สื่อสิ่งพิมพ์ของไทยที่มีอายุยืนยาวจนถึงปัจจุบัน
ห้องสมุดเป็นแหล่งรวมของสื่อสิ่งพิมพ์สารพัดสารพันธ์ทั้งหนังสือพิมพ์ วารสาร/นิตยสาร และหนังสือนานาชนิดเพื่อบริการแก่ผู้มาใช้ห้องสมุดในการค้นคว้าข้อมูล สำหรับหนังสือพิมพ์นั้นมีให้บริการทั้งชนิดรายวัน รายสัปดาห์ และรายปักษ์ รวมทั้งวารสาร/นิตยสาร ซึ่งมีทั้งชนิดวิชาการและบันเทิง ในส่วนของสิ่งพิมพ์ทางราชการ “ราชกิจจานุเบกษา” ถือเป็นหนังสือทางราชการที่ออกไม่มีกำหนด มีอายุยืนยาวที่สุดคือ 156 ปีแล้ว เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2401 และยังมีการตีพิมพ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ สำหรับหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ผู้ก่อตั้งคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สยามรัฐรายวัน ถือกำเนิดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2493 ส่วนสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์นั้นถือกำเนิดในปีพ.ศ. 2497 ในปัจจุบันนายชัชวาล คงอุดม เป็นผู้ดำเนินกิจการของหนังสือพิมพ์นี้อยู่ (รวมอายุราว 64 ปีแล้ว) ส่วนนิตยสารที่มีอายุยืนยาวถึงปัจจุบันคือ “สกุลไทย” รายสัปดาห์ ถือกำเนิดในปีพ.ศ. 2497 โดยมีนายประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ (ผู้เป็นเจ้าของโรงพิมพ์อักษรโสภณ) เป็นผู้ก่อตั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ “สกุลไทย” ก็มีอายุ 60 ปีแล้ว เป็นนิตยสารที่ยังทรงคุณค่าอ่านได้ทุกเพศทุกวัยมีทั้งนวนิยาย ความรู้ทั่วไปสังคมวัฒนธรรม และบันเทิง
นอกจากนี้ยังมีนิตยสารอีกชื่อหนึ่งที่ยังยืนยงคงกระพันจนถึงทุกวันนี้เฉกเช่นเดียวกับสกุลไทยก็คือ นิตยสาร “บางกอก” รายสัปดาห์ เป็นนิตยสารที่ลงนวนิยายแนวบู๊เป็นหลักมีแนวชีวิตและความรักบ้างเล็กน้อย โดยมี นายวิชิต โรจนประภา และนายศรี ชัยพฤกษ์ หรือ “อรชร” เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง ในครั้งแรกเริ่มพิมพ์วางตลาดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 วางตลาดได้สี่เดือนก็เลิกไป ต่อมาปีพ.ศ. 2500 เริ่มวางตลาดอีกเป็นครั้งที่สองในเดือนมกราคม แต่ก็อยู่ไปได้แค่สี่เดือนอีกเช่นกันก็ยุติลงไปอีกหน จนกระทั่งครั้งที่สาม จึงเริ่มวางตลาดเป็นปีที่ 1 ฉบับที่ 1 อีกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2501 และในครั้งนี้ก็ได้พิมพ์จำหน่ายเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ (มีอายุ 56 ปีเศษ) “บางกอก” ในยุคก่อนๆนั้นเป็นยุทธจักรของนิยายแนวบู๊ ที่มีผู้สร้างภาพยนตร์จองเรื่องเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แทบทุกเรื่องที่นำมาลงในนิตยสารนี้ สำหรับสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดได้แก่ สำนักพิมพ์ “ศิลปาบรรณาคาร” ที่ก่อตั้งมาก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งพิมพ์ทั้งตำรับตำราวิชาการ วรรณคดี สารคดี และนวนิยาย มีอายุ 70 กว่าปีเกือบ 80 ปีแล้ว ปัจจุบันมีคุณยุวดี ศิลปดีเลิศกุล เป็นเจ้าของและได้ก่อตั้งฝ่ายจัดหน่ายขึ้นอีกแห่งหนึ่ง คือ “บูรพาสาส์น” ขึ้นมาภายหลัง (สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารนี้ไม่ปรากฏปีและชื่อผู้ก่อตั้งครั้งแรกที่แน่นอนได้-ไม่มีข้อมูลระบุที่แน่ชัด)
กว่าหนังสือพิมพ์ นิตยสารและสำนักพิมพ์เหล่านี้จะดำเนินกิจการมาจนกระทั่งทุกวันนี้ได้นั้น ผู้ดำเนินกิจการแต่ละแห่งต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ฝ่าคลื่นลมทางธุรกิจและการเมือง ปัญหาทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ต้องปรับตัวและปรับปรุงสาระของเนื้อหา รูปเล่ม ราคา มาอย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและเทคโนโลยีทางด้านไอทีต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นคู่แข่งของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างสูงยิ่งในปัจจุบันนี้
แหล่งที่มาของข้อมูล : จากหนังสือ 100 ปี หนังสือพิมพ์และนิตยสารเมืองไทย โดยภราดร ศักดา เลขหมู่ PN 5449ท9ภ49