มุ่งสู่ประชาคมอาเซียน : จะพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศกันอย่างไร

ได้มีโอกาสฟังการบรรยายเรื่อง มุ่งสู่ประชาคมอาเซียน : จะพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศกันอย่างไร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธ์ ในการไปประชุมคณะทำงานกลุ่มจัดหา ณ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านวิทยากรได้กล่าวถึง ประชาคมอาเซียนและบทบาทของบรรณารักษ์ ดังนี้
ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลักได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง (APSC) เพื่อสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีเสถียรภาพและสันติภาพ ปราศจากภัยคุกคามทางการทหารและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหายาเสพติด เป็นต้น เสาที่ 2 คือ ประชาคมเศรษฐกิจ(AEC) เพื่อมุ่งสู่การเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตเดียวที่สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรี ในขณะเดียวกันต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV) เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนา และเสาที่ 3 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม(ASCC) ยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกด้านให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน อันจะนำไปสู่การสร้างให้ประชาคมอาเซียนเป็นสังคมแห่งความห่วงใยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ในส่วนของห้องสมุดกับการสร้าง/ถ่ายโอนข้อมูล เราต้องระบุได้ว่ามีความรู้อะไรที่เกี่ยวกับอาเซียนบ้างและอยู่ที่ไหน คัดเลือกทรัพยากรสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการ ตลอดจนการนำมาใช้/เผยแพร่ ดูว่าผู้ใช้สามารถรับสื่อ/ข่าวสารทางใดบ้าง เช่น การติดตามหรือรับข่าวสารทางโทรศัพท์ social network เป็นต้น กระบวนการพัฒนาทรัพยากร พิจารณาว่ากลุ่มผู้ใช้ห้องสมุดที่ให้บริการคือกลุ่มใด อาทิ บุคคลทั่วไป นิสิต นักศึกษา อาจารย์ ฯลฯ ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ผู้ใช้มีความต้องการที่หลากหลาย ความจำเป็นในการแบ่งปันทรัพยากร และตอบสนองความต้องการได้ครบทุกคน ประการถัดมาคือ นโยบายการพัฒนาทรัพยากร ซึ่งจำเป็นต้องมีเพื่อให้เราคิดถึงเป้าหมาย นึกถึงผู้ใช้ ความผูกพันกับเป้าหมายและแผนงาน
เราจะสร้าง ASEAN collection นี้ได้ โดยวิเคราะห์ความต้องการว่าจะนำมาจัดเป็น collection อาเซียนโดยเฉพาะ หรือให้อยู่ตามชั้นทั่วไป การระบุขอบเขตทรัพยากรที่จะสร้าง ซึ่งจะเป็นตัวได้เปรียบในการแสดงความพร้อม อาจระบุตามหัวเรื่อง หรือตามความลึก ของ collection เช่น ช่วยตอบคำถามง่ายๆ หรือลงลึกถึงระดับนำไปใช้ในการเรียนการสอน/ช่วยการวิจัย เป็นต้น หรือระบุตามประเภทวัสดุที่จัดเก็บ
นอกจากนี้ท่านวิทยากรได้ให้แนวทางสมรรถนะของบรรณารักษ์ และนักวิชาชีพสารสนเทศที่จะต้องมี คือ ทักษะทางบรรณารักษศาสตร์ ในด้านการทำรายการ ทักษะที่เพิ่มคุณค่า เช่น การทำวิจัย ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ทักษะการพร้อมปรับตัว และทักษะที่ไม่เกี่ยวโดยตรงกับสายงาน ทัศนคติ ค่านิยมและคุณสมบัติส่วนบุคคล สำหรับบรรณารักษ์ด้านงานจัดหาควรมีสมรรถนะ ดังนี้ รู้จักงานจัดหาดี เป็นที่ปรึกษาคนอื่นๆได้ มีทักษะการสื่อสาร รู้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ทักษะในการบริหารจัดการและการพัฒนา collection การจัดการงบประมาณ ทักษะการทำงานข้ามวัฒนธรรม มีความสามารถในการปรับพฤติกรรม ตระหนักรู้เรื่องการสื่อสาร ความสามารถในการค้นหาความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่น การเคารพผู้อื่น และความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร