เมื่อคุณยายเป็น Freshy ในงาน Catalog

cats
สืบเนื่องจากคิดเห็นเรื่องความใหม่ในการทำงานของคุณสมฯ
จากประเด็น “ทัศนคติบอด” ผนวกรวมกับเห็นส่วนตั๊ว ส่วนตัวของอิฉัน
ที่ได้มีโอกาสเข้าไปอ่าน “มุมของความสุข” ที่คุณสมฯ
ส่งสุขผ่านงานมาให้เราๆ ได้เปลี่ยนมุมคิดกับคำว่างาน…ที่งาม
ด้วยมุมของคนที่รู้สึกสนุกกับงาน

คุณสมฯ นำขึ้น Time machine ย้อนเวลาหาอดีต โดยมิได้ขึ้นธรรมมาสน์เทศนา
หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยน “องค์” ในประสบการณ์ที่ผ่านมา
เป็นแรงให้อิฉันเริ่มรำลึกเรื่องราวร่วมสมัยเกี่ยวกับงาน cat. cat. ที่มิได้ร้องเหมียวๆ
ในยุค Low หรือ จะว่าไปเรียกว่า No tech. จะเหมาะกว่า
ด้วยในครั้งกระนั้นสิ่งล้ำสุดที่ดูจะเรียกได้ว่า High technology
ที่งานวิเคราะห์หมวดหมู่และทำรายการมี คือ
เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าที่พิมพ์ได้ลบได้ไม่ต้องง้อลิควิด
แต่ก็หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดใด กับชะตาชีวิตคุณๆ บรรณฯ โดยตรง
ต่างกับชีวิตฮีโซของน้องๆ รุ่นใหม่ ที่อยู่ในยุคสะดวก search อย่างบัดเดี๋ยวปัจจุบัน
คุณสมฯ มีประสบการณ์ตรงกับหนังสือ POP
ขณะที่อิฉันเข้าทำงานไล่หลังมาเกือบๆ จะรดต้นคอ
เข้าใจว่าเพลานั้นคอลเลคชั่นดั่งว่าของคุณสมฯ
คงถูกสลายหายไปในหลืบหมวดวรรณกรรมสิ้นแล้ว
เพราะสิ่งที่เหลือไว้ เหลือไว้ เหลือไว้ (ทำไม)…ให้อิฉันต้องเวียนเกล้า
คือหนังสือ DC ที่ยังปรับเปลี่ยนเป็น LC มิแล้วเสร็จ
เมื่อแรกเข้าทำงานอิฉันเริ่มด้วยการเป็น Freshy ในงาน Catalog
หลังจากคุณพี่ๆ โดยเฉพาะพี่(สายตรง)อาจารย์ป้าแดง…อรุณี
เพียรสอน เพียรตรวจงาน ปลุกปั้นกันแรมเดือน
จนเห็นว่าวิทยายุทธขุ่นน้องเริ่มพอไปวัดวาได้ตอนหลังเพล
มรดกหมวดที่ได้รับแบ่งแยกจากกองยายสายแรกเริ่มจึงประเดิมด้วย
หมวด D,E-F, J K และ Z ด้วยพี่ๆ ท่านพินาแล้วว่า
ไม่น่าจะเป็นขิงแก่สำหรับน้องใหม่เท่าใดนัก
อยู่มาสักระยะ เลาๆ ว่า ไม่ทันพ้นปี หรือพ้นมาก็เพียงไม่นานนัก
พี่ๆ ก็เริ่มเล็งและยิงตรง ถอด J K Z ไป ยกมรดก H ให้อิฉันแทน
หลังจากที่พี่น้อยวนิดาถือครองต่อจาก อ.ระเบียบ มาสักระยะหนึ่ง
เหม่…นะ ตอนนั้นคุณเจิน เจิน ยังไม่ออกอัลบั้มต้องสู้
อิฉันเลยได้แต่ครวญคราง สู้ๆ เบาๆ ในใจ
ว่ากันว่าในวงการแมวแมวมีจุด แบบว่า… cat.cat. น่ะ
มักจะล่ำลือกันว่าหมวดหินฝุดๆ ในประดามีของคุณพี่ Herbert Putnum
ก็คือหมวดอักษรต้นของชื่อคุณพี่ท่านนั่นเอง
แล้วน้องใหม่ร้ายยย เอ๊ยยยย ไร้…เดียงสาอย่างอิฉันจิสามารถมั้ยนั่น
ไหนๆ ก็ไหนๆ อย่าได้หวั่น เราก็ศิษย์มีอาจารย์หนึ่งบ้าง
แล้ว…ณ เพลานั้น…อิฉันทำเยี่ยงไรกับการ cat.ในยุคทำมือ สมัย No tech.
ก็ต้องหาตัวช่วยสิเจ้าคะ
ตัวช่วยแรกคือ “ตัวเอง” ทำอย่างไร…หรือ?
บางคนอาจนึกในใจ…
ก็ถ้าจะต้องช่วยตัวเองจะเรียกตัวช่วยไงคะ(…ฟระ)
การช่วยตัวเองก็คือ การช่วย “ทำใจ” ให้ต้อง
อ่าน อ่าน อ่าน อ่าน อ่าน ……… และ อ่าน …. และ อ่าน

อ่านเนื้อหาของหนังสือที่อยู่ตรงหน้า

อ่านตั้งแต่ชื่อเรื่อง คำนำ คำนิยม สารบัญ เรื่องย่อ
กระทั่งอ่านบางบทบางตอนที่คิดว่าใช่
หรือบางครั้ง (ออกบ่อย) อ่านจนแทบจบเล่มยังมีนตึบ…ไปไม่ถูกก็มี
ทั้งนี้ก็ขึ้นกับระดับความหิน โหด ของเนื้อหา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวปรัชญาจ๋าๆ อิฉันนิจะเกร็งเป็นพิเศษ
แต่อย่างไรก็จำ(ยิ่ง)ต้องอ่าน…เพื่อหาคำที่พอจะเป็นประกายส่องทางให้…ไปต่อ
ไปต่อที่ไหน…?
นั่นสิ ไปที่ไหน
ไปที่ตัวช่วยลำดับถัดไปสิคะ
ที่ไหนล่ะ ??
ก็ที่หัวเรื่อง ทั้งไทย ทั้งอังกฤษ น่ะสิ
และสำหรับอิฉัน…การพบคำฝาหรั่งในเนื้อหา นับว่าโชคดี
ดีอย่างไรตามมา ตามมา

การได้คำไขนำไปส่อง ที่นอกจากจะหาแนวทางจากหัวเรื่องในหนังสือหัวเรื่องแล้ว
หากวันไหนเจอโจทย์หิน อิฉันก็จะมีตัวช่วยเพิ่มคือไปส่องจากหัวเรื่องในตู้บัตรรายการ
ที่อิฉันจะเทียวเดินเข้า-ออก ระหว่างโต๊ะทำงาน กับห้องอ่านไปๆ มาๆ หลายตลบ
ซึ่งพี่ๆ บางคน หรือ หลายคน อาจจะแอบเวียนหัวกับอิฉัน…รึเปล่าไม่ทราบได้
พี่เก่าๆ ลองหลับตานึกภาพการเดินเข้า-ออก ห้องทำงานวิเคราะห์ฯ
กับห้องอ่าน ชั้น 2 อาคารหอสมุดเดิม หรือสถาบันวิจัยปัจจุบันนะคะ

หรือหากเจอหนังสือ Advance ขึ้นมาอีกระดับ ได้คำไขภาษาอังกฤษจากตัวเล่ม
ก็จะพาไปสู่ Index ท้ายเล่มของหมวดหมู่ที่เป็นเป้าหมาย เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย
ทำให้สามารถไปเสาะหารายละเอียดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องแวดล้อมภายใต้คำนั้นๆ ได้
ซึ่งหมายถึงคำนั้นๆ ต้องมีปรากฎในหมวดนั้นๆ ด้วย หรือบางครั้งโชคดี
แม้คำนั้นๆ จะไม่ตรงหมวด แต่มีความเกี่ยวข้องอยู่บ้าง
ก็จะมีการชี้ชวนออกจากหมวดนั้นให้ไปดูที่หมวดเพื่อนบ้าน

อ้อ…นิดนึง
หากไม่ทราบชัดว่า คำภาษาปะกิตที่พบมีความหมายว่ากระไร
ควรหาคำแปลก่อน เพื่อจะได้งมหอย งมโข่งใกล้เคียงหมวดหมู่ที่น่าจะเป็น
ดังนั้น อาวุธข้างกายที่สำคัญอีกประการ คือ Dictionary
อ่านมาถึงตรงนี้…
หลายคนคงเริ่มมึน หลายคนอาจนึกในใจ…เยอะ!!
ซึ่งก็บอกได้เพียงว่า มันคือชีวิตจริงที่…เยอะ เมื่อเริ่มเข้าสู่วงการแมว. แมว.
แต่เป็นอาการเยอะ ที่ส่วนตัวรู้สึกว่ามันสนุกมว๊ากกก แม้บางครั้งจะเครียดมากกว่าก็ตาม
แต่ก็คิดว่าคุ้มเหนื่อย คุ้มเวลา ที่มักจะเกินเลย 16.30 น. เสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 16.30 น. เพลาหน้าฝน
ที่มักจะมี “ฝนราชการ” ตามบัญญัติคำของหัวหน้ามาลินี

ด้วยพี่ฝน(…ไม่มีเครื่องแบบ…) มักจะมารอรับตรงเวลาจนกลับบ้านไม่ได้แทบจะทุกเย็น
เป็นเหตุให้มีเสียงแซวจากพี่ๆ บางคน เมื่อสังเกตุเห็นอิฉันเย็นย่ำค่ำเช้า
โดยเฉพาะเสียงจากป้านพรัตน์ อยากรู้ว่าป้าพูดอันใด ก็ใส่บาตรถามป้านะคร้าา
ที่บอกว่าคุ้มนั้น เพราะทุกครั้งที่เราตั้งหน้าตั้งตาหาสิ่งหนึ่ง
เรามักจะไปพบอีก 1   2   3  4   5 … 108 พันสิ่งระหว่างทางเสมอ
และทุกอย่างที่พบ หากเอาใจใส่ ไม่ละเลย ล้วนเป็นต้นทุนสะสมที่หายาก
เพราะเป็นทุนที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเองและทำให้จดจำอย่างเข้าใจ
บรรยากาศแมว. แมว. เมื่อ 28 ปี แล้ว
ไม่หมดแค่ความที่ต้อง “พยายาม” หาเลขหมู่ในหมวดหิน ที่ยกมาพอสังเขปเท่านั้น

การลงชื่อผู้แต่ง โดยเฉพาะหน่วยงานอย่างพี่ไทย
ที่มีทั้งหน่วยใหญ่ กลาง เล็ก เล็กมาก เล็กจิ๋ว เล็กพิเศษ เล็กสุดสุด เล็กนาโน
จะใช้หน่วยใหญ่สุดไหม จะไล่ระดับลงมาอย่างไร จะลงเป็นกี่ระดับ
หรือจะลงเฉพาะหน่วยงานนาโน ที่เป็นคนลงมือจับปากกาจริงเขียนจริง
เข้าใจว่าพี่ๆ รุ่นโบๆ ก็คงงองู 4 ตัว เหมือนๆ อิฉัน
จึงมักพบเสมอว่าหน่วยงานไท้ไทย ที่ทำรายการไว้เดิม
บางรายการ มัน…โอ้ววววว พระเจ้าจอร์ช อย่าให้บอกเล้ยยยย
เมื่อพบอาการนี้ อิฉันไปต่ออาการไหน
ย้อนเวลากลับไป สมัยนั้นบัตร 3 x 5 ยังเป็นสรณะ
อิฉันก็สร้างตัวช่วยส่วนตั๊ว ส่วนตัว ด้วยการบันทึกชื่อหน่วยงานใหญ่-น้อย
ที่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อเวลาชีวิตที่หดน้อยลงไปจากอาการ งง & งม
ซึ่งนอกจากจะบันทึกหน่วยงานใหญ่-น้อยจัดเรียงตามลำดับอักษรแล้ว
ยังบันทึกข้อมูลที่จำเป็นแก่วิชาชีพ อันมีเพียงน้อยนิดในสมองปลาทองเยี่ยงอิฉัน
เมื่อเทียบกับมหาสมุทรประสบการณ์ ที่ไม่มีตำราเล่มใด หรือครูอาจารย์ท่านไหน
จะถ่ายทอดได้หมดจนกว่าจะเจอของจริง ให้ต้อง learning by doing อย่างซึมซับ
ความระทม ระทวย ระทึก ฤทัย ของ Freshy เมื่อปี 2530
และเชื่อว่าพี่ๆ ป้าๆ รุ่นโบๆ หลายๆ ท่าน ต่างก็ต้องขวนขวายในภาวะจำกัดเช่นเดียวกัน
เพื่อสร้าง “องค์” เสริมสง่าแก่ตน อย่างมีเกียรติ สมศักดิ์ศรีแห่งวงศ์ตระกูลคุณบรรณฯ
ซึ่งนอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีอีกหลากเรื่องราวที่บรรณารักษ์ในยุค Analog
ต้องสร้าง ต้องหาตัวช่วย ในการทำมาหารับทานบนลำแข้งของตัวเอง
เพราะไม่มี “ต้นแบบ” ให้แอบเลียนอย่างกว้างขวางดังยุค Digital นี้
อ่านมาถึงบรรทัดนี้…ก็เพียงอยากจะบอกน้องๆ ว่า
พี่ๆ ไม่เคยอาบน้ำร้อนมาก่อนดอกเกรงว่าจิพอง ไปเสียทุกรูขุมขน
แต่เชื่อเถอะว่าพี่ๆ ทู๊กกกโคนนน พร่ำบ่นบอกกล่าวด้วยรักและผุพัง
อยากเห็นน้องๆ ปีกกล้า ขาแข็ง เป็น New gen. เป็นความหวังใหม่ (ที่ไม่เกี่ยวกับลุงจิ๋ว)
ที่อุดมด้วยสรรพาวุธทางวิชาชีพบรรณารักษ์…อย่าง…แข็งแรง
แค่นี้เอง…ที่ลุงๆ ป้าๆ ปรา-รด-นา ตั้งอก ตั้งใจ ตักตวงเอาไปให้มาก
ในวันที่โอกาสเหลือน้อยลงทุกที…นะแจ๊ะ คนดี ^^

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร