ว่าด้วยเรื่อง บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์
😯 “หนังสือ “บันทึกลับของแอน แฟรงค์” ในห้องสมุดทั่วญี่ปุ่น กว่า 100 เล่ม ถูกฉีกทิ้ง ยังไม่ทราบสาเหตุและผู้อยู่เบื้องหลัง”
เมื่อวานช่วงค่ำดูข่าวนี้ที่ช่องไทยพีบีเอส ลูกสาวหันมาถามว่าเป็นหนังสือเรื่องเกี่ยวกับอะไร ทำไมถึงถูกฉีก เลยตอบไปเท่าที่จำได้ว่า เป็นหนังสือชีวประวัติเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงและครอบครัวที่เป็นชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เนื้อหาโดยละเอียดจำไม่ได้
วันนี้ก็เลยลองมาค้นอ่านดูพบว่า หนังสือเล่มนี้มีจุดน่าสนใจ 2 เรื่อง คือ
1) “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์” เป็นหนึ่งใน “หนังสือต้องห้าม 49 เล่ม” ที่ โรงเรียนในสหรัฐอเมริกา ห้ามนำเข้าห้องเรียนประจำปี 2013 ที่นอร์ทวิล รัฐมิชิแกน ซึ่งการเซ็นเซอร์ในโรงเรียนและห้องสมุดในสหรัฐฯ นั้น เพิ่มมากขึ้น เพราะการที่ครูและบรรณารักษ์ต่างมีความพยายามที่จะห้ามหนังสือที่มีเนื้อหา ปัญหาเกี่ยวกับสีผิวและเพศและผลงานการเขียนที่เป็นผลงานของชนกลุ่มน้อยในอเมริกา และสมาคมห้องสมุดแห่งสหรัฐฯ ยังพบว่า สาเหตุที่หนังสือส่วนใหญ่ถูกแบนนั้นมาจากคำร้องเรียนที่เกี่ยวกับ “ความล่อแหลมในเรื่องเพศ ยาเสพติด และภาษาหยาบคาย” แต่กลุ่ม Kid’s Right to Read Project หรือ KRRP ที่มีจุดมุ่งหมายต่อต้านการเซ็นเซอร์ก็ประสบความสำเร็จในการถอนการห้ามหนังสือ “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์”นี้แล้ว และยังถูกขึ้นบัญชีห้ามในเลบานอนเพราะแสดงภาพพจน์ของชาวยิวและไซออนนิสม์ในทางดี
2) หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มหนึ่งที่แปลมาแล้วหลายภาษาและพิมพ์มาแล้วหลายล้านเล่มทั่วโลก สำหรับคนที่พอรู้เรื่องสงครามมาบ้าง รู้ว่าฮิตเลอร์ทำอะไรกับยิวแล้วจะเข้าใจและรู้สึกเห็นใจคนยิว บันทึกของแอนน์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้เกี่ยวกับคนยิวอีกด้านหนึ่งจากความรู้สึกของเด็กหญิงอายุ 13 ที่มีชีวิตอยู่ระหว่างสงคราม และ เรื่องราวอันตราตรึงใจของแอนน์ แฟรงค์ จะกลับมาเป็นภาพยนตร์อีกด้วย ในรูปของหนังอนิเมชันในเร็วๆ นี้ โดยผู้กำกับ อารี โฟลแมน เพื่อให้ความทรงจำยังอยู่สำหรับเยาวชนรุ่นต่อไป ซึ่งโครงการหนังนี้ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากองค์กร Anne Frank Bond Basel ซึ่งให้ผู้กำกับเข้าดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดของเรื่องราวนี้ สำหรับเรื่องราวของแอนน์ แฟรงค์ เคยถูกสร้างเป็นหนังทางทีวีและภาพยนตร์มาก่อนหลายครั้ง รวมถึงในฉบับปี 1959 The Diary of Anne Frank ที่ได้รางวัลออสการ์ด้วย
อันเนอลีส มารี “อันเนอ” ฟรังค์ (Annelies Marie “Anne” Frank; 12 มิถุนายน พ.ศ. 2472- ประมาณมีนาคม 2488) หรือมักรู้จักในภาษาไทยว่า แอนน์ แฟรงค์ เป็นเด็กหญิงชาวยิว เกิดที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เธอมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้เขียนบันทึกประจำวันซึ่งต่อมาได้รับการตี พิมพ์เป็นหนังสือ บรรยายเหตุการณ์ขณะหลบซ่อนตัวจากการล่าชาวยิวในประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างที่ถูกเยอรมนีเข้าครอบครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวของเธอได้ย้ายไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2476 หลังจากพรรคนาซีเริ่ม มีอำนาจ ต่อมาเมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ พร้อมกับออกมาตรการควบคุมชาวยิวจำนวนมาก เธอและครอบครัวกับผู้อื่นอีก 4 คนจึงต้องไปหลบซ่อนตัวอยู่ในอาคารสำนักงานในเมืองอัมสเตอร์ดัมของออทโท ฟรังค์ผู้บิดาในห้องลับบนหลังคาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 จนถูกหักหลังและถูกนาซีจับเข้าค่ายกักกันในปี พ.ศ. 2487 อันเนอ ฟรังค์เสียชีวิตด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ในเวลาใกล้เคียงกับพี่สาวในค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซินประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม พ.ศ. 2488 สมาชิกตระกูลฟรังค์มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว คือ ออทโทผู้เป็นพ่อ เขากลับมาอัมสเตอร์ดัมหลังสงครามสิ้นสุดและได้พบสมุดบันทึกของเธอที่เพื่อน เก็บรักษาไว้ให้ จึงพยายามนำออกตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2490 ใช้ชื่อหนังสือว่า “Het Achterhuis” หลังจากนั้นมีการแปลจากต้นฉบับภาษาดัตช์ออกไปเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย ฉบับภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “The Diary of a Young Girl” ส่วนฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์”
ส่วนเรื่องราวในหนังสือ เป็นเรื่องราวของเด็กหญิง แอนน์ กับของขวัญวันเกิดอายุครบ 13 ในปี 1942 นั่นคือสมุดบันทึกปกผ้าลายสก็อตต์ ซึ่งแอนน์ได้ใช้มันเขียนบันทึกและบันทึกของแอนน์ได้กลายเป็นสมบัติล้ำค่าของโลก
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ออตโต แฟรงค์ พ่อของแอนน์เล็งเห็นว่าชาวยิวจะต้องเดือดร้อนเพราะฮิตเลอร์ เขาจึงอพยพครอบครัวไปอยู่ในเนเธอแลนด์และประกอบธุรกิจ ไม่นานนักมากอท พี่สาวคนโตของแอนน์ก็ถูกเรียกตัว ทั้งหมดจึงต้องอพยพครอบครัวไปอยู่ใน “ที่ซ่อนลับ” ซึ่งเป็นส่วนบนของสำนักงานที่ออตโต แฟรงค์ทำงานอยู่ โดยมีผู้ช่วยเหลือคือ คุณกลูเคอร์ คุณไคล์แมน เบ๊ปและเมี้ยบ ซึ่งในที่ซ่อน ครอบครัวของแอนนท์ มี 4 คนคือ พ่อ,แม่ พี่สาว และแอนน์ กับอีกครอบครัวหนึ่งคือ ครอบครัววานดาน มีนายและนางวานดานพร้อมด้วยลูกชายคือปีเตอร์ ไม่นานที่ซ่อนลับก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งคือคุณหมอดุสเซิล ทั้ง 8 คนอาศัยอยู่ด้วยความ “เงียบ” มีอาหารหลักคือถั่ว มันฝรั่ง อาหารกระป๋อง พวกเขายังมีบัตรปันส่วนแบ่งอาหารเพื่อแลกของ และมีเงินเพื่อซื้อของในตลาดมืด
ช่วงสงครามเป็นช่วงที่ของกินอัตคัดและทุกอย่างเป็นเรื่องลำบากสำหรับชาวยิว ที่ต้องหลบซ่อนเพื่อหลีกหนีการจับกุมของทหารเยอรมนีที่จะส่งพวกเขาไปค่าย กักกันและเข้าห้องรมแก๊สให้ตายในที่สุด
แอนน์เขียนบันทึกในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในที่ซ่อนลับนั้น 2 ปีก่อนที่จะถูกจับได้และส่งไปค่ายกักกันในต่อมาและระหว่างสองปีนั้นเรื่อง ที่แอนน์เขียนในสมุดบันทึกเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต ประจำวันของสองครอบครัวซึ่งจะมีตั้งแต่เรื่องของนางวานดานช่างพูด ปีเตอร์ผู้เงียบขรึมขี้อายและหมอดุสเซิลผู้เห็นแก่ตัว แอนน์ไม่ชอบพวกผู้ใหญ่ ไม่ชอบแม่แต่แอนน์เทิดทูนพ่อ เพราะเขาเป็นฮีโร่ของเธอ
ในที่ซ่อนลับ พวกเขาทั้งหมดได้เรียนหนังสือผ่านทางไปรษณีย์โดยใช้ชื่อเบ๊ปหรือเมี้ยป สำหรับการสมัครเรียน พวกเขาเรียนวิชาพีชคณิต ชวเลขและภาษาต่างประเทศเป็นหลัก แอนน์ชอบเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์ พวกเขาได้รับข่าวสาร “ข้างนอก” จากพวกที่คอยช่วยเหลืออยู่และจากวิทยุ จึงได้รู้ถึงความเคลื่อนไหวของสงครามตลอดเวลา อีกทั้งในบางครั้งก็มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดอยู่ใกล้ๆ ให้ได้ยินเสมอ
สองปีที่อยู่ในที่ซ่อนลับเหมือนติดคุก พวกเขาไม่สามารถที่จะออกกำลังกายกลางแจ้งได้ ส่งเสียงดังไม่ได้ เปิดม่านไม่ได้ ใช้ห้องน้ำเป็นเวลา และต้องทำตามกฎระเบียบของที่ซ่อนลับ บางครั้งแอนน์ก็โทษโชคชะตาที่ทำให้เธอต้องมาอยู่ในที่ซ่อนลับแต่บางทีเธอก็ ขอบคุณโชคชะตาที่ทำให้เธอมีโอกาสได้มีชีวิตอยู่ “แม้เพียงแค่ 1 ชั่วโมงแต่มันก็คือชีวิต”
บันทึกวันสุดท้ายของแอนน์คือ 1 สิงหาคม 1944 ก่อนที่จะถูกจับเพียง 3 วัน เมี้ยปเป็นคนเก็บสมุดบันทึกของแอนน์ซ่อนไว้และมอบให้ ออตโต แฟรงค์ พ่อของแอนน์ ซึ่งเป็นคนเดียวในจำนวน 8 คนจากที่ซ่อนลับที่รอดชีวิตหลังสงคราม
สำหรับตัวเล่มใครอยากอ่านไปหาอ่านได้ค่ะที่ แฟร้งค์, แอนน์. บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์ (ฉบับสมบูรณ์) = Anne Frank : the diary of a young girl (the definitive edition) แปลโดย สังวรณ์ ไกรฤกษ์. กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ, 2542 เลขหมู่ D810.J4ฟ84
รายการอ้างอิง
เรื่องราวของ Anne Frank จะถูกสร้างเป็นหนังอนิเมชัน โดยผู้กำกับจาก Waltz With Bashir
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=arcturus&month=27-10-2005&group=4&gblog=7
http://www.manager.co.th/around/viewnews.aspx?NewsID=9560000157634
http://th.wikipedia.org/wiki/รายชื่อหนังสือต้องห้ามโดยรัฐบาล
http://th.wikipedia.org/wiki/อันเนอ_ฟรังค์
//