สร้างคนคุณภาพ
การสร้างคนคุณภาพ สู่องค์กรคุณภาพ พร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจ โดยรวมแล้วกล่าวถึงเรื่องของการทำงานในองค์กร ซึ่งเน้นไปที่ตัวผู้นำองค์การและทีมงาน
1. ผู้เขียนได้แบ่งผู้นำเป็น 5 ระดับ ดังนี้
ระดับล่างสุด คือผู้นำที่เฉลียวลาด มีไหวพริบ รู้เท่าทันคน มียุทธวิธีและกลยุทธ์ที่แหลมคม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้นำที่ลูกทีมมั่นใจว่าจะพาทีมไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่เก่งฉลาด”
ระดับที่สอง คือผู้นำเก่งฉลาดบวกด้วยประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งมีบทเรียนที่เคยผ่านความเจ็บปวดมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าต้องการการทำงานอย่างโชกโชนเพียงพอ จะได้เข้าใจถึงกาลเทศะ เรื่องอะไรควรหนัก เรื่องอะไรควรเบา สิ่งใดควรรีบเร่ง สิ่งใดควรรั้งรอไว้ก่อน ผู้นำระดับนี้ก็จะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้นว่า จะไม่บุ่มบ่าม หุนหันพลันแล่น แต่จะมีวิธีแก้ปัญหาที่ยึดหยุ่นนุ่มนวล ถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เท่ากับนำพาให้ทีมทำงานลดความเสี่ยงที่จะต้องพบเจอกับภาวะวิกฤตโดย ไม่จำเป็น ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีปัญญา”
ระดับที่สาม คือผู้นำที่มีปัญญาแล้วยังสามารถเป็นที่พึ่งของลูกน้องได้ มีความเมตตากรุณาที่ใครเดือดร้อนก็จะมาพึ่งพาขอความช่วยเหลือ ลูกทีมที่อยู่ร่วมกันก็จะมีความรู้สึกผูกพัน อบอุ่น มั่นคง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีน้ำใจ”
ระดับที่สี่ คือผู้นำที่เปิดทางสนับสนุนให้ลูกทีมได้ประสบความสำเร็จ บุคคลเหล่านั้นจะเคารพนับถือผู้นำชนิดนี้อย่างหมดหัวใจ เพราะความสำเร็จในชีวิตของพวกเขาได้มรจากผู้นำคนนี้ ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่สร้างคน”
ระดับที่ห้า (สูงสุด) คือผู้นำที่ไม่ได้อยากเป็นผู้นำ แต่เป็นคนที่มีความสามารถนำพาองค์กรทั้งทีม ฝ่าฟันพ้นวิกฤตไปได้โดยไม่มีกิเลสตัณหาคิดจะเป็นใหญ่ จึงทำทุกอย่างโดยไม่มีอะไรแอบแฝง โปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกด้าน
กล่าวโดยสรุป ผู้นำระดับที่หนึ่งและสองใช้ “สมอง” เป็นหลัก แต่ผู้นำที่สูงขึ้นมาในระดับที่สาม สี่ ห้า ต้องใช้ “หัวใจ” เป็นกลไกขับเคลื่อน แนวทางการจัดการแบบตะวันออก เน้นเรื่องหัวใจมากกว่าสมอง โดยยึดปรัชญาที่ว่า “คนจะเป็นใหญ่ หัวใจต้องใหญ่พอ”
ดังนั้น บุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นมากที่สุดหรือเก่งที่สุด แต่มีภาวะจิตใจอยู่ในระดับสาม สี่ ห้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้ ว จึงมักจะอยู่ในตำแหน่งระดับสูงขององค์กรใหญ่ ๆ ที่บริหารตามแนวทางตะวันออก เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ยึดผลประโยชน์เป็นใหญ่ แต่ให้น้ำหนักกับเรื่องของความสุขของทุกคนในทีมเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด
2. ชีวิตกับการทำงาน
มีคำพูดที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” คนทั่วไปจึงมองว่าการทำงานมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องยังชีพและเพิ่มพูนฐานะ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องทั้งหมด แต่การทำงานซึ่งมีผลงานที่ดีก็คือการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ทีมงาน อันจะส่งผลไปถึงความเจริญรุ่งเรืองขององค์กร ตลอดจนสังคมและประเทศชาติในที่สุด เมื่อเราสามารถทำงานอย่างมีคุณค่าเช่นนี้ จึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคม และตอบแทนกลับมาเป็นรายได้ของเรา
การทำงานให้ได้ผลงานที่ดีนั้นเกิดจากการมีทีมงานที่ดี เพราะต่อให้เป็นคนเก่งขนาดไหนก็แค่หัวเดียวกระเทียมลีบ มีเวลาอย่างมากไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อวัน เราจึงต้องสร้างคนรอบข้างให้เก่งขึ้น ผลงานก็จะเพิ่มขึ้นและดีขึ้นจากฝีมือรวมของหมู่คณะ ซึ่งจะช่วยขยายประโยชน์ออกไปในวงกว้างได้มากขึ้น
“ทีมงาน” มีความสำคัญ เป็นหัวใจของความสำเร็จ การทำงานเป็นทีมทำให้มีพลัง สามารถฟันฝ่านอุปสรรคใด ๆ ไปได้ แต่มุมมองหนึ่งที่ดีความได้จากผู้ร่วมงานบางคนว่า ทีมที่เราทำงานอยู่ด้วยนั้นเป็น “ทีมแท้” หรือ “ทีมเทียม”
ทีมแท้ คือการทำงานร่วมกัน ทุก ๆ คนใช้จุดดีเสริมจุดด้อยของทีม ผลักดันทีมให้ประสบความสำเร็จ ช่วยกันทำงาน แบ่งเบาภาระ แม้งานหนังก็กลายเป็นเบา
ทีมเทียม คือเหมือนจะทำงานร่วมกัน แต่แท้จริงแล้ว ทำกันอยู่ไม่กี่คน ส่วนคนที่เหลือไม่ได้ ทำอะไร ทำงานไม่เต็มที่ คนที่รับภาระรู้สึกว่าหนักและเหนื่อยมาก ส่วนคนที่เหลือรู้สึกว่างงาน เหมือนไม่มีอะไรทำ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดทีมแท้และทีมเทียม มีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความ “แท้” หรือ “เทียม” ขึ้น ก็คือตัวผู้นำ คุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้นำที่ทำให้ทีมเป็นทีมแท้ คือ “ความอดทน” การอดทนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นประโยชน์ต่องานที่ทำอยู่ก็เป็นได้ และการฟังข้อมูลทุกทิศทาง ทำให้เกิดการฟังความรอบด้าน การฟังความรอบด้านนำไปสู่มุมมองที่หลากหลาย เมื่อได้ฟังรอบด้านจะตัดสินใจอะไรก็รอบคอบ
หัวหน้าทุกคนต้องรับบทเป็นครูฝึก (COACH) พยายามสอนและปรับปรุงพัฒนาความสามารถของลูกน้อง เมื่อทีมงานมีความสามารถสูงขึ้นย่อมส่งผลให้สถานะของหัวหน้าสูงขึ้นตามไปด้วย อำนาจในการบริหารควบคุมลูกน้อง เป็นอำนาจที่ได้มาจากหน้าที่การงานเรียกว่า AUTHORITY อำนาจนี้มีไว้เพื่อให้กิจการงานทั้งหลายดำเนินไปได้ตามปกติ ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ใครรู้สึกว่ามีอำนาจ (POWER) ที่จะชี้เป็นชี้ตายคนนั้นคนนี้ หรือมีไว้ตอบสนองอัตตา (EGO) ของตัวเอง ผู้ที่ลุ่มหลงในอำนาจชนิดนี้หารู้ไม่ว่า อำนาจที่ไม่มีผู้อื่นยอมรับนั้น ไม่มีความจีรังยั่งยืน ไม่นานก็จะเสื่อมยศ เสื่อมลาภ และถูกทอดทิ้งโดยไม่มีใครเหลียวแล เพราะคนเหล่านี้คือคนเห็นแก่ตัว มุ่งใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น
One thought on “สร้างคนคุณภาพ”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
เกือบทุกประเด็นที่กล่าวถึง น่าจะโดนพี่แมวบ้างละนะ