ความสุข-ความเครียด-ความทุกข์

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา…บุคลากรสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร กว่า 100 ชีวิต ได้เข้าร่วมฟังการบรรยายทางวิชาการ ซึ่งจัดโดยสำนักหอสมุดกลาง 2 เรื่อง แต่เรื่องที่จะพูดถึงก็คือเรื่องของ ความสุขสร้างได้จากคิดบวก-ทำดี โดย รศ. ลิขิต กาญจนาภรณ์
อาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องของความสุขว่า เราต้องเปลี่ยนทัศนคติ ปล่อยวาง รวมถึงความสุขเป็นเรื่องของใจ คนที่มีความสุขจะมีภูมิต้านทานโรคสูง ไม่ค่อยจะเจ็บป่วย ร่างกายสดชื่น แข็งแรง ยิ้มแย้มแจ่มใส และอายุยืน นอกจากนี้อาจารย์ยังได้กล่าวถึงผลการวิจัยทางจิตวิทยาเกี่ยวกับคนที่มีความสุข พบว่า

  • คนที่มีความสุขจะมีความภูมิใจในตัวเองสูง
  • คนที่มีความสุขจะมองโลกในแง่ดี
  • คนที่มีความสุขจะมีเครือข่ายทางสังคม
  • คนที่มีความสุขมักจะคิดว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

นอกจากนี้ความมีศีล-มีธรรม  จะเป็นรากเหง้าของความสุข ไม่ว่าจะต้องมีเมตตา กรุณา ต่อผู้อื่น ไม่จองเวร ไม่อาฆาต ไม่พยาบาท ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง และมีสติ  — คนเราจะมีความสุขได้ ต้องคิดดี และทำดี —
ก่อนหน้าที่จะได้ฟังบรรยายเรื่องนี้ ได้อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง ชื่อว่า พุทธวิธีคลายเครียด ของ ท่านปิยโสภณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ท่านได้กล่าวถึงวิธีคลายเครียดไว้อย่างน่าสนใจว่า….

ความเครียดเกิดจาก…อารมณ์สุดโต่ง เช่น รักมาก โกรธมาก โลภมาก เกลียดมาก หลงมาก อิจฉามาก ริษยามาก นินทามาก จำเป็นต้องปรับความสมดุลของอารมณ์

ความเครียดเกิดจาก…อารมณ์ที่เป็นพิษ เช่น คิดว่าตนถูกใส่ร้าย คิดว่าตนถูกกลั่นแกล้ง คิดว่าตนไม่สมหวัง ความคิดเช่นนี้ จะทำให้เรามีปมด้อยในชีวิต

เครียดเพราะ…ปากท้อง เป็นความเครียดตามปกติของคน

วิธีบรรเทาหรือกำจัดความเครียด อันจะนำมาซึ่งความสุข … ทำได้โดย

กล้าเผชิญความจริง – เมื่อกล้าเผชิญความจริงแล้ว สติปัญญาที่จะแก้ปัญหาก็จะมาเอง และความสุขก็จะตามมา

เข้าใจเรื่องอารมณ์ของตนและของคน – คนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน  เราต้องเรียนรู้เขาให้เข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้วก็จะไม่เครียด

ไม่คาดหวัง แต่พิจารณาความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง – มนุษย์ทำอะไรมักหวังผลตอบแทน แต่ถ้าเราใจหลักความจริงที่ว่า ความเปลี่ยนแปลง ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และความที่เราไม่อาจยื้อสิ่งใดๆ ไว้ได้ตลอด ก็จะคลาดความเครียดลงไป

ปิด-เปิดประตูรับรู้ให้เป็นเวลา – ต้องรู้จักควบคุมตนเอง รู้จักว่าเวลาใดควรทำอะไร มีสติที่จะรู้จักเปิด-ปิดผัสสะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

อย่าเครียดเรื่องของคนอื่นที่มิใช่เรื่องของตน – โดยธรรมชาติคนเรามันเป็นทุกข์เพราะเรื่องของคนอื่น มากกว่าเรื่องของตน เราต้องไม่นำขยะความคิดใดๆ มาเข้าบ้านของเรา

แผ่เมตตา นึกถึงกฎแห่งกรรมมากกว่ากฎหมาย – เมื่อเครียดให้นึกถึงกฎแห่งกรรม ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่ากฎหมาย ไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่ว จะได้รับผลของกรรมนั้น ไม่มีเปลี่ยนแปลง หากคิดได้แบบนี้ ก็จะสบายใจ หายเครียด

นึกถึงธรรมชาติที่เหมือนกันของสัตว์ทั้งหลาย – มองให้เห็นความเสมอกันทั้งผู้อื่นและตัวเราเองว่า เราต้องเผชิญความลำบากในสังสารวัฏเหมือนกัน เขาและเราไม่มีอะไรต่างกัน

ท่านได้มีบทสรุปในตอนท้ายว่า ความสุขมักซ่อนตัวอยู่ใจกลางความเศร้า ความเหงามักซ่อนตัวอยู่กลางความร่าเริง ความกล้ามักซ่อนตัวอยู่ภายในปัญหาเสมอ …. ขอให้เรานิ่งคิด หยุดแล้วคิดให้นิ่ง ลึกซึ้ง และหยุดความคิดให้ได้ ก็จะเห็นว่าปัญหาแต่ละอย่างนั้นมีทางออกเสมอ
จะเห็นได้ว่า…การที่เราจะมีความสุขได้ แน่นอนว่าเราคงต้องกำจัด หรือคลายความเครียดนั้นลงเสียก่อน  😛
ฉันใดก็ฉันนั้น โดยความคิดเห็นส่วนตัวแล้วเห็นว่า ในความจริงแท้ของชีวิต คนเราย่อมต้องมีทั้งสุข ทุกข์ คละเคล้ากันไป อยู่ที่ว่า จะมีเปอร์เซ็นต์ของความรู้สึกใดมากกว่ากัน หากทุกข์มาก-เครียดมาก คงต้องหาทางกำจัดหรือผ่อนคลายลง ที่ว่าความสุขอยู่ที่ใจ … คงเป็นเพียงคำพูดที่จะทำได้ไม่ง่ายนัก หากเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ก็คงเหมือนการหลอกตัวเองไปวันวัน … ว่าเรามีความสุขดี … 😎

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร