วิธีกำจัดความจน
“ความจน” ที่กล่าวถึงในที่นี้ ไม่ได้เป็นความจนที่เกิดกับผู้ที่มีระดับรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่พอเพียงกับการดำรงชีพได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ หรือมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพชีวิตขั้นต่ำที่ยอมรับได้ในแต่ละสังคม หรือเป็นผู้ที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และโอกาสอื่นในการพัฒนาคน แต่เป็นความจนที่เกิดกับผู้มีรายได้ประจำ หรือ “มนุษย์เงินเดือน” ซึ่งรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน พูดง่าย ๆ คือ มีเงินไม่พอใช้ถึงสิ้นเดือน …แล้วจะทำอย่างไรถึงจะมีเงินพอใช้จ่ายจนถึงสิ้นเดือน?
ก่อนอื่น จะขอนำหลักธรรมคำสอนในศาสนาพุทธ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนแก่อุชชัยพราหมณ์ ที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ 4 หรือทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หรือประโยชน์ในภพปัจจุบัน ซึ่งคนทั่วไปนำมาเรียกว่า “คาถาหัวใจเศรษฐี” ได้แก่ “อุ กา กะ สะ” หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นในชาตินี้ที่คนทั่วไปปรารถนา ซึ่งเป็นคำสอนที่ใช้ได้ เห็นผลจริงตั้งแต่อดีต สมัยพุทธกาลมาถึงปัจจุบัน มีด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่
- อุฏฐานสัมปทา “อุ” หมายถึง ถึงพร้อมด้วยความหมั่น มีความขยันหมั่นเพียร เสาะแสวงหาหนทาง วิธีการในการทำมาหากินในอาชีพที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ไม่เกียจคร้าน ใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทางเพื่อทำงานนั้นให้สำเร็จได้
- อารักขสัมปทา “อา” หมายถึง ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ เป็นการเก็บรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรนั้นไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่าง ๆ พร้อมทั้งทำให้ทรัพย์สินนั้นงอกเงยออกดอกออกผลตามมาด้วย
- กัลยาณมิตตตา “กะ” หมายถึง คบคนดี ไม่คบคนชั่ว เมื่ออยู่ในสังคมใดต้องปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างด้วยกัลยาณมิตร เพื่อนที่ดีจะนำมาซึ่งความรู้ ความคิดและการกระทำที่นำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ให้คำแนะนำตักเตือนในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า
- สมชีวิตา “สะ” หมายถึง อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ หรือรู้จักคุณค่าของทรัพย์สินที่หามาได้และใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เหมาะกับฐานะของตนโดยไม่สุรุ่ยสุร่ายหรือฝืดเคืองจนเกินไป และต้องคิดว่า “รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้”
จากหลักธรรม “หัวใจเศรษฐี” มาลองดูกันว่าสิ่งที่จะทำให้คุณซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้พอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนและมีฐานะที่ดีขึ้นนั้น จะทำได้อย่างไร
สิ่งที่คุณต้องทำ คือ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เก็บเงินสะสม 30% ของรายได้ และนำเงินสะสมไปลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่า” ทำได้ดังนี้
- เริ่มต้นด้วย “การวิเคราะห์ตัวเอง” ว่ามีรายจ่ายอะไรบ้าง ด้วยการจดบันทึกการใช้จ่ายเงินประจำวันทุกวันอย่างละเอียด แล้วนำมารวมว่าในแต่ละเดือนคุณใช้เงินไปเท่าไร ทำอย่างนี้สักระยะหนึ่งแล้วนำค่าใช้จ่ายที่คุณจ่ายแต่ละเดือนนั้นมาจัดลำดับความสำคัญ โดยเรียงลำดับที่สำคัญมากไว้ในระดับต้น ๆ เรียงลงมาเรื่อย ๆ จนครบทุกรายการ
- “เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน เพื่อลดรายจ่าย” โดยนำรายการค่าใช้จ่ายที่เรียงลำดับไว้มาพิจารณาตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งจะอยู่ในลำดับท้าย ๆ ให้พอดีกับรายได้ที่คุณมีในแต่ละเดือน หรือให้เหลือเป็นเงินเก็บไว้บางส่วน
เป็นเรื่องยากที่จะทำข้อ 2 ให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อวิเคราะห์ตัวเองแล้วจะพบว่า ทุกอย่างจำเป็นหมด ไม่สามารถตัดรายการใดออกได้เลย แต่เมื่อพิจารณาดูดีๆ จะพบสิ่งที่คุณสามารถลดการใช้จ่ายเงินนั้นลงได้ เช่น
หากทุกเดือนคุณต้องออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือสังสรรค์กับเพื่อน ประมาณ 2-3 ครั้ง ก็อาจลดความถี่ลงเป็นเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง
เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ลองกลับไปดูซิว่า ของที่คุณมีอยู่นั้นมีมากมายแค่ไหน ให้นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องซื้อใหม่บ่อยนัก
อุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยไปตามยุค ไม่จำเป็นต้องซื้อราคาแพง ให้ดูความจำเป็นในการใช้งานของคุณเป็นหลัก หากยังไม่แน่ใจว่าคุณใช้โทรศัพท์มือถือคุ้มหรือไม่ ให้ลองคำนวณราคาเครื่องที่คุณใช้ในแต่ละวัน เช่น ซื้อโทรศัพท์มาราคา 18,000 บาท ใช้มาแล้ว 6 เดือน แล้วมีรุ่นใหม่ออกมา คุณอยากได้รุ่นใหม่อีก เมื่อลองคำนวณดูจะพบว่าคุณใช้โทรศัพท์เครื่องเดิมมาจนถึงวันนี้ราคาวันละ 100 บาท (18,000 บาท หาร 6 เดือนหรือ 180 วัน) ซึ่งราคานี้เฉพาะค่าเครื่องเท่านั้น ยังไม่รวมค่าโทร. หากคุณยังใช้โทรศัพท์เครื่องเดิมให้นานกว่านี้ ราคาเครื่องแต่ละวันก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนวันที่คุณใช้งานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คุณไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์สื่อสารครบทุกอย่างก็ได้ เช่น มีโทรศัพท์มือถือที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ และยังมีแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตได้อีก พิจาณาดูซิว่าเกินความจำเป็นไปหรือไม่ ลองดูว่าคุณสามารถตัดรายการใดออกได้บ้าง เพื่อจะได้ลดรายจ่ายลง
รถยนต์ใหม่คันหรู จำเป็นกับการดำรงชีวิตประจำวันของคุณมากน้อยแค่ไหน ลองคำนวณราคารถยนต์ที่คุณใช้ในแต่ละวันเหมือนกับการคำนวณราคาอุปกรณ์สื่อสารข้างต้นดู
พิจารณาดี ๆ ยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายที่คุณสามารถ “ลด ละ เลิก” ได้อีก
- หากเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายแล้ว ยังมีเงินไม่พอใช้ถึงสิ้นเดือนอีก ให้คุณ “หารายได้เพิ่ม”นอกเหนือจากรายได้ประจำ ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น การทำงานพิเศษ การขายของหลังเลิกงานหรือวันหยุด หรือขายทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งการหารายได้เพิ่ม สิ่งที่ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเสมอไป อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณลดรายจ่ายลงได้ เช่น การทำสบู่ ยาสระผม น้ำยาซักผ้า ไว้ใช้เอง การปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารภายในบ้าน หากเหลือใช้ก็นำไปขายเป็นรายได้เพิ่ม เป็นต้น
- วิธีดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงให้คุณอยู่รอดได้ในแต่ละเดือน แต่จะไม่มีเงินทองหรือทรัพย์สินอะไรเพื่อเป็นสิ่งที่จะทำให้มีฐานะมั่นคง ดังนั้น หากคุณต้องการมีฐานะที่มั่นคงขึ้น คุณต้องเก็บ “สะสมเงินให้ได้ 30% ของยอดรายได้” ในแต่ละเดือน หรือบางเดือน 20-35% ของยอดรายได้ ขึ้นอยู่กับความเป็นจำเป็นของการใช้จ่ายเงินในแต่ละเดือน ยอดรายได้ในที่นี้ หมายถึง ยอดเงินเดือนก่อนหักรายจ่ายรวมทั้งยอดรายรับจากรายได้พิเศษในแต่ละเดือนด้วย
- นำเงินสะสมตามข้อ 4 ไปบริหารให้เกิดมูลค่าทวีคูณหรือลงทุนกับองค์กรที่มั่นคงเพื่อ “เพิ่มมูลค่า” เช่น ฝากธนาคาร ซื้อหุ้นสหกรณ์ ซื้อสลากออมสิน ลงทุนในตราสารของรัฐบาล (เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร) ซื้อของสะสมที่มีมูลค่า หรือนำไปเป็นเงินดาวน์ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ตึกแถว แล้วผ่อนต่อด้วยเงินสะสมในอนาคตแต่ละเดือน โดยอาจจะนำอสังหาริมทรัพย์นั้นไปให้คนอื่นเช่าต่อเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งหากคุณจะเก็บเงินก้อนให้ได้ครบก่อนค่อยซื้อนั้น ทำได้ยาก เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นทุกปี และทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมก็หาได้ยากในอนาคตอีกด้วย
ลองทำดูนะคะ เชื่อว่าคุณก็ทำได้ ให้ระลึกถึงสุภาษิตโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน” และ “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน” จะทำให้คุณมีสติ ยั้งคิด กับการใช้จ่ายเงินมากขึ้น
บรรณานุกรม
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2558. เข้าถึงได้จาก http:/th.wikipedia.org.