ศ. ม.ล.ปิ่น มาลากุล ครูและนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่
ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้มีคุณูปการยิ่งต่อสังคมไทย ท่านเป็น นักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ มีผลงานอันเป็นคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาของชาติอย่างต่อเนื่องยาวนาน และยังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวลา 22 ปี ท่านได้วางนโยบายด้านการศึกษาของชาติ สร้างสรรค์งานการศึกษา มีความคิดก้าวไกล ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงขึ้น ณ ถนนประสานมิตร สนองพระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ว่า “อย่าทิ้งเรื่องนี้เป็นอันขาด”
ท่านริเริ่มการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในภูมิภาค อาทิ จัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หอวชิราวุธานุสรณ์ ท้องฟ้าจำลอง วิทยุการศึกษา โครงการพัฒนาการศึกษาหลายโครงการ และ SEAMEO (The Southeast Asian Ministers of Education Organization) ก่อให้เกิดความร่วมมือทางการศึกษากับนานาชาติและองค์การ ระหว่างประเทศ เป็นผลให้การศึกษาของไทยเจริญก้าวหน้าอย่างมีระบบแบบแผน และประสานประโยชน์ ทางการศึกษากับนานาประเทศ เป็นที่ประจักษ์ทั่วกัน
พุทธศักราช 2530 ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้วยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ มีผลงานประพันธ์รวม 207 เรื่อง และวันที่ 24 ตุลาคม 2546 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศในวาระครบ 100 ปีเกิด ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ว่าท่านคือผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรม และการสื่อสาร
(คัดลอกมาจาก http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/26306/ เรื่อง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ครูและนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่
ในปี พ.ศ. 2557 นี้มหาวิทยาลัยศิลปากรกำหนดจัดงานวันศาสตราจารย์ หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล “ปิ่นมาลากุลวรานุสรณ์ เอกสถิตเลอค่าสถาพร เคียงคู่ “ศิลปากร” นิรันดร์” ในวันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม 2557 ณ อาคารวัชรนาฏยสภา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อระลึกถึงท่าน ศ. ม.ล. ปิ่น มาลากุล ในวาระครบรอบ 111 ปี
สำหรับหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง ได้จัดนิทรรศการ “ต้นฉบับลายมือเขียนของศาสตราจารย์ หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล” ณ โถงชั้นล่าง หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ระหว่างวันที่ 24 – 31 ตุลาคม 2557 ณ โถงชั้นล่าง หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์