คุยกับลูกวันละนิดจิตแจ่มใส

19 September 2009
Posted by Ekanong Duangjak

หลายวันก่อนตรวจข่าวพบเรื่องน่าสนใจดีเลยนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นบทความสั้นๆ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่อง “แนะพ่อแม่ฟังลูกคุย วันละ 5-20 นาที เสริมพัฒนาการเด็ก” แนะนำว่า เมื่อเด็กไปโรงเรียน ไปพบสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ที่โรงเรียน มักนำกลับมาเล่าให้พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่บ้าน (ปู่ ย่า ตา ยาย ) ฟัง ผู้ใหญ่ก็ควรต้องฟัง สิ่งที่เค้าเล่า เพราะจะทำให้เด็กเกิดการพัฒนาทางภาษา  ทักษะทางภาษาสามารถถ่ายทอดคำพูด ประสบการณ์และจินตนาการต่างๆ ของเด็ก  การที่เด็กเล่านั้นหมายความว่า เขามีพัฒนาการด้านความคิด การหาคำตอบ ความรู้สึกและจินตนาการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของเด็ก ยิ่งถ้าหากผู้ใหญ่โต้ตอบพูดคุยกับเขา เด็กจะเกิดการเรียนรู้ และผู้ใหญ่ก็จะรู้ด้วยว่าเด็กคิดอะไรอยู่ รู้สึกอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการโดนเพื่อนแกล้งหรือจะแกล้งเพื่อน ก็เป็นโอกาสในการที่ผู้ใหญ่จะได้สั่งสอนเด็กไปด้วย ซึ่งข้อแนะนำนี้สำหรับเด็กเล็กๆ ที่เริ่มไปโรงเรียน
พอได้อ่านทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับตัวผู้เขียนกับลูก ซึ่งโดยปกติตอนเย็นเมื่อลูกๆ กลับมาจากโรงเรียนมักนำเรื่องที่โรงเรียนมาเล่าสู่กันฟัง ให้แม่กับพี่กับน้อง ทั้งเรื่องเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องของคุณครู ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่เค้าเริ่มเข้าโรงเรียน ตอนแรกๆ เราอาจต้องถามเพื่อกระตุ้นให้เค้าพูด ให้เค้าเล่า ทำให้รู้สึกว่าเราได้รับรู้ รับทราบถึงชีวิตส่วนหนึ่งของลูกที่เราไม่อาจสัมผัสหรือรู้ในช่วงเวลาที่เค้าไม่อยู่กับเราตอนที่เค้าอยู่โรงเรียน คุยกับเค้าทุกวันแล้วเค้าจะทำเป็นนิสัยเอง ทำให้แม่สามารถสอนลูก พี่สามารถสอนน้อง พอโตขึ้นหากเค้าที่ปัญหาเรื่องเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องคุณครู เรื่องส่วนตัว เค้าจะเล่าให้เราฟัง ปรึกษาเรา แถมบางทีการพูดคุยกับลูกเป็นการคลายความเครียดของเราเสียด้วยซ้ำ แถมยังเปิดโลกทัศน์ของเรา

อย่าปล่อยให้ลูกพูดได้ว่า “ตอนที่หนูอยากคุยกับแม่ แม่ก็ไม่ฟัง บอกว่าไม่มีเวลา แล้วตอนนี้แม่จะมาอยากรู้อะไร” หากลูกพูดอย่างนี้คุณจะรู้สึกอย่างไร
ทำให้นึกขึ้นได้ว่า หลายวันก่อนอีกเช่นกันที่ดูรายการโทรทัศน์ เค้ามีสัมภาษณ์คุณนาตยา แดงบุหงา (ที่เคยเป็นนักแสดง แต่ตอนนี้ผันตัวเองมาเล่นการเมือง) คุณนาตยาบอกว่าหลังจากเปลี่ยนหน้าที่การงานแล้วทำให้ไม่มีเวลาคุยกับลูกๆ มากนัก แต่การคุยกับลูกของคุณนาตยาจะคุยผ่าน MSN ผ่าน Hi5 หรือการส่ง Message ผ่านทางโทรศัพท์มือถือแทน ก็แนวคิดอีกแบบหนึ่งที่สามารถพูดคุยกับลูกๆ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของครอบครัวด้วยด้วยเทคโนโลยี เห็นไหมค่ะ เทคโนโลยีก็มีส่วนที่ดีที่เราสามารถหยิบมาใช้ได้

6 thoughts on “คุยกับลูกวันละนิดจิตแจ่มใส

  • เรารู้ไหมว่า ชื่อเพื่อนๆของลูกเรามีชื่ออะไรกันบ้าง
    เรารู้ไหมว่า ครูของลูกคนไหนใจดี คนไหนโหด
    เรารู้ไหมว่า เพื่อนคนไหนที่ลูกเราซี้มากที่สุด
    เรารู้ไหมว่า ทำไมลูกต้องรอกลับบ้านพร้อมๆเพื่อน
    เรารู้ไหมว่า …………………………….
    เรารู้ไหมว่า ……………………………
    คุณจะไม่รู้อะไรเลยถ้าไม่เคยรับฟังเรื่องที่ลูกคุย

  • เห็นด้วย.. แต่สำหรับ ดช.แทน ได้ทำอย่างที่อ้อว่า เหมือนกัน เอาเรื่องที่คิดว่าง่ายๆ เช่นเมื่อกลางวันกินข้าวกับอะไร.. เธอยังคิดตั้งนาน หรือ บางวันบอกว่าจำไม่ได้ด้วยซ้ำ..ส่วนเรื่องวิชาการ เธอรู้เกือบทุกเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือเรืียน..แต่เรื่องที่เรียน เฮ้อ..

  • จำได้ว่าเมื่อตอนเป็นเด็กเล็กๆ ป.๑ พ่อบอกว่าให้จดชื่อเพื่อนๆ ทุกคนในชั้นเรียน และชื่อคุณครูประจำชั้น ทำตั้งแต่ ป.๑-๖ แล้วพ่อก็จะลอกใส่สมุด (ลายมือของพ่อสวยงาม) เมื่ออยู่ชั้น ม.๑-๖ ก็ทำเหมือนเดิม แต่น่าเสียดายที่สมุดได้จมน้ำหายไปเพราะบ้านถูกน้ำท่วมหนักเมื่อปี ๒๕๓๘ สิ่งที่พ่อบันทึกไว้ พ่อก็นำมาจากสมุดประจำตัวนักเรียน และจากสิ่งที่ลูกเล่าให้ฟัง เรื่องที่มีความประทับใจ ก็คือ ครูประจำชั้น ชื่อคุณครูอุบล ร่วมทอง ให้เสื้อหนาว สีเหลือง ๑ ตัว (จำได้ว่าตอนนั้นอยู่ชั้น ป.๓) ส่วน ป.๑ คุณครูประจำชั้นชื่อคุณครูเจริญ ชูเมือง ก็จะนำลูกๆ ของคุณครู จำนวน ๓ คน ซึ่งยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน นำมาเรียนหนังสือด้วย เรียนพร้อมพีที่เข้า ป.๑

  • เห็นด้วยกับเรื่องนี้ค่ะ เพราะว่าทุกเย็นเวลาใบหม่อนกลับจาก ร.ร. ก็จะเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่พบ ที่เห็น เรื่องเพื่อน เรื่องคุณครู จนตอนนี้จำได้แล้วว่า ชมพู่เป็นเพื่อนที่สนิทกับลูกเรามากที่สุด แล้วคุณครูโยก็ใจดีที่สุด

  • พี่มักได้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกดีๆ จากอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านในมหาวิทยาลัย ที่พอเราถามมักมัคำแนะนำเด็ดๆ แถมยังได้มีโอกาสใช้จริงๆ โดยเฉพาะเรื่องการฟังลูกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทำทุกอย่างให้ลูกไว้ใจ เด็กๆ พอเริ่มที่จะโตขึ้นมักมีโลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบให้ใครมาุยุ่งกับชีวิต เรื่องนี้พ่อแม่ต้องระมัดระวัง เวลาลูกขึ้นรถพี่จะถามลูกทุกครั้งว่าวันนี้เรียนเป็นไง ลูกก็จะเล่่าตั้งแต่ครู เพื่อน ฯลฯ เราก็ฟังๆๆๆๆๆๆ หากไม่เห็นด้วยก็พยายามอธิบาย
    ยอดตองพอขึ้น ม.4 อยากไปอยู่หอกับเพื่อน พ่อไม่อยากให้อยู่ด้วยเหตุผลมากมาย ส่วนแม่กับป้ายังไงก็ได้ แต่ไม่อยากให้เป็นเรื่องที่หงุดหงิดใจในครอบครัวเพราะขัดกับนโยบายสุขนิยม จึงถามว่าให้บอกเหตุผลที่อยากอยู่กับเพื่อน ส่วนพ่อมีข้อเสนอว่าหากแม่ว่าสามารถอดทนกับการรับส่งที่เกือบจะทุกวัน หรือดึกดื่นขนาดไหนจะยอมรับได้ไหม ในที่สุดก็ยอมรับผ่านไปไม่นานก็บอกว่าที่อยากไปอยู่หอเพราะเพื่อนชวน หน้าที่ของแม่คือก้มหน้าก้มตารับส่ง (หมายความว่าห้ามบ่นหรือบ่อนน้อยว่า เหนือย)
    ส่วนน้องเต็มก็จะมีปัญหาอีกแบบคือไม่ได้กลับบ้านกับแม่ แถมยังต้องขึ้นรถเมลืกลับบ้าน ก็ต้องไปคุยว่าแม่ต้องดูแลพี่ตอง ส่วนน้องเต็มป้าต้องดูแล ทุกคนต้องอดทนกันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ป้า ก็บอกว่ายอมรับน้องเต็มต้องอดทนไปสามปี และกลับเห็นว่าการขึ้นรถเมล์เป็นเรื่องสนุกเพราะสามารถไปช้อปปิ้งเกือบทุกวันที่ร้าน The Book และเมื่อกลับไปถึงบ้านก็จะโทรรายงานว่าถึงบ้านแล้ว การบ้านมีอะไร ครูให้ทำอะไร และเรื่องส่วนตัวเช่น กินข้าวกับอะไร อาบน้ำ สระผม ฯลฯ ส่วนช่วงเช้าเป็นเวลาอ่านหนังสือที่ไม่ใช่วิชาการเหมือนกัน
    น้องเต็มจะติดนิสัยตัวเองมาก ตอนเย็นๆ มักถามหรือโทรมาถามว่า วันนี้ทำงานเป็นไง เหมือนกับที่เราเริ่มต้นบทสนทนาว่า วันนี้เรียนเป็นไงบ้าง
    ส่วนเรื่อง IT เด็กๆ มีทักษะมาก ยอดตองจะคุยกับพี่ผ่านทางนี้เพราะเราหลับหากเขายังตื่น และการเข้าไปในโลกของเขาทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น
    ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือนอกจากจะคุยกัยลูกแล้ว บรรดาแม่ๆ ก็ควรคุยกันด้วย อย่างตัวเองมักคุยกับพลพรรครักเอย พอได้ความมาก็จะมาเล่าให้อ้อฟัง เพราะเป็นลูกสาวเหมือนกันและวัยจะไล่ๆ กัน ส่วนน้องเอ๋ แย่หน่อยเพราะเป็นลูกชาย การฟังมากๆ ทำให้เราสามารถหยิบประสบการณ์ไปใช้ได้

  • ตั้งแต่อนุบาลหนึ่ง (3 ขวบ) น้องออมกลับจากโรงเรียนก็เป็นคุณครูเลย ถือไม้เรียวทำท่าสอนหนังสือแจ้วๆ ให้พ่อแม่เป็นนักเรียนคอยตอบคำถามเหมือนที่ครูสอนมาในวันนั้น บางครั้งทำท่าข้ามไปข้ามมาบอกว่า ไอ้หมาป่านอยู่นิ่งๆ อย่าซน ไอ้หมาป่านคือเด็กชายอายุประมาณ 1 ขวบ นอนดูดนมขวดอยู่ในห้องเรียนพี่ๆ นี่คือการเล่าเรื่องของลูกแบบหนึ่งทำให้รู้ว่าวันนี้ลูกอยู่โรงเรียนอย่างไร มีเรื่องเล่าให้ฟังทุกวันโดยไม่ต้องถามพอพ่อไปรับก็ดีอกดีใจทำท่าว่ายน้ำมาหาทุกที ส่วนลูกชายไม่ค่อยพูด ถามคำตอบคำ พ่อไปรับก็ทำเดินเฉย แต่เพื่อนเยอะปิดเทอมทีมาเต็มบ้าน เคยคุยกับคุณแดง หรรษา เขามีวิธีเลี้ยงลูก(หลาน)ได้ดีมาก น้องช้างพอขึ้นปีสามให้เรียนโทเฟลไว้ก่อนเลย เพราะทุนนอกเยอะ เออแน่ะเรายังคิดไม่ถึง เลยพลาดส่งน้องออมเรียนตามสเต็บของแดงไป คิดว่าเอาไว้แก้ตัวให้ตัวเล็กแล้วกัน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร