พิพิธภัณฑ์ของปลอม

Tilleke & Gibbins Museum of Counterfeit Goods
เรื่องราว “การละเมิด”
ในดินแดนสะตอแลนด์ ณ เพลานี้
นับเป็น hot issue ที่ถูกจับตามอง
ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
เฉพาะอย่างยิ่ง “การละเมิดสิทธิมนุษยชน”
และอีกหลากการละเมิด บลา บลา บลา บลา
ในบรรดา “การละเมิด” ประดามี อันหาที่สุดได้ยาก
มีการละเมิดอย่างหนึ่งที่พี่ไทยของเรา
ติดอันดับประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ
“การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา”
หรือที่เรามักพูดกันโดยสั้น แต่เข้าใจดีว่า “ละเมิดลิขสิทธิ์”
หรือเรียกให้ง่ายแบบชาวบ้านฟังแล้วเก็ทเลยว่า “ของก๊อป”
เชื่อเถอะ หากคุณๆ ลองเหลียวซ้ายแลขวา สังเกตสังกาดูดีๆ รอบตัว
ไม่ของเรา ก็ของเขา ไม่อะไร ก็อะไรใกล้ๆ ตัว คงต้องมีสักชิ้น สักอย่างน่ะที่เข้าข่าย
ซึ่งอาจจะได้มาด้วยความรู้เท่าไม่ถึงเล่ห์ผู้ค้า
หรืออาจได้มาด้วยความตั้งใจในการเป็นเจ้าของ
ด้วยคติที่ว่า ไม้แขวนดี มีชัย สบายกระเป๋า ใช้ของเทียมยังไงก็ยังดูจริง
ต่างจากพวกเบ้าไม่ให้ ใช้ของจริงยังงั้ยยยย ยังไง ก็ดูแล้วปลอม หุหุหุ
“ของก๊อป” ที่เราเห็นอยู่ดกดื่นเกลื่อนเมืองจนกลายเป็นความเคยชินนี้
ในเมืองไทยจริงแล้วก็มีไม่มากมาย…หลอก!! ค่ะ
แค่สำนักงานทนายความเอกชนแห่งหนึ่งสามารถรวบรวมชิ้นอันของปลอมเหล่านั้น
จากการจับกุมบ้าง จากลูกความเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประกอบการดำเนินคดีบ้าง
จนจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ของปลอมที่มีจำนวนชิ้นของมากมาย
จนต้องหมุนเวียนนำมาจัดแสดงด้วยความไม่สมดุลกันของพื้นที่กับสิ่งของ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อว่า
พิพิธภัณฑ์สินค้าปลอมและเลียนแบบติลลีกี แอนด์กิบบินส์
หรือ Tilleke & Gibbins Museum of Counterfeit Goods
มีทำเลที่ตั้งอยู่ ณ ชั้น 20-26 อาคารศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์
1011 ถ.พระราม 3 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
การเข้าชมจะต้องได้รับการอนุญาตก่อนเท่านั้นฅ
โดยสำนักงานทนายความจะพิจารณาผู้เข้าชมว่า
ไม่ส่งผลเสียต่อลูกความซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าจริง
เพื่อป้องกันกรณีที่อาจมีผู้สนใจเข้าชมเพื่อหาข้อมูล
ว่าของจริงต่างจากของปลอมตรงจุดไหน
และอาจนำไปผลิตสินค้าปลอมให้เหมือนมากขึ้น
ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ส่วนใหญ่จึงเป็นเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เช่น ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา
และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่
หรือกรณีที่เป็นชมรมนักศึกษาก็สามารถติดต่อเข้าชมได้
โดยแจ้งวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน
การเข้าชมไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์ เวลา 14.00 น. และวันพฤหัสบดีเวลา 10.00 น.
ผู้สนใจสามารถติดต่อและนัดหมายได้ที่ โทร. 0-2653-5555
แม้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก
แต่ความน่าสนใจมีมากขนาดดึงดูดความสนใจสื่อวิทยุโทรทัศน์
ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้มาถ่ายทำรายการ
ซึ่งในจำนวนนี้มีวิทยุโทรทัศน์ต่างประเทศที่สำคัญอย่างน้อยสี่บริษัท
รวมถึง CNN BBC และ NHK ที่ให้ความสนใจพิพิธภัณฑ์
และได้เข้ามาทำสารคดีเกี่ยวกับสถานการณ์ของปลอมในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและต่างประเทศอีกจำนวนมาก
รวมไปจนถึงนิตยสาร ที่มีการตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
คงต้องพาลูกไปตรวจ DNA … T___T
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงสินค้าปลอม
สินค้าลอกเลียนแบบหลากหลายประเภท
ทั้งสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสินค้าฟุ่มเฟือย
สินค้าปลอมและเลียนแบบที่เราๆ คุ้นเคยกันมานาน
มักจะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มียี่ห้อดัง ราคาสูง
เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง น้ำหอม รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา แว่นตา
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ซึ่งโดยรวมเป็นปัจจัยเกินจำเป็น
ที่คนโดยทั่วไปจะต้องขวนขวายหามาบริโภค
แรกเริ่มในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มีจำนวนสินค้าเพียงไม่กี่ประเภท
เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องหนัง และเครื่องสุขภัณฑ์
และในเวลาอันรวดเร็วสินค้าก็ได้เพิ่มจำนวนประเภทมากขึ้น
ปัจจุบันพบว่ามีสินค้าถึง 14 ประเภท มากกว่า 4,000 รายการ
ที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์
ซึ่งนอกจากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมี
ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ เช่น หนังสือ เครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน
ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
หากแต่ที่กล่าวนั้น ในความรู้สึกของอิฉันยังไม่น่าตกใจและน่าเป็นห่วงเท่า
ของปลอมในกลุ่มของอาหารและผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน
เช่น อาหารกระป๋อง ผงชูรส คุกกี้ ช็อกโกแลต
ยาบรรเทาหวัด ยาป้องกันไข้มาเลเรีย ไม่เว้นแม้กระทั่งผ้าอนามัย
รวมไปจนกระทั่งยาเสพติด ที่ปกติแม้มิได้ปลอมก็อันตรายและน่ากลัวอยู่แล้ว
แต่ยังมียาเสพติดปลอมๆ อีก อันตรายจะมากเท่าทวีคูณเพียงใด
ที่สำคัญสินค้าบางอย่างทำปลอมได้เนียนมาก
จนไม่สามารถมองเห็นความแตกต่างแม้จะนำของจริงมาเทียบ
หากไม่ใช่ช่างหรือผู้ชำนาญในสินค้านั้นๆ โดยตรง
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกในฐานะผู้บริโภคอย่างเราๆ
ที่จะไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองใช้ของปลอม
เพราะสินค้าบางอย่างช่างเป็นผู้ซื้อและเปลี่ยนให้
สินค้าประเภทนี้มักพบในกลุ่มอะไหล่รถยนต์ และกลุ่มไอที
เช่น หัวเทียน อะไหล่รถ อุปกรณ์แต่งรถ ลำโพง
ตลับหมึกพริ้นเตอร์ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ
กว่าที่เราจะรู้ตัว
ก็เมื่อใช้ไปแล้วอายุการใช้งานสั้นกว่าปกติ
หรือส่งผลเสียต่อชิ้นส่วนอื่นๆ และหากโชคร้าย
ก็อาจเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยที่เราไม่คาดคิด
สำนักงานทนายความของบริษัทติลลีกี แอนด์กิบบินส์ฯ
มีข้อแนะนำถึงสิ่งที่ควรพิจารณาก่อนการซื้อหาเพื่อการตัดสินใจคือ
พิจารณาแหล่งที่ซื้อ ราคา และคุณภาพ
ถ้าเป็นสินค้าที่ขายตามแผงลอย ตลาดนัด แหล่งขายของถูก
ผู้ขายไม่มีร้านค้าแน่นอน ราคาถูกกว่าตามห้างสรรพสินค้ามากๆ
ความเสี่ยงในการเป็นของปลอมก็มากด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญคือต้องสังเกตชื่อและเครื่องหมายการค้าให้ดี
และในด้านคุณภาพอย่างเช่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง
ควรตรวจดูวัสดุที่ใช้ และฝีมือการตัดเย็บ
เพราะของแท้จะต้องผ่านการควบคุมคุณภาพจากโรงงาน
เมื่อทราบดั่งนี้แล้ว ก็จำต้องพึงระมัดระวัง
การจับจ่ายสินค้าอุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวันของเรา
เพราะหลายสิ่งอย่างรู้เห็นแล้วน่ากลัวจิมๆ
เฉพาะอย่างยิ่งคุณๆ สุภาพสตรีกับผ้าอนามัย
ทุกครั้งก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว…อันตรายจริงๆ
เอ…ว่าแต่พิพิธภัณฑ์ติลลีกีฯ
จะสนใจบัตรผ่านเข้า – ออก มหาวิทยาลัยฯ ของอิฉัน
ไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้างมั้ยคะ…เรื่องมันเศร้านะ
————————–
ที่มาของข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.tilleke.com/firm/community/museum
http://goo.gl/6oehCp
http://travel.mthai.com/blog/6087.html