อ่านหนังสือวันละเล่ม "นิทานศีลห้า"

29 August 2014
Posted by peekan

หนังสือเรื่อง นิทานศีลห้า เป็นวรรณกรรมคำสอน  ๔ ภาษา คือปริวรรตจากต้นฉบับภาษาขึนเป็นภาษาไทย, ภาษาฝรั่งเศส,  ภาษาอังกฤษ เป็นวรรณกรรมร้อยกรองด้วย  อ่านแล้วสนุก เลยหยิบยกมาให้เพื่อนๆ และผู้ที่สนใจ ยิ่งได้อ่านประวัติของผู้เขียนทึ่งสุดๆ เช่น ผลงานด้านวรรณกรรมของอาจารย์อนาโตล มี วรรณกรรมไทยเขิน, กาลาซาเครือดอก, ตำนานเค้าผีล้านนา ปฐมมูลคดี, เจ้าบุญหลง, สุชวัณณะวัวหลวง, ค่าวกลอนซอเชียงตุง, นางผมหอม และท้าวนกกะบาเผือก, แบบเรียนภาษาขึน, กาแลออกหน่อ และ The White Nightjar ฯลฯ
ท่านเป็นชาวฝรั่งเศสสัญชาติฝรั่งเศส เริ่มต้นการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาที่เมืองปากเซ
จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่กรุงปารีส
ผู้เขียนโตขึ้นมาโดยทานข้าวเหนียวและฟังหมอลำจากหมอลำที่ร่อนเร่ไปตามหมู่บ้าน  การฟังลำซึ่งแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยที่อาศัยอยู่ในสุวรรณภูมิ เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกประพิมพ์ใจในวรรณคดีไทยท้องถิ่น
ผู้เขียน  คิอ อนาโตล  โรเจอร์ เป็ลติเยร์ (Anatole-Roger  PELTIER)
เนื้อหาของหนังสือ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นนิทานศีลห้า  ส่วนที่สองของวรรณกรรม คือมาตศีลห้าเป็นบทร้อยกรอง
ส่วนแรก เนื้อหากล่าวถึง คำสอนที่พระพุทธเจ้าประทานให้แก่เวไนยสัตว์เพื่อให้พ้นทุกข์ ผู้เขียนเปรียบเทียบพระธรรมคำสอนกับ ๓ สิ่ง คือ เปรียบกับดอกบัวบานที่ส่งกลิ่นหอมขจรขจายมีหมู่ผึ้งและแมลงภู่พากันมาตอมไม่ขาดสาย   เปรียบกับดวงประทีปที่ใช้บูชาพระรัตนตรัยตลอด ๕ พีนพระวัสสา และเปรียบเทียบกับต้นโพธิ์ต้นไทรที่แผ่ร่มกว้างแก่คนและเทวดา แล้วจึงเล่านิทานศีลห้ามีเนื้อเรื่องย่อดังต่อไปนี้
กาลครั้งหนึ่ง ในเมืองพาราณสีมีชายทุคคตะ ๕ คน แต่ละคนมีภรรยาและบุตร ทั้งห้าคนยากจนเข็ญใจเป็นอันมาก  สวมเสื้อผ้าขาดวิ่น หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเที่ยวรับจ้าง เข้าป่าเก็บฟืนมาแลกอาหาร และบางวันก็เที่ยวขอทาน วันหนึ่งขณะเก็บฟืนอยู่ได้ปรับทุกข์กันว่าแต่ละคนต่างก็จนปัญญาจะหาเลี้ยงครอบครัวแล้ว มาพร้อมใจกันไปหาที่ตายในป่าน่าจะดีที่สุด รุ่งเช้าชายทุคตะทั้งห้าก็เดินทางเข้าป่า ขณะเดินหาที่ตายก็ไปพบพระฤษีเข้าตนหนึ่ง  ฤาษีซักถามว่าจะไปไหนกัน ทุคตะทั้งห้าก็ตอบว่าจะไปตาย ฤาษีกล่าวเตือนว่าทางที่จะไปตายนั้นหาไม่ยาก แต่ที่คนมีทุกข์ลำบากยากจนนั้นเพราะไม่มีศีล  ผู้ใดมีศีลมีสัจจะก็จะร่ำรวยเป็นเศรษฐี ทุคตะจึงซึกถามว่าศีลมีลักษณะเป็นอย่างไร  มีชีวิตเป็นตัวเป็นตนเหมือนช้างหรือเหมือนมดปลวก  ฤาษีตอบว่าศีลไม่มีตัวตน แต่เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้  ศีลนั้นหอมยิ่งกว่าดอกไม้  หอมไปไกลถึงสวรรค์ชั้นอิทร์ชั้นพรหม  หอมไปจนถึงนิพพานเป็นที่สิ้นสุด  ทุคตะทั้งห้าอยากได้ศีลจึงพากันเก็บดอกไม้ไปไหว้ขอพรพระฤาษี   ฤาษีได้ให้ศีลห้าแก่ทุคตะคนละข้อ แต่ละคนรับศีลด้วยจิตใจชื่นบาน  หลังจากช่วยกันปรนบัติหาน้ำท่าและผลไม้มาให้ฤาษีครบ ๗ วันก็อำลากลับบ้าน ฤาษีอวยพรให้ได้เป็นเศรษฐีพร้อมทั้งเตือนให้รักษาศีลและปฏิบัติกรรมฐาน
ทุคตะท้งห้า  กลับถึงบ้านภรรยาและลูกก็ถามว่าได้อะไรมาบ้าง คำตอบก็คือไม่ได้อะไรมานอกจากศีล  หลังจากนั้นทั้งห้าคนก็ขอทานและหาฟืนไปแลกอาหารเลี้ยงครอบครัวเหมือนเดิม เวลาผ่านไปเดือนหนึ่งก็ปรารภกันว่า ต่างก็สมาทานศีลกันทุกวันแต่ทำไมจึงเห็นร่ำรวยเป็นเศรษฐีสักที อยู่มาวันหนึ่งศีลก็ปรารถนาจะช่วยเหลือทุคตะคนแรก ซึ่งรับศีลข้อที่ ๑ มา ศีลได้แปลงกายเป็นงูตัวใหญ่เลื้อยมาที่เรือนของทุคตะคนนี้ ภรรยาของทุคตะกำลังกล่อมลูกอยู่ งูตรงเข้าคาบเอาขาของนาง นางตกใจร้องให้สามีช่วย ทุคตะคว้าเอาดาบเงื้อขึ้นจะฆ่างู แต่เมื่อนึกถึงศีลขึ้นได้ก็ไม่กล้าทำ งูค่อยๆ กลืนภรรยาและลูกของทุคตะจนหมดทั้งตัวแล้วเลี่้ยวเข้าป่าไป ชาวบ้านพากันตำหนิว่าทุคตะเป็นคนโง่  ถึงได้ปล่อยให้งูคาบลูกและภรรยาไป ทุคตะเสียใจจึงรีบเข้าป่าตามไปหาภรรยาและลูก  ไปถึงปากถ้ำก็พบลูกและภรรยานั่งอยู่ บอกภรรยาและลูกว่ามาตามให้กลับบ้าน ตอนแรกภรรยาตอบว่าไม่อยากกลับไปเพราะกลัวงูกินอีก แต่ทุคตะก็อ้อนวอนให้กลับ ภรรยาเลยบอกว่ามีเงินทองกองอยู่ในถ้ำ  ให้ช่วยกันหาบกลับบ้าน  ครอบครัวทุคตะเลยกลายเป็นเศรษฐี  ข่าวเล่าลือถึงพระราชาจึงให้เสนามาตามทุคตะไปเฝ้า เมื่อทุคตะเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง  พระราชาก็ยกย่องแต่งตั้งทุคตะให้เป็นอุปราช ช่วยปกครองบ้านเมือง  เมื่อทุคตะตายไปก็ได้ขึ้นสวรรค์
ทุคตะคนที่รับศีลข้อ ๒ กลับบ้านมาระยะหนึ่งแล้วนึกสงสัยว่าทำไมตนรักษาศีลแต่ไม่เห็นร่ำรวยเป็นเศรษฐี ได้แต่หาฟืนและเกี่ยวข้าวแลกเป็นอาหารเหมือนเดิม  ในเมืองนั้นเศรษฐีผู้หนึ่งมีบุตร  ๑  คน  แต่บุตรยังเล็กเกรงจะรักษาสมบัติไว้ไม่ได้ เศรษฐีได้นำเงินทองไปฝังดิน ขณะที่เศรษฐีขุดดินฝังเงินทองทุคตะกำลังเกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลนักจึงเห็นเหตุการณ์โดยตลอด เมื่อเศรษฐีไปแล้วทุคตะก็อดคิดไม่ได้ว่า น่าจะไปขุดเอาเงินทองของเศรษฐีเสีย  แต่เมื่อนึกถึงศีลข้อ ๒ ห้ามลักทรัพย์ที่ตนรับมาก็ยับยั้งใจไม่ให้ละโมมอยากได้ทรัพย์สินเงินทองเศรษฐี ต่อมาเศรษฐีเสียชีวิตบุตรชายเศรษฐีได้ค้นหาสมบัติของพ่อแต่หาไม่พบ ได้ทูลขอให้พระราชาช่วย พระราชาจึงป่าวประกาศว่าถ้าผู้ใดแจ้งให้ทราบว่าเศรษฐีเก็บสมบัติไว้ที่ไหนก็จะแบ่งสมบัติให้ผู้นั้นไปส่วนหนึ่ง  ทุคตะได้ทูลให้ทราบถึงเรื่องที่ตนเห็นเศรษฐีฝังสมบัติ เมื่อบุตรเศรษฐีไปขุดก็ได้คำตอบ  พระราชาได้แบ่งสมบัติของเศรษฐีออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งให้เศรษฐี ส่วนที่ ๒ ให้ทุคตะ อีกส่วนหนึ่งถวายบูชาศีล นอกจากนี้พระราชายังได้แต่งตั้งให้ทุคตะเป็นอำมาตย์แก้ว ทุคตะซึ่งมั่งมีเงินทองและมีเกียรติยึดมั่นในศีลต่อไปจนตลอดชีวิต
ทุคตะคนที่ ๓ ซึ่งรับศีลข้อ ๓ ไม่ล่วงละเมิดลูกเมียผู้อื่น กลับมาบ้านแล้วก็ยากจนต้องขอทานกินเหมือนเดิม วันหนึ่งจึงคิดจะเข้าไปขโมยเงินทองเศรษฐี ตากกลางคืนก็ค่อยๆ ปีนหลังคาแกะกระเบื้องหลังคาไต่ลงไปในเรือนเศรษฐี ค่อยๆคลำหาเงินไปทั่ว จนเข้าไปถึงที่นอนของภรรยาเศรษฐีและคลำไปถูกตัวภรรยาเศรษฐีเข้า ภรรยาเศรษฐีจุดไฟส่องดูเห็นหน้าทุคตะก็ซึกถาม ทุคตะจึงเล่าให้ฟังว่าตนตั้งใจจะมาขโมยทรัพย์สินของเศรษฐี ภรรยาเศรษฐีเลยบอกว่าจะให้เงินถ้าทุคตะร่วมรักกับนาง ทุคตะนึกถึงศีลข้อ ๓ ที่ตนรับมาก็ปฏิเสธ ภรรยาเศรษฐีจึงตะโกนให้คนจับขโมย ทุคตะถูกจับเศรษฐีนำตัวมาซักถาม ทุคตะเลยเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง เศรษฐีจึงไปถามเรื่องทุคตะถือศีลจากฤาษี เมื่อทราบว่าเป็นความจริงก็ปูนบำเหน็จให้จนเป็นเศรษฐี ทุคตะคนนี้ก็ได้รักษาศีลและบำเพ็ญกุศลต่อไปจนสิ้นชีวิต
ทุคตะคนที่ ๔ ซึ่งรับศีลข้อ ๔ ห้ามมุสาวาท กลับมาบ้านก็ยึดมั่นในศีลที่รับมา ลำบากยากจนหาฟืนมาขายเลี้ยงชีพตามเดิม ลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่งรักกับลูกชายของเจ้าเมืองได้แอบไปร่วมรักกันในป่าทุกวัน ทุคตะนั่งอยู่ในพุ่มไม้เห็นเข้าก็เก็บเป็นความลับไม่ได้เล่าให้ใครฟัง จนวันหนึ่งลูกสาวเศรษฐีเหลือบเห็นทุคตะเข้าก็บอกให้ลูกชายเจ้าเมืองทราบ ลูกชายเจ้าเมืองเกรงว่าทุคตะจะนำเรื่องของตนไปเที่ยวเล่าให้ใครๆ ฟัง แม้ทุคตะยืนยันว่าจะไม่เล่าให้ใครฟังและบอกว่าตนถือศีลไม่โกหาก็ไม่เชื่อ ลูกชายเจ้าเมืองพยายามจะฆ่าทุคตะ ทุคตะจำต้องต่อสู้ป้องกันตัว ลูกชายเจ้าเมืองเป็นฝ่ายเสียชีวิต ลูกสาวเศรษฐีได้ฟ้องเจ้าเมืองโดยกล่าวเท็จว่าทุคตะเป็นคนร้าย ทุคตะถูกจับ เจ้าเมืองซักถาม ทุคตะเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ยืนยันว่าตนไม่ได้โกหกเพราะรับศีลมาจาฤาษีเจ้าเมืองจึงให้คนไปถามข้อเท็จจริงจากฤาษี เมื่อทราบว่าทุคตะเป็นคนดีมีศีลยึดถือสัจจะเลยยกย่องให้เป็นลูกและให้ครองเมืองแทนสืบไป
ทุคตะคนที่ ๕ รับศีลไม่ดื่มสุราและเครื่องดองของเมา กลับบ้านก็หากินด้วยการเกี่ยวหญ้าและหาฟืนมาขาย  ตั้งแต่รับศีลห้าก็ห้ามลูกเมียไม่ให้เอาเหล้าขึ้นเรือน แม้จะใช้ทำยาก็ไม่ได้ วันหนึ่งลูกชายป่วย ทุคตะไปหาหมอมารักษา หมอแต่ละคนบอกว่าจะต้องใช้ยาที่ผสมเหล้าเท่านั้นจึงจะช่วยชีวิตไว้ได้ ทุคตะไม่ยอมให้ใช้เหล้ารักษา บอกว่ายอมให้ลูกตายดีกว่าหมอเลยไปฟ้องพระราชา ต่อมาลูกชายทุคตะเสียชีวิตไป เมื่อพระราชาไต่สวนได้ความแล้วรับสั่งว่าถ้าทุคตะรักษาศีลแล้วทำให้ลูกกลับคืนชีวิตได้ก็จะไว้ชีวิตทุคตะ แต่ถ้าลูกชายไม่ฟื้นขึ้นมาทุคตะก็ต้องถูกประหารชีวิต ทุคตะรีบกลับมาบ้าน ยกพานธูปเทียนขึ้นตั้งสัจจะอธิษฐานขอให้เดชแห่งศีลและสัจจะช่วยให้ลูกของตนฟื้นคืนชีวิต ปรากฏลูกชายซึ่งตายไปก็ฟื้นขึ้นมา พระราชาก็อนุโมทนาและยกสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง ชายทุคตะก็เลยได้เป็นมหาเศรษฐ๊
บทสรุป ผู้เขียนต้องการให้เห็นถึงความสำคัญของศีล และชักชวนให้ทุกคนสมาทานศีลทุกค่ำเช้า ผู้เขียนชี้แจงว่าตนนำมาแต่งเป็นนิยายนี้ มาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอย่าให้ตนมีโทษ และขออำนาจแห่งศีลดลบันดาลให้ตนมีปัญญาทั้งชาตินี้และชาติหน้า ได้แจ้งจบในธรรมจนได้ไปสู่พระนิพพาน สาธุ
ท้ายบทของหนังสือ มีศัพทานุกรม อธิบายความหมายของคำ และดัชนี
ส่วนที่สอง ของวรรณกรรม คือ มาตศีลห้า เป็นบทร้อยกรองแต่งด้วยคำประพันธ์ที่แตกต่างไปจากส่วนแรก
เนื้อหา อธิบายถึง คำว่า มาต  หมายถึง ร้อยกรองประเภทหนึ่งในวรรณกรรมไทขึนมีลักษณะทางฉันทลักษณ์และทำนองในการขับโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับคำประพันธ์ประเภทต่างๆของไทยภาคกลางและภาคอื่นๆ เช่น โคลง กลอน ร่าย กาพย์ ฉันท์ ของภาคกลาง ค่าวซอและซอของภาคเหนือ แต่ประเภทก็มีลักษณะทางฉันทลักษณ์และทำนองในการอ่านหรือขับร้องโดยเฉพาะ บทประพันธ์ไทขึนที่แต่งด้วยมาตมีเนื้อหาหลากหลายเช่น นิทานพื้นบ้าน พุทธประวัติ คำสอนทางพระพุทธศาสนาหรือคำสอนเกี่ยวกับจริยธรรม และบทพรรณาความเรื่องราวต่างๆ การอ่านหรือขับมาตเป็นทำนองนั้นเรียกกันว่า “อื่อมาต”
สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือ
๑. ได้ข้อปฏิบัติในการรักษาศีล
๒. ทำให้จิตใจผ่องแผ้ว และมีการสมาทานศีลก่อนการฟังพระธรรมเทศนา ก่อนฟังสวดพระอภิธรรม หรือสวดมนต์ ก่อนการถวายสังฆทาน และก่อนการปฏิบัติกรรมฐาน
ศีล ๕ เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เพราะเกิดมาก็มีศีลติดตัวมาด้วยตั้งแต่กำเนิด ดังคำพระอนุโมทนากถา ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้สอนไว้ว่า  อ้างอิงในพระไตรปิฏก ศีล ๕ มีปรากฏในพระสุตตันตปิฏกและพระอภิธรรมปิฏก ส่วนในพระวินัยสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับสมณะผู้มีศีลรักษายิ่งกว่าศีล ๕ ผลานิสงฆ์ของศีล๕ คือปัจจุบันชาติย่อมเพียบพร้อมด้วยโภคสมบัติ ชาติหน้ามีสุคติเป็นที่ไป และถึงพระนิพพานได้เป็นที่สุด  เมื่อรับศีล ๕ แล้ว พระจึงบอกอานิสงส์แห่งศีลว่า
สีเลน  สุคติ  ยนฺติ     แปลความว่า   ย่อมถึงสุคติด้วยศีล
สีเลน  โภคสมปทา      แปลความว่า    มีโภคสมบัติก็ด้วยศีล
สีเลน   นิพพุตี  ยนฺติ        แปลความว่า   ถึงนิพพานได้ด้วยศีล
ตสฺมา    สีลํ   วิโสธเย       แปลความว่า  เพราะฉะนั้นพึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เทอญ
คำสมาทานศีล ๕
๑.  ปาณาติปาตา, เวระมณี สิขาปะทัง  สะมาทิยามิ แปลความว่า เว้นจาการฆ่าสัตว์ ๑
๒.  อทินนาทานา, เวระมณี สิขาปะทัง สะมาทิยามิ  แปลความว่า เว้นจากการลักฉ้อสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑
๓.  กาเมสุมิจฉาจารา, เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  แปลความว่า เว้นจากการประพฤติกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ๑
๔.  มุสาวาทา, เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  แปลความว่า   เว้นจากการเจรจาคำเท็จล่อลวงผู้อื่ืน ๑
๕.   สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา, เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  แปลความว่า เว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ หาอ่านได้ที่ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ อาคารหอสมุดฯ ชั้น ๒ เลขหมู่หนังสือ  BQ๕๘๑๕.๕น๖๓  ๒๕๔๘
ด้วยอานิสงส์ที่ฉันได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ขอให้เป็นผู้มีศีล และได้รักษาศีล และได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าใจธรรมนั้นทันที  และให้อำนาจแห่งศีลบันดาลให้ฉันมีปัญญาได้เข้าใจในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและขออธิษฐานจิตได้มรรค ผล นิพพานในที่สุด สาธุ
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร