วันรพี : พระบิดาแห่งกฎหมายไทย

7 August 2014
Posted by tanawan

เมื่อในอดีตเส้นทางชีวิตของการเป็นศิลปิน/นักเขียน มักจะถูกสังคมและครอบครัวตราหน้าว่าเป็น “ศิลปิน/นักเขียนไส้แห้ง” แต่ในปัจจุบันได้มีกฎหมายเข้ามาคุ้มครองผลงานของนักเขียนเหล่านี้ เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา  คำเรียกที่ว่า “ศิลปิน/นักเขียนไส้แห้ง” อาจเปลี่ยนเป็นคำว่า “เสือนอนกิน” ก็เป็นได้
จะเห็นได้ว่า “กฎหมาย” เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเราตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การแจ้งย้าย แจ้งหายฯ แจ้งทำบัตรประชาชน แจ้งจดทะเบียนสมรส แจ้งการหย่าร้าง แจ้งการเปลี่ยนชื่อ-สกุล ตลอดจนการใช้สิทธิ์ต่างๆ  เป็นต้น กฎหมายเป็นสิ่งที่เราควรจะต้องรู้และศึกษาเพิ่มเติมเพื่อการดำรงชีวิตในสังคม  แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่มักมองว่า “กฎหมาย” เป็นเรื่องไกลตัว ไม่รู้ ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ อันจะทำให้เรานั้นเสียประโยชน์และถูกเอารัดเอาเปรียบ
ดังนั้น “กฎหมาย” จึงเป็น “เรื่องใกล้ตัว” ที่ไม่รู้ไม่ได้ รู้ไว้ใช่ว่า อย่าให้ใครมาเอาเปรียบ  แต่หากเรารู้มากกว่าคนอื่นก็ไม่ควรไปเอาเปรียบเขา ดังที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ได้ทรงตักเตือนบรรดานักกฎหมายเสมอมาว่า “อย่ากินสินบน”  
งานนำเสนอ1
ในวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงบิดาแห่งวงการกฎหมายไทย หรือเรียกว่า วันรพี คือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เพื่อเป็นการร่วมน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสวรรคตของพระผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อวงการกฎหมายไทย ดิฉันขอนำเสนอประวัติและพระราชกรณียกิจของของพระองค์เกี่ยวกับกฎหมายไทย ดังนี้
10451678_294264137411705_6742515909611887555_n
ประวัติพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ 
ประสูติ  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรส พระองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ณ วันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 ตรงกับวาระทางสุริยคติ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2417
การศึกษา  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงส่งพระราชโอรสทุกพระองค์ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแผ่อำนาจแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ
เหตุที่พระองค์ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย ก็เนื่องจากช่วงเวลานั้น เมืองไทยมีศาลกงสุลฝรั่ง ชาวยุโรปและอเมริกามีอำนาจในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งยากแก่การปกครอง จึงมีพระทัยตั้งมั่นที่จะพยายามขอยกเลิกอำนาจศาลกงสุลต่างๆ ที่มาตั้งพิจารณาพิพากษาคดีชนชาติของตนเสีย เพื่อที่ประเทศไทยของเรามีเอกราชทางการศาลอย่างแท้จริง  พระองค์ท่านจึงทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย เพื่อจะได้กลับมาพัฒนากฎหมายบ้านเมืองกับพัฒนาผู้พิพากษาและราชการศาลยุติธรรมให้ดีขึ้นและที่สำคัญเพื่อให้ต่างชาติยอมรับนับถือกฎหมายไทย และยอมอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทย   พระองค์ทรงมีพระสติปัญญาฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง ทรงสามารถสอบผ่านเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่วิทยาลัยไครส์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชันษาเพียง 17 พรรษา  ด้วยพระปรีชาญาณดังกล่าวเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ถึงกับทรงเรียกพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ว่า “เฉลียวฉลาดรพี”
หลังจากสำเร็จการศึกษาดังกล่าวแล้ว พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยว่า จะทรงเรียนเนติบัณฑิตอังกฤษ (Barrister at law) ที่กรุงลอนดอน แล้วจะเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับมารับราชการที่ประเทศไทยเสียก่อน
ทรงปฏิรูประบบกฎหมาย และเป็นห่วงผู้พิพากษา 

ในสมัยพระองค์ การปฏิรูปงานศาล เป็นสิ่งจำเป็นต่อสยามประเทศเป็นอย่างมาก มูลเหตุเนื่องจากศาลในตอนนั้นกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ อันส่งผลให้การพิจารณาอรรถคดีเป็นไปด้วยความล่าช้ามาก อำนาจตุลาการขาดอิสระถูกแทรกแซงโดยอำนาจบริหาร รวมทั้งมีการทุจริตเนื่องจากขาดระบบตรวจสอบ การตัดสินคดี ตลอดจนเกิดวิกฤตการณ์เรื่องเอกราชทางการศาล ที่ต่างชาติไม่ยอมขึ้นศาลไทย แต่กลับตั้งศาลกงสุลพิจารณาตัดสินคดีคนในชาติของตนเอง
ดังนั้น เพื่อทำให้การยุติธรรมสามารถทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ พระองค์จึงทรงพัฒนาระบบงานยุติธรรมทั้งระบบ และมีการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวมาแล้ว เพื่อให้ศาลสามารถตัดสินคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและมีฝ่ายธุรการคอยให้ความสะดวก  และทรงได้วางนโยบายให้ศาลสามารถตัดสินคดีโดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับอารยประเทศ
ในเรื่องนี้ ทรงเคยรับสั่งไว้ว่า “อำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่ใต้อุ้งมือฝ่ายธุรการนั้นใช้ไม่ได้ มีแต่จะเกิดภัยขึ้นเสมอ ดังที่รัฐบาลเองก็ได้ประกาศแสดงความอันนั้นหลายครั้ง…”   ซึ่งการที่ศาลสามารถตัดสินคดีความได้อย่างอิสระนั้น ถือได้ว่าเป็นหลักประกันความยุติธรรมในศาลอันเป็นที่พึ่งของประชาชน และนำไปสู่การยอมรับของประเทศอื่นๆ ความประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ กว่าจะแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรมฝ่ายบริหารได้ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 100 ปีเลยทีเดียว ซึ่งศาลเพิ่งแยกเป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรมเมื่อประมาณปี 2543 นี้เอง
พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเอาพระทัยใส่คุณสมบัติของบุคคลผู้ที่จะมาเป็นผู้พิพากษาเป็นพิเศษ พระองค์ทรงยึดมั่นว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอุดมคติสำคัญยิ่งกว่ากิจส่วนตัวใดๆ  นอกจากนี้ พระองค์เจ้ารพีฯทรงขอพระราชทานพระมหากรุณาเรื่องเงินเดือนผู้พิพากษาให้เหมาะสมกับศักดิ์และหน้าที่ การที่จะให้ผู้พิพากษาคงความดีเอาไว้นั้น ต้องระลึกถึงเงินเดือนที่จะให้แก่ผู้พิพากษาด้วย เพราะกว่าจะเป็นผู้พิพากษาได้นั้น ต้องใช้เวลาศึกษานานเป็นพิเศษกว่าจะสำเร็จ ตำแหน่งที่จะเลื่อนขึ้นก็มีน้อย และอีกข้อหนึ่งในราชการอย่างอื่น ตามภาษาไพร่เรียกว่า “มีกำลังในราชการ”แต่ฝ่ายตุลาการไม่มีเลย
สมัยพระองค์เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ทรงทุ่มเทให้กับงานราชการอย่างเต็มความสามารถ มิได้ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย พระยามานวราชเสวีจึงทูลว่า “ไม่เคยเห็นใครทำงานมากอย่างใต้ฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าพระบาทมีพระประสงค์อย่างไร” ทรงตอบว่า “รู้ไหมว่า My life is service” ซึ่งหมายความว่า ชีวิตของฉันเกิดมา เพื่อรับใช้ประเทศชาติ 
ด้วยคุณาณุปการอันล้นพ้นดังกล่าวข้างต้น เนติบัณฑิตยสภาจึงได้ถวายการยกย่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็น“พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” เมื่อปี 2497 ทั้งเริ่มต้นเรียก วันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันรพี” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พร้อมทั้งมีการจัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเป็นประจำทุกปี
 
ขอบคุณแหล่งที่มา :  http://hilight.kapook.com/view/27444

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร