การอ้างถึงผลงานหรือใช้ข้อมูลในผลงานของผู้อื่น

ในการทำรายงานหรืองานวิจัย เมื่อเขียนรายงาน ผู้เขียนจะต้องเขียนจากองค์ความรู้ตนเองที่ได้จากการศึกษาวิเคราะห์สารสนเทศทุกประเภทมาเป็นอย่างดีแล้ว และเพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล บางครั้งต้องใช้องค์ความรู้ของผู้ที่ศึกษามาก่อนมาอ้างถึง การอ้างถึงให้ไม่เป็นการลอกเลียนวรรณกรรม (plagiarism) สามารถทำได้โดยมีวิธีการ ดังนี้
1. Paraphrasing  หมายถึง การกล่าวถึงความคิดผู้อื่นด้วยคำพูด ภาษาเขียน และสำนวนโวหารของตนเองเหมือนเป็นการ rewrite คำพูดของผู้อื่น เพื่อเป็นการอธิบายข้อมูลที่เราได้อ่านและทำความเข้าใจแล้ว ให้ผู้อ่านงานของเราเข้าใจตามที่เราต้องการสื่อสาร  แต่ยังต้องคงสาระสำคัญของต้นฉบับไว้ โดยไม่แต่งเติมความคิดเห็นของตนเอง ดังนั้นการเขียนแบบ paraphrasing  ผู้เขียนจึงต้องอ่านต้นฉบับให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จนสามารถบรรยายและอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้  การเขียนแบบ paraphrasing  นั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการลอกเลียนผลงานทางวิชาการ/การคัดลอกงานวิชาการ (Plagiarism)
 วิธีการเขียนแบบ paraphrasing
       1. อ่านให้เข้าใจแล้วปิดงานต้นฉบับ ลงมือเขียนจากความเข้าใจของตนเอง โดยใช้คำที่เป็นคำเหมือน(Synonyms)กับคำหลักของเนื้อหาของต้นฉบับ
2. พบประโยคที่มีความซับซ้อน หรือประโยคยาว ๆ ให้ตัดประโยคออกเป็นประโยคที่สั้นลง หรือมีประโยคที่สามารถรวมได้ก็รวมเข้าเป็นประโยคเดียวกัน
3. เปลี่ยนรูปประโยค เช่น กาล (Tense) เป็นต้น
4. อ่านให้เข้าใจแล้วลำดับความคิดใหม่  (ต้องไม่เปลี่ยนความหมายของต้นฉบับ) และต้องระวังความยาวของการเขียนใหม่ซึ่งต้องยาวใกล้เคียงกับต้นฉบับ
2. Quoting หรือ อัญพจน์ คือข้อความหรือคำพูดที่คัดลอกมา เพื่อใช้ประกอบการเขียนรายงาน โดยลอกเอาคำพูดตามต้นฉบับมาโดยไม่มีการถอดความใด  แล้วจึงนำเอารายละเอียดของต้นฉบับไปเขียนไว้เป็นรายการอ้างอิงท้ายรายงาน  การนำเอาคำพูดของผู้อื่นมาใช้ในรายงานของเรานั้น ผู้เขียนย่อมคิดแล้วว่าจะเป็นการจะเป็นการสนับสนุนความคิดของเรา หรือคำพูดของต้นฉบับนั้นมีความชัดเจนดีจนไม่สามารถหาคำพูดอื่นมาทดแทนได้ จึงต้องยกข้อความนั้น ๆ มาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด   ในการเขียนรายงานหากเราไม่สามารถเขียนประโยคขึ้นใหม่จากความเข้าใจ (Paraphrasing) แล้ว ก็ต้องใช้วิธีเขียนแบบ Quoting  คือยกคำพูดมาอ้าง
 การเขียนอัญพจน์ในเนื้อหารายงาน

  1. กรณีที่อัญพจน์เป็นความเรียงและมีความยาวไม่เกิน  4  บรรทัด ให้เขียนหรือพิมพ์ต่อจากข้อความในรายงานได้ โดยไม่ต้องขึ้นบรรทัดใหม่ และต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศกำกับข้อความเหล่านั้นด้วย
  2. กรณีอัญพจน์ที่เป็นความเรียงมีความยาวเกิน 4 บรรทัด ไม่ต้องใช้เครื่องหมายอัญประกาศ(“……….”)  กำกับข้อความเหล่านั้นแต่ให้พิมพ์ขึ้นบรรทัดใหม่โดยย่อหน้าเข้ามาอีก 10 ระยะตัวพิมพ์ หรือประมาณ 1 นิ้วจากขอบกระดาษด้านซ้ายมือในกรณีที่มีย่อหน้าภายในอัญพจน์ก็ให้ย่อหน้าเข้ามาอีก  3 ระยะตัวพิมพ์

One thought on “การอ้างถึงผลงานหรือใช้ข้อมูลในผลงานของผู้อื่น

  • หนูชอบตรงที่บอกว่า อ่านแล้ว “ปิด” ต้นฉบับ แล้วเขียนเอง ซึ่งหมายความว่าเราอ่านจน “อิน” แล้วถ่ายทอดออกมาได้ด้วยภาษาของเราตามที่พี่บอกในการเขียนแบบ paraphrasing เป็นการทบทวนการเขียน อ่านแล้วทำให้ต้องมาคิดทบทวนตัวเองและนำไปใช้
    ในความเห็นส่วนตัวมีความเห็นว่าการลอกเลียนวรรณกรรม สมัยนี้ระบาดในงานเขียนทุกชนิด ทั้งที่เจ้าตัวรู้ ไม่รู้ จนถึงทำเป็นไม่รู้ ทั้งที่มีคนอื่นบอกทั้งทางตรงและทางอ้อม อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งพอทำกันไปนานๆก็กลายเป็นความเคยชิน ติดเป็นนิสัย เลยไปจนถึงการสร้างความเคยชินให้คนอื่นไปทำบ้างโดยไม่รู้ตัว
    สมัยนี้ที่เห็นบ่อยๆ คืองานเขียนตามบล๊อก/ตามบันทึกในเฟสบุ๊คส์ ที่เอามาคัดลอกมาเกือบทั้งหมดหมด ตัดต่อจากคำนำหรือแต่ละบท เอามารวมๆกัน แล้วแค่บอกที่บรรทัดสุดท้ายว่าเอามาจากไหนหรือบ้างก็ไม่บอก
    เรื่องนี้ประสบการณ์ตรงคือเคยชมเพื่อนว่าเขียนดีจัง อ่านแล้วชอบถูกใจ แต่เพื่อนบอกว่าเห็นว่าเห็นว่าดีเลยลอกมาให้อ่าน แต่เพื่อนรู้สึกตกใจค่ะ รีบบอกเลยว่าคราวหลังจะบอกแหล่งที่มา เพราะเค้าลืมเรื่อง plagiarism คิดว่าเป็นงานเขียนธรรมดาไม่ใช่งานวิจัยหรือผลงานอะไร ตั้งแต่นั้นมาเพื่อนจะบอกตั้งแต่บรรทัดแรกเลยค่ะว่าลอกมาจากไหน หรือหากไม่รู้จะใส่ที่บรรทัดสุดท้ายว่า @Unknown อาจเป็นเพราะเพื่อนคนนี้อยู่ในต่างประเทศที่เคร่งครัดเรื่องนี้มากค่ะ
    ความจริงไม่อยากเขียนเปรียบเทียบว่าต่างประเทศหรือประเทศไทย เพราะฟังแล้วดูแล้วรู้สึกไม่ดี
    ขอบคุณนะคะที่เขียนเรื่องนี้และมีประเด็นใหม่ๆ มานำเสนอ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร