ชมเชย
คนไทยเป็นคนที่ไม่ค่อยชมกันเท่าไร เราอาจเคยได้ยินว่า ” ชมมากๆ เดี๋ยวเด็กจะเหลิง” ชมมากๆเดี๋ยวเด็กจะคิดว่าตนเองเก่งทุกอย่าง” อะไรประมาณนี้ แต่ในความเป็นจริงนั้น การชมที่ทำแต่พอดีและอย่างเหมาะสม ให้ผลที่ดีกว่าการไม่ชมหรือการไม่พูดอะไรเลย
มีงานวัจัยหลายชิ้นจากหลายสถาบัน ยืนยันตรงกันว่าคนไทยใช้คำพูดกับคนใกล้ตัวแย่กว่าพูดกับคนไกลตัว โดยเฉพาะกับคนที่อยูุ่ด้วยกันนาน ๆ จนคุ้นเคยแล้ว เหตุผลหนึ่งเพราะเราเข้าใจว่าสนิทกันแปลว่าไม่ต้องระมัดระวังคำพูด ถือว่าเป็นคนกันเอง ตัวอย่างเช่น เราพูดกับพี่น้องของเรา พูดกับพ่อแม่ของเรา พูดกับสามีหรือภรรยาของเรา แย่กว่าเราพูดกับลูกค้าหรือคนอื่นที่เราไม่รู้จัก
สาเหตุที่เขียน Blog เรื่องนี้ เพราะรอบประเมินนี้ได้เรียนออนไลน์ของ กพ. วิชาความเชื่อมั่นในตนเอง มีอยู่บทหนึ่งที่เรียนแล้วถูกใจ เลยอยากมาเล่าสูู่กันฟัง เผื่อว่า เพื่อนจะนำไปใช้ในชีวิตการทำงาน หรือไปปรับใช้กับชีวิตส่วนตัวก็ได้ รวมทั้งได้ไปค้นหาเอกสารอื่นมาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสีสันให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีกหน่อย
ส่วนที่ว่า เป็นส่วนที่กล่าวถึงการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งแน่นอนว่า ชีวิตการทำงานเราพบเจอทั้งกับเพื่อนร่วมงานที่เก่ง ทั้งที่นิสัยดีและไม่นิสัยไม่ดี และไม่เก่ง ทำงานเข้ากับเราได้ หรือเข้ากับเราไม่ได้ (ในความคิดของเรา) แต่เมื่อเราทำงานด้วยกันเราถือว่า เป็นครอบครัวเดียวกัน เปรียบเสมือนอยู้ในบ้านเดียวกัน ก็ต้องพยายามปรับตัวเข้าหากัน ลด ละ เลิก บางสิ่ง เพื่อนการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้นเราจึงต้อง
😆 มีแนวคิดหรือรูปแบบในการทำงานที่เป็นจริงได้ 4 ประการคือ
1. รูปแบบ I’m o.k. You’re o.k. – ฉันเก่ง ฉันสามารถ ฉันดี คนอื่นๆก็เก่ง มีความสามารถ และดีเช่นเดียวกัน
2. รูปแบบ I’m o.k. You’re not o.k. – ฉันเก่ง ฉันสามารถ ฉันดี คนอื่นไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ
3. รูปแบบ I’m not o.k. You’re not o.k. – ไม่มีใครทำงานดีเลยในหน่วยงาน ทั้งฉันและเพื่อนไม่ได้เรื่องเหมือนกัน
4. รูปแบบ I’m not o.k. You’re o.k. – ฉันเก่งน้อยกว่าคนอื่นๆ ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อนๆ เก่งและดีกว่าฉันเสมอ
ปกติคนทุกคนจะต้องการปกปิดปมด้อย แต่ต้องการจะเปิดเผยปมเด่น ของตนเอง แต่อย่าใช้รูปแบบ I’m o.k. You’re not o.k. – ฉันเก่ง ฉันสามารถ ฉันดี คนอื่นไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ มากๆเข้ามันจะติดเป็นนิสัย เพื่อนๆ จะเกลียดและไม่ชอบเอาได้
อีกด้านหากเราเป็นประเภทรูปแบบ I’m not o.k. You’re not o.k. – ไม่มีใครทำงานดีเลยในหน่วยงาน ทั้งฉันและเพื่อนไม่ได้เรื่องเหมือนกัน หน่วยงานก็จะไม่สามารถพัฒนาไปได้
หรือหากเป็นรูปแบบ I’m not o.k. You’re o.k. – ฉันเก่งน้อยกว่าคนอื่นๆ ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อนๆ เก่งและดีกว่าฉันเสมอ อันนี้ก็ไม่ดีอีกเพราะเราต้องคอยให้เพื่อนร่วมงานช่วยเหลือเกื้อกูลตลอดเวลา เพื่อนก็อาจไม่ชอบใจขึ้นมาได้ บางคนอาจชอบที่สามารถแสดงออกว่าเก่งกว่าเพื่อนร่วมงาน เลยอาจจะกลายเป็นนิสัยชอบดูถูกคนอื่นไปได้ติดตัวไป
😮 ดังนั้นเราจึงต้อง การสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน และการสนับสนุนชื่นชมเพื่อนร่วมงาน
1. ให้คำแนะนำ
2. พูดชม
3. รู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จของเพื่อน
4. ช่วยเหลือ
5. ยินดีเมื่อพื่อนร่วมงานก้าวหน้า
6. แสดงกิริยาชื่นชม เช่น ยิ้ม ปรบมือ
7. รู้สึกเสียใจกับทีมงานเมื่องานล้มเหลว
8. มีส่วนร่วมรับผิดชอบการทำงานของทีมงาน
9. พูดถึงเพื่อนในเชิงบวกกับคนอื่นๆ
10. พูดให้กำลังใจ
😀 เมื่อเราเห็นพฤติกรรมดีๆหรือการทำงานที่มีประสิทธิภาพของอีกฝ่ายและอยากให้ เขาทำเช่นนั้นต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะต้องให้แรงเสริมทางบวก ด้วยการชมเชย (การชมเชย เป็นการเสริมแรงบวกที่เป็นนามธรรม)
คำชมเชยที่จะใช้เป็นแรงเสริมทางบวกที่ได้ผลมากที่สุด ควรจะต้องมีองค์ประกอบครบสามด้าน คือ 1. คำชมเชย 2. พฤติกรรมที่เราเห็นว่าดีและอยากให้เกิดมากขึ้น 3. ผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมนั้น และถ้าประกอบด้วยอวัจนภาษาที่ประกอบคำชมเชยก็จะยิ่งดี
😆 คำชมเชยควรจะต้องมีรอยยิ้มที่จริงใจ การมองหน้าสบตาอีกฝ่าย และที่สำคัญมากคือ จะต้องไม่มีคำพูดประชดประชันเหน็บแนม ด้วยใบหน้าที่เป็นมิตรและจริงใจ ขณะที่ท่านชมเชยผู้ใด ท่านไม่ควรจะทำหน้าดุ รังเกียจ หรือพูดจาเฉื่อยชา ไม่สนใจผู้นั้น เพราะสายตาของท่านและอากัปกิริยาของท่านจะเป็นหน้าต่างของหัวใจของท่าน ผู้ได้รับคำชมเชยเขาจะแปลความหมายได้ง่ายๆว่า ท่านไม่จริงใจที่พูดชมเชยเขา
ท่านควรที่จะมองสบตาเขาอย่างเป็นมิตร ฉายแววปลาบปลื้มใจสุขใจ ที่ได้กล่าวคำชมเชยเขาออกมา
แต่แรงเสริมทางบวกด้วยการชมเชยในบางครั้งก็ทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดีเกิดมากขึ้น หากเราให้แรงเสริมทางบวกอย่างไม่เหมาะสมเข้าไปในพฤติกรรมที่ไม่ดี ยกตัวอย่าง เช่น ชมเพื่อนคนนี้ แต่เอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าเพื่อนคนนั้นไม่เห็นเหมือนเธอเลย หรือพูดชมว่า คนนี้เก่งกว่าคนนั้น ที่จริงเราต้อง พูดถึงเพื่อนในเชิงบวกกับคนอื่นๆ ด้วย มิฉะนั้นคนที่ถูกชมก็จะเหลิง หรือคิดว่าตนเองเก่งอยู่คนเดียว
การชมเชยนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การชมเชยอย่างจริงใจ เป็นการชมเชยในการกระทำที่ควรได้รับการชมเชยจริงๆ อย่าชมเพียงเพราะต้องชม ไม่มีความจริงใจที่จะชมเชย ดังนั้นจงชมจากส่วนลึกของหัวใจ ที่คุณคิดว่าเขาทำได้ดีจริงๆ และ การชมเชยทันทีเมื่อทำดี อย่าปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปนาน เพราะจะลืมในสิ่งที่ได้ทำไป
จงชมเชยในที่สาธารณะ แน่นอนว่า การติติงเป็นสิ่งที่ควรทำในที่รโหฐาน ส่วนการชมเชยควรทำในที่สาธารณะ ให้คนอื่นได้รับรู้ถึงสิ่งดีๆที่เขาได้ทำ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้อื่นนำไปปฏิบัติตาม
จงระบุให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นสิ่งที่เขาทำได้ดี บ่อยครั้ง เรามักจะได้ยินคำชมเชยแบบกว้าง ๆ เช่น ดีมาก ใช้ได้ หรือ Good Job, Excellent เป็นต้น คำชมเชยเหล่านี้กว้างเกินไป คนฟังไม่รู้ว่าพูดถึงเรื่องอะไร การชมที่ดีควรระบุให้ชัดเจนว่าชมเชยเรื่องอะไร
อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงเวลาชมเชย คือการคิดถึงคนที่ได้รับคำชม โดยมากคนไทยเป็นคนขี้อาย การชมเชยในสาธารณะที่มีคนจำนวนมาก อาจจะทำให้เขารู้สึกอายและประหม่าได้ โดยเฉพาะกับคนที่ขี้อายมากๆแล้วอาจต้องชมเชยกันภายในหน่วยงานหรือในกลุ่ม ย่อย ๆ แทน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงบุคคลแต่ละคนโดยดูตามความเหมาะสมด้วย
สุดท้ายคือเรื่องของคำชมที่พอดีกับความสำเร็จ คำชมที่มากจนเกินไปอาจจะทำให้คนที่ได้รับคำชมรู้สึกถึงความไม่จริงใจของคน พูด ในขณะที่ผู้ฟังคนอื่นก็อาจรู้สึกหมั่นไส้คนที่ได้รับคำชม ดังนั้นจงชมแต่พองาม โดยมองจากผลงานที่ออกมา เช่นถ้ามีผลกระทบกับคนจำนวนไม่มากนัก อาจจะชมกันเองภายในหมู่คนทำงานด้วยกัน แต่ถ้าผลงานที่ออกมาเป็นสิ่งที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง อาจต้องชมหรือประกาศให้คนหมู่มากได้รับทราบ
ปริมาณการชมเชยต้องสอดคล้องกับความดีงามที่ทำไป ถ้าหากพนักงานคนใด ได้ทำสิ่งที่ดีเท่ากับเป้าหมายหรือมาตรฐานทั่วไป เช่น ส่งงานครบถ้วนตามเวลาที่มอบหมาย หัวหน้างานก็อาจจะพูดขอบคุณพนักงานผู้นั้นในที่ประชุมของแผนก
แต่ ถ้าหากพนักงานคนใด ได้ทำสิ่งที่ดีมากกว่าเป้าหมายอย่างมาก หัวหน้างานก็ควรจะรายงานเป็นลายลักษณ์ขึ้นไปให้ผู้บริหารทราบด้วย แล้วแจ้งให้ที่ประชุมของแผนกรับทราบว่า ได้รายงานเป็นบันทึกถึงผู้บริหารรับทราบแล้ว
🙄 การชมเชยกับการเยินยอต่างกัน
การเยินยอ คือ การพูดยกย่องเกินไป เมื่อบางคนทำบางสิ่งได้ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่พูดเยินยอว่าดีว่าเก่งอย่างกับว่าเขาทำได้เท่ากับมาตรฐาน หรือเขาทำบางสิ่งได้เท่ากับมาตรฐาน แต่พูดเยินยอราวกับว่าเขาทำได้เกินกว่ามาตรฐานอย่างมาก
การเยินยอ เป็นการพูดแบบไม่จริงใจ อาจจะนำไปใช้ได้กับบางคนและบางกาลเทศะเท่านั้น ไม่ควรจะนำไปใช้พร่ำเพรื่อกับทุกคนและทุกเวลา เพราะบางคนที่เขามีสติ และมีวิจารณญาณ เขาจะรู้ว่าการพูดเยินยอนั้นเป็นการพูดจาแบบที่ไม่จริงใจ เป็นการพูดจาโกหกชนิดหนึ่ง
สุดท้าย ก็ต้องบอกว่าชอบข้อคิดนี้ที่มาจากรายการอ้างอิงที่อ่านประกอบมา เลยเอามาเป็นข้อคิดตอนจบ
ต่อไปหากท่านอยากจะให้คนอื่นเขาชมเชยท่านอย่างไร
“จงปฏิบัติต่อผู้อื่น เช่นเดียวที่ท่านต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตัวท่าน” 🙄
รายการอ้างอิง
บทเรียนวิชา ความเชื่อมั่นในตนเอง จาก http://ocsc.chulaonline.net/main/MainAcceptNew.asp
https://www.facebook.com/notes/เข็นเด็กขึ้นภูเขา/พลังจากคำชมเชย-และการสร้างแรงเสริมทางบวกอย่างเหมาะสม/470228933016298
http://orchidslingshot.com/forum/index.php?topic=38.0
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=yyswim&month=07-2005&date=04&group=1&gblog=36