การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน

ช่วงนี้กำลังสนุกสนานกับการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันหนังสืออนุสรณ์งานศพอยู่ เคยนึกอยู่เหมือนกันว่ามานั่งทำอะไรให้มันยุ่งยากอยู่ทำไม รู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้าไปหมด ถ้าทำจนหมดเกือบ 1,000 เรื่องนี่จะเป็นยังไงบ้างน้อ….
ก่อนอื่นก็คงต้องว่ากันถึงเรื่องการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน หรือ Thai Romanization…
การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันมี 2 วิธี คือ การถอดอักษรตามวิธีเขียน (Transliteration) และการถอดอักษรแบบถ่ายเสียง (Transcription)
การถอดอักษรตามวิธีเขียน เป็นการถอดตามตัวอักษรทุกตัว ที่มีอยู่ในคำนั้น มีข้อดีคือทราบที่มาของคำนั้น สามารถสะกดคำได้และสามารถถอดอักษรกลับไปยังคำเดิมได้ ข้อด้อยคืออ่านออกเสียงได้ยากและบางคำที่ถอดออกมามีมากเกินความจำเป็นในการ ออกเสียง
การถอดอักษรแบบถ่ายเสียง เป็นการถอดอักษรที่ไม่จำเป็นต้องถอดครบทุกตัวอักษร เน้นการออกเสียงเป็นหลัก ข้อดีคือทำให้อ่านคำภาษาไทยที่ถอดเป็นอักษรโรมันได้เสียงใกล้เคียงคำที่ถอด เป็นอักษรโรมันมีความกะทัดรัดเข้าใจง่าย ข้อด้อยคือไม่เอื้อให้ถอดอักษรกลับคืนสู่คำเดิมได้
ดร. นิตยา กาญจนะวรรณ จากราชบัณฑิตยสถานได้กล่างถึง การถอดอักษรแบบถ่ายเสียง ไว้ว่า
๑. ชุดอักษร ๒๖ ตัว ซึ่งได้แก่ A ถึง Z เรียกว่า ชุดอักษรโรมันหรืออักษรละติน
๒. ภาษาที่ใช้อักษรโรมันเป็นตัวเขียนมีประมาณ ๑๐๐ ภาษา ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย แต่ละภาษาได้นำตัวอักษรมาแทนเสียงในภาษาของตน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เช่น “A B C” ภาษาอังกฤษอ่านว่า [เอ บี ซี] ส่วนภาษาฝรั่งเศสอ่านว่า [อา เบ ซี]
๓. ภาษาที่มิได้ใช้อักษรโรมันเป็นตัวเขียนอาจนำอักษรโรมันมาใช้เขียนภาษาของตนเพื่อการสื่อสาร การใช้อักษรโรมันในลักษณะนี้เรียกว่า Romanization หรือ “การถอดอักษรเป็นอักษรโรมัน” หรือ “การใช้อักษรโรมันเขียนภาษา” ในกรณีของภาษาไทย คือ “การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง” ในกรณีของภาษาญี่ปุ่น คือ Romaji ในกรณีของภาษาจีนคือ Pinyin
“การใช้อักษรโรมันเขียนภาษา” จึงมิใช่ “การเขียนเป็นภาษาอังกฤษ” เพราะภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาเดียวในโลกที่ใช้อักษรโรมัน ชื่อภาษาไทยที่เขียนด้วยอักษรโรมันก็ยังคงเป็นชื่อภาษาไทย เช่น Somchai (สมชาย) ในทำนองเดียวกัน ชื่อภาษาอังกฤษที่เขียนด้วยอักษรไทยก็ยังคงเป็นชื่อภาษาอังกฤษ เช่น นิวยอร์ก (New York)
๔. Romanization ของแต่ละภาษาจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่สามารถอธิบายได้ทางภาษาศาสตร์ เช่น  ภาษาไทยกาหนดให้ใช้ h แทนตัวอักขระหรือประกอบตัวอักขระที่มีลักษณะการพ่นลมออกมา เช่น ห ฮ = h   ป = p   ผ พ ภ = ph   ต = t  –> ภูเก็ต = Phuket      ปู = Pu      เขต = Khet      ตา = ta      ทา = tha
๕. Romanization ของแต่ละภาษาไม่จาเป็นต้องกำหนดการแทนเสียงเหมือนกัน เช่น  ภาษาไทยกำหนดให้ b แทนเสียง บ เช่น Bua Yai = บัวใหญ่   แต่ภาษาจีนกำหนดให้ b แทนเสียง ป เช่น Beijing = เปย์จิง
๖. Anglicization คือการถอดอักษรโดยเลียนแบบภาษาอังกฤษ เช่น วันเพ็ญ = One Pen   เพ็ญแข = Pen Care
แต่การถอดอักษรโดยเลียนแบบภาษาอังกฤษมีความลักลั่นไม่เป็นระบบ เพราะตัวอักษรตัวเดียวกันอาจจะอ่านได้หลายแบบ จึงไม่มีการใช้ระบบนี้ในทางสากล ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันได้อย่างกว้างขวางก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization) จึงกำหนดให้ใช้ระบบ Romanization ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารและการเก็บข้อมูลในระดับสากล
ตัวอย่างการถอดอักษรแบบถ่ายเสียง  —  ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จตามปรารถนา
ถอดเป็นอักษรโรมันได้ว่า  —  Kho hai thuk khon prasop khwam samret tam pratthana
แต่หากเราต้องมานั่งถอดตัวอักษรโดยเปิดคู่มือ คงใช้เวลามิใช่น้อย ในปัจจุบันก็มีตัวช่วยในการถอดตัวอักษร เช่น
p-4    โปรแกรม Thai Romanization จะถอดอักษรแบบถ่ายเสียง เพียงเราใส่ข้อความภาษาไทยลงไป โปรแกรมก็จะถอดตัวอักษรโรมันออกมาให้
     เท่านี้การถอดตัวอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน ก็จะไม่ยากและปวดหัวอีกต่อไป
 
บรรณานุกรม
นิตยา กาญจนะวรรณ.  (ม.ป.ป.).  คำชี้แจงเรื่อง Romanization.  สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 จาก http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/2038_4817.pdf
บุญเลิศ อรุณพิบูลย์.  (2555).   ข้อความภาษาไทยในลักษณะอักษรโรมัน – Romanization.
สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 จาก http://www.thailibrary.in.th/2012/01/11/romanization/
ราชบัณฑิตยสถาน.  (2542).  หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง.  กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

2 thoughts on “การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน

  • ของ ALA_LC Romanization Tables : Transliteration Schemes for Non-Roman Scripts ดูแล้วต่างจากโปรแกรม Thai Romanization เพราะจะมีเสียงสั้นยาวกำกับให้ด้วย เช่นข้อความว่า ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จตามปรารถนา
    เวลาทำงานจริงสำหรับบรรณารักษ์เท่าที่ดูจากหลายๆที่ เวลาถอดจะใช้ข้อความภาษษไทยซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แต่มีการแยกคำให้คนอ่าน เพราะเป็นการถอดเสียงให้คนที่ไม่รู้ภาษาไทยอ่าน ตัวอย่างคือ
    ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จตามปรารถนา||ขอ ให้ ทุก คน ประสบ ความสำเร็จ ตามปรารถนา||Khǭ hai thuk khon prasop khāmsamret tām pratthanā
    อ่านจากหลักเกณฑ์ฯ จึงรู้สึกแปลกใจว่าทำไมจึงไม่มีการกำหนดเสียงสั้นยาว แต่การมีโปรแกรมก็ทำให้เราสะดวกในการทำงานมากขึ้น เราคงใช้แบบของราชบัณฑิตฯ เป็นหลัก
    ฝากคอมเม้นท์ให้อ่าน เพราะในโลกเรามีอะไรๆ ให้ศึกษาและเรียนรู้มากมายทั้งในหลายๆเรื่อง และในเรื่องเดียวกัน

  • มีอีกอันที่น่าสนใจจาก http://www.thai2english.com/ หรือชื่อสั้นๆ ว่า Thai2English อันนี้ก็ถอดอักษรไทยเป็นโรมันแบบมีการกำหนดเสียง เช่น จากตัวอย่างที่ยกไว้ “ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จตามปรารถนา” เมื่อใช้ตัวนี้ถอดจะได้ว่า “kŏr hâi túk kon bprà-sòp kwaam săm-rèt dtaam bpràat-tà-năa” พร้อมทั้งมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้ด้วย เช่น
    ขอให้ kŏr hâi request ; beg ; ask
    ทุกคน túk kon everyone ; everybody
    ช่างเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ เมื่อได้ศึกษาเรื่องนี้

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร