ริมทางบ้านหอสมุดฯ

ดอกไม้ป้าจัน…ไม่ใช่ดอกไม้จันทน์

กว่า 2 เดือนมานี้ อิฉันต้องปรับเปลี่ยนวิถีการเดินทางมาทำงาน ด้วยเหตุหลายประการ
ประการแรก คือ มิประสงค์ครองแชมป์ “คุณนายสายเสมอ”
และอื่นๆ อีกมากมาย และสุดท้าย คือ หากมิหาวิธีเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้ตนเอง
อิฉันคงต้องประสบชะตากรรมอันมิพึงปรารถนาเป็นแน่แท้
การมาทำงานเช้าาาาาาาา ถึง เช้ามากกกกกกกกกก
ทำให้ได้ “พบ”  “เห็น”  ในหลากหลายสรรพสิ่ง
ทั้งสิ่งที่จับต้องได้ และ the untouchable … bla… bla… bla…
สิ่งที่จับต้องไม่ได้ ยกตัวอย่างได้พอเป็นสังเกต อาทิ
น้องวรนุช ที่ไม่ใช่น้องนุ่น … น้องนกแปลกๆ ซึ่งไม่ใช่ทั้งพี่นกใหญ่และน้องนกเล็ก
แหละปรากฎการณ์อื่นๆ ที่แปลก แต่จริง ซึ่งมิอาจกล่าวได้ในที่นี้
สำหรับสิ่งที่จับต้องได้ และน่าอภิรมย์ยิ่ง คือ
ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ไร้ซึ่งมลภาวะทางโสต+ทัศนา
เช้านี้ก็เป็นอีกวัน ที่ได้เหลือบแลทัศนาริมทางบ้านหอสมุดฯ
ซึ่งนอกจากจะมีดอกใบของมวลไม้นานาพันธุ์ของป้าจันทร์ทอน
หรือ “ป้าจัน” ของอิฉันและผองเพื่อน-พี่-น้อง ดังนำเสนอในเบื้องแรกแล้ว
บังเอินปลายๆ สายตาขณะเดินผ่าน ก็ให้เหลือบไปเห็นนวัตกรรมใหม่ริมทาง
เรียบ ง่าย งาม

 
ความแตกต่างของซ้าย และขวา

สอบถามน้องหงษ์ ซึ่งมาเช้าไล่ๆ รดต้นคอกันแทบจะทุกวัน
ได้ความว่าเป็นรั้วที่ “ป้าจันจัดให้” แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบแน่ชัดว่า
ป้าคิดเอง ลงมือเอง ออกทุนเอง ดังเช่นที่เคยมีปรากฎการณ์ หรือ ไม่ อย่างไร
ในฐานะเศษเสี้ยวอันน้อยนิดของหน่วยงาน
อิฉันขออนุญาต 100 ไลค์ ให้ป้าจันค่ะ ^^
เห็นในมุมนี้แล้ว ทำให้อิฉันนึกถึงคำของวิทยากร
ที่ยังติดอยู่ในสมองน้อยๆ ของอิฉัน ซึ่งก็จำไม่ได้แล้วว่า ได้ยินมาตั้งแต่ครั้งหนไหน
ประมาณว่า การที่คนในองค์กรทำงานได้ “ตามหน้าที่” นับเป็นความสำเร็จของหน่วยงาน
แต่หากคนในองค์กรทำงานได้ “มากกว่าหน้าที่” นั้นนับเป็นสิ่งที่ดีเลิศประเสริฐยิ่ง
และถ้าหากว่าคนในองค์กรทำงานได้ “มากยิ่งๆ กว่าหน้าที่” ก็จะนับเป็นสุดยอดอภิมหาองค์กร
ซึ่งทั้งหลาย ทั้งปวงอันจะเกิดมีขึ้นได้นั้น ย่อมต้องขึ้นกับผู้นำองค์กรในระดับต่างๆ เป็นสำคัญ
ก็แล้วจะ…ทำอย่างไรให้คนรักองค์กร
คำตอบเรื่องทำนองนี้ มีหลากหลายบนโลกอินเตอร์เน็ต
ที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างพอเป็นสังเขป อาทิเช่น
บทความเรื่อง “ทำอย่างไรให้พนักงานรักองค์กร”  จากเว็บไซต์
http://th.jobsdb.com/TH/EN/Resources/EmployerArticle/royalty.htm?ID=2312 กล่าวไว้ ดังนี้

  • ให้ความสำคัญกับงานของพวกเขา
    พนักงานอยากให้หัวหน้าหรือผู้บริหารเห็นคุณค่าของงานที่พวกเขาทำ
    แสดงความคิดเห็น ชื่นชมในผลงานและความสำเร็จของพวกเขา
    รวมถึงให้ความสะดวกในการทำงานต่าง ๆ เช่น
    จัดหาเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
    ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเขาทำงานไปตามมีตามเกิดอย่างขาดการเอาใจใส่ดูแล
  • อยู่อย่างมีสิทธิ์มีเสียงในองค์กร
    นอกจากคุณค่าในตัวงานแล้ว พวกเขาก็ต้องการคุณค่าในตนเองเช่นกัน
    องค์กรควรให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ
    ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเขาด้วย
    เพื่อให้เกียรติและแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีความหมาย
    และเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างแท้จริง
  • มีทิศทางที่ชัดเจนในการทำงาน
    พนักงานต้องการความชัดเจนเพื่อสามารถทำงานไปในทิศทางที่ถูกต้อง
    ตามเป้าหมายขององค์กรได้ ผู้บังคับบัญชาจึงควรชี้แจงถึงเป้าหมายของงาน
    และความคาดหวังที่มีต่อพนักงานให้ชัดเจน รวมถึงมีการติดตามและประเมินผลงาน
    อย่างใกล้ชิดโดยไม่ปล่อยให้พนักงานทำงานอย่างเคว้งคว้างไม่รู้ว่าเดินมาถูกทางหรือไม่
    มารู้ตัวอีกทีก็ตอนประเมินผลงานแล้วซึ่งส่งผลต่อความศรัทธา
    ที่พนักงานมีให้กับผู้บังคับบัญชาของพวกเขาอย่างมาก
  • มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน
    คนทำงานทุกคนย่อมต้องการความก้าวหน้า
    หากเขาทำงานแล้วมองไม่เห็นโอกาสเติบโต เขาย่อมต้องมองหาโอกาสใหม่ในที่ทำงานใหม่
    เพราะฉะนั้นองค์กรควรส่งเสริมพัฒนาความรู้ความสามารถให้แก่พนักงานอยู่เสมอ
    เพื่อสร้างโอกาสให้เขาได้เติบโตในสายงานของพวกเขา
  • ทีมเวิร์กดี ความสัมพันธ์ราบรื่น
    การทำงานอย่าง “มีความสุข”
    ปัจจัยที่มีความสำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ สัมพันธภาพในการทำงาน
    ทั้งระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง และระหว่างพนักงานกับผู้บังคับบัญชา
    ต้องทำงานประสานกันให้ความร่วมมือต่อกันเป็นอย่างดี งานจึงจะสำเร็จอย่างราบรื่น
    หากสัมพันธภาพไม่ราบรื่น นั่นหมายถึง “ใจที่ไม่เต็มร้อย” ต่อการทำงานและต่อองค์กรด้วยเช่นกัน
  • สวัสดิการดี คุณภาพชีวิตดี
    หากองค์กรมีสวัสดิการดี ดูแลพนักงานดี
    พนักงานก็รักและเลือกที่จะอยู่กับองค์กร “แม้เงินเดือนจะน้อยกว่าที่อื่น” ก็ตาม
    นั่นหมายความว่า “ค่าตอบแทน” ไม่ใช่เหตุผลที่สำคัญที่สุด
    แต่พนักงานต้องการการดูแลที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กันไป
  • องค์กรมีชื่อเสียงในทางที่ดี
    เมื่อใดก็ตามที่องค์กรชั้นนำประกาศรับสมัครพนักงาน
    ผู้คนจำนวนมากจะหลั่งไหลไปสมัคร สอบแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
    ทั้งๆ ที่รับเพียงไม่กี่ตำแหน่ง ไม่กี่อัตราเท่านั้น นั่นเป็นเพราะองค์กรของเขา
    มีความน่าเชื่อถือสูง มีชื่อเสียงในทางที่ดี มีความมั่นคง
    และเมื่อเข้าไปเป็นพนักงานของเขาได้แล้ว โอกาสที่จะลาออกมานั้นน้อยมาก
    ดังนั้น การสั่งสมชื่อเสียงที่ดีของบริษัทจึงมีความสำคัญยิ่ง
    ที่จะทำให้พนักงานรักและผูกพันต่อองค์กร

อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว
บางประเด็นแม้จะเป็นเพียง “เช่น” ก็อาจฟันธงได้ว่า “ใช่”
บางประเด็นอาจดู “ละม้าย” บางประเด็นอาจ “แตกต่าง”
คำตอบน่าจะมีอยู่ในใจท่านผู้อ่าน ผู้ชม
สุดแท้เแต่ “มุม” และการ “มอง”
สุดแท้แต่ “สถานภาพ” ของ “ผู้มอง”
ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมี “เหตุ” และ “ผล”
ขึ้นอยู่กับว่า “เรา” ซึ่งคงมิใช่เพียงอิฉัน กับ ใครๆ เพียง คน สองคน สามคน สี่คน จะพิพาก
หากแต่เราทั้งมวล จะให้ความสำคัญกับ “ปัญหา” ในแต่ละประเด็นอย่าง “แท้จริง”
และร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ ร่วมกันหาทางออก
ซึ่งในมุมของอิฉัน เสียงกระซิบแผ่วๆ อันยินบ้าง ไม่ยินบ้าง
บางครั้งก็ไพเราะเสนาะโสตมากกว่าเสียงฆ้อง กลองตะโพน ที่ประชันกันเซ็งแซ่นะ

2 thoughts on “ริมทางบ้านหอสมุดฯ

  • ดีมากๆที่นำมาแบ่งปัน ฝากให้ทุกๆคน(ปัจจุบัน 51 คน) ในองค์กรอ่านแล้วทบทวนตนเอง องค์กรของเรามีประเด็นใดที่ยังต้องเติมเต็ม ให้เสนอมา อย่างแรกต้องวิเคราะห์ตนเองก่อนว่าเป็นคนอย่างไร มีจุดดี จุดด้อย ได้รับโอกาสอะไรบ้าง มากน้อยเพียงใด มีอะไรที่ทำให้ตนเสียโอกาส(ภัยคุกคาม)บ้าง องค์กรของเราในบรรดา 7 ประเด็น แต่ละประเด็นพี่แมวให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 เฉพาะอย่างยิ่งมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานทุกระดับชั้น ทุกตำแหน่ง เพียงแต่จะไขว่ขว้าหรือไม่เท่านั้น อ้อ!ตนเองต้องแสดงกึ๋นให้เห็นด้วยนะ…จะบอกให้

  • ขอบคุณค่ะป้าแมว ที่เยี่ยมยล และติชม
    เห็นด้วยค่ะที่ว่า “ทุกคน” ควรได้ทบทวนตนเอง
    และหากจะได้ทบทวนผ่านกระจกสักหกด้านก็น่าจะดีเยี่ยมนะคะ
    พอดีอ่านพบบทความ “กระจกหกด้านสอนอะไรเราบ้าง?” น่าสนใจดีค่ะ
    สาระมีประมาณว่า
    มนุษย์ควรทำจิตใจเยี่ยงกระจก
    เพราะกระจกสะท้อนภาพทุกชนิดไม่เลือก
    กระจกรับรู้ แต่ไม่ยึดถือครอบครอง
    จึงไม่มีภาพใดๆ หลงเหลือติดอยู่ในกระจก
    สายฝนที่กระจกส่องสะท้อนมิได้ทำให้กระจกเปียก
    เปลวเทียนในกระจกก็มิได้เผาลนกระจกเช่นกัน
    ทั้งนี้เพราะกระจกไม่ให้อำนาจแก่สายฝนและเปลวเทียน
    คนเราจึงควรฝึกจิตของเราให้รับรู้เช่นกระจก
    มีสติปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ สิ่งเร้าต่างๆ
    และพึงทำใจให้เป็นกลาง
    อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อและตัดสิน
    สิ่งที่เห็นด้วยตา สิ่งที่ได้ยินด้วยหู ว่าถูกต้องเสมอไป
    เพราะประสาทสัมผัสของเรามีขอบขีดจำกัดอย่างมาก
    และจิตของเราก็ยังเต็มไปด้วยความหลงผิด
    ความอคติลำเอียงคิดเข้าข้างตัวเองอยู่ตลอดเวลา
    ก่อนที่จะตัดสินใจ หรือ ลงความเห็นอะไรว่า “ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด”
    ควรไตร่ตรองให้ดี คิดให้รอบคอบ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ
    เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ บุคคล สิ่งแวดล้อม พบเห็นอะไร
    ไม่ว่า จะชอบ ไม่ชอบ รัก เกลียด ถูกใจ ไม่ถูกใจ
    พึงนำสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาค้นหาเหตุผล “ที่มา ที่ไป” ด้วยใจที่เป็นกลาง
    จะทำให้พบว่า
    สิ่งทั้งหลาย ล้วนมีความหมายอยู่ในตัว ขึ้นกับว่าจะมองในแง่ใด
    ความสุขทุกข์ ดีใจ เสียใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำสรรเสริญหรือนินทาของคนอื่น
    หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่ขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง คือ ขึ้นอยู่ที่ใจของเราเอง
    พระครูวรสิทธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดพุทธประทีป ซานฟรานซิสโก
    อ้างอิงจาก อากู๋ กูรู ตามนี้ ค่ะ
    http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=47539d9941e4ccb8

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร