ผจญภัยในป่าดงพงพีกับนักประพันธ์ชั้นครู

   “การอ่านทำให้เป็นคนโดยสมบูรณ์”  ฟรานซิส เบคอน ได้นิยามประโยคนี้ไว้ให้คนเราได้เห็นถึงความสำคัญของเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ หนังสือทุกประเภทล้วนให้ความรู้ให้สาระให้ความบันเทิงและให้จินตนาการแก่ผู้อ่านทั้งสิ้น และด้วยความสามารถของผู้แต่งหรือนักประพันธ์แต่ละคนที่มีแนวถนัดเป็นของตนเอง ผสานด้วยศิลปะในทางวรรณศิลป์ที่สามารถทำให้ผู้อ่านหนังสือมีความรู้สึกโลดแล่นไปกับตัวอักษรตลอดเรื่องที่อ่าน โดยเฉพาะ หนังสือนวนิยาย ซึ่งครั้งนี้ดิฉันเจาะจงถึงนวนิยายแนวผจญภัยในป่าดงพงพีที่เนื้อเรื่องสนุกชวนติดตาม ทั้งตื่นเต้น เร้าใจและต้องคอยลุ้นตลอดเวลาที่อ่าน ชนิดวางแทบไม่ลงที่เดียว (สำหรับผู้ที่ชื่นชอบแนวนี้)
   ก่อนจะกล่าวถึงนวนิยายแนวนี้ของไทยเรา จะขอกล่าวถึงนักเขียนของต่างประเทศสักเล็กน้อยเพราะนักเขียนท่านนี้นั้นเป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลต่อนักเขียนนวนิยายแนวผจญภัยในพงไพรของไทยในด้านโครงเรื่องอย่างสำคัญคือ เซอร์เฮ็นรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด (Sir Henry Rider Haggard) เจ้าของผลงานอันลือลั่นของโลกตะวันตก คือเรื่อง King Solomon’s Mines ที่ถูกแปลมาเป็นภาษาไทยในชื่อเรื่อง สมบัติพระศุลี หรือ ขุมทรัพย์กษัตริย์โซโลมอน ซึ่งเป็นเรื่องราวการผจญภัยของตัวละครเอกของเรื่องที่เดินทางไปในดินแดนอันลี้ลับ ต้องเสี่ยงอันตรายต่างๆนานา งานเขียนของแฮกการ์ดมีลักษณะเฉพาะในการสร้างตัวละครให้มีความกล้าหาญ แข็งแรง มีวิธีการดำเนินเรื่องชวนให้ติดตามโดยสอดแทรกเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาภายในโครงเรื่องทำให้ไม่น่าเบื่อ (เรื่องนี้ที่หอสมุดของเรามีให้บริการค่ะ รวมถึงเรื่องอื่นๆของนักเขียนท่านนี้ด้วยสนุกน่าติดตามอ่านทุกเรื่อง)
    มาถึงนวนิยายแนวผจญภัยประเภทป่่าดงพงไพรของไทยเราบ้าง ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในหมู่นักอ่านแนวนี้ที่ลือลั่นในฝีมือการประพันธ์ชั้นครูก็มีอยู่สองท่าน  ท่านแรกคือ น้อย อินทนนท์ หรือ “มาลัย ชูพินิจ” เจ้าของนวนิยายเรื่อง “ล่องไพร”  เรื่องนี้ก่อนจะจัดพิมพ์มาเป็นหนังสือนวนิยายนั้น ท่านผู้ประพันธ์ ได้เขียนเป็นบทละครวิทยุมาก่อนในปี 2497  โดยออกอากาศทางสถานีวิทยุของบริษัทไทยโทรทัศน์(วิทยุ ททท.) และกลายเป็นละครที่โด่งดังผู้ฟังติดกันงอมแงมเลยทีเดียว จนในปี พ.ศ.2498 จึงได้จัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือนวนิยาย เรื่องการเขียนแนวนี้นั้นท่านผู้ประพันธ์อาศัยประสบการณ์ส่วนตัวจากการเข้าไปใช้ชีวิตในป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งในยุคนั้นป่าไม้เมืองไทยยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากรวมทั้งสัตว์ป่านานาชนิดอีกมากมายหลายหลาก ผนวกกับการได้รับฟังเรื่องเล่าจากพรานป่าผู้ช่ำชอง จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าเรื่องปรัมปราต่างๆแล้วผสมผสานกับจินตนาการ พาผู้อ่านทั้งหลายท่องไพรไปกับตัวละครพบเจอกับเหตุการณ์ลี้ลับ พิสดาร ชวนตื่นเต้น เร้าใจตลอดทั้งเรื่องโดยผ่านตัวละครเอก คือ ศํกดิ์ สุริยัน และเพื่อนสนิทที่ชื่อ ร.อ. เรือง ยุทธนา พร้อมพรานเฒ่าคู่ใจที่ชื่อ “ตาเกิ้น” ในเรื่องล่องไพรนี้มีเสน่ห์และสีสันจากตัวละครทั้งสามอย่างมากโดยเฉพาะ “ตาเกิ้น” ผู้อ่านจะได้รับอรรถรสจากถ้อยคำสำนวนที่เรียงร้อยเรื่องราวของท่านผู้ประพันธ์ชั้นครูท่านนี้อย่างมิรู้เบื่อทีเดียว เรื่องล่องไพร มีทั้งหมด 19 ตอนพิมพ์รวมชุดมีทั้งหมด 14 เล่ม นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีนวนิยายแนวเดียวกันนี้อีกสองเรื่องคือ “ลูกไพร” และ “ทุ่งโล่งและดงทึบ” (หอสมุดมีบริการเช่นกันค่ะ)
     นักประพันธ์ท่านที่สอง คือ “พนมเทียน” หรือ “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” เจ้าผลงานนวนิยายอันลือลั่นสท้านบรรณพิภพคือเรื่อง “เพชรพระอุมา”  พนมเทียนนั้นเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพ.ศ. 2540  ในบรรดานักอ่านนิยายแทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก “พนมเทียน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “เพชรพระอุมา” ด้วยแล้ว หากใครยังไม่เคยได้อ่านขอแนะนำให้หามาอ่านแล้วท่านจะวางแทบไม่ลงเลยละกัน(นักอ่านนวนิยายอายุ 40-50 ปีขึ้นไปแทบทุกคนล้วนเคยได้ผ่านการอ่านเรื่องนี้กันมาแทบทั้งสิ้น) “เพชรพระอุมา” ถือเป็นนวนิยายที่ครองสถิติยาวที่สุดในประเเทศไทย เพราะมีถึง 48 เล่ม แบ่งเป็นสองภาค ภาคละ 6 ตอน ตอนละ 24 เล่ม ในการประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้นั้น ท่านผู้ประพันธ์ได้แรงบันดาลใจในเนื้อเรื่องเพียงไม่กี่บรรทัดจากการอ่านเรื่อง King Solomon’s Mines ของแฮกการ์ดแล้วจดจำมาเป็นโครงเรื่อง นอกนั้นในรายละเอียดของเรื่องทั้งหมดมิมีส่วนไหนเหมือนกันเลยทั้งตัวละคร ฉาก สถานที่ พฤติกรรมต่างๆของตัวละครล้วนเกิดจากมันสมองที่รังสรรค์และถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรของท่านผู้ประพันธ์เองทั้งสิ้น “พนมเทียน”  เริ่มเปิดตำนานแห่ง “เพชรพระอุมา” ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2507  มาจบบริบูรณ์ทั้งภาค 1 และภาค 2 ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2533 รวมระยะเวลาของการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ยาวนานถึง 25 ปีเศษทีเดียว (เริ่มเขียนตอนอายุ 33 ปี เขียนจบตอนอายุ 59 ปี) ช่วงที่เริ่มเขียนเรื่องแล้วตีพิมพ์ขายเป็นเล่มพ็อคเก็ตบุ๊คติดต่อกันนั้น ผู้ที่ติดตามอ่านประจำต้องมาเข้าคิวรอซื้อกันถึงหน้าโรงพิมพ์เลยทีเดียว นับเป็นปรากฏการณ์ที่แทบจะไม่เคยมีมาก่อนในยุคนั้น  พนมเทียนนั้นเคยเดินป่าและล่าสัตว์มาก่อนจึงเป็นประสบการณ์ตรงที่เขามีอยู่ มีความรู้เรื่องปืนเป็นอย่างดี รวมทั้งได้ฟังเรื่องเล่าจากบรรพบุรุษและครูพรานทั้งหลาย จากนิทานข้างกองไฟในป่าของเหล่าพรานต่างๆบ้าง เหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นเยี่ยม บวกกับจินตนาการอันบรรเจิด จึงร้อยเรียงเป็นเรื่องราวออกมาสู่สายตานักอ่านด้วยภาษาที่สวยงาม มากด้วยลีลาวรรณศิลป์ชั้นครู สำหรับตัวละครเอกของเรื่องนั้นก็คือ รพินทร์ ไพรวัลย์, แงซาย, ดาริน วราฤทธิ์ และ บุญคำ พรานคู่บุญที่เป็นตัวชูรสและเป็นสีสันของเรื่อง แล้วยังมีตัวละครอื่นอีกหลากหลายคน  “พนมเทียน” จัดเป็นราชานักเขียนนิยายแนวผจญภัยของไทยในยุคนี้ นอกจากนั้นยังมีผลงานนวนิยายของเขาอีกหลายเรื่องติดตามหาอ่านได้จากห้องสมุดของเรานี่แหละค่ะ (เฉพาะเรื่องเพชรพระอุมานั้นที่หอสมุดเรามีบริการหลากหลายปีพิมพ์ ตั้งแต่รุ่นปีแรกสุดคือปี 2510 จนถึงปีพิมพ์ล่าสุดคือปี 2547)
 ที่มาของข้อมูล: หนังสืออินไซด์เพชรพระอุมา และ www.bloggang.com ของ รวี-ตาวัน

One thought on “ผจญภัยในป่าดงพงพีกับนักประพันธ์ชั้นครู

  • อยากให้คนรุ่นใหม่ gen Y ได้แสวงหามาหนังสืออ่าน จะได้อะไรๆมากมาย
    ขอบคุณที่นำมาเสนอ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร