จากประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่วงจรการพนัน
วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของคนไทยในทุกภูมิภาคล้วนเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆและสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานแล้วดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเพณีหลายๆอย่างถูกส่งเสริมไปในรูปของการท่องเที่ยว แต่ผลที่เกิดตามมาของธุรกิจการท่องเที่ยวกลับทำให้วัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างถูกแทรกด้วยธุรกิจการพนันผสมเข้าไปด้วย จากการละเล่นแบบพื้นบ้านดั้งเดิมเพื่อความสนุกสนานบันเทิงและความกลมเกลียวกันของคนในหมู่บ้านหรือชุมชนในท้องถิ่น ถูกยกระดับสู่เวทีการพนันแบบถึงพริกถึงขิงกันทีเดียว ดังเช่นการละเล่นพื้นบ้านสี่ชนิด ต่อไปนี้คือ
การแข่งเรือยาว เป็นประเพณีหรือการละเล่นที่มีมาแต่สมัยโบราณตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นประเพณีการละเล่นของคนในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่เพราะในสมัยก่อนเราใช้การเดินทางโดยทางน้ำเป็นหลักชาวบ้านใช้เรือเป็นพาหนะในการไปมาหาสู่กัน ใช้เรือจัดขบวนแห่กฐินผ้่าป่าไปทำบุญที่วัด เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาแล้วจึงมีการจัดประเพณีแข่งเรือขึ้นเพื่อความสนุกสนานและเป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชนด้วย บางท้องที่จัดแข่งเรือเพื่อเป็นการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนศรัทธาก็มี รูปลักษณะของเรือที่ใช้แข่งขันกันจะเป็นเรือยาวมีฝีพายหลายๆคนช่วยกันพาย นิยมใช้ไม้ตะเคียนทั้งต้นมาขุดเป็นเรือ ในอดีตต้องใช้ความร่วมมือของคนในชุมชนและช่างที่มีฝีมือช่วยกันขุดเรือขึ้นมีพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับเรือลำนั้นๆ ครั้นถึงยุคที่การคมนาคมทางบกมีบทบาทอย่างมากแทนการคมนาคมทางน้ำ แต่การจัดแข่งเรือก็ยังมีอยู่และยังเป็นที่นิยมเช่นเดิมเพื่อเป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตและความผูกพันของผู้คนกับสายน้ำไว้ในแต่ละท้องถิ่นที่อยู่ริมแม่น้ำ ในอดีตนั้น“วัด” คือเจ้าภาพหลักในการจัดแข่งเรือ ต่อมามีหน่วยงานของราชการเข้ามาร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการจัดงานด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น หน่วยงานราชการระดับจังหวัด, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย (โดยเฉพาะการจัดแข่งเรือยาวในสนามดังๆ) ส่วนกลุ่มเจ้าของเรือยาวที่ใช้แข่งขันกันนั้นมีอยู่ 3 กลุ่มคือ >เรือของวัดหรือชุมชน >เรือของหน่วยราชการ >เรือของเอกชน(ของนักธุรกิจหรือนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ) เมื่อมีหน่วยงานราชการเข้ามาร่วมด้วย จึงเกิดการมอบถ้วยพร้อมเงินรางวัลให้กับทีมผู้ชนะเกิดขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณในการจัดงานจึงเป็นของราชการและของเอกชนเป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมทั้งมีสื่อโทรทัศน์เข้ามาร่วมในการถ่ายทอดสดสู่ผู้ชมอีกอย่างหนึ่งด้วย การแข่งเรือยาวประเพณีจะเริ่มตั้งแต่ช่วงออกพรรษาเป็นต้นไป เดิมจะจัดแข่งเรือกันในวันทอดกฐินของวัดและเป็นงานประจำปีด้วย แต่ปัจจุบันมีการจัดเป็น “เทศกาลแข่งขันเรือยาวประเพณี” มีระยะเวลาถึง 5 เดือน นับแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคมของทุกปี มีปฏิทินงานแข่งเรือในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย มีการระบุประเภทของเรือและจำนวนฝีพายที่ลงแข่ง โดยมี สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัด กลายเป็นศึกเรือยาวจ้าวแห่งสายน้ำ จากการแข่งเรือยาวประเพณีแบบบ้านๆ ก็พัฒนาสู่ การแข่งขันเรือยาวชิงแชมป์ประเทศไทยไปซะแล้ว ในส่วนของ“การพนัน”นั้นย่อมมีอยู่คู่กับคนไทยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ซึ่งการแข่งเรือกันแต่เดิมมาก็มีการพนันขันต่อกันเล่นสนุกๆแค่ในท้องถิ่นเพื่อให้การแข่งขันมีสีสันเท่านั้น มิได้เล่นกันจริงจังดังเช่นในยุคหลังๆมานี้ ที่เข้าสู่วงจรธุรกิจการพนัน
บั้งไฟ เป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวอีสาน เรียกว่าบุญบั้งไฟเป็นการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพระยาแถนในการขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลซึ่งเป็นความเชื่อมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ เป็นงานบุญเดือน 6 ของทุกปี แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่ในการบรรจุดินปืน มีการทำแท่นหรือฐานในการจุดเป็นรูปลักษณ์ต่างๆแต่ส่วนใหญ่มักทำเป็นรูปพญานาค การทำบั้งไฟถือเป็นการร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะพระจะเป็นผู้มีบทบาทในการทำบั้งไฟในสังคมหมู่บ้านชาวอีสานสมัยก่อนและใช้วัดเป็นสถานที่ทำบั้งไฟ การที่บั้งไฟเมื่อจุดแล้วจะขึ้นหรือไม่นั้นก็อยู่ที่การบรรจุดินปืนเป็นสำคัญ ในยุคก่อนต้องคั่วต้องตำส่วนผสมต่างๆของดินปืนด้วยมือทั้งสิ้น ไม่มีเครื่องจักรใดๆช่วย การทำและบรรจุดินปืนลงกระบอกไม้ไผ่ต้องใช้คนจำนวนมากช่วยกันหลายขั้นตอนจึงจะสำเร็จ การจัดงานบุญบั้งไฟถือเป็นงานบุญอย่างหนึ่งเพื่อหารายได้เข้าวัดและเป็นงานที่ชาวบ้านสนุกสนานรื่นเริงกันได้เต็มที่ เดิมนั้นหากหมู่บ้านใดหรือช่างที่ทำบั้งไฟคนใดแพ้ ตัวช่างที่ทำบั้งไฟจะถูกจับโยนลงในบ่อโคลน ซึ่งเป็นที่สนุกสนานเฮฮาของผู้มาร่วมงานอย่างยิ่ง แล้วการแข่งบั้งไฟนี้มีหรือจะพ้นการพนันไปได้ แต่ก่อนนี้ก็อยู่ในวงแคบๆของชุมชนในท้องถิ่น แต่ในระยะหลังการพนันบั้งไฟขยายตัวอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา มีการพนันเข้ามาอย่างเป็นล่ำเป็นสันแฝงมากับการจัดงานแต่ละแห่งโดยเฉพาะแถบจังหวัดอีสานใต้ (แต่เดิมงานบั้งไฟที่มีชื่อเสียงของทางอีสานคืองานบุญบั้งไฟของจังหวัดยโสธร) การทำบั้งไฟถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องมีการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการทำ จากการใช้ลำไม้ไผ่เปลี่ยนเป็นท่อเหล็กแล้วพัฒนามาเป็นท่อพีวีซีในปัจจุบัน การทำบั้งไฟเพื่อการพนันมีวิธีทำและแท็คติกกลโกงต่างๆมากมาย และที่มักเป็นข่าวในแทบทุกปีคืออุบัติเหตุจากการทำบั้งไฟหรือการจุดบั้งไฟทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมทั้งเสียทรัพย์สินจากการถูกไฟไหม้เพราะบั้งไฟพุ่งไปตกยังบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็มีอยู่มิใช่น้อย เพราะบั้งไฟนั้นต้องใช้ดินปืนในการจุดระเบิดซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง นับเป็นความสนุกอยู่บนความเสี่ยงพอดูทีเดียว
ชนไก่/ไก่ชน การชนไก่เป็นกิจกรรมบันเทิงของคนในหลายประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งไทย พม่า ลาว เขมร เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ การนำไก่มาชนกันหรือต่อสู้กันนั้นเป็นวิถีหนึ่งในสังคมเกษตรกรรมของไทย ในยุคก่อนนั้นการชนไก่(ภาษาชาวบ้านเรียกว่าการตีไก่)นิยมจัดในฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงว่างหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจและเป็นการพบปะสังสรรค์กันของชายชาวชนบทในยุคนั้น ถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งแล้วยังถือเป็นการพนันพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น และการพนันชนิดนี้ต้องได้รับอนุญาตให้เปิดบ่อน อย่างถูกกฎหมายด้วย จากเดิมเป็นการพนันพื้นบ้านธรรมดาแต่ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นการพนันระดับอาชีพ มีการเปิดบ่อนอย่างเป็นทางการมากมาย มีการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ชนและการคัดเลือกสายพันธุ์ ทำให้ไก่ชนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง มีการตั้งกลุ่มและชมรมต่างๆขึ้น ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ มีทั้งนักธุรกิจ นักดนตรีชั้นนำ ดารา นักการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง มีทั้งบ่อนบ้าน บ่อนเมือง (รวมทั้งบ่อนเถื่อนด้วย) ไก่ชนถือเป็นอุปกรณ์การพนันที่มีชีวิต แต่ในแง่ศีลธรรมแล้วถือเป็นบาปที่นำสัตว์ไปต่อสู้กันให้ได้รับความเจ็บปวดทรมานท่ามกลางความสนุกของหมู่มนุษย์
วัวชน เป็นเกมกีฬาพื้นบ้านของชาวใต้ กีฬาชนวัวแต่เดิมนั้นใช้วัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ใช้งานตามธรรมชาติ แล้วใช้หัวไร่ปลายนาหรือลานบ้านเป็นสนามชนวัว ก่อนนั้นการชนวัวจะเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีสำคัญในแถบภาคใต้ เช่น งานเทศกาลเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช งานแห่ผ้าห่มพระธาตุสทิงพระ งานแข่งขันกรีฑาจังหวัดพัทลุง งานสงกรานต์เดือนห้าของจังหวัดสงขลา หรืองานชนวัวถวายพ่อท่านลีในช่วงปีใหม่บ้านนาเดิม เป็นต้น วัวที่ใช้ชนกันนั้นจะคัดเลือกจากวัวพันธุ์พื้นเมืองที่มีลักษณะดีมีคุณสมบัติเหมาะสมแล้วฝึกให้มีชั้นเชิงในการต่อสู้ ต่อมาการชนวัวถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์วัวพื้นเมือง มีการสร้างสนามกีฬาชนวัว (หรือบ่อนชนวัว)และมีธุรกิจการพนันอย่างออกหน้าออกตา ในพื้นที่ภาคใต้มีสนามชนวัวที่ถูกกฎหมายอยู่ 28 สนาม แล้วยังมีที่ผิดกฎหมายที่เรียกว่า”สนามซ้อม”กระจายอยู่ทั่วไปอีกหลายแห่ง ปัจจุบันวัวชนจะถูกคัดเลือกสายพันธุ์ที่มาจากสายเลือดวัวชนโดยเฉพาะเท่านั้น ผู้ที่จะเป็นเจ้าของบ่อนหรือนายบ่อนมักเป็นผู้มีฐานะดีหรือมีอิทธิพลในท้องถิ่นและต้องเป็นนักเลงพอตัวเนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับนักพนันมากมาย เพราะสนามชนวัวถือเป็นพื้นที่ทางสังคมในการแสดงพลังอำนาจและอิทธิพลของเจ้าของบ่อน มักได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปและเป็นบันไดก้าวไปสู่ตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาตินั่นทีเดียว
จะเห็นว่าประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านทั้งสี่ชนิดนี้เดิมเป็นการละเล่นของคนไทยในชนบทในแต่ละท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิมครั้งบรรพบุรุษ จุดประสงค์ก็เพื่อความสนุกสนานและความสามัคคีของคนในชุมชนถึงแม้จะมีการพนันกันบ้างตามวิสัยของคนไทยก็อยู่ในระดับแค่”ติดปลายนวม”พอให้เกิดสีสันกันเท่านั้น ครั้นถึงยุคปัจจจุบันถึงแม้ว่าจะยังคงมีการละเล่นแบบนี้อยู่แต่ทุกอย่างถูกพัฒนาการไปในรูปแบบใหม่โดยมีการพนันเข้ามาเป็นหลักแฝงอยู่ในทุกการละเล่น กลายเป็นแหล่งอบายมุขทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย มีกลุ่มคนที่เข้ามาทำเป็นธุรกิจและหาผลประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ชาวบ้านเป็นเพียงตัวประกอบของการละเล่นให้ดำเนินไปตามประเพณีเท่านั้น จุดประสงค์ของการจัดงานก็เพื่อการพนันของพวกเซียนพนันทั้งหลายทั้งระดับทัองถิ่นถึงระดับชาติที่เห็นชัดๆก็คือ การแข่งเรือและงานบั้งไฟ
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือเรื่อง “พนันพื้นบ้าน:การรุกคืบของธุรกิจการพนันสู่วิถีชุมชน” เลขหมู่ HV6722ท9พ36 มีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากหาอ่านได้ที่หอสมุดค่ะ