เป็นลักษณะของประตูโบราณ ที่เรียกว่าประตูหูช้าง หน้าตาเหมือนกับเสาชิงช้าที่หน้าวัดสุทัศน์
ส่วนเรื่องราวของพลายมงคล ที่มีชะตาชีวิตขึ้นลงนั้นอ่านแล้วนึกถึงวรรณกรรมอีกเรื่องที่เคยเล่าให้ลูกฟัง เรื่อง พลายมลิวัลย์ ของ ถนอม มหาเปารยะ เคยอ่านเมื่อตอนเป็นนักเรียน แล้วยังจำความเศร้าซึ้งของหนังสือเล่มนี้ได้  พอได้รู้จัก พลายมงคล ในหนังสือ ช ช้างกับ ฅ ฅน นี้ ทำให้อยากไปหาข้อมูลเกี่ยวกับ “พลายมงคล” ช้างเผือกของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อ่านต่อ
เรื่องสุดท้ายที่ดิฉันจะเล่าต่อ คือ เคยเห็นช้างหรือเปล่า  จากเนื้อเพลงของเพลงช้าง ทำนองเพลงมาจากเพลงไทยเดิม “พม่าเขว” ส่วนเนื้อร้องแต่งโดย คุณหญิงชิ้น ศิลปะบรรเลง แต่งขึ้นเพื่อใช้ออกอากาศสถานีวิทยุของโรงเรียน ในราวปี 2500 กว่า ๆ
อีกหลายเรื่อง…เช่น การจับช้าง  การลงโทษด้วยช้าง การรบ พระเจ้าช้างเผือก การส่งช้างเป็นของขวัญระหว่างประเทศ ดูช้างให้ดูหาง ช้างร้าย ชายชื่อช้าง ยศช้างขุนนางพระ ช้างไทยในแสตมป์ ให้เพื่อน ๆ ตามอ่านเอา
ท้ายเรื่อง ผู้เขียนเขียนให้คิดว่า “ในโลกสมัยใหม่ ขณะที่เราขายช้างเป็นสินค้า การท่องเที่ยว ใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์ของเมืองไทย ใช้เป็นตราจังหวัด โลโก้การค้า สัตว์นำโชคในการแข่งขันกีฬา แต่ตัวช้างเป็น ๆ ที่ยังมีชีวิต เดินอยู่ยามค่ำคืนในเมืองใหญ่กลับกลายเป็นตัวประหลาดที่ไม่มีใครใยดี หลายพันปีที่ผ่านมา จากสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เทพพาหนะ ช้างกู้บ้านกู้เมือง มาจนถึงสัตว์ประจำชาติสัญลักษณ์แห่งความเป็นไทย ในที่สุด ช้างกลับกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง กลายเป็นเพียงสัตว์อีกชนิดหนึ่งในจินตนาการ…”
ดิฉันเป็นคนสามพราน ก็มีประวัติภูมินาม ที่เป็นช้างเหมือนกัน เพื่อน ๆ คงเคยได้ยิน เรื่องที่พราน 3 คน ปราบฝูงช้างป่าที่อาละวาดอยู่ สำเร็จแล้ว จึงได้ชื่อว่า อำเภอสามพราน ปากทางเข้าตัวอำเภอสามพราน ทางอำเภอทำรูปปั้นพรานทั้ง 3 คนไว้ น่าจะมีรูปปั้นช้างด้วย เด็กรุ่นหลังจะได้รู้ว่า พรานทั้ง 3 คน มาปราบตัวอะไร
อีกเรื่องหนึ่งที่อ่านไป คิดไป และนอกเรื่องช้าง คือ ลักษณะการเขียนงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ สืบเนื่องจากการไปบรรยายให้คณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ฟัง เกี่ยวกับเรื่องการค้นข้อมูลเพื่อการวิจัยจากฐานข้อมูล และอินเตอร์เน็ต และการใช้โปรแกรม EndNote และได้คุยถึงเรื่องลักษณะของการอ้างอิง ได้รับฟังความคิดของคณาจารย์เกี่ยวกับการตีพิมพ์ เผยแพร่ งานทางวิชาการของงานสายประวัติศาสตร์ว่ามักจะมีลักษณะอย่างไรแล้ว อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร