อรธางคินี : ครึ่งหนึ่งของกันและกัน
“อรธางคินี” คำนี้เป็นคำที่ติดอยู่ในหัวใจมานาน ตั้งแต่ได้เคยอ่านหนังสือเรื่อง ชีวิตที่เลือกไม่ได้ ของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย โดยในหนังสือเล่มนี้ท่านได้กล่าวถึงอาจารย์เรืองอุไร คู่ชีวิตของท่านว่า เป็น อรธางคินี ของท่าน คือ เป็นครึ่งหนึ่งของกันและกัน สำหรับความรู้สึกของดิฉันตอนนี้น จำได้ว่า เป็นคำที่ไพเราะ มีความซาบซึ้ง กินใจ เหลือเกิน เพราะทั้งสองท่านปฏิบัติต่อกันเช่นนั้น โดยเนื้อหาของหนังสือเรื่อง ชีวิตที่เลือกไม่ได้นั้น ดิฉันจำไม่ค่อยได้แล้ว แต่คำว่า อรธางคินี นี้ยังจำขึ้นใจ..
จนมาได้อ่านหนังสืออีกเล่ม ที่เป็นประวัติชีวิตของอาจารย์กรุณาและอาจารย์เรืองอุไร เช่นเดียวกัน จึงอ่านอีก (อ่านซ้ำ) และจะนำมาเล่าต่อให้เพื่อน ๆ ได้อ่านในครั้งนี้
หนังสือเล่มนี้ได้มาเมื่องาน ทับแก้ว Book Fair เมื่อสองปีก่อน ตอนที่ยังทำกิจกรรมอยู่ในเต้นท์กลางลานกิจกรรม คุณลุงเสริฐที่ขายหนังสือแบบอ่านแล้วนำมาขายคืนได้ ขายหมวกดาวแดง อยู่ข้างเต้นท์ เกิดชอบใจกิ๊บติดผมที่ดิฉันถักไว้เป็นตัวอย่างอันนึง ลุงขอซื้อบอกว่าจะเอาไปให้หลานสาว ดิฉันบอกว่าจะทำให้ใหม่ให้สวยกว่านี้ ลุงก็บอกว่าขออันนี้แหละ สวยแล้ว ดิฉันก็เลยให้ลุงไป ยัดเยียดกันไปมา ลุงเลยบอกว่าให้ดิฉันเลือกหนังสือไปเล่มหนึ่ง เล่มไหนก็ได้ ดิฉันนั่งมองกวาดสายตาอยู่ครู่หนึ่ง ก็พบหนังสือเล่มนี้ ซึ่งไม่เคยอ่านมาก่อน แต่มีชื่อเรื่องที่เป็นคำแปลของคำที่ดิฉันชอบมากมายนั้น และเห็นชื่อ “กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย” จึงมีอาการเหมือนเด็กพบของเล่นที่ถูกใจแล้วแม่ซื้อให้ หยิบมากอดไว้แล้วบอกลุงขอเล่มนี้…อ่านแล้วก็เก็บใส่ชั้นไว้ จนไม่กี่วันมานี้ไปหาหนังสือที่เคยอ่าน และอดที่จะหยิบมาอ่านอีกไม่ได้..
ผู้เขียน คำคารวะ (เป็นคำที่รู้สึกว่า ผู้เขียนได้ค้อมตนลงมาให้กับเจ้าของชีวประวัติอย่างเต็มอกเต็มใจ) คือ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ (อีกท่านหนึ่ง..ที่ต้องหาโอกาสเขียนถึงให้ได้) เขียนคำคารวะได้งดงามที่สุด..(เพื่อน ๆ จะไม่ลองอ่านดูบ้างหรือ)
อาจารย์กรุณา เป็นลูกจีนชื่อเดิมคือ กิมฮง แซ่โค้ว มีพี่สาวที่อายุมากกว่า 3 ปี เตี่ยกับแม่มีอาชีพเดินเรือค้าขาย มีความเป็นอยู่สบาย แต่เมื่อเตี่ยถูกตำรวจจับแทนน้องที่เอาแบงค์ปลอมไปใช้ซื้อของ ทำให้ย่าและแม่เสียใจ และตายจากไปทั้งสองคน เตี่ยเพิ่งติดคุกได้ 3 ปี จากคำตัดสิน 7 ปี น้าสาวจึงมารับตัวไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ ซึ่ง ด.ช.กิมฮง ตื้นเต้นมาก ต่อจากนั้นก็ไปเป็นเด็กวัดตรีทศเทพเพื่อเรียนหนังสือต่อ ต่อมาน้าก็มารับกลับไปอยู่ปากน้ำโพ เมื่อ น้าสาวตาย ด.ช.กิมฮงก็หมดสิ้นญาติสนิท ในช่วงเวลานั้น พระโลกนาถซึ่งเป็นพระฝรั่งอิตาลี-อเมริกัน เดินทางเข้ามาประเทศไทยในโครงการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และรับสมัคร พระภิกษุสามเณรใจสิงห์ เดินเท้าไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย เพื่อไปเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาในประเทศตะวันตกต่อไป ด.ช.กิมฮง อยากเห็นพระฝรั่ง จึงตามไปดู และถูกพระโลกนาถชวนบวชเรียน เนื่องจาก ด.ช.กิมฮงเห็นว่าตัวเองไม่เหลือใครเป็นที่พึ่งอีกแล้ว จึงบวชและเดินทางไปกับพระโลกนาถ เมื่อถึงอินเดีย พระโลกนาถแยกทางไปรับพระภิกษุที่ประเทศศรีลังกามาสมทบ แต่พระที่มาจากพม่าและไทยและรอพระโลกนาถอยู่ก็เกิดเป็นไข้ป่ากัน จนเดินทางกลับกันไปหมด แต่ สามเณรกิมฮง ที่พระโลกนาถเปลี่ยนชื่อให้เป็น สามเณรกรุณา นั้นก็เป็นไข้ป่าจนถูกส่งตัวไปรักษาอยู่ที่เมืองพาราณสีจนหาย และได้เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ของมหากวีรพินทรนาถ ฐากูร โดยได้ทุนจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ จนเมื่อเกิดสงครามมหาบูรพา สามเณรกรุณาถูกจับพร้อมกับเพื่อนคนไทยที่ชื่อ เฟื้อ หริพิทักษ์ (เรื่องของอาจารย์เฟื้อ อีกท่านหนึ่งที่ดิฉันเคยอ่าน และชอบเรื่องราวในชีวิตของท่านเช่นกัน ไว้โอกาสหน้าจะหารายละเอียดนำมาเล่าให้อ่านกันนะ) สามเณรกรุณาติดคุกอยู่ 4 ปี 5 เดือน จึงออกมาแล้วสึกกลับประเทศไทย ได้เริ่มทำงานที่อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ สอนภาษาไทย ภาษาสันสกฤต และภาษาฮินดี และได้รับหน้าที่ในการแปลหนังสือเรื่อง พุทธจริต แต่อาจารย์กรุณาไม่เก่งภาษาไทย จึงได้ครูเรืองอุไร ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มาเรียนที่อาศรมฯ ช่วยรจนาภาษาไทยให้สวยงาม ความใกล้ชิดและความเข้าใจจึงทำให้ท่านทั้งสองได้ใช้ชีวิตร่วมกัน
ต่อมาอาจารย์กรุณาได้ไปทูตใต้ดินไปกระชับความสัมพันธ์กกับรัฐบาลของเหมา เจ๋อ ตง ร่วมกับสังข์ พัธโนทัย และไปทำงานเป็นล่ามที่ประเทศอินเดีย และต่อมาถูกคณะปฏิวัติ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ พร้อม ๆ กับอาจารย์เรืองอุไรไม่สบาย ทำให้ครอบครัวไม่สุขสบายอีกครั้งหนึ่ง
อาจารย์กรุณาคิดในเชิงบวกว่า การติดคุกการเมืองนี้มีประโยชน์เช่นกัน “ถ้าผมไม่ถูกจับ คงไม่มีเวลาเขียนหนังสือ ความรู้ที่ได้รับจากอินเดียก็คงไม่สามารถถ่ายทอดเป็นภาษาไทยได้ เพราะไม่มีเวลา ผมแปลหนังสือสำคัญๆ หลายเล่ม ระหว่างติดคุกการเมืองลาดยาวทั้งนั้น ที่ผ่านมาผมไม่เคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ผมกลับรู้สึกภูมิใจว่าได้ทำหน้าที่ดีแล้ว” หน้า 55
ในการครองเรือนท่านใช้ธรรมะของผู้ครองเรือน หรือฆราวาสธรรม คือการมีสัจจะต่อกัน มีความซือสัตย์ ไม่นอกใจกัน ต้องมี ทมะ คือความอดกลั้น ต้องมีขันติ คือความอดทนต่อความทุกข์ยากในชีวิต สุดท้ายต้องมีจาคะ คือความเอื้อเฟื้อไม่เห็นแก่ตัว อาจารย์กรุณายกคำพูดของคานธีที่ว่า “การบำเพ็ญพรหมจรรย์อย่าคิดว่าเป็นของง่าย เหมือนเดินอยู่บนคมมีด มันพลาดเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องยับยั้งชั่งใจอยู่เสมอ” ไว้เป็นสิ่งเตือนใจเสมอ อาจารย์กรุณาบอกว่า มีความพอใจในทุกสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่เคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในเรื่องใด และไม่มีอะไรจะร้องทุกข์ต่อชีวิต เพราะชีวิตคือการต่อสู้ และคนเราเลือกที่จะเกิดไม่ได้ และเตือนตนเองว่า ความทุกข์ข้างหน้านี้จะต้องผ่านไป เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่ไม่แน่นอน (หน้า 63)
คำว่า “อรธางคินี” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Better Half” โดยความหมายว่า หญิงชายเมื่อเป็นสามีภรรยากันแล้วต้องอิงอาศัยกัน เป็นครึ่งหนึ่งของกันและกัน
ที่จริง ถ้าจะให้การเล่าเรื่องชีวิตของอาจารย์กรุณาได้ครบถ้วนตั้งแต่วัยเด็ก จะต้องเล่าต่อเนื่องจาก เรื่อง ชีวิตที่เลือกไม่ได้ ด้วย..ไว้ก่อน ไว้ก่อน
วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง. ครึ่งหนึ่งของกันและกัน กรุณา -เรืองอุไร กุศลาสัย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง. 2553. 139 หน้า.
(DS570.6 ก43ว64)
อย๋าลืมน๊า..การอ่าน เป็น Art Appreciation อย่างหนึ่ง..
3 thoughts on “อรธางคินี : ครึ่งหนึ่งของกันและกัน”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
คำนี้อ่านว่าอย่างไร ดูไพเราะจังความหมายก็ดี และได้มาอ่านบทความเกี่ยวกับคำนี้อีกในปาจารยสาร ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 น.68 ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ ได้จัดอันดับคู่สมรสในอุดมคติมี 4 คู่ คือ 1.ม.จ.สิทธิพร และหม่อมศรีพรหมากฤษดากร 2. ศ.ดิเรก และม.ล.ปุ้ย ชัยนาม 3. กุหลาบ และชนิด สายประดิษฐ์ 4. ปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
อ่านรายละเอียดความเป็นครึ่งหนึ่งของกันและกันของคู่สมรสที่ 4 เพิ่มเติมได้จากวารสารฉบับนี้ค่ะ
จะลองถามผู้รู้บาลีสันสกฤตดูนะพี่นก ว่าอ่านให้ถูกอ่านอย่างไร ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนคู่ครองเรือนที่น่านับถืออีกคู่ที่ต้องไม่ลืม คือตาลอบกับยายทองแห่งคนค้นคน
เห็นชอบ
นำเรื่องตาลอบกับยายทองมาเล่าด้วยนะ จะรออ่าน