ร้อยคน ร้อยเรื่องราว..

เป็นชื่อหนังสือค่ะ..”ร้อยคน ร้อยเรื่องราว 100 ปี เอสซีจี ” ดิฉันได้มีโอกาสอ่านตอนไปเรียนรู้งานที่ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ดูชื่ออาจคิดว่าเป็นเพียงหนังสือที่จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ ที่ส่วนใหญ่มักจะประกอบไปด้วยรายงานผลการดำเนินงาน ประวัติผู้บริหาร…แต่ ร้อยคนร้อยเรื่องราว 100 ปี เอสซีจี เล่มนี้ สามารถเล่าประวัติศาสตร์ของบริษัท เอสซีจี ตั้งแต่ต้น แบบไม่ใช่เป็นการเขียนแบบความเรียง แต่เป็นการเรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ ผู้บริหารของ เอสซีจี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดย ทีมผู้สร้างสรรค์ ผู้สัมภาษณ์ ใช้เวลาในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ถึง 1 ปี สรกล อดุลยานนท์ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ หนึ่งในทีมงานผู้เรียบเรียง ได้เขียนนำหนังสือเล่มนี้ว่า “…หนังสือเล่มนี้จึงเป็น ‘กำลังใจ’ ให้กับทุกองค์กรธุรกิจที่มี ‘ความฝัน’เดียวกัน ฝันว่าจะทำให้องค์กรของเราเติบใหญ่ขึ้น ด้วยความเชื่อว่า ‘คน’ คือทรัพยากรที่มีค่า และสามารถ ‘คน’ทุกคนให้เข้ากันได้…” เสมือนกับตนเองทำงานพร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการบริหารคน แล้วถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ใน DNA ของผู้บริหารและสมาชิกใน SCG ให้คนภายนอกได้รับรู้และภาคภูมิใจกับความก้าวหน้าขององค์กรproq001
‘หนุ่มเมืองจันท์’ ได้นำเรื่องเล่าจากปากของผู้บริหารระดับสูงของ เอสซีจี ทั้งอดีตและปัจจุบันเกือบ 100 คน มาถักทอร้อยเรียงเพื่อให้ประวัติศาสตร์การบริหารบุคคลของ เอสซีจี กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต เป็นตำราการบริหารจากประสบการณ์จริง
เริ่มต้นจาก 3 เหลี่ยมความสำเร็จ ที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้ เอสซีจี ประสบความสำเร็จ ประกอบไปด้วย คน ความคิด และการลงมือทำ
Part ต่อมาเป็นประวัติของเอสซีจี ที่เดิมคือ บ. ปูนซีเมนต์ไทย ดำเนินกิจการอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ มีผู้บริหารและวิศวกรเป็นชาวยุโรป ตั้งแต่ปี 2457 จนถึงปี  2517 จึงมีกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นคนไทยคนแรก คือ “บุญมา วงศ์สวรรค์” ซึ่งมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจแบบ เก้าอี้ 3 ขา คือ ขาที่ 1 หมายถึง เจ้าของผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น จะได้ประโยชน์จากการได้รับเงินปันผลจากการลงทุน  ขาที่ 2 หมายถึงผู้ใช้สินค้า ผู้บริโภค ทุกคนต้องได้ใช้สินค้าที่ดี ราคาเหมาะสม  ขาที่ 3 คือ พนักงาน ทุกคนต้องได้ค่าจ้าง เงินเดือน สวัสดิการต่าง ๆ ที่ดี ตามผลประกอบการของบริษัทและสถานะของพนักงาน ซึ่งทั้ง 3 ขาต้องสมดุลกัน บริษัทจึงจะเจริญ
ในขณะที่ บริษัทเจริญก้าวหน้ามาจนถึงยุคของ คุณจรัส ชูโต ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (พ.ศ. 2523-2527) ซึ่งในขณะนั้นเป็นเครือปูนซีเมนต์ไทยแล้ว ได้ขยายกิจการไปยังธุรกิจอื่น ๆ หลายอย่าง จึงต้องการพัฒนาบุคลากรของบริษัทด้วยความเชื่อมั่นว่า พนักงานคือทรัพยากรอันล้ำค่า และคนที่รู้จักธุรกิจของ เอสซีจี ดีที่สุด คือพนักงานของเอสซีจีเอง และต้องสร้างขึ้นเอง  หลักสูตร MDP หรือโครงการพัฒนาพนักงานบริหารระดับสูงที่ คุณชุมพล ณ ลำเลียงให้แนวคิดไว้ จึงเกิดขึ้น มีการติดต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับ top 10 ของอเมริกาให้เป็นผู้ร่างหลักสูตร ส่วนการพัฒนาพนักงานระดับล่างลงมาก็ใช้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างผู้บริหารระดับกลางเพื่อต่อยอดขึ้นสู่ระดับสูงต่อไป และมีการให้ทุนการศึกษา ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา 2 ปี คุณจรัสยังได้ผลักดัน “อุดมการณ์ 4” ให้เป็นปรัชญาในการทำงานของเอสซีจี ที่ไม่ได้เป็นเพียงการท่องจำ แต่เป็นหลักคิดที่พนักงานทุกคนยึดถืออย่างจริงจัง
ในหน้า  40-41  เป็นเรื่อง “กว่าจะเป็น คนเก่ง 4 – คนดี 10” ได้สรุปไว้ว่า คนเก่ง นั้นนิยามไม่ยาก สรุปออกมาได้ 4 คำคือ เก่งงาน เก่งคน เก่งคิด และเก่งเรียน  แต่พอถึงคำว่า “คนดี” สรุปจากคำสอนของท่านปัญญานันทภิกขุและบาทหลวงที่จุฬาฯ นิยาม “คนดี” ได้ 10 ข้อ คือ ต้องมีน้ำใจ ใฝ่ความรู้ มีความวิริยะอุตสาหะ มีความเป็นธรรมและซื่อสัตย์ เห็นแก่ส่วนรวม รู้หน้าที่ในงาน ในครอบครัว  ทัศนคติดี  มีวินัยและมีสัมมาคารวะ มีเหตุผล  และรักษาชื่อเสียงของตัวเองและของบริษัท  และบอกว่า กว่าคำว่า “คนเก่งและดี” จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรได้ เบอร์หนึ่งขององค์กรต้องทำเป็นตัวอย่าง ต้องทุ่มเทกับการสื่อสาร ทำความเข้าใจกับพนักงานอย่างต่อเนื่องและอดทน
ทีนี้มาถึงเรื่อง “อุดมการณ์ 4” ที่ถือเป็นค่านิยมหลัก  และยึดมั่นใช้กันมาต่อเนื่องถึง  35 ปี ไม่ได้มีการแก้ไขเลย ได้แก่
1.ตั้งมั่นในความเป็นธรรม (Adherence of Fairness)
2. มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ (Dedication to Excellence)
3.เชื่อมั่นในคุณค่าของคน (Belief in the value of the Individual)
4.ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม (Concern for Social Responsibility)
ซึ่งความหมายโดยละเอียดในแต่ละข้อ อยากให้เพื่อน ๆ ได้อ่าน เพราะนอกจากจะบอกว่า แต่ละข้อยึดโยงกับวัฒนธรรมอะไรในบริษัท และมีการเล่าว่า ผู้บริหาร และพนักงานได้ทำตามอุดมการณ์ทั้ง 4 กันอย่างไรบ้าง
เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เอสซีจีเป็นบริษัทเดียวที่ไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน !  คุณชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ในขณะนั้นเล่าว่า ในเวลานั้น บริษัทมีปัญหาหนักที่ฐานะการเงิน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พนักงานและเลือกบรรเทาปัญหาโดยการหยุดการขึ้นเงินเดือน ชะลอโบนัส ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงพร้อมใจกันลดเงินเดือน 25 %
“แม่แบบผู้นำองค์กร เบ้าหลอมอุดมการณ์” (หน้า 92-93) ความโชคดีอย่างหนึ่งของเอสซีจี คือ การมีผู้นำองค์กรแต่ละยุคที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นต่อ ๆ มาได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เป็นแม่แบบที่ดีกับพนักงาน จนเป็นปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จ
ในส่วนของการพัฒนาคน เอสซีจีมีวิธีการหลายอย่างที่ทำให้ได้คนดีและเก่ง เช่น ในขณะที่บริษัทต้องการช่างฝีมือจำนวนมาก ก็ใช้วิธีรับบุตรของคนงานที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ เข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดในแขนงต่าง ๆ โดยให้ช่างของบริษัทเป็นผู้ฝึกสอน ใช้เวลาในการเรียน 3 ปี มีการสอบไล่ หากสอบผ่านก็จะได้เป็นลูกจ้างประเภทคนงานฝีมือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี  ส่วนการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง ก็ต้องเข้าโปรแกรมโครงการพัฒนาพนักงานบริหารระดับสูง (MDP) ให้ Hass School of Business, Univ. of California เป็นผู้จัดหลักสูตรเรียนเป็นภาษาอังกฤษให้ ส่วนผู้บริหารระดับกลาง ก็มีหลักสูตรภาษาไทยที่สอนโดยจุฬาฯ ธรรมศาสตร์  เป็นต้น  โดยเชื่อว่า การอบรมพัฒนาเป็นการเพิ่มคุณค่าพนักงาน
ผู้อำนวยการสำนักงานการบุคคลกลาง คุณกิติ มาดิลกโกวิท บอกความคิดของตนเองว่า “…หากจะให้บอกว่าเรื่องคนเรื่องไหนสำคัญที่สุด ต้องบอกว่า ทำอย่างไรให้ได้ใจ ผมคิดว่า เรื่องนี้สำคัญที่สุด หมายความว่า HR จะทำอย่างไรให้คนอยากทำงานกับองค์กร มีความสุขและสร้างผลงานให้กับองค์กร แต่ความยากคือ เรามีคนเยอะ 47,000 กว่าคน ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่า เราดูแลให้เขาพอใจและได้ใจเขามา ถ้าเรามีเจ้านายที่ดี หรือมีนายจ้างที่เป็นบริษัทที่ดี ให้เราได้ทำงานที่เรามีความสุข ให้ผลตอบแทนที่เราอยู่ได้ หรือเอาใจใส่ดูแลสารทุกข์สุกดิบเวลาตกทุกข์ได้ยาก รู้สึกเลยว่าเราผูกพันแล้ว การผูกพันคือการได้ใจ” (หน้า 129) หรืออีกความคิดของ ภาสกร บูรณะวิทย์ (หน้า 221) บอกว่า “… ต้องทำให้เขาสนุกกับการทำงาน มีกำลังใจแล้วก็รู้ว่านายให้ความสนใจ ให้การยอมรับในสิ่งที่เขาคิดเขาทำ อันนี้เป็นโอกาสให้เขาทำได้ตามเป้าหมายทุกอย่าง สุดท้ายขึ้นอยู่กับขวัญกำลังใจ การที่เขาสนุกกับการทำงาน มีคนเห็นผลงานของเขา ยอมรับสิ่งที่เขาคิดเขาทำ จะทำให้เขาสนุกกับงาน นี่คือจุดเริ่มต้น..”
จากตัวอย่างคำพูด ความคิดที่ยกมานั้น ถือเป็นส่วนน้อยนิดของหนังสือเล่มนี้ เพราะที่จริงแล้วสรุปได้ยากมาก เพราะมีแต่เนื้อ ไม่มีน้ำเลย หรือมีก็เพียงขลุกขลิกจริง ๆ  ผู้บริหารและอดีตผู้บริหารที่ถูกสัมภาษณ์นั้นไม่ได้รับการสัมภาษณ์ในวันและเวลาเดียวกัน  แต่กลับมีคำพูดและคำตอบไปในทางเดียวกัน จนทีมผู้สัมภาษณ์ต้องแปลกใจและทึ่งกับการหยอดเมล็ดพันธุ์ในอดีต  และผลผลิตที่เติบโตมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้กลายพันธุ์เลย
สรุปได้ว่า เมล็ดพันธุ์ของ เอสซีจี นั้นดีเสมอมาตลอด 100 ปี เพราะได้รับการเคลือบสารที่ชื่อ “สามเหลี่ยมความสำเร็จ”  ก็คือ 1.‘อุดมการณ์ 4’ (แนวความคิด) คือจุดเริ่มต้น  2. ‘คน’ ที่อยู่ใน เอสซีจี ยึดมั่น ปฏิบัติตาม และ 3. ลงมือทำนั่นเอง.

2 thoughts on “ร้อยคน ร้อยเรื่องราว..

  • พี่พัช ได้อ่านเหมือนกัน พี่สรุปเนื้อเรื่องได้ดีมากๆ ผู้นำองค์กร เขาเฉียบแหลม ลึกซึ้ง มองไปข้างหน้า “ยึดมั่น อุดมการณ์ 4” ให้ความสำคัญกับคน แล้วดูจากรูปภาพ ผู้นำองค์กร มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล เหมือนเป็นผู้สร้าง และความคิดที่มีอยู่ในตน บวกกับประสบการณ์และความรู้ที่สะสมมา ความคิด หลักการ ความสามารถ ฯลฯ รากฐานที่มั่นคง นำพาองค์กรไปได้ในทุกสถาการณ์ ความคิดของผู้นำแต่ละคน “ร้อยคน ร้อยเรื่องราว” มีแต่สิ่งดีๆ มีเนื้อหาที่ ทำให้เราอ่านแล้วประทับใจในความคิดของแต่ละคน คิดได้อย่างไรเนี่ย ว่าจะต้องทำแบบนี้
    เน้น “หน้าที่ของแต่ละคน” รู้หน้าที่ของตนเอง ที่ฉันชอบคือ ผู้บริหารมีความเป็นธรรม (ชอบมาก) และมีการพัฒนางานอยู่ตลอดไม่หยุดนิ่ง และไม่แปลกใจเลยที่ทั้งครอบครัว พ่อ แม่ ลูกๆ ทำงานอยู่ที่บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย

  • อ่านที่พัชสรุปแล้วชอบที่ว่า “ต้องทำให้เขาสนุกกับการทำงาน มีกำลังใจแล้วก็รู้ว่านายให้ความสนใจ ให้การยอมรับในสิ่งที่เขาคิดเขาทำ…”
    พี่ก็คิดว่าอยากให้คนในหอสมุดฯ สนุกกับงานที่ทำ งานที่รับผิดชอบทุกๆ อย่าง ทำอย่างตั้งใจ ผลงานออกมาดีมีคนยอมรับอยู่แล้วละ เหมือนตอนร่วมใจกันทำงาน “เปิดบ้านหอสมุดฯ” เห็นได้ว่าทุกคนทำอย่างตั้งใจ ทุ่มเทและมีความสุข ผู้บริหารก็ชื่นชม ผลตอบแทนที่ดีก็จะตามมาเอง

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร