สมเด็จเจ้าฟ้า มหาบัณฑิต

Mep1
ทรงรับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
(สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก) มหาวิทยาลัยศิลปากร
ากมองย้อนหลังจากประวัติการก่อตั้ง
มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของสยามประเทศ
จากวันที่รัฐบาล ได้ประกาศตราพระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีพุทธศักราช 2486 แล้ว

วันที่ 6 มิถุนายน 2520 คงจะเป็นอีกหนึ่ง
ในวันแห่งความภาคภูมิและปิติยินดี
อย่างหาที่สุดมิได้อีกครั้งสำหรับชาวศิลปากร

เนื่องด้วยในวันดังกล่าวสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง
ทรงเสด็จร่วมงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่

ในฐานะนักศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต
สาชาวิชาจารึกภาษาตะวันออก
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
คือสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น
พระปรีชาสามารถทางด้านการศึกษาของพระองค์นั้น
เป็นที่ประจักษ์แก่เราชาวไทย นับแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์
ทรงสำเร็จการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย
จากโรงเรียนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
ทรงสอบไล่ได้คะแนนเป็นที่ 1 ของประเทศไทย
แผนกศิลปะ ประจำปีการศึกษา 2515
หลังจากนั้นทรงเสด็จเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในสาขาวิชา ประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และทรงศึกษาวิชาภาษาบาลีสันสกฤตเป็นวิชาโท
ขณะที่ทรงศึกษาอยู่นี้ทรงขาดเรียนเป็นครั้งคราว
ด้วยเหตุที่ต้องตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ
เสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามต่างจังหวัดอยู่เสมอๆ
ด้วยพระวิริยะอุตสาหะตลอดจนพระปรีชาสามารถในการศึกษา
ทรงสอบไล่ได้ที่ 1 ตลอด 4 ปีการศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนน 3.98
นับเป็นคะแนนสูงสุดนับแต่คณะอักษรศาสตร์ใช้ระบบหน่วยกิตเป็นต้นมา
ทรงเข้ารับพระราชทานรางวัลเหรียญทองยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร
จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ายหลังจากทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตแล้ว
ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท
ณ บัณฑิตวิทยาลัยถึง 2 สถาบันในคราเดียวกัน กล่าวคือ
ทรงศึกษาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต
ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และทรงศึกษาวิชาจารึกภาษาตะวันออก
ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อพระองค์ทรงเลือกศึกษา ณ มหาวิทยาลัยศิลปากรดังกล่าว
จึงนับเป็นเกียรติประวัติอันหาที่สุดมิได้แก่มหาวิทยาลัย
ในการได้รับหน้าที่ถวายการศึกษาแก่พระองค์
และนับเป็นสิริมงคลอันสูงสุดแก่พระสหายร่วมชั้นในเวลานั้น
มีเรื่องเล่ากันว่าในชั่วโมงแรกที่เสด็จฯ มาทรงศึกษา
แม้พระองค์จะทรงแย้มพระสรวลและทอดพระเนตรพระสหายทุกคนโดยทั่วถึง
ก็หามีผู้ใดกล้าสบสายพระเนตรไม่ พระสหายทุกคนต่าง “ ระวังตรง”
แต่ด้วยความที่อยากชมพระบารมีเป็นที่สุด
ทุกคนได้แอบชำเลืองไปทางที่ประทับบ่อยครั้ง
แม้แต่พระอาจารย์ที่ถวายการสอนบางท่านก็ตกอยู่ในอาการเดียวกัน
คือมีความ “ปลาบปลื้มยินดี” และ “ระวังตรง” เช่นเดียวกัน
ด้วยต่างเกรงว่าจะวางตัวไม่ถูกในขณะที่อยู่ร่วมในชั้นเรียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสนีย์ วิลาวรรณ ได้บอกกับพระอาจารย์ที่ถวาายการสอนว่า
ให้สอนตามปกติ จะใช้ราชาศัพท์ก็ต่อเมื่อกราบบังคมทูลกับพระองค์เท่านั้น
ทำให้คลี่คลายความระวังตรงของทุกคนลงได้
Mep3
อาจารย์อัญชนา จิตสุทธิญาณ (คนยืน-ส่วนคนนั่งไม่ทราบชื่อ)
ขณะถวายพระอักษรเมื่อทรงศึกษาจารึกภาษาตะวันออก

ด้วยพระราชจริยาวัตรและพระราชอัธยาศัยอันงดงาม
ที่ทรงมีต่อทุกคน ทั้งกับพระอาจารย์ทั้งปวงตลอดจนพระสหายร่วมชั้นเรียน
จึงเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้านาย
ที่มีพระราชอัธยาศัยอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาและมิได้ถือพระองค์
ดังที่ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
อธิการบดีในเวลานั้น ทรงเล่าประทานว่า

“ ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนี้
ทำให้ผมได้ทราบว่าพระองค์ทรงถ่อมพระองค์มาก
กล่าวคือเมื่อพระองค์ทรงพบอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
ไม่ว่าจะถวายการสอนแด่พระองค์หรือไม่ก็ตาม
เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าเป็นอาจารย์
พระองค์ก็ทรงแสดงความเคารพทุกคนไป
ที่ผมทราบดังนี้ เพราะว่าผมเป็นผู้นำเสด็จฯ
เมื่อผ่านอาจารย์ที่สอนอยู่คณะสถาปัตย์ฯ
ซึ่งพระองค์ไม่ได้ทรงเรียน พอผมแนะว่านี่อาจารย์สอนคณะนั้นๆ
พระองค์ก็ทรงแสดงความเคารพ แล้วอาจารย์ท่านนั้น
ก็ถวายคำนับหรือรับการเคารพอย่างน้อมต่ำที่สุด
พระองค์จะทรงกระทำเช่นนี้กับอาจารย์ทุกท่าน
เหมือนพระองค์ทรงเป็นนักศึกษาธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น”
ในส่วนของพระสหายร่วมชั้นเรียนนั้น
ทรงมีพระเมตตาต่อพระสหายทุกคนเป็นอย่างดียิ่ง

ตัวอย่างเช่น ระหว่างชั่วโมงเรียนหากชั่วโมงก่อนหน้า
มีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องเรียน เช่น มีการฉายภาพสไลด์
เมื่อจบชั่วโมงแล้วขณะที่อาจารย์ท่านต่อไปนี้ยังไม่เข้าสอน

พระองค์จะทรงพระดำเนิน ไปทรงเปิดมู่ลี่และช่วยเลื่อนจอฉายก่อนคนอื่นๆ
และพระสหายก็จะช่วยกันจัดห้อง เปิดไฟ ทรงปฏิบัติเช่นนี้ทุกครั้ง
และหากทรงมีพระราชกิจไม่สามารถเข้าศึกษาได้ในชั่วโมงใด
จะทรงขออนุญาตอัดเทปคำบรรยาย

และมักรับสั่งกับพระสหายเสมอว่าทรงเรียนกับ “เทปาจารย์”
ด้วยความที่ทรงไม่ถือพระองค์ ทรงเป็นกันเองอย่างยิ่งกับพระสหายเช่นนี้
บรรยากาศภายในชั้นเรียนที่ทรงประทับจึงเป็นไปด้วยความสนุกสนาน
ตัวอย่างเช่น ในวันหนึ่งมีพระสหายเพิ่งเดินทางกลับจากไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดสงขลา
ได้นำบ๊วยเค็มมาฝาก และแจกจ่ายด้วยวิธีกองบ๊วยเค็มลงบนกระดาษเวียนไปรอบห้อง
เมื่อผ่านหน้าใครก็หยิบใส่ปาก 1 เม็ด แล้วเลื่อนต่อไปยังผู้นั่งถัดไป
ทรงรับกระดาษที่เลื่อนไป ทรงหยิบไว้ 1 เม็ด แล้วเลื่อนต่อไปอีกพร้อมรับสั่งดัง ๆว่า
“นี่เป็นข้อตกลงนะ
ถ้าอาจารย์เข้ามาในขณะที่บ๊วยอยู่ตรงหน้าใคร
คนนั้นต้องรับผิดชอบ ห้ามซัดทอดนะ”

พระสหายร่วมชั้นจึงเปล่งเสียงเฮขึ้นพร้อมกัน ทำให้บ๊วยเค็มในวันนั้นมีรสชาดเป็นที่สุด
ารศึกษาในระดับปริญญาโทสำหรับนักศึกษาทั่วไปโดยปกติมิใช่เรื่องง่ายนัก
ดังนั้นการศึกษาในระดับนี้พร้อมกันถึง 2 สถาบัน จึงเป็นเรื่องยากมากกว่าหลายเท่า
กอปรด้วยทรงมีพระราชภารกิจมากมายเกินกว่าที่จะ
ทรงเขียนวิทยานิพนธ์ของทั้งสองมหาวิทยาลัยได้พร้อมกัน
พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง”

สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน
พระวิทยานิพนธ์มีจุดมุ่งหมาย
ในการอ่านและแปลจารึกที่ยังมิได้มีผู้ใดแปล

ทรงนำเสนอเป็นข้อมูลดิบเพื่อนำไปประกอบการวิจัย
สำหรับวิชาการด้านอื่นๆ ต่อไปตามแต่จะมีเนื้อหา
วิทยานิพนธ์ลักษณะนี้เป็นที่ยอมรับเป็นสากลว่ามีค่ายิ่งแบบหนึ่ง


จารึกที่ทรงนี้เป็นจารึกที่แปลยากมาก
โดยเฉพาะหลักที่เป็นภาษาสันสกฤต

มหาวิทยาลัยศิลปากรได้พิจารณาถึงความยากในข้อนี้
จึงเชิญศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต

จากมหาวิทยาลัยเดลลี (Delhi University) ประเทศอินเดีย
อาจารย์พิเศษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ช่วยพิจารณา
Mep2
ทรงประทับท่ามกลางคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ
ขณะทรงสอบวิทยานิพนธ์ เมื่อ 20 เมษายน 2522

ในระยะเวลาใกล้ๆ กับที่พระองค์จะทรงเสนอวิทยานิพนธ์และทรงสอบนั้น
นาย Claude Jaques ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึก มหาวิทยาลัยปารีส
ผ่านมาประชุมที่อินโดนีเซีย
มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้เชิญ
ให้ตรวจและเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
ดังนั้นพระองค์จึงต้องทรงแปลพระวิทยานิพนธ์

เป็นภาษาฝรั่งเศสอย่างคร่าวๆ อีกฉบับหนึ่งด้วย
ในบรรดานักศึกษาที่เลือกทำวิทยานิพนธ์ ในรุ่นการศึกษาเดียวกันนี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสำเร็จการศึกษาเป็นพระองค์แรก
ทั้งนี้ด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ
ทรงพระวิริยะอุตสาหะ ทรงมีความรอบรู้ประการหนึ่ง

และอีกประการหนึ่ง ทรงศึกษาภาษาเขมรและการอ่านจารึก
มาเป็นพิเศษนอกหลักสูตร ตั้งแต่พ.ศ.2518

จึงทำให้พระองค์ทรงงานวิทยานิพนธ์ และสอบผ่านได้ในระดับ “ดีมาก”
Mep4
ทรงเข้ารับพระราชทานปริญญา ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต
(สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก) มหาวิทยาลัยศิลปากร
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2522

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเข้ารับพระราชทานปริญญา
ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก) มหาวิทยาลัยศิลปากร
จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2522
หลังจากนั้นจึงทรงวิทยานิพนธ์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต
จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2524
จากนั้นได้ทรงศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิต
ในสาขาวิชาพัฒนาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

พระองค์ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษา
ทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก จากมหาวิทยาลัยในประเทศ
จึงนับเป็นเกียรติประวัติแก่ทุกสถาบันที่ทรงเลือกศึกษา
ทรงเป็นแบบอย่างที่อนุชนรุ่นหลังพึงเอาเยี่ยง
และด้วยพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรยาวไกล
ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการอุดมศึกษาในประเทศ

มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาต่างๆ

แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังนี้

  • ปีการศึกษา 2526 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก)
  • ปีการศึกษา 2531 ปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาศิลปไทย)
  • ปีการศึกษา 2533 ปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาเครื่องเคลือบดินเผา)
  • ปีการศึกษา 2537 ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาภูมิศาสตร์)
  • ปีการศึกษา 2538 ปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาจิตรกรรม)
  • ปีการศึกษา 2542 ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สถาปัตยกรรมไทย)
  • ปีการศึกษา 2546 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาโบราณคดี)
  • ปีการศึกษา 2548 ปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาภาพพิมพ์)
                                     และปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาภาษาไทย)
  • ปีการศึกษา 2556 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาสนเทศศาสตร์เพื่อการศึกษา)


หมายเหตุบทความ

บทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “สาธิตปริทรรศน์
ซึ่งเป็นจุลสารของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศิลปากร
ในครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปทำงานรับใช้โรงเรียนที่สร้างสมบ่มเพาะปัญญามาแต่เยาว์วัย
และการเขียนบทความลงในจุลสารของโรงเรียนนั้น ต้องขอกราบขอบพระคุณ
อาจารย์ฐานิศ เหมศาสตร์ ที่เล็งเห็นวี่แววลูกศิษย์ว่า…มันน่าจะเขียน(พอ)อ่านได้น่าาาาา
แต่ที่มาของบทความในครั้งนี้ ก็หาได้หยิบฉวยมาจากจุลสารนั้นไม่
เนื่องจากเวลาผ่านมาค่อนข้างนานต้นฉบับในมือก็ยากแก่การหา
แต่ก็นับว่าโชคดี
ที่มีผู้นำบทความนี้จากเว็บไซด์ของโรงเรียนสาธิต
ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุง
ไปเผยแพร่ใน “matthana400307.blogspot.com
ก็ต้องขอขอบคุณผู้เผยแพร่ที่ทำให้ดิฉันค้นพบต้นฉบับ
และได้มีโอกาสปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติม…ขอบคุณค่ะ ^^

————————-
ที่มาของข้อมูล
นฤมล บุญญานิตย์. (13 ธันวาคม 2552). สมเด็จเจ้าฟ้า มหาบัณฑิต . เรียกใช้เมื่อ 8 สิงหาคม 2557
จาก blogspot.com: http://matthana400307.blogspot.com/2009_12_01_archive.html
มหาวิทยาลัยศิลปากร. ภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยศิลปากร, นครปฐม.
วิไลรักษ์ แก้ววิไล. (2556). การทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
นครปฐม: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยศิลปากร.

 

2 thoughts on “สมเด็จเจ้าฟ้า มหาบัณฑิต

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร