ในทะเล.. ก็มีไส้เดือน

26 February 2014
Posted by worra

      เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปเดินเที่ยวตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2) ได้ของติดมือมาเป็นกัลปังหามาประดับตู้ปลาทะเลที่บ้าน  พอถึงบ้านก็นำหินในตู้ออกมาก้อนนึงเพื่อเป็นฐานติดกัลปังหาเข้าไป  พอหงายหินก็พบกับสัตว์ประหลาดออกมาจากก้อนหิน  ลักษณะคล้ายไส้เดือนแต่ลำตัวมีหนาม  ลองเอาไปปล่อยใส่ตู้  มันก็รีบคลานเข้าไปใต้ก้อนหิน  เลยลองมาหาข้อมูล เป็นที่มาให้รู้จักกับ “ไส้เดือนทะเล”

 photo02

    พูดถึงไส้เดือนทะเล ส่วนใหญ่จะไม่มีใครรู้จักและคงจะนึกถึงภาพไส้เดือนดินที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป  แต่ว่าประโยชน์ของไส้เดือนทะเลก็มีมากมายไม่ต่างจากไส้เดือนดิน นั่นคือ เป็นนักย่อยสลายอินทรียวัตถุต่างๆ หรือเรียกได้ว่าเป็นนักกำจัดขยะมือหนึ่ง หากใครยังนึกไม่ออกว่าในทะเลมีขยะอะไร ก็ลองนึกถึงพวกสิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งหลายเมื่อตายลงก็เป็นอินทรียวัตถุและเน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติ ซึ่งถ้ามีอยู่น้อยก็ไม่เป็นไร แต่หากมีอินทรียวัตถุมากๆ ก็เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียตามมาได้ ตัวไส้เดือนทะเลเองมีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยเฉพาะในบริเวณที่มีของเสียมาก เช่นใกล้หมู่บ้านชาวประมง
ไส้เดือนทะเล (Sand worm) หรือแม่เพรียง  เป็นหนอนปล้องจำพวกโพลิคีต สืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ มีลำตัวยาว มีระยางค์แบบไม่มีข้อต่อยื่นออกไปทางด้านข้างลำตัวเพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ เมื่อน้ำทะเลขึ้นท่วมบริเวณที่อยู่อาศัย ไส้เดือนทะเลจะโผล่หัวขึ้นมาจากพื้นทรายเพื่อหาอาหารซึ่งอาหารของมันจะเป็นพวกไดอะตอม สาหร่ายสีน้ำตาล และซากอินทรีย์วัตถุต่างๆ   ในช่วงชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะ 3 ครั้ง คือในช่วงวัยอ่อนครั้งหนึ่ง ในช่วงวัยก่อนเจริญพันธุ์ครั้งหนึ่ง และในช่วงผสมพันธุ์อีกครั้ง  ช่วงก่อนวัยเจริญพันธุ์จะเป็นช่วงที่ยาวที่สุดในชีวิต มีรูปร่างลักษณะและอวัยวะต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและหาอาหารตามพื้นดิน  เมื่อเริ่มเข้าวัยเจริญพันธุ์ขาที่ใช้สำหรับคืบคลานจะเปลี่ยนเป็นอวัยวะที่ใช้ว่ายน้ำในขณะผสมพันธุ์ ซึ่งจะเป็นชีวิตช่วงสั้นๆ   ในเวลาเพียงไม่กี่วัน ไส้เดือนทะเลเจริญเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับการขุดรูและสร้างท่อดินเล็กๆมากมาย  ท่อและรูเหล่านี้เป็นตัวนำน้ำและอาหารจากผิวดินลงไปในดิน  ไส้เดือนทะเลสามารถพัฒนาตัวอ่อน ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนขนาดเล็กมากจนกลายเป็นตัวเต็มวัยในระยะเพียง 20-25 วัน หลังจากนั้นมันเริ่มขยายพันธุ์ โดยการสร้างไข่ขึ้นมา ไข่ถูกผสมในท่อดิน จากนั้นตัวอ่อนจะหลุดออกจากตัวแม่ในลักษณะของแพลงก์ตอนที่ว่ายน้ำได้ ตัวอ่อนเหล่านี้จะว่ายน้ำอยู่ประมาณ 6 ชม. จากนั้นจะฝังตัวลงดินและเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป ในระยะเวลา 60 วัน ไส้เดือนทะเลสามารถเพิ่มจำนวนและน้ำหนักได้ถึงประมาณ 200 เท่า
ศักยภาพในการนำไส้เดือนทะเลไปใช้ประโยชน์
– ไส้เดือนทะเลสามารถใช้เป็นตัวย่อยสลายสารอินทรีย์ในดินที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งโดยเฉพาะดินที่มีสารอินทรีย์สูง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ไส้เดือนทะเลมีความทนทานดีมากในสภาพดินที่เน่าเสีย และขยายพันธุ์ได้เร็ว ดังนั้นหากมีการใช้ประโยชน์จากไส้เดือนทะเลในการกำจัดของเสียหรือสารอินทรีย์ในบ่อเลี้ยง ก็จะช่วยให้ปัญหามลพิษต่าง ๆ ในบ่อลดน้อยลงได้ ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำกว่าการใช้สารเคมีในการจัดการ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดผลเสียตามมาด้วย
– เป็นอาหารสัตว์น้ำมีชีวิตที่มีคุณภาพสูง สำหรับสัตว์หน้าดิน และที่สำคัญเป็นอาหารชั้นยอดของพ่อแม่พันธุ์กุ้ง

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร