อ่านหนังสือวันละเล่ม"จิตตนคร นครหลวงของโลก"
หนังสือเล่มนี้เป็นบทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฒนมหาเถร) เป็นผลงานประเภทคำบรรยายและโอวาท ทรงพระนิพนธ์เรื่องจิตตนครขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ “จิตตนคร นครหลวงของโลก และแนวปฏิบัติในโพธิปักขิยธรรม ๓๗” เป็นคำบรรยายธรรมที่สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้ เรียบเรียงไว้สำหรับอ่านออกออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ในรายการบริหารทางจิต เป็นประจำทุกเช้าวันอาทิตย์ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ ถึง ๒๕๑๕ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ครบ ๕๐ พรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕
ความคิดผูกเรื่องนี้ขึ้น ได้เกิดจากพระพุทธภาษิตในธรรมบทข้อหนึ่งว่า”พึงกั้นจิตอันมีอุปมาด้วยนคร” อันที่จริง ความหมายแห่งพระธรรมข้อนี้ น่าจะมีเพียงว่า พึงกั้น คือ ทำเครื่องป้องกันและทำการป้องกันนครจากข้าศึกฉันใด ก็พึงกั้นจิตจากข้าศึก คือ กิเลส จิตของคนเราสามารถจะฟุ้งซ่าน ได้ถ้าเราจะกั้นจิตด้วยนครต้องสร้างกำแพงขึ้นมาและต้องมีผู้บริหารจิต” ทรงพระนิพนธ์ แบบบุคลาธิษฐานคือมีการสร้างตัวละครขึ้นมายกประกอบการเล่าเรื่อง เช่น จิต. บารมี, สมุทัย, ศีล, หิริ, โอตัปปะ, โลโภ, โทโส, โมโห, อาสวะ, อินทรีย์สังวร,สติสัมปชัญญะ, สังโยชน์ ๑๐, กิเลสพันห้า ฯลฯ
เนื้อเรื่อง เป็นการอุปมา “กาย” ของมนุษย์เป็นเมืองหนึ่งชื่อว่า “จิตตนคร” มีเจ้าผู้ครองนครชื่อ “พระเจ้าจิตตราช” ภายในเมือง มีทางเข้าออก ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ปาก กาย ใจ (กาย เป็นที่อยู่ของพระเจ้าจิตราช)
ในเมืองทุกเมือง จะมีผู้บริหารเมือง หรือที่ปรึกษาเจ้าเมือง แต่ในบทพระนิพนธ์ จะเรียกว่า “ฝ่ายสมุทัย” กับ “ฝ่ายบารมี” แต่ละฝ่ายก็จะมีผู้ช่วยที่อยู่ภายใต้ด้วย ตัวอย่างเช่น ฝ่ายบารมี มีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือคือ
๑. ศีล
๒. หิริ
๓. โอตัปปะ
ฝ่ายสมุทัย (ต้นเหตุแห่งทุกข์) มีทหารเอกชื่อว่า
๑. โลโภ
๒. โมโห
๓. โทโส
ฝ่ายสมุทัย เป็นผู้อยู่ในด้านสีดำที่ทำหน้าที่ปรึกษาเจ้าเมือง คอยสนับสนุนให้เจ้าเมืองทำตามกิเลส หรือความต้องการของตน แต่ละฝ่ายจะมีลูกน้องของตนที่คอยทำงานรับใช้เกื้อหนุนตามความต้องการของสมุทัยและในแต่ละฝ่ายย่อย ก็จะยังมีลูกน้องแตกย่อยออกไปอีก
ฝ่ายบารมี เป็นฝ่ายสีขาว เป็นเหมือนที่ปรึกษาเจ้าเมืองที่คอยห้ามปรามตักเตือน ในสิ่งที่ไม่ดีและชี้แนวหนทางที่ถูกต้อง
ลักษณะจิตตนคร เหมือนกับนครโบราณทั้งหลาย กล่าวคือมีป้อมปราการ มีประตู ๖ ประตู (ทวาร ๖ เป็นชื่อของอายตนะภายในได้แก่ จักขุ, โสต, ฆาน,ชิวหา,กาย,มโน) นอกจากนี้ยังมีคำตามภาษาธรรม อีกหลายคำเช่น …….
คำว่า “นายทวารบาล” เป็นชื่อของ สติ
คำว่า “คู่แห่งฑูตทางด่วน” เป็นชื่อของ สมรรถ และวิปัสสนา
คำว่า “นครสามี” เป็นชื่อแห่ง วิญญาณ
คำว่า “ทางสี่แพร่งกลางเมือง” เป็นชื่อแห่ง มหาภูตะ คือ ธาตุทั้ง ๔ (ดิน น้ำ ไฟ ลม )
คำว่า “ยถาภูตพจน์” (คำตามที่เป็นจริง) เป็นชื่อแห่งนิพพาน
คำว่า”มรรคตามที่มาแล้ว” เป็นชื่อแห่งมรรค มีองค์ ๘
ชาวจิตตนครทุกคนมีจิต ๘๙ ดวง นับเป็น ๑ คือ จิต มีเจตสิกที่ประกอบในจิต (ธรรมที่เกิดในจิต) มี ๕๒ ดวง นี้เป็นส่วนของจิต กับ รูป ๒๗ (ปกติรูป มี ๒๘ รูป แต่แบ่งเป็น ชายและหญิง คนเราทุกคนจึงมีเพียง ๒๗ รูป เท่านั้น) พร้อมกับทุกข์ ๔ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
ลักษณะเจ้าเมืองจิตตนคร เจ้าเมืองแห่งจิตตนครเป็นคนขยันมากที่สุด คือ ขยันรับรู้สุขทุกข์ ขยันจำ ขยันคิด ขยันออกไปรู้สิ่งต่างๆ วัหนึ่งๆ จะหาเวลาหยุดพักจริงๆ ได้ยาก จึงเป็น บุคคลเจ้าอารมณ์ อีกตำแหน่งหนึ่ง ตำแหน่งเจ้าเมืองจิตตนครกับตำแหน่งเจ้าอารมณ์ เพราะเมื่อขยันรับเรื่องราวต่างๆ มากเรื่อง ก็ต้องมากอารมณ์เป็นธรรมดา ไม่เป็นของแปลก แต่ที่แปลกก็คือ มีความผันแปรผิดแผกไปจากปกติบางอย่างในจิตตนคร ดังจะกล่าว ต่อไป จิตตนครเรียกได้ว่าเป็นเมืองเปิด ใครจะผ่านเข้าออกได้อย่างเสรีไม่ต้องมีหนังสือเดินทางสำหรับผ่านเข้าออกเหมือนเมืองทั้งหลาย อันที่จิรงจิตตนครมีปราการล้อมรอบ มีทวารเมืองที่วางเป็นจังหวะชั้นนอก ๕ ทวาร (จักขุทวาร, โสตทวาร, ฆานทวาร. ชิวหาทวาร, กายทวาร) ส่วนชั้นในเรียกว่ามโนทวาร เพราะเหตุที่เป็นเมืองเปิด ผู้ที่เข้าไปในเมือง จึงมีหลายประเภท เป็นคนดีก็มี เป็นคนร้ายก็มี เข้าไปเที่ยวแบบที่เรียกว่ามาทัศนาจรแล้วก็กลับออกไปก็มี เข้าไปอยู่นานๆ จนถึงมาตั้งหลักแหล่งอยู่ประจำก็มี ความวุ่นวายจึงเริ่มมีขึ้นในจิตตนคร จิตตนครที่เคยสงบสุข และเรียบร้อย ก็เริ่มไม่สงบเรียบร้อย แต่อาศัยที่เจ้าเมืองเป็นบุคคลพิเศษ พวกคนร้ายจึงไม่อาจก่อการณ์ร้ายได้ร้ายแรงโดยง่าย คือเจ้าเมืองเป็นบุคคลที่มีอำนาจ มีความฉลาด มีวรรณผ่องใส จนใครๆพากันเรียกเจ้าเมืองด้วยภาษาของชาวจิตตนครว่า “ปภัสสร” ตรงกับคำสามัญว่า “ผุดผ่อง” หรือ “ผ่องสว่าง” คู่บารมีของเจ้าเมืองเป็นผู้ที่มีความงดงามและความดีทั้งปวงอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นคู่ที่ส่งเสริมเจ้าเมืองพร้อมทั้งจิตตนครให้มีความสุขความเจริญอยู่ตลอดเวลา เจ้าเมืองขณะที่อยู่กับคู่บารมีจะมีความผุดผ่องงดงามเหมือนอย่างมีรัศมีสว่างทั้งองค์ออกไปเป็นที่ปรากฏ และจิตตนครก็มีความผาสุกด้วยกันทั้งหมด
อันความดีความงามเป็นเหตุแห่งความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งของเจ้าตัวเองและทั้งแก่บรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งปวง เหมือนยามใดเจ้าเมืองแห่งจิตตนครมีความใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคู่บารมีซึ่งมีความดีงาม ยามนั้นเจ้าเมืองแห่งจิตตนครก็ร่มเย็นเป็นสุข ทั้งยังแผ่ความร่มเย็นเป็นสุขนั้นไปทั่วทั้งจิตตนครอีกด้วย ดังนั้น ความดีงามจึงเป็นความสำคัญที่ควรจะสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทุกจิตใจ บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือผู้กำลังพยายามสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นในจิตใจตนยิ่งๆ ขึ้น ดังนั้นจึงเป็นที่หวังได้ว่าจะเป็นผู้มีความร่มเย็นเป็นสุข และสามารถแผ่ความร่มเย็นเป็นสุขออกไปได้อย่างกว้างขวาง
สมุทัยเป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมืองจิตตนคร
เจ้าเมืองแห่งจิตตนครมีคู่บารมีที่มีความงดงาม และความดีอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อคู่บารมีที่ดีเลิศเช่นนั้น เจ้าเมืองแห่งจิตตนครก็น่าจะมีแต่ความสุข แต่หาใช่เช่นนั้นไม่เพราะ เจ้าเมืองแห่งจิตตนครยังมีเพื่อนคู่หูคู่คิดอีกหลายคน ผู้ที่น่าจะแนะนำให้รู้จักก่อนคนอื่น มีชื่อค่อนข้างเพราะว่า “สมุทัย” เจ้าตัวสมุทัยเองอวดชื่อของตนเองเสมอว่า แปลว่า อุทัยสุขพรั่งพร้อม ได้ให้คำแนะนำเจ้าเมืองในสิ่งต่างๆ เพื่อให้ปกครองจิตตนครให้มีความสุขสนุกสบาย สมุทัยผู้นี้มีลักษณะนิสัยที่อยากได้ใคร่ดีมาก คืออยากได้สิ่งต่างๆที่ดีๆ ที่สวยงาม ที่เป็นเครื่องบำเรอความสุข ใคร่จะได้ตำแหน่งที่สูงเด่น จะเพราะมีปมด้อยอยู่ในตัวมาก หรือจะมีปมเด่นมากก็อยากที่พูดได้ ลักษณะนิสัยอีกอย่างของสมุทัยก็คือ ความอยากทำลายล้างใคร หรืออะไรก็ตามที่มาขัดขวาง ดูก็เป็นธรรมดา เพราะเมื่อมีความอยากได้ใคร่ดี ถ้ามีใคร หรืออะไรมาขัดขวางก็จะต้องเกิดความมุ่งทำลายล้างสิ่งที่มาขัดขวางนั้น
อีกอย่างหนึ่งอยากได้อะไรก็อยากได้สิ่งที่ดี ถ้าได้ไม่ดีไม่ถูกใจก็ต้องอยากให้สิ่งนั้นถูกทำลายหมดสิ้นไป หรือได้ตำแหน่งอะไรที่ไม่ชอบก็อยากออก ไม่อยากดำรงอยู่ กล่าวโดยสรุปแล้ว สมุทัย มีลักษณะนิสัยเป็นไปทั้งในทางสร้างและทางทำลาย ดูก็คล้ายๆ กับลักษณะนิสัยของคนเราทั่วๆ ไปนี้เอง ที่เป็นไปทั้งสองทาง นิสัยในการทำลายนั้นบางอย่างเห็นได้ชัด เช่นในเวลาเกิดไฟไหม้บ้าน มีคนชอบไปดูกันมากกว่าที่จะอยากไปดูการสร้างบ้าน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เพราะ….. นิสัยของคนชอบการทำลายมากกว่าการสร้าง จะจริงอย่างไรก็ยากจะยืนยัน แต่ประจักษ์พยานที่ปรากฏออกมานั้นเวลาสร้างบ้านไม่ปรากฏว่ามีคนสนใจไปดูกัน ส่วนเวลาไฟไหม้บ้านกลับปรากฏว่ามีคนไปดูกันล้นหลาม จึงน่าให้ถูกกล่าวหาเช่นนั้น สำหรับสมุทัยนั้น พูดอวดอยู่เสมอว่า เขาเป็นผู้ดำริสร้างขึ้นทุกอย่าง เมืองจิตตนครเขาก็คิดสร้างขึ้น และคิดจะสร้างเมืองใหม่ๆ ต่อไปอีก เขาเป็นผู้คิดให้มีการประกวดความงามกันขึ้น ในจิตตนคร เพราะสิ่งที่สวยงามนั้นทำให้เกิดความสุขมีใช่หรือ เขาได้เสนอขึ้นดังนี้
ชาวจิตตนครเห็นดีไปกับเขากันมาก พากันประกวดประขันความงามกันทั่วไป ไม่เลือกว่าเด็กผู้ใหญ่และคนแก่ ข้อที่แปลกกว่าชาวโลกทั่วไปอยู่ที่ว่า
คนแก่ของจิตตนครชอบประกวดประขันความงามยิ่งกว่าคนหนุ่มสาวหรือเด็ก และประกวดประขันกันอยู่ทุกเวลา บางคราวสมุทัยก็แนะนำให้สร้างความดีเหมือนกัน เพื่อประโยชน์ทางการบ้าน การเมือง สมุทัยมีลักษณะเป็นนักการบ้านการเมืองเต็มตัว คือมีความกระตือรือร้นอยากได้ใคร่ดีในทางสร้าง และมีความรุนแรงในทางทำลายพอๆ กัน หรือ ยิ่งกว่าอย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่ต้องกลัวบาปกรรม
ความอยากได้ใคร่ดีที่รุนแรงเป็นเหตุให้เกิดการทำลาย เป็นความจริง นิสัยอยากได้ใคร่ดีของสมุทัยจึงเป็นนิสัยฝ่ายไม่ดี ยังมีนิสัยฝ่ายดีของสมุทัยอยู่ประการหนึ่ง ซึ่งฟังเผินๆ ไม่พิจารณาให้ประณีต จะไม่อาจ แยกความแตกต่างได้ นิสัยฝ่ายดีนี้ของสมุทัย คือความอยากดี ความอยากดี เป็นนิสัยฝ่ายดีของสมุทัย ในขณะที่ความอยากได้ใคร่ดีเป็นนิสัยฝ่ายไม่ดี ความอยากดีย่อมเป็นเหตุให้ทำแต่ความดี ไม่ทำความไม่ดี การทำลายล้างเป็นความไม่ดี ดังนั้นการทำลายล้าง จึงจะไม่เกิดแต่ความอยากดี จะเกิดก็แต่จากความอยากได้ใคร่ดีเท่านั้น
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลายคือบรรดาผู้อยากดี ไม่ใช่อยากได้ใคร่ดี ดังนั้นก็ควรจะได้มุ่งพิจารณาจับจิตของตนเองให้รู้ว่า ความอยากได้ใคร่ดีเกิดขึ้นในจิตเมื่อใดเพียงไหน เมื่อเห็นหน้าตาความอยากได้ใคร่ดีอันเป็นนิสัยฝ่่ายไม่ดีแล้ว ก็ให้พยายามข่ม พยายามดับ จนถึงพยายามทำให้สิ้นไปเสีย ด้วยการกระทำเช่นนั้นความอยากดีจะเกิดขึ้นแทนที่ นับเป็นกาเสริมสร้างนิสัยฝ่ายดีให้เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการบริหารจิตใจโดยตรงที่จะนำให้เกิดความสุขแก่จิตใจยิ่งๆ ขึ้นไป
ลักษณะของสมุทัย
สมุทัยแห่งจิตตนครชักชวนให้ชาวจิตตนครเพลิดเพลินยินดีอยู่เสมอ ด้วยการแนะนำส่งเสริมให้สร้างให้ทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดความเพลิดเพลินยินดี แนะนำให้สร้างและให้ไปเที่ยวในสถานที่พักผ่อนหย่อนใจมากมายหลายอย่างหลายประเภท จิตตนครจึงมีโรงภาพยนตร์ โรงลิเกละครมากมาย สิ่งอะไรที่เป็นเครื่องบำเรอความเพลิดเพลินยินดีที่มีอยู่ในเมืองทั้งหลายในโลกจะต้องมีในจิตตนครด้วยทุกอย่าง จะมีล้ำหน้าเมืองต่างๆ เพราะสมุทัยผู้เป็นต้นคิดของสิ่งเหล่านี้พำนักอยู่ในจิตตนคร สิ่งต่างๆ จึงมีการสร้างขึ้นในจิตตนครก่อน แล้วเมืองต่างๆ ก็เอาอย่างตามกันไปทั่วโลก สมุทัยมีนิสัยอยากได้ใคร่ดีรุนแรง
บทสรุป พระนิพนธ์ เรื่องจิตตนคร เป็นการยกระดับจิตเพื่อให้เข้าใจจิตตัวเอง ไม่ได้ให้ไปดูจิตคนอื่น ใจของทุกคน เปรียบเหมือนกับจิตตนคร คือมีฝ่ายไม่ดีคอยแต่จะเข้าไปขับไล่ฝ่ายดี ให้พ้นไป การมาบริหารจิต คือการมาศึกษาและอบรมให้ฝ่ายดีเข้มแข็ง จนสามารถจะเอาชนะฝ่ายไม่ดีได้ ทำให้ฝ่ายไม่ดีพ่ายแพ้ สามารถอบรมให้ฝ่ายดีชนะได้มากเพียงใร ก็จะได้เป็นเจ้าของใจที่มีค่า มีความสงบสุขเพียงนั้น
สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ
๑. ได้กุศลสะสมเป็นสเบียงบุญในภพภูมิหน้า ได้รู้จักจิต หรือใจของตนเองที่มีต่อความสุข ความทุกข์ในชีวิตประจำวัน
๒. มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า
๓. มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม
๔. มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์
๕. มีศีลที่พระอริยะปราถนาคือ ศีล ๕ ที่บริสุทธิ์ (เกิดโดยการงดเว้นอย่างเด็ดขาดด้วยมรรค)
๖. เห็นหนทางที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วว่าเป็นทางทำจักษุ ทำญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพาน (ออกจากกิเลส เครื่องเสียบแทงดุจลูกศรที่เสียบใจ) มรรค (ทาง) ประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐได้แก่
๑.) สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) คือปัญญาเห็นชอบ หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
๒.) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) คือการใช้สมองคิด พิจารณาแต่ในทางกุศล หรือความดีงาม
๓.) สัมมาวาจา (วาจาชอบ) คือ การพูดสนทนาในสิ่งที่ดีงาม
๔.) สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) คือการประพฤติที่ดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
๕.) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) คือการทำมาหากินอย่างสุจริตชน
๖.) สัมมาวายามะ (การพยายามชอบ) คือความอุตสาหพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
๗.) สัมมาสติ (การระลึกชอบ) คือการไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
๘.) สัมมาสมาธิ (ตั้งใจมั่นชอบ) คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์ อยู่เป็นปกติ
คำสอนที่โดนใจ
ทุกข์ ……พึงกำหนดให้รู้
สมุทัย ……….พึงละ
นิโรธ ……..พึงทำให้แจ้ง
มัคค ………พึงปฏิบัติอบรม
มรรค =ทาง, หนทาง มี ๒ อย่าง คือ ๑. มรรค ว่าโดยองค์ประกอบ คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเต็มว่า อริยอัฎฐังคิกมรรค แปลว่า “ทางมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ” เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฎฐิ เห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการชอบ ๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ๖.สัมมาวายามะ เพียรชอบ ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ๒. มรรค ว่าโดยระดับการให้สำเร็จกิจ คือทางอันให้ถึงอริยบุคคลแต่ละขั้น, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด เป็นชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับผล มี ๔ ขั้น คือ โสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑
แนวทางปฏิบัติในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ได้แก่
๑. สติปัฎฐาน ๔ การเจริญสติระลึกรู้ คนสามารถที่จะปฏิบัติขัดเกลาจิตให้ถึงความบริสุทธิ์สะอาดได้ และก็พึงทราบต่อไปว่า จิตที่ประกอบด้วยเครื่องเศร้าหมอง ย่อมมีลักษณะคือ ดิ้นรนกวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ดิ้นรนกวัดแกว่ง คือดิ้นรนไปในอารมณ์ทั้งหลาย รักษายากห้ามยากก็คือ จะรักษาจิตให้ตั้งมั่น จะห้ามจิตไม่ให้ดิ้นรนกวัดแกว่งนั้นเป็นการทำยาก แต่ก็ไม่ใช่ทำไม่ได้ ผู้มีความตั้งใจมั่น มีปัญญา รู้ทางปฏิบัติย่อมสามารถที่จะทำจิตให้ตรงได้ คือให้ตรงต่อธรรมที่ชอบ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยการปฏิบัติอบรมจิตอยู่ในทางของสมถะและวิปัสสนา อันเรียกว่า กรรมฐาน กรรมฐานคือ การปฏิบัติอบรมจิตนั่นเอง ในทางที่ให้จิตสงบก็เป็นสมถะ ในทางที่ให้จิตมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงก็เป็นวิปัสสนา
๒. สัมมัปธาน ๔ คือความเพียรพยายาม
๓. อิทธิบาท ๔ คือ ทางแห่งความสำเร็จในกิจอันเป็นกุศล
๔. อินทรีย์ ๕ คือ ธรรมที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในอารมณ์
๕. พละ ๕ คือ ธรรมอันเป็นกำลังที่เกื้อหนุนอริยมรรค
๖. โพชฌงช์ ๗ คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
๗. มรรคมีองค์ ๘ คือ หนทางปฏิบัติที่นำไปสู่มรรคผลนิพพาน
😆 เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงกล่าวไว้ในตอนท้ายของพระนิพนธ์เรื่องจิตตนครนี้ว่า
“เรื่องจิตตนครได้ผูกขึ้นตามโคลงอุปมาที่ว่า จิตอุปมาด้วยนคร บรรจุธรรมทั้งปวงลงโดยบุคลาธิฐาน และแสดงออกตามจังหวะของเรื่องตั้งแต่ต้นจนอวสาน มีความประสงค์เพื่อชักจูงผู้ประสงค์ธรรมในรูปและรสที่แปลก มาฟัง มาอ่านแล้วไขความธรรมน้อมเข้ามาสู่ตน เพราะเรื่องจิตตนครทั้งหมดก็เป็นเรื่องกายและจิตนี้เอง และทุกคนจะต้องพบภูเขาแห่งชรา และมรณะที่กลิ้งมาบดชีวิต ฉะนั้นไฉนจะไม่แสวงหาที่พึ่งดังเช่น เจ้าเมืองในเรื่อง และไฉนจะยอมใต้ให้ภูเขาแห่งชรา และมรณะนั้นมาบดขยี้เอาข้างเดียว ไฉนจะไม่ปีนขึ้นอยู่เหนือภูเขาแห่งชราและมรณะนั้นบ้าง พระพุทธศาสนาได้บอกวิธีปฏิบัติเพื่อขึ้นอยู่เหนือไว้แล้ว
เมื่อเพ่งพินิจเรื่องจิตตนครจนถึงอวสาน จะพบวิธีปฏิบัติอยู่เหนือสมุทัยกับพรรคพวก ตลอดถึงภูเขาแห่งชราและมัจจุดังกล่าวทุกอย่าง เรื่องจิตตนครจึงอาจเป็นประโยชน์แก่ผู้จำนงและค้นหาประโยชน์ได้ตามสมควร และบางประการอาจจะรู้สึกว่าเป็นบุคลาธิษฐานจัดไปบ้าง เช่น เรื่องพระบรมครูยังประทับอยู่ และเสด็จมาโปรดเจ้าเมือง ในขณะมรรคจิต ผลจิต แต่ก็ผูกขึ้นให้เห็นจริงตามพระพุทธดำรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ซึ่งตรัสเป็นทำนองบุคลาธิษฐาน จึงผูกบุคคลขึ้นให้เห็นได้ คิดว่าเหมือนอย่างสร้างพระพุทธรูปขึ้นไว้บูชาก็แล้วกัน เพราะว่าคนทั่วไปอยากเห็นเหมือนอย่างเห็นด้วยตา เมื่อทำให้เห็นดังนั้นได้ก็จะซาบซึ้งเข้าไปถึงใจได้ดีกว่าแสดงเป็นนามธรรมล้วน ๆ ”
สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call no. BQ4398ส41 ชื่อหนังสือ “จิตตนคร นครหลวงของโลก และแนวปฏิบัติในโพธิปักขิยธรรม ๓๗”
One thought on “อ่านหนังสือวันละเล่ม"จิตตนคร นครหลวงของโลก"”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
เห็นชอบ
เป็นสิ่งที่ดีที่สรุปสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ สาธุค่ะ