การจัดบริการห้องสมุดสำหรับคนชายขอบ

23 February 2015
Posted by tanawan

” คนชายขอบ” (Marginal People) คือ บุคคลหรือกลุ่มคนที่สังคมไม่สนใจเหลียวแล ถูกทิ้งขว้างแปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก เช่น ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย ผู้หญิงขายบริการ คนยากจน คนเร่ร่อน คนขอทาน คนพิการ คนอ้วน กลุ่มคนติดเชื้อ HIV กุล่มรักเพศเดียวกัน เป็นต้น นอกจากนี้ คนชายขอบยังรวมถึงผู้ที่ถูกปฏิเสธโดยสังคมส่วนใหญ่ เช่น ในห้องเรียน ถ้าบังเอิญเราเรียนไม่เก่ง แต่เพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นคนเรียนเก่งแทบทั้งหมด เราก็อาจจะกลายเป็นคนชายขอบได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่แค่คนที่อยู่ชายขอบแบบที่อยู่ตามชายแดนระหว่างประเทศ เท่านั้น แต่หมายถึงคนที่ถูกคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นคนส่วนน้อยในสังคม อันเป็นที่ว่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน
“คนชายขอบ” มองได้หลากหลาย คือ มาจากคนส่วนใหญ่พูดถึงคนส่วนน้อยในเชิงด้อยกว่าตนเอง หรือมาจากคนส่วนน้อยมองตัวเอง/รู้สึกตนเองว่าด้อยกว่าคนอื่น แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากคนส่วนน้อยมองว่าคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “คนชายขอบ” ก็เป็นได้ ถ้าที่ว่างทางวัฒนธรรมของคนส่วนน้อยเข้มแข็งกว่า ตัวอย่าง เช่น กลุ่มคนจีนในเยาวราช ที่อาจมองว่าคนอื่นนอกเยาวราชด้อยกว่าตนเองนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป “คนชายขอบ” คือ บุคคลผู้ด้อยโอกาส มีชีวิตที่อยู่กับการถูกทอดทิ้ง ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกเอาประโยชน์จากสังคม ถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ คนเหล่านี้อยู่นอกสายตา อยู่ห่างไกลศูนย์กลางของการพัฒนา และไม่เคยถูกเล็งที่จะให้ได้รับการช่วยเหลือจากสังคม
ความด้อยโอกาสที่ทำให้มนุษย์ตกเป็นคนชายขอบมี 3 กรณีด้วยกัน คือ
(1) ความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม
(2) ความด้อยโอกาสทางการศึกษา
(3) ความด้อยโอกาสทางกฎหมาย
 
การจัดบริการห้องสมุดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ “คนชายขอบ” หลากหลายประเภทสามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศและแหล่งข้อมูลข่าวสารได้โดยสะดวกและทั่วถึง  ซึ่งในการจัดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนชายขอบประเภทต่าง ๆ นั้น “งบประมาณ” ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาบริการต่าง ๆ ในทุก ๆ ด้าน
ดิฉันคิดว่าห้องสมุดเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ “คนชายขอบ” ในเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ ได้ในอนาคตข้างหน้า (หากมีงบประมาณเพียงพอ) เช่น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน — > เข้าใช้ฟรี!  มีการออกแบบโครงสร้างภายในหอสมุดให้ราบเรียบ ไม่สะดุด มีการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ที่มีลักษณะกลม/มน/ไม่เป็นเหลี่ยม/มุม มีลิฟต์ที่มีเสียงบอกชั้น+มีปุ่มกดอักษรเบรลล์ ประตูทางเข้า-ออกควรเป็นประตูอัตโนมัติ มีบันไดทางลาด บันไดมีราวจับ มีการใช้เบรลล์บล็อกบนทางเดินภายในและรอบ ๆ อาคาร เป็นต้น
แหล่งที่มาของข้อมูล :
https://www.gotoknow.org/posts/204923 (23 กุมภาพันธ์ 2558)
http://th.wikipedia.org/wiki (23 กุมภาพันธ์ 2558)

One thought on “การจัดบริการห้องสมุดสำหรับคนชายขอบ

  • ความเห็นพี่คือน่าจะตีความเรื่อง “คนชายขอบ” ในมิติของการทำงานบริการในห้องสมุดอาจเป็นคนที่ไม่รู้จักค้นอะไรๆในห้องสมุด หรือ คนที่ไม่มาเข้าใช้ห้องสมุด ฯลฯ แล้วเราจะทำให้พวกเค้ามาอยู่ใน “เขตแดน” ห้องสมุดได้อย่างไร ทั้งๆที่หลายๆคนมักพูดว่าห้องสมุด “ไร้พรมแดน”

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร