นกกระเรียนตัวที่ 100
ช่วงนี้ระหว่างที่คนไทยกำลังฮือฮากับลูกหมีแพนด้าที่เชียงใหม่ ทราบหรือไม่ว่าตอนนี้คนไทยเราเพาะพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยได้ เป็นตัวที่ 100 แล้ว นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่เป็นนกใกล้สูญ พันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก เป็น 1 ใน 15 ชนิดของสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทยตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และเป็นสัตว์ที่มีอายุยึืนยาวชนิดหนึ่ง ทำให้หลายคนเชื่อว่า การเลี้ยงนกกระเรียนจะทำให้คนเลี้ยงอายุยืนยาว ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เหลืออยู่ประมาณพันกว่าตัวเท่านั้น ในแถบพม่าบริเวณปากแม่น้ำอิระวดี ใกล้ๆ ทะเลสาบเขมรและป่าตะวันออกประเทศกัมพูชา และเวียดนามแถวปากแม่น้ำโขง
สำหรับประเทศไทยนกระเรียนสูญพันธุ์จากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติเป็นระยะเวลานาน มากกว่า 50 ปีมาแล้ว คนไทยจึงไม่มีโอกาสพบนกกระเรียนไทยตามพื้นที่ธรรมชาติ ทุ่งนา คลอง หนองบึง เป็นผลจากการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงในการทำนาและทำเกษตรกรรมแบบก้าวหน้า ทำให้มีสารพิษตกค้างในพื้นที่อยู่อาศัยได้แก่พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร สารพิษส่งผลให้ไข่ของนก กระเรียนเปราะบางไม่สามารถฟักตัวออกมาได้ ตลอดจนการล่าและรบกวนนกจึงสูญพันธุ์ไป ปัจจุบันคนไทยเห็นนกกระเรียนได้เฉพาะในสวนสัตว์โคราช ดุสิต เชียงใหม่ เขาเขียว และสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรีเท่านั้น ต่างกับแนวชายแดนในประเทศเพื่อนบ้าน ในเขมรและพม่ายังพบนกกระเรียนไทยบินเป็นฝูงในสภาพธรรมชาติ เพราะพื้นที่แถบนี้ยังทำเกษตรกรรมแบบไม่พึ่งพาสารเคมี
ประเทศไทยพบนกครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2511 มีผู้พบลูกนกกระเรียน 2 ตัวในเขตติดต่อชายแดนเขมร จ.สุรินทร์ หนึ่งชาวบ้านนำไปเลี้ยงไว้จนอายุ 16 ปี และตายลงในวันที่ 17 ต.ค. 2527 หลังจากนั้นไม่มีผู้พบนกกระเรียนในธรรมชาติของประเทศไทยอีกเลย ดังนั้นสภาพของนกกระเรียนพันธุ์ไทยจึงถูกระบุว่า เป็นนกที่ใกล้สูยพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก
นกกระเรียนพันธุ์ไทยจัดเป็นนกน้ำขนาดใหญ่มาก มีน้ำหนักตัวประมาณ 5-12 กิโลกรัม นกกระเรียนพันธุ์ไทยมีลักษณะเหมือนกับนกกระเรียนพันธุ์อินเดียและนกกระเรียนพันธุ์ออสเตรเลียมาก แตกต่างกันตรงที่นกกระเรียนพันธุ์ไทยมีขนาดตัวเล็กกว่าสายพันธุ์อินเดีย แต่ใหญ่กว่าสายพันธุ์ออสเตรเลีย และมีส่วนที่โดดเด่นตั้งแต่ส่วนหัว แก้ม ลำคอส่วนบนมีสีส้มสดจนถึงแดงเข้ม ทั้งเพศผู้เพศเมียคล้ายกันแต่เพศเมียจะมีขนาดเล็กกว่า อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มขนาดใหญ่
นกกระเรียนพันธุ์ไทยเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์เมื่อมีอายุ 2-3 ปีขึ้นไป และเป็นการจับคู่แบบผัวเดียว เมียเดียว หากว่าตัวใดตัวหนึ่งตาย อีกตัวก็จะตายตามในไม่ช้า ว่ากันว่า เป็นเพราะตรอมใจ ตายตามคู่ของมัน ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่ มิ.ย.-ก.ย. ลักษณะการเกี้ยวพาราสีของนกกระเรียนจะมีลักษณะพิเศษและสวยงาม ตัวผู้และตัวเมียจะเปล่งเสียงร้องประสานกัน ตัวผู้จะร้องเสียงยาวระดับต่ำ ขณะร้องจะยืดคอ และเงยปากสูงขึ้น กางปีก และยกสูงขึ้นเหนือระดับหลัง ส่วนตัวเมียจะยืนข้างตัวผู้ หุบปีก เงยปากไปด้านหน้า และเปล่งเสียงร้องสั้น ๆ 2-3 ครั้ง ประสานเสียงกับตัวผู้
ในขณะนี้ที่สวนสัตว์นครราชสีมา ที่จัดเป็นสถานที่เพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยได้รับบริจาคจากประชาชนในบริเวณชายแดนไทยลาว เขมร ระหว่างปีพ.ศ. 2532-2540 โดยได้เริ่มขยายพันธุ์ทั้งแบบธรรมชาติและการผสมเทียม มาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน สวนสัตว์นครราชสีมาทำการเพาะขยายพันธุ์อย่างเป็นระบบ จากประชากรเริ่มต้นทั้งหมดจำนวน 26 ตัว -ปัจจุบันมีลูกนกที่เกิดจากสวนสัตว์โคราชแล้วรวม 99 ตัว จากที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อนเลย และเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีพ่อแม่พันธุ์ได้ให้กำเนิดลูกนกกระเรียนตัวที่ 100
ซึ่งทางองค์การสวนสัตว์เตรียมปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทย คืนสู่ธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนของไทยมิให้สูญพันธุ์ โดยการทดลองปล่อยนกคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนของไทยไม่ให้สูญพันธุ์ไปอย่างถาวร เป็นโครงการวิจัยเพื่อปล่อยนกกระเรียนไทยคืน สู่ธรรมชาติ โดยได้รับงบประมาณจำนวน 11.294 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ ต.ค. พ.ศ. 2551-2556 จากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำ 6 แห่ง สำหรับการทดลองครั้งนี้ คือ บึงโขงหลง จ.หนองคาย หนองบงคาย จ.เชียงราย บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยตลาดและห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ จ.ชลบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ
โครงการปล่อยนกกระเรียนไทยคืนสู่ธรรมชาติเป็นเรื่องท้าทายและช่วยยกสถานภาพ ของนกกระเรียนไทยให้กลับมาบินอยู่ภายใต้ฟ้าอาณาเขตของประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้ลูกหลานของเราได้มีโอกาสเห็น และหากประสบผลสำเร็จ ในอนาคตเราอาจได้เห็นนกขนาดใหญ่ รวมถึงนกน้ำที่หายากชนิดอื่นๆ อีก 😮 😆
ข้อมูลจาก : http://www.2tik.com
และ กษมา หิรัณยรัชต์. ฉลองนกกระเรียนตัวที่ 100 พันธุ์ไทยแท้-แท้ ที่โคราช. มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2552 หน้า 21
One thought on “นกกระเรียนตัวที่ 100”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
อ่านเรื่องนกแล้วคิดถึง “คูขุด” น้องหยีกลับบ้านด่วย แล้วถ่ายรูปกลับมาให้พี่ด้วยด้วย