วันสำคัญในรอบปีของมหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยศิลปากรของเราก่อตั้งมาจนบัดนี้เป็นเวลาถึง 70 ปีแล้วถ้าเป็นคนก็เข้าสู่วัยชรา แต่มหาวิทยาลัยนั้นเป็นสถาบันการศึกษายิ่งมีอายุเพิ่มขึ้นยิ่งแสดงถึงความเข้มขลังและความเข้มแข็งรวมถึงความอยู่ยงคงกะพันของชื่อเสียงและคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผลิตบุคลากรออกไปรับใช้สังคมอยู่ในทุกสาขาอาชีพ ที่มีชื่อเสียงปรากฏในระดับประเทศและระดับชาติก็มากมาย แต่กว่ามหาวิทยาลัยจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้นั้น ก็ต้องย้อนรำลึกถึงบุคคลสำคัญต่างๆผู้สร้างคุณูปการในการวางรากฐานมาแต่แรกจนแตกหน่อขยับขยายไปหลายวิทยาเขต ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้จัดงานเพื่อน้อมรำลึกถึงท่านผู้มีพระคุณเหล่านั้นในทุกๆปี เป็นวันสำคัญต่างๆในรอบปี ดังนี้
1. วันศิลป์ พีระศรี ตรงกับวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของท่าน ท่านอาจารย์ศิลป์นั้นเป็นชาวอิตาลีต่อมาโอนสัญชาติและเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลเป็นไทย ชื่อเดิมของท่านคือ คอร์ราโด เฟโรจี ท่านเดินทางเข้ามารับราชการในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศิลปากรขึ้นเพื่อสอนวิชาศิลปะแบบใหม่ให้คนไทย ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2486 ท่านได้วางรากฐานในวิชาประติมากรรม ซึ่งเป็นงานที่ท่านเชี่ยวชาญมาก ชีวิตส่วนใหญ่ของท่านอุทิศให้กับงานศิลปะ ท่านได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับศิลปะไทยในทุกสาขาและมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติและยังเขียนเป็นตำราไว้ด้วย ผลงานด้านประติมากรรมที่สำคัญๆเช่น พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่เชิงสะพานพุทธฯ, พระบรมรูปพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่จังหวัดสุพรรณบุรี, รูปปั้นท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา, รูปปั้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น อาจารย์ศิลป์จึงเป็นผู้สร้างยุคแห่งศิลปะไทยแขนงใหม่ขึ้นมาในประเทศไทย และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรแห่งนี้ขึ้นมา
2. วันนริศ ตรงกับวันที่ 28 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าจิตรเจิญ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 62 ในรัชกาลที่ 4) ชาวศิลปากรจะจัดงานวันนริศ เพื่อ “ไหว้สมเด็จครู” ซึ่ง “เป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” เพราะพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในศาสตร์หลายแขนงทั้งอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปกรรม โดยเฉพาะด้านศิลปกรรมนั้นพระองค์ทรงสามารถทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และดุริยางคศิลป์ สถาปัตยกรรมที่พระองค์ทรงออกแบบไว้และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม รูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม เป็นต้น นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นผู้ออกแบบพระเมรุมาศสำหรับพระราชทานเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ท้องสนามหลวงเมื่อปีพ.ศ. 2468 อีกด้วย พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้ทรงเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” เมื่อปีพ.ศ. 2506 และนับเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับการยกย่องนี้
3. วันพระยาอนุมานราชธน ตรงกับวันที่ 14 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของท่าน ท่านเป็นนักปราชญ์และนักการศึกษาคนสำคัญ ท่านมีส่วนสำคัญในการให้กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกคนหนึ่ง แล้วท่านยังเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากรในช่วงปีพ.ศ. 2486-2492 อีกด้วย นอกจากนั้นท่านยังได้ริเริ่มร่วมกับท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในการจัดประกวดแและจัดแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2492 และการจัดงานนี้ก็ยืนยาวมาจนมาถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งจะมีการจัดประกวดและประกาศรางวัลมาเป็นประจำทุกปี ท่านพระยาอนุมานราชธนเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคลสำคัญของโลก เมื่อปีพ.ศ. 2531
4. วันสมเด็จพระมหาธีราชเจ้า ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันสวรรตคของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จะจัดงานนี้ขึ้นทุกปีเพื่อน้อมรำลึกและถวายสักการะเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อมหาวิทยาศิลปากรตลอดมา ในอดีตนั้นทางมหาวิทยาลัยจะจัดงานที่พระตำหนักทับขวัญเป็นประจำทุกปี จนถึงปีพ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ก่อนจะย้ายมาจัดงานที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯจนถึงปัจจุบันนี้
5. วันศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ตรงกับวันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของท่าน จัดงานที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ท่านเป็นผู้สถาปนาวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้ โดยเริ่มก่อตั้งในปีพ.ศ. 2509 และเปิดคณะอักษรศาสตร์ขึ้นเป็นคณะแรกในปีพ.ศ. 2511 และคณะศึกษาศาสตร์ในปีพ.ศ. 2513 โดยมีท่านเป็นคณบดีคนแรกของคณะด้วย ซึ่งในช่วงเวลานั้นท่านศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ด้วยคือช่วงปีพ.ศ. 2508-2514 ท่านดำริจะขยายคณะวิชาให้มีหลากหลายขึ้นแต่พื้นที่ที่ฝั่งท่าพระคับแคบมาก ท่านจึงขยายเขตการศึกษามายังจังหวัดนครปฐม ณ พระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้ ด้วยเหตุที่เคยเป็นพระราชวังเก่าของรัชกาลที่ 6 มาก่อน มีเทวาลัยพระคเณศที่รัชกาลที่ 6 ทรงให้จัดสร้างไว้ซึ่งพระคเณศเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ และเป็นตราของมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีองค์พระปฐมเจดีย์ที่เป็นศูนย์กลางทางด้านโบราณคดีและศิลปะอันสำคัญและเก่าแก่ประดิษฐานอยู่อีกด้วย ประการสำคัญคืออยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนักการเดินทางไปมาก็สะดวก นับว่าท่านมีสายตาอันยาวไกลประกอบกับท่านเป็นนักการศึกษาที่เก่งฉกาจ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญ เมื่อปีพ.ศ. 2546 และได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปีพ.ศ. 2530 อีกด้วย
นอกจากบุคคลสำคัญแล้วเรายังมีวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชาวศิลปากรทุกคน อีก 2 วัน ที่จะมีงานนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเช่นกัน คือ
– วันสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร ตรงกับวันที่ 12 ตุลาคมของทุกปี มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นในครั้งแรกของการก่อตั้งก่อใช้ชื่อว่า โรงเรียนประณีตศิลปกรรม เมื่อปีพ.ศ. 2476 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากร ในปีพ.ศ. 2478 จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2486 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12ตุลาคม 2486 จึงถือเอาวันที่ 12ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย
– วันพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งจะมีขึ้นในราวเดือนกรกฎาคมของทุกปี (ในปัจจุบัน) งานพระราชทานปริญญาบัตรนั้นถือเป็นงานพิธีอันยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตของนักศึกษาที่จบเป็นบัณฑิตทุกคน สำหรับการพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นมีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2507 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จมาพระราชทานปริญญาทั้งสองพระองค์ และผู้ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นบัณฑิตคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ ซึ่งท่านสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2497 เหตุที่เพิ่งมารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีดังกล่าวนั้น เพราะในระยะแรกทางมหาวิทยาลัยเปิดสอนเพียงคณะวิชาเดียวคือคณะจิตรกรรมและประติมากรรม(ในขณะนั้น) แล้วท่านเป็นผู้สำเร็จระดับปริญญาตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น จึงยังมิได้จัดพิธีอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในเวลาต่อมาทางมหาวิทยาลัยจัดตั้งคณะวิชาเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะ คือ คณะสถาปัตยกรรมไทย(ในขณะนั้น), คณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์ ในปีพ.ศ. 2498และ2499 ตามลำดับ จึงมีจำนวนนักศึกษาสำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้น ทางมหาวิทยาลัยจึงเห็นสมควรที่จะจัดงานพีธีพระราชทานปริญญาบัตรขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา