คุณค่าในเหรียญกษาปณ์ของไทย

:mrgreen:  ช่วงนี้ได้รับหนังสือเรื่อง  “84 กษาปณ์ แห่งองค์ราชัน” เลยทำให้นึกถึงตอนเด็กๆ จำได้ว่า พ่อชอบสะสมเหรียญกษาปณ์ ประเภทเหรียญสตางค์ ห้าสิบสตาค์ ยี่สิบห้าสตางค์ หนึ่งบาท เหรียญห้าบาท เหรียญสิบ แปลกๆ ที่จะผลิตในโอกาสและเทศกาลต่างๆ เมื่อก่อนจะไม่มีการขายหรือแลกเปลี่ยนกันมากมายส่วนใหญ่ก็จะมีในกรุงเทพฯ ไม่หลากหลายเหมือนในปัจจุบัน จะอาศัยเวลาไปซื้อของแล้วพ่อค้าแม่ค้าทอนเหรียญมาให้ก็จะเก็บไว้ พอโตขึ้นเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯไปเจอแหล่งแลกเหรียญเข้า ก็มักจะไปหามาให้พ่อเป็นประจำ จนเดี๋ยวนี้แม้พ่อจะไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังติดเป็นนิสัยคือ เวลาแม่ค้าทอนเหรียญมาก็ดูว่า เป็นเหรียญแปลกหรือไม่ ถ้าใช่ก็ยังชอบเก็บอยู่ หรือหากมีโอกาสก็จะแลกซื้อเก็บไว้ ลูกๆ กับคุณสามีหากเจอก็จะเก็บไว้ให้
ถ้ามีเวลาว่างชอบเอาออกมานั่งดู จะพบว่า เหรียญที่ออกในโอกาสต่างๆ นั้น ส่วนที่เป็นด้านหัวนั้นจะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินี พระบรมฉายาลักษณ์ของเจ้าฟ้าชาย เจ้าฟ้าหญิง แล้วแต่โอกาสและเทศกาลนั้น ส่วนด้านหลังหรือด้านก้อย ก็จะเป็นรูปแตกต่างกันไป เช่น สถานที่สำคัญ อนุสาวรีย์ หรือตราสัญญลักษณ์ต่างๆ
จากหนังสือ “84 กษาปณ์ แห่งองค์ราชัน” ทำให้รู้ว่าตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์มานั้น ได้มีการออกเหรียญกษาปณ์ในโอกาสพิเศษต่างๆ 84 ครั้ง จำนวน 84 เหรียญ ซึ่งมีสารคดีประกอบติดตามได้จาก https://www.facebook.com/pages/84กษาปณ์ แห่งองค์ราชัน
เช่นตัวอย่าง เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในวโรกาสที่องค์กา­ร F.A.O. ถวายพระเกียรติอัญเชิญ พระบรมฉายาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริก­ิตต์พระบรมราชินีราถ ลงบนเหรียญ CERES (https://www.youtube.com/watch?v=TrA6P9f1xt0#t=15) เป็นเหรียญที่ได้มาเมื่อตอนไปทำงานที่กรุงเทพฯ 😛
หรือเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงเจริญพระชันษา 1 ปี ก็ได้เมื่องานทับแก้วบุ๊คแฟร์ครั้งที่ 8 ที่ผ่านมานี่เอง 😛
ซึ่งหากมองไปที่เหรียญกษาปณ์ทั่วไปที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันตามท้องตลาดก็จะพบว่า  ลวดลายที่ปรากฏอยู่บนเหรียญนั้นจะเป็นลวดลายที่แสดงถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีคำว่า ประเทศไทย เพื่อแสดงถึงสถาบันชาติ และด้านหลังเป็นรูปวัดต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อแสดงถึงสถาบันศาสนา (http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=karnoi&date=28-03-2013&group=60&gblog=241)
โดยปกติจะพบว่า ด้านหัวหรือด้านหน้านั้นจะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แต่ส่วนที่แตกต่างคือ ส่วนก้อยหรือด้านหลัง ที่แตกต่างกันไปคือ รูปวัด ที่ปรากฎอยู่ในเหรียญ
โดยลวดลายวัดบนเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ ที่ใช้กันตั้งแต่อดีตจนปัจจบันมีดังนี้
 เหรียญ 10 บาท เป็นรูป “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม” ที่ถือว่าเป็นมุมถ่ายภาพที่คุ้นเคยกันดี โดยวัดอรุณฯ เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา สำหรับองค์พระปรางค์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระปรางค์ที่มีอยู่เดิม จนมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์ และให้มีการจัดงานฉลองขึ้น โดยทรงสถาปนาวัดอรุณฯ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกอันดับหนึ่ง และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งแรก
เหรียญ 5 บาท เป็นรูป “พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” ที่นับว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีเอกลักษณ์ตรงที่ใช้วัสดุแบบตะวันตก มาสร้างสถาปัตยกรรมแบบไทย จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์จากประเทศอิตาลี โดยสร้างเป็นทรงจตุรมุข หลังคาซ้อน 4 ชั้น
 บริเวณหน้าต่างของพระอุโบสถมีการใช้กระจกและมีการเขียนสีลงบนกระจก ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างลงตัว ภายในประดิษฐานพระพุทธชินราช (จำลอง) เป็นพระประธาน อยู่ภายใต้รัตนบัลลังก์บรรจุพระสรีรางคารของรัชกาลที่ 5
เหรียญ 2 บาท เป็นรูป “พระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ภูเขาทอง” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่มาแล้วเสร็จลงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีรูปแบบเป็นพระเจดีย์แบบกลม (ทรงลังกา) บนยอดเขา เพื่อให้เป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่ของพระนคร
 ในภายหลังมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ.2509 โดยบุกระเบื้องโมเสกสีทองที่องค์พระเจดีย์ พร้อมกับมีการสร้างพระเจดีย์องค์เล็กๆ รายรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ทั้ง 4 ทิศ และภายในพระเจดีย์องค์ใหญ่ยังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับงานประเพณีที่สำคัญของวัดสระเกศฯ ก็คือ “งานวัดภูเขาทอง” ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี โดยจะมีการห่มผ้าแดง งานสมโภชน์องค์พระบรมสารีริกธาตุ และเทศกาลงานวัดในคราวเดียวกัน
เหรียญ 1 บาท เป็นรูป “พระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในวัดพระแก้ว ตั้งอยู่บนฐานไพที ทางทิศตะวันตก รูปแบบจำลองมาจากเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยา มีความสูงประมาณ 40 เมตร ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากลังกา
เหรียญ 50 สตางค์ เป็นรูป “พระบรมธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนาของไทย และถือเป็นหนึ่งในเจ็ดของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในแถบภาคเหนือตอนบนและเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีมะแม
พระบรมธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในภายหลังได้มีการบูรณะ และสร้างฉัตรไว้ทั้งสี่มุมของพระบรมธาตุ อันหมายถึงสัญลักษณ์ของความร่มเย็นที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาที่แผ่ไปในทั้ง 4 ทิศ
เหรียญ 25 สตางค์ เป็นรูป “พระบรมธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช” พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและชาวพุทธทั่วไป ตัวเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีความโดดเด่นอยู่ที่ยอดเจดีย์ซึ่งหุ้มด้วยทองคำแท้
 พิธีที่นิยมปฏิบัติกันในช่วงวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชาของทุกปีก็คือ การแห่ผ้าขึ้นธาตุ ซึ่งจัดเป็นงานบุญประจำปีที่มีผู้คนทั่วทุกสารทิศมาร่วมสร้างกุศลกัน โดยมีความเชื่อว่า หากใครได้นำผ้าขึ้นธาตุแล้วนั้น ไม่ว่าจะขอพรเรื่องใดก็จะสำเร็จได้ดังหวัง และความมหัศจรรย์ที่เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ด้วยก็คือ องค์พระบรมธาตุจะไม่มีเงาทอดลงพื้นไม่ว่าแสงอาทิตย์จะส่องกระทบไปทางใด
เหรียญ 10 สตางค์ เป็นรูป “พระเจดีย์ วัดพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร” เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยม มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ส่วนที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ครอบองค์เดิมไว้ โดยทางด้านตะวันออกของเจดีย์ จะมีประตูทางเข้าสู่สถูปองค์เก่าที่อยู่ภายใน
เหรียญ 5 สตางค์ เป็นรูป “องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม” ที่นับว่าเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยมีการสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อครั้งที่ได้ส่งสมณทูตเข้ามาเผยแผ่พระศาสนา
 สำหรับการบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์นั้น เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ขณะที่ยังทรงผนวช ได้เสด็จธุดงค์มานมัสการ ภายหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่หุ้มองค์เดิมไว้ พร้อมสร้างวิหารคตและระเบียงโดยรอบ และมาแล้วเสร็จเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในรัชกาลต่อๆ มา ก็ยังมีการบูรณะในบริเวณต่างๆ เรื่อยมา
เหรียญ 1 สตางค์ เป็นรูป “พระธาตุ วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน” อีกหนึ่งวัดสำคัญของล้านนา ภายในวัดมีการบรรจุพระบรมอัฐิของพระพุทธเจ้า (พระเกศาธาตุ) ซึ่งเดิมนั้นพื้นที่บริเวณนี้เป็นพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์จามเทวี เมื่อได้เกิดนิมิตว่าบริเวณนี้มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ จึงมีการสร้างพระเจดีย์ทรงปราสาทครอบไว้ และได้ถวายเป็นพระอารามในภายหลัง พระธาตุหริภุญไชย เป็นหนึ่งในเจ็ดของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในแถบภาคเหนือตอนบนเช่นกัน และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีระกา (ไก่)
ปล. แค่เหรียญธรรมดาข้างต้นก็ยังมีบ้างไม่มีบ้าง แต่ไม่เป็นไรเพราะการสะสมเหรียญของเราทำเมื่อมีโอกาส ไม่ได้ต้องคอยหาคอยซื้อ ทำเมื่อมีโอกาส 🙄
รายการอ้างอิง :
http://www.treasury.go.th/main.php?filename=index
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000036913
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=karnoi&date=28-03-2013&group=60&gblog=241
 

2 thoughts on “คุณค่าในเหรียญกษาปณ์ของไทย

  • ตะก่อนพี่สะสมเหรีญเหมือนกัน แต่ตอนนี้ลด ลด เลิก ไปสะสมอย่างอื่นแทน เหรียญที่ชอบมากที่สุดคือเหรียญที่ผลิตตอนพระองค์ภาฯ ประสูติ พี่ว่าน่ารักดี

  • หลังเกษียณกะว่า จะตรวจสอบเหรียญและพระที่สะสมไว้ พอดีเลยได้ความรู้เพิ่มขึ้น

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร