ปลาเห็ดกับผักเป็ดทอด

ใครเคยได้ยินคำว่า ” ปลาเห็ด ” บ้าง วันก่อนบ่นกับพี่ปองว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีคนทำ ” ปลาเห็ด ” ให้ทานแล้วตั้งแต่ ยายและทวดของลูกได้อำลาจากไปสวรรค์กันหมด ทำให้ครอบครัวเราอดกินอาหารพื้นบ้านแปลกๆ แต่อร่อย ได้แต่กินกับข้าวทั่วไปที่คนเมืองเค้ากินกัน โดยเฉพาะ ” ปลาเห็ด ” ต้องไปหาซื้อตามตลาดนัด แต่ก็ไม่อร่อยเท่าที่แม่กับยายของเราเคยทำให้กิน อาหารที่เรียกว่า  ” ปลาเห็ด ” เป็นอาหารที่ทำมาจากปลา โดยการสับทั้งเนื้อทั้งหนัง กระดูกก้าง หรือไม่ก็หากเป็นปลาตัวใหญ่ เช่น ปลาช่อน ปลาหมอนิล ปลาแดง ก็ใช้วิธีแล่ก้างตรงกลางลำตัวออกแล้วนำเนื้อมา ปรุงรสด้วยพริกแกงมากหน่อยให้เผ็ด สำหรับคนชอบจัด หากเป็นปลาสับก็ปั้นเป็นชิ้นแบน ๆ ขนาดสามนิ้ว (นิ้วมือของเราชิดกัน) จะได้ชิ้นกำลังดี  ทำไมต้องแบนๆ ก็เพราะเนื้อปลา พวกหนังหรือก้างที่ถูกสับละเอียด กรอบไปด้วย เวลาทานจะรู้สึกกรุบกรอบไม่เหนียวมาก ก้างไม่ทิ่มปากเรานั่นเอง หากปลาตัวใหญ่ก็หั่นเป็นชิ้นพอคำ บางครั้งถ้าหากเป็นกุ้งก็ต้องเป็นกุ้งฝอย เอามาผสมกับแป้งข้าวเจ้า พริกแกง และมะพร้าวขูดนิดหน่อย ผสมให้เข้ากันแล้วนำไปทอด เป็นแผ่นในน้ำมันเดือด และถ้าหากวันไหนมีปลามากๆ ก็อาจได้กินแกงปลาสับนก เป็นการนำปลามาแล่ก้างตรงกลางตัวออก ไม่ต้องหมดเหลือตรงท้องปลาไว้บ้างก็ได้ นำมาสับให้ละเอียด แกงกับพริกแกงเผ็ด ก็อร่อย อันนี้ต้องรสจัดให้พริกแกงมากหน่อย หาไม่แล้วจะค่อนข้างเหม็นคาว วิธีแกงคล้ายแกงป่าคือ ไม่ใส่กะทิ
นอกจากปลาและกุ้งฝอยแล้ว ผักสารพัดที่อยู่ข้างรั้วหรือในสวนหลังบ้านก็นำมาทดแทนเนื้อปลา เช่น หัวปลี, ฝักทอง, ข้าวโพดโดยเฉพาะ “ผักเป็ด” เป็นพืชที่ขึ้นอยูในที่ลุ่มน้ำแฉะๆ  ข้างหลังบ้าน เก็บยอดนำมาชุบแป้งทอดให้เป็นแผ่น อาจจะมีกุ้งฝอยผสมลงไป บางครั้งก็เห็นแม่กับยายนำมาจิ้มน้ำพริกได้ แต่ต้องที่มียอดโตอวบ อ่อนนุ่ม และค่อนข้างยาวนะถึงจะน่ากิน เฮ้อ! เขียนแล้วอยากกินจัง
ส่วนอันนี้เป็นคำอธิบายที่พี่ปองถามว่า ทำไมคนบ้านเราถึงเรียกอาหารชนิดนี้ว่า ” ปลาเห็ด ” เท่าที่ค้นเจอค่ะ

คำอธิบายของอาจารย์บรรจบ  พันธุเมธา และอาจารย์ทองสืบ  ศุภะมาร์ค ท่านอธิบายว่าคำว่า “ปลาเห็ด”  น่าจะเป็นคำที่มาจากภาษาเขมรซึ่งเขียนว่า “ปฺรหิต”  เวลาอ่านออกเสียงว่า “ปฺรอเฮด” ในพจนานุกรมภาษาเขมรเขาได้อธิบายไว้ว่า  “เครื่องประสมหลายอย่าง เป็นเครื่องช่วยอาหารทำให้มีรสอร่อย เป็นเครื่องช่วยกับข้าว ทำด้วยปลาหรือเนื้อสับให้ละเอียดแล้วคลุกให้เข้ากันกับเครื่องผสมหลายอย่าง  เช่น แป้งข้าวเจ้า แล้วปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วทอดน้ำมันหรือเอาไปแกง”
ข้อมูลจาก : http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=65b7853dbf4e5a07
และ จากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี

ไม่รู้จะถูกต้องหรือเปล่า อ้อ! ลืมบอกพี่ปองไปค่ะเท่าที่ค้นมาได้ ไม่ใช่ “ดอนยายหอม จ. นครปฐม”  บ้านเราเท่านั้นที่เรียก  ” ปลาเห็ด ” ที่สุพรรณบุรี พิจิตร สุโขทัย ราชบุรี ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอาจมีอีกหลายที่ก็เรียกเหมือนกับเรา ไชๆๆๆโยๆๆๆ

One thought on “ปลาเห็ดกับผักเป็ดทอด

  • เรื่องนี้เรามีประสบการณ์ในหอพักนักศึกษาที่ปัตตานี้ จะมีคน 4 คนในห้อง ล้วนมากจากต่างถิ่นคือ กรุงเทพฯ จันทบุรี นครสวรรค์ และนครปฐม พี่ที่นครสวรรค์บอกว่าคิดถึงบ้าน อยากกินปลาเห็ด เราก็บอกว่าอืมม…. หนูก็ชอบ พี่ที่จากเมืองจันท์กับเพื่อนจากกรุงเทพฯ ถามว่าปลาอะไร ไม่เคยได้ยิน เราก็ช่วยอธิบาย สองคนนั้นก็บอกว่าเขาเรียกกันว่าทอดมัน เราก็บอกว่า ทอดมัน ก็ทอดมัน ปลาเห็ด ก็ปลาเห็ด ไม่เหมือนกัน แต่จาก 4 คน กลายเป็นสิบ แต่มีปลาเห็ดอยู่สองคน หลังจากนั้นไม่นานพวกตลกชอบเอามาล้อกัน มีความนัยว่า ถ้าพวกที่พูดว่าปลาเห็ดล่ะก็เป็นพวกบ้านบ้าน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร