อ่านหนังสือวันละเล่ม "ศรีนครินทร์ไผทสยาม"

29 August 2014
Posted by peekan

หนังสือเรื่อง ศรีนครินทร์ไผทสยาม พระราชประวัติในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี   เรียบเรียงโดย ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล ผู้เขียนมุ่งหวังให้เยาวชนได้ซึมซับเรียนรู้จากประวัติชีวิตปูชนียบุคคลของสังคม  และของโลก ที่ให้ข้อมูลความรู้พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชดำรัสที่ให้ข้อคิดอันมีค่า หลักการทรงงานบริหารงาน ไดอารีวันสำคัญในพระชนม์ชีพ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ วัดศรีนครินทรวราราม  มีภาคผนวก   คือ ก.คมคำ พระราชดำรัส ข. การทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.พระเกียรติคุณและพระสมัญญา ง.หนังสือ “พระมามลายโศกหล้า เหลือสุข” จ.บทความ แนวบริหารสมเด็จย่าผลิผลงาม
พระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามเดิม สังวาลย์ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑  ตุลาคม พ.ศ ๒๔๔๓ ณ เมืองนนทบุรี ทรงเป็นบุตรคนที่ ๓ ในพระชนกชู และพระชนนีคำ ทรงมีภคินี ๑ คน พระเชษฐา ๑ คน ได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก คงเหลือแต่คุณถมยาพระอนุชา ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ และมีชีวิตอยู่ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
สมเด็จพระบรมราชชนนีเจริญพระชนม์ชีพวัยเยาว์ในชุมชนชาวบ้านแถบวัดอนงคาราม ธนบุรี บ้านที่อยู่เป็นห้องแถวชั้นเดียว พระชนกชูประกอบอาชีพช่างทองและทำงานอยู่ที่บ้าน มีพระชนนีคำ และท่านซ้วย พี่สาวของพระชนนีคำเป็นผู้ช่วย พระชนกชูถึงแก่กรรมตั้งแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังทรงพระเยาว์มาก จึงทรงอยู่ในความดูแลของพระชนนีคำและท่านซ้วย
ต่อมาเมื่อพระชนมายุ ประมาณ ๗-๘ พรรษาพระญาติผู้ใหญ่ฝ่ายพระชนกชูได้นำพระองค์ไปถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวไลยองกรณ์ หรือทูลกระหม่อมหญิง พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเล่าในภายหลังว่า หน้าที่ไม่มีอะไรมาก และทูลกระหม่อมหญิงทรงโปรดให้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนสตรีวิทยาเมื่อพระชนมายุ ๙ พรรษา พระชนนีถึงแก่กรรม
ในด้านการศึกษา ทรงเป็นสตรีไทยรุ่นแรกที่มีโอกาสได้ศึกษาแบบสมัยใหม่ ทรงเริ่มเรียนการอ่าน กับพระชนนีคำ แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนอีกหลายแห่ง ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา ได้ทรงเข้าเรียนวิชาพยาบาลที่โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย นักเรียนในรุ่น มี ๑๔ คน ทรงเรียน ๓  ปีตามหลักสูตร ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตร ในเดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ หลังจากนั้นทรงทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักเรียนทุนพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๖๓)  ทรงศึกษาวิชาการต่างๆ เพื่อเข้าเรียนวิชาพยาบาลต่อไป
พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ทรงรู้จักกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชกำลังทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อทรงรู้จักกันแล้ว ความสัมพันธ์ก็ได้สานต่อเป็นความเสน่หา
วันศุกร์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่วังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำสังข์ในพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชกับนางสาวสังวาลย์
พ.ศ. ๒๔๗๑ พระองค์โดยเสด็จตามพระสวามีไปประทับที่สหรัฐอเมริกา และโดยเสด็จไปยุโรปอีกหลายประเทศ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และแพทยศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นได้ทรงดูงานและทรงเจรจากับแผู้แทนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เรื่องขอความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาปรับปรุงการศึกษาด้านการแพทย์ของไทยเข้าสู่มาตรฐานระดับอุดมศึกษา
ระหว่างที่ประทับ ที่สหรัฐฯ สมเด็จพระบรมราชชนนี นอกจากจะทรงงานต่างๆ ในฐานะแม่บ้านแล้ว ด้วยความใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษา จึงได้เข้าเรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซมมอน์ (Simmons College) ทรงเรียนอยู่ภาคการศึกษาหนึ่ง และเรียนวิชาจิตวิทยา การทำกับข้าวและโภชนาการ ส่วนที่ MIT (Massachusettes Institues of Technology) ได้ทรงศึกษาวิชาการสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงเรียน (School Health)
พ.ศ. ๒๔๗๑เดือน มิถุนายน สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสอบไล่ได้ปริญญาแพทยศาสตร์ เกียรตินิยม ครอบครัวมหิดลกลับประเทศไทยในวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑
พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ และตั้งพระทัยจะทรงนำครอบครัวไปด้วยในภายหลังแต่เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในช่วงหลังเดือนพฤษภาคม เพื่อร่วมในงานถวายพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดชแล้ว ก็ทรงพระประชวรนาน ๔ เดือน สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒
สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนีมีพระราชโอรสธิดาจำนวน ๓ พระองค์ คือ
๑.  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑
๒.  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชสมภพวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมนี สวรรคตวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙
๓.  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพวันจันทร์ที่  ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา
หลังจากพระสวามีสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมราชชนนีซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ต้องทรงเป็นทั้งพ่อและแม่ของเจ้านายเล็กๆ ทั้ง ๓ พระองค์ ทรงเอาใจใส่อภิบาลพระโอรสธิดา ได้ดียิ่ง
พ.ศ. ๒๔๗๖ พระองค์พร้อมด้วยพระโอรสธิดาเสด็จไปประทับที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ เพื่ออนาคตในด้านการศึกษาของเจ้านายทั้ง ๓  พระองค์ และเพื่อพระอนามัยของพระโอรสองค์โตที่ไม่สู้แข็งแรง ต้องทรงอยู่ในที่อากาศเย็นสบาย
วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเนื่องจากมีพระบรมราชวินิจฉัยขัดแย้งกับรัฐบาลหลายเรื่อง  ตามกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสองค์โตของสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงอยู่ในลำดับที่ ๑ แห่งการสืบราชสันตติวงศ์ วันที่ ๗ มีนาคม รัฐบาลโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฏร ได้อัญเชิญพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชประสงค์เช่นนั้น
เหตุการณ์นี้ทำให้ชีวิตของสมาชิกในครอบครัวมหิดล ซึ่งขณะนั้นอยู่อย่างสงบสุขที่เมืองโลซานน์ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อประโยชน์สุขของชาติบ้านเมือง หม่อมสังวาลย์เปลี่ยนสถานะเป็น พระราชชนนีศรีสังวาลย์ และรับภาระอันสำคัญยิ่งในการอบรมอภิบาล ยุวกษัตริย์ ผู้ทรงมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษากว่า ให้เจริญพระชนม์ชีพเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกในระบบประชาธิปไตย กลางสถานการณ์ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับตัวทั้งทางฝ่ายราชวงศ์และฝ่ายรัฐบาล
เมื่อกาลเวลาผ่านไป เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงปฎิบัติหน้าที่ได้ดีเลิศ พระโอรสทั้ง ๒ พระองค์ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ (พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๘๙) และรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ต่างทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นมหาราชาในระบอบประชาธิปไตรยที่ได้รับการยกย่องเทิดพระเกียรติอย่างสูงจากประชาคมระหว่างประเทศและทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนยิ่งของชาวไทย จึงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลยว่า สมเด็จพระศรีนครินทาบรมราชชนนีทรงมีส่วนร่วมในการสร้างหน้าที่และบทบาทของสถาบันพระมหาษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแก่สังคมไทยด้วย
สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเผชิญความโศกศัลย์พ้นพรรณาเมื่อรัชกาลที่ ๘ เสด็จสู่สวรรคาลัยในวันที่ ๙ มิถุนายนพ.ศ. ๒๔๘๙ และเนื่องจากว่าพระโอรสองค์เล็กเสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ ต่อมาด้วยอายุเพียง ๑๘ พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนีจึงต้องรับพระราชภาระถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ได้ทรงลงทะเบียนเรียนแบบที่ไม่ต้องสอบ ไม่นับหน่วยกิตการเรียน ที่มหาวิทยาลัยนี้ด้วย ทรงศึกษาวิชาปรัชญา วรรณคดีฝรั่งเศส ภาษาบาลีและสันสกฤต
ด้วยความเข้มแข็ง แารเข้าถึงแก่นแห่งธรรมะ ผสมผสานกับกาลเวลาที่ผ่านเลย สมเด็จพระบรมราชชนีก็ทรงผ่านพ้นภาวะแห่งความโศกอันใหญ่หลวง หลังจากที่พระโอรสทรงอภิเษกสมรสใน พ.ศ. ๒๔๙๓ แล้ว สมเด็จพระบรมราชชนีทรงย้ายจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนาที่ประทับของพระองค์และพระโอรสที่เมืองพุยยี่มาประทับ  ณ แฟลต เลขที่ ๑๙ ถนนอาวองโปสต์ ในเมืองโลซานน์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จกลับประเทศไทยในปลาย พ.ศ. ๒๔๙๔ สมเด็จพระบรมราชชนนียังคงประทับที่เมืองโลซานน์ต่อไปอีก จนถึงพ.ศ. ๒๕๐๖ ในช่วงนี้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งคราว ไม่มีกำหนดแน่นอน
พ.ศ. ๒๕๐๗ สมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทย ทรงเริ่มเสด็จประพาสหัวเมือง พร้อมกับทรงงานเยื่ยมราษฏรในพื้นที่แร้นแค้นไกลคมนาคมทั่วประเทศ และได้ต่อเนื่องขยายมาเป็นการเสด็จเยี่ยมเยียนเป็นวงรอบนาน ๑๔-๑๕ เดือน นอกจากนั้นยังได้ทรงริเริ่มโครงการต่างๆหลายด้าน เพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ด้อยโอกาสในพื้นที่เหล่านี้ พระองค์ได้ทรงงานอย่างต่อเนื่องในชนบททุรกันดาร มาจนถึงบั้นปลายพระชนม์ชีพ เมื่อเหน็ดเหนื่อยจากการทรงงานในแต่ละวงรอบซึ่งกินเวลานาน ก็จะเสด็จพักผ่อนที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่เดิมที่เคยเช่าไว้
พ.ศ. ๒๕๒๗ เมื่อเจ้าของตึกเลิกสัญญาเช่า ช่วง พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๓๓  ประทับ ณ แฟลตเลขที่  ๖๖ A ถนนอาเวนู เดอ ลา โว เวลาที่เสด็จพักผ่อน
ในด้านพระราชอัธยาศรัยและพระราชจริยาวัตรนั้น  จากการบอกเล่า ภาพเสด็จเยี่ยมราษฏรในชนบท ภาพทรงชื่นชมความงามธรรมชาติ ทรงงานศิลปะที่สวยงาม และภาพอื่นๆอีกมาก สะท้อนให้เห็นเด่นชัดถึงพระคุณลักษณะอันประเสริฐที่เป็นพลังสำคัญประการหนึ่่งในการช่วยเกื้อหนุนให้โครงการต่างๆ ที่ทรงริเริ่มขึ้นเพื่อผู้ยากไร้ด้อยโอกาสประสบความสำเร็จ รวมทั้งเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่อนุชนด้วย
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีโปรดการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย โปรดการทำงาน การพึ่งตนเอง การคำนึงถึงส่วนรวมเป็นหลัก การใช้เวลาให้มีค่า ผลงานทางด้านศิลปะของพระองค์ สะท้อนให้เห็นถึงการทรงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ยิ่ง ทรงใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในงานกุศลต่างๆ พระองค์โปรดการเดินป่า ปีนเขา ทอดพระเนตรดอกไม้ ทิวทัศน์ธรรมชาติ ทรงเป็นคนตรง เข้มแข็ง เฉลียว ฉลาด พินิจเรื่องต่างๆด้วยวิถีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์บนรากฐานของเหตุผลและการทดลองก่อนปฏิบัติจริง ทรงเป็นนักมนุษยนิยม ให้ความสำคัญแก่มนุษย์ทุกหมู่เหล่าทุกชาติชั้น ทรงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาค้นคว้า และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทรงงานเพื่อส่วนรวม
คำคมพระราชดำรัสของสมเด็จย่า  ที่โดนใจ
๑.  คนดีของฉันรึ  จะต้องเป็นคนที่ไม่พูดปด ไม่สอพลอ ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง และไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้าๆ  แต่พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีในขอบเขตของศีลธรรม
๒.  อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน บังคับไม่ได้… ส่วนอัตตา คือ ตัวตนของเรา  ซึ่งเป็นส่วนที่บังคับได้ คนเราต้องรู้จักบังคับตนเอง  ถ้าปล่อยตามบุญ ตามกรรมก็ไม่เจริญ
๓.  คนเรามีจักรยานก็ได้ได้เร็วกว่าเดิน มีรถยนต์เล็กก็เร็วกว่าจักรยาน  ความพอใจหรือไม่พอใจเกิดขึ้นด้วยตัวเเราอง  ถ้าเปรียบเทียบตนเองกับคนที่มีมากกว่า เราจะรู้สึกด้อย ถ้าเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเราก็ดูมีมาก ดังนั้นถ้าไม่รู้จักพอ มีเท่าไรก็ไม่อาจพอได้
๔.  เด็กพิการนี่มันไม่น่ารัก คนที่ทำบุญด้วยนี่มีน้อยแม้กระทั่งพ่อแม่บางทีก็เสือกไส  ทำไงได้  เขาเกิดมาแล้ว
๕.  อย่าลืมว่าแต่ละคนมีความดีบริสุทธิ์ไม่ท้้งหมด เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีบกพร่องอะไรบ้างก็ต้องยอรับ  นี่คือสภาพของคนปกติ… บริสุทธิ์สมบูรณ์ดีพร้อม  มีแต่ธรรมะ คนจริงๆ แล้วต้องมีข้อไม่ดีอยู่บ้าง  เพราะฉะนั้นขอให้มองกันในแง่ดี  แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี
๖.  ที่ทำงานนี่ ทุกแห่งที่ผ่านไปที่มี พอ. สว. เห็น ตั้งอกตั้งใจทำงานกันดี  แต่ที่อยากจะขอให้ทุกท่านทั้งที่เป็นกรรมการ และสมาชิกทุกคน จงทำงานกันโดยความสามัคคี เห็นอกเห็นใจกัน ถ้ามีอะไรที่ไม่พอใจที่เห็นว่าควรเปลี่ยน ก็ควรจะนำมาพุดกัน ไม่ใช่พูดลับหลังไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย ถ้าเรามาพูดกันคือ discuss กันอย่างนี้ สำหรับที่จะเปลี่ยนของบางอย่าง ถ้าเห็นด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนตามนั้น… ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมานี้ไม่ได้อะไรเป็นวัตถุ  แต่ได้สิ่งที่เป็นกุศล  เมื่อได้กุศล ฉันก็เชื่อว่า คงจะทำให้ทุกๆ ท่านมีความพอใจสบายใจขึ้น ฉันรู้สึกว่าการที่จิตใจสบายนี้สำคัญมาก ถ้าจิตใจสบายอาจทำให้ร่างกายสบายด้วย
๗.  เงินไม่ใช่เป็นนายเรา เราต้องเป็นนายเงิน
๘.  การช่วยผู้คนที่ได้รับความลำบากต่างๆ ตามศาสนาก็ว่าได้บุญ ดังนั้นหลานๆ ทุกคนก็ได้บุญกันทั้งนั้น (หลานๆ หมายถึงคณะผู้เข้าเฝ้า) อย่างที่ฉันว่ามาแล้ว ว่าทำคนเดียวไม่ได้ ถ้าฉันทำคนเดียวก็ไม่สำเร็จ และที่พูดถึงทศพิธราชธรรมก็ว่ากันว่าเป็นธรรมของพระราชา แต่ที่จริงเป็นธรรมของคนทั่วไป เพราะฉะนั้นฉันอยากจะเปลี่ยนชื่อนิดหนึ่งชื่อว่า” ทศพิธสามัคคีธรรม” ทำอะไรทำด้วยกัน ถ้าเราไม่ทำด้วยกันด้วยความสามัคคี สิ่งต่างๆ ก็จะไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นฉันขอขอบใจทุกๆ คนที่ช่วยฉันทำงานอันนี้  เพื่อประโยชน์คนอื่นที่ยากไร้กว่าเรา
๙.  สิ่งที่ฉันทำไปนี้ก็รู้สึกว่าน้อยนิดเดียว เพราะคนๆ หนึ่ง จะทำให้มากมายใหญ่โตไม่ได้ ถึงฉันเองก็มีผู้คนที่ช่วยมากอยู่
๑๐.  ขอให้ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพราะคนเราน่ะเมื่อเกิดมาก็ธรรมดาที่จะต้องคิดถึงตัวเองอยู่มาก เพราะว่าต้องมีการทำมาหากิน แต่ทีนี้เราจะทำอะไรก็พยายามที่จะทำให้ในทางซื่อสัตย์สุจริตและคนอื่นๆ ทำด้วย ก็เลยเป็นประโยชน์ส่วนรวม นั่นก็เป็นความเจริญของประเทศชาติ
๑๑.  ต้นไม้นี่มันคล้ายๆ คน ต้นบานชื่นนี้ฉันไม่ได้ปลูกด้วยเมล็ด แต่ไปซื้อต้นเล็กๆ ที่เขาเพาะแล้วมาปลูก แต่มันก็งามและแข็งแรงดี เพราะอะไรหรือ เพราะคนที่เขาขายนั้นเขารู้จักเลือกเมล็ดพันธ์ที่ดี  และดินที่เขาใช้เพาะก็ดีด้วย  นอกจากนั้น เขายังรู้วิธีว่าจะเพาะอย่างไร  ซึ่งฉันไม่สามารถทำได้เช่นเขา  เมื่อฉันเอามาปลูก ฉันต้องดูแลใส่ปุ๋ยเสมอ  เพราะดินที่นี่ไม่ดี (ที่นี่หมายถึงพระตำหนักวิลล่าวัฒนา เมืองพุยยี่ สวิตเซอร์แลนด์) ต้องคอยรดน้ำพรวนดินบ่อยๆ ต้องเอาหญ้าและต้นไม้ที่ไม่ดีออก เด็ดดอกใบที่เสียๆ ทิ้ง คนเราก็เหมือนกัน ถ้ามีพันธ์ดี เมื่อเป็นเด็กก็แข็งแรง ฉลาด เมื่อพ่อแม่คอยสั่งสอน เด็ดเอาของที่เสียออก และหาปุ๋ยที่ดีใส่เสมอ เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนที่เจริญ และดีเหมือนกับต้นไม้ และดอกบานชื่นเหล่านั้น
สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือ   คือข้อคิดในหลักธรรม การใช้เวลาว่างให้เป็นประโชน์  เวลาของสมเด็จย่ามีค่ามากจริงๆด้วย    ความขยัน ความอดทน  มัธยัสถฺ์ ความมีพระเมตตา กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความเดือดร้อน  เราจะสังเกตุเห็นได้จากภาพพระกรณียกิจ ทรงเสด็จไปตามที่ต่างๆ ที่ทุรกันดาร  เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่าที่จะทำได้  พระองค์ทรงอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยการปลูกป่าบนดอยตุง
 
สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ชี้บ ๓ เลขหมู่หนังสือ DS ๕๗๐.๔ศ๓๘ศ๗๕
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร