เทศกาลกินปลาทู รู้ที่มาของชื่อตอนในแต่ละปี

  เริ่มไปแล้วสำหรับงานเทศกาลกินปลาทูของชาวเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด  ปีนี้จัดงานระหว่างวันที่ 12-21 ธันวาคม 2557 เป็นครั้งที่ 17 งานเทศกาลกินปลาทูนี้ทางจังหวัดสมุทรสงครามจะจัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม เหตุเพราะในช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มฤดูหนาวและเป็นช่วงที่ปลาทูจะโตเต็มที่เนื้อปลาจะหอมนุ่มมันอร่อย เนื่องจากได้รับธาตุอาหารที่สมบูรณ์ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาในอ่าวรูปก.ไก่ ซึ่งเป็นปากอ่าวที่น้ำจืดกับน้ำทะเลมาบรรจบกัน จึงเป็นที่มาของชื่อแห่งเมืองสามน้ำอีกชื่อหนึ่ง คือมีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ปลาทูนั้นเป็นปลาที่นำมาประกอบอาหารแบบใดก็อร่อย และที่ขึ้นชื่อลือชาและเป็นเอกลักษณ์ของปลาทูแห่งเมืองแม่กลองคือ ต้องหน้างอ คอหัก  สาเหตุก็มาจากการบรรจุปลาทูลงเข่งนั่นแหละ เมื่อเข่งมันเล็กแคบก็ต้องหักคอปลาให้บรรจุลงเข่งได้พอดีก่อนนำไปนึ่ง ปลาทูแม่กลองนั้นจะเป็นปลาทูตัวสั้นหนังบางเนื้อละเอียดนุ่มมัน
ในเมื่อปลาทูเป็นสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองแม่กลองไปแล้ว ทางหอการค้าจังหวัดสมุทรสงครามจึงริเริ่มการจัดงาน เทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลองขึ้น โดยเริ่มจัดงานนี้ตั้งแต่ปี 2541 เป็นครั้งแรก ซึ่งในช่วง 5 ปีแรกคือปี 2541-2545 ยังมิได้มีการตั้งชื่อตอนของงานแต่ประการใด ต่อมาคุณสุรจิต ชิรเวทย์ ซึ่งเป็นอดีตประธานหอการค้าจังหวัด ได้ดำริให้มีการตั้งชื่อตอนต่างๆของงานมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้มาเที่ยวงานได้ไปหาคำตอบที่ซุกซ่อนภูมิปัญญาและนัยยะที่แฝงไว้ในชื่อตอนนั้นๆกันในงาน โดยชื่อตอนของงานเริ่มมีตั้งแต่งานครั้งที่ 6 ปี 2546 เป็นต้นมา ดังนี้
       ครั้งที่ 6  ปีพ.ศ. 2546  ชื่อตอน  กินปลาทูให้แมวอาย     
        ครั้งที่ 7  ปีพ.ศ. 2547  ชื่อตอน  ปลาทูหน้างอ
        ครั้งที่ 8  ปีพ.ศ. 2548  ชื่อตอน  ปลาทูไม่เครียด            
        ครั้งที่ 9 ปีพ.ศ. 2549  ชื่อตอน   ปลาทูเต็มสาว
        ครั้งที่ 10 ปีพ.ศ. 2550 ชื่อตอน  กินปลาทูแล้วฉลาด(รู้จักพอ) 
        ครั้งที่ 11 ปีพ.ศ. 2551  ชื่อตอน  ปลาทูรักชาติ
         ครั้งที่ 12 ปีพ.ศ. 2552  ชื่อตอน  ปลาทูไม่เห็นแก่ตัว       
         ครั้งที่ 13 ปีพ.ศ. 2553  ชื่อตอน  อาหารของผู้มีบุญ
         ครั้งที่ 14 ปีพ.ศ. 2554  ชื่อตอน  กินอยู่พอเพียง           
          ครั้งที่ 15 ปีพ.ศ. 2555  ชื่อตอน  ตามหาอ่าวก.ไก่ 
          ครั้งที่ 16  ปีพ.ศ. 2556 ชื่อตอน  ชักแม่น้ำทั้ง 5           
          ครั้งที่ 17 ปีพ.ศ. 2557  ชื่อตอน  กินอย่างมีวัฒนธรรม  
      ชื่อตอนทุกปีที่ตั้งมานี้คุณสุรจิต ชิรเวทย์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ทั้งหมด  แล้วใช้ปลาทูเป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นมาสคอท(Mascot)  ในอิริยาบถแตกต่างกันไปตามชื่อของตอน แล้วยังทำเป็นของที่ระลึกด้วย  ไม่น่าเชื่อว่าจากปลาทูที่แสนจะธรรมดาที่ในสมัยก่อนนั้นเป็นอาหารของคนจนหรือผู้มีรายได้น้อย แต่ในยุคปัจจุบันมันได้กลายเป็นสินค้าและอาหารของผู้มีอันจะกินไปซะแล้ว ปลาทูถูกแปรรูปไปเป็นอาหารหลากหลายชนิดจนจำแทบไม่หวาดไม่ไหว ถูกเพิ่มมูลค่าในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เป็นชื่องานระดับชาติไปแล้ว แล้วที่สำคัญในปลาทูนั้นมีโอเมก้า 3 ที่จำเป็นต่อร่างกายของเรามาก เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว บำรุงสมอง ในเนื้อปลาทู 100กรัมจะมีสารโอเมก้า 3 อยู่ 2-3กรัมซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของเราในแต่ละวัน ไม่ต้องไปซื้อวิตามินอาหารเสริมในราคาที่แสนแพงหรอกค่ะ แล้วก็ไม่ต้องไปสรรหาปลาน้ำลึกที่ฝรั่งมังค่าเขาโฆษณาชวนเชื่อว่าเลิศล้ำที่ไหนด้วย กินปลาทูคู่ครัวไทยของเรานี่แหละเพียงพอแล้ว หาซื้อก็ง่ายปรุงก็ง่ายแล้วยังอร่อยลิ้นอีกต่างหากจริงไหมคะ?
           ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์ของจังหวัดสมุทรสงครามค่ะ

One thought on “เทศกาลกินปลาทู รู้ที่มาของชื่อตอนในแต่ละปี

  • Good job ได้ความรู้. อีกทั้งเป็นข้อมูลภาคตะวันตก

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร