การลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรม (Plagiarism)
ในขณะขึ้นไปหาหนังสือเล่มหนึ่งบนชั้น 3 ได้พบกับหนังสือเล่มนี้ ที่มีชื่อว่า “การลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรม (Plagiarism)” จึงหยิบมายืมอยู่ในครอบครองอยู่นานแสนนาน ยืมต่อแล้วยืมต่ออีก อยากอ่านแต่ยังไม่ได้อ่านซักที จนกระทั่้งมีคนมาจองออนไลน์ต่อจากเรา จึงได้ฤกษ์อ่านซะที โดยหนังสือมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ให้ความรู้ชัดแจ้งเกี่ยวกับความหมาย ประเภท กรณีศึกษา สาเหตุ ของการลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรม ตลอดจนวิธีและเครื่องมือในการตรวจสอบการลักลอกฯ เป็นต้น ซึ่งดิฉันขอนำเสนอเนื้อหาเฉพาะบางส่วนที่ดิฉันสนใจและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ักับเพื่อนๆ เช่น ประเภทของการลักลอกงานวิชาการ พร้อมทั้งนำเสนอวิธีและเครื่องมือในการตรวจสอบฯ การลักลอกงานวิชาการ เป็นต้น
ในยุคปัจจุบันเป็นสังคมแห่งยุค Digital มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือแหล่งสารสนเทศได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส สามารถเข้าได้บ่อยตามต้องการทั้งข้อมูลในและต่างประเทศ ด้วยความสะดวกมรวดเร็วโดยผ่านเครื่องมือช่วยค้นหา (Search Engine) มากมาย เช่น Google, wikipedia, yahoo, MSN, AOL, Ask เป็นต้น หรือการสืบค้นข้อมูลโดยตรงได้จากหน้าเว็บไซต์ ทำให้ได้รับข้อมูลมาใช้งานได้ทันที ซึ่งข้อมูลที่ได้มีทั้งบทคัดย่อ (Abstract) ข้อมูลฉบับเต็ม (Full Text) ซึ่งแตกต่างกับการหาข้อมูลในยุคก่อนโดยสิ้นเชิง ด้วยความสะดวกในการค้นหา จึงทำให้การนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงก็เป็นเรื่องง่ายเช่นกัน จนขาดการวิเคราะห์/สังเคราะห์ข้อมูล บางครั้งหลงลืมการให้เกียรติเจ้าของผลงานนั้นๆ โดยการลักลอกผลงานทั้งชิ้นของคนอื่นมาเป็นของตนเองทำเสมือนว่าเป็นตนเป็นต้นคิดผลงานนั้นๆ หรือการนำผลงานผู้อื่นมาประกอบหรือต่อยอดเป็นผลงานของตนเองก็ดี แม้แต่การลักลอกผลงานตนเอง ก็จัดเป็นการลักลอกผลงานวิชาการแทบทั้งสิ้น บางครั้ง/บางรายกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์/ไม่เจตนาเพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง แต่บางครั้ง/บางรายกระทำโดยตั้งใจและเจตนา เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น หากเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรมไว้บ้าง ก็อาจช่วยลดการขยายตัวของปัญหาการการลักลอกผลงานวิชาการได้บ้างพอสมควร ก่อนอื่นเรามารู้จักประเภทของการลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรมโดยแบ่งตามคุณลักษณะต่างๆ ดังนี้
– แบ่งตามแหล่งที่มาของข้อมูล มี 2 ลักษณะ คือ
1. การลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรมผู้อื่น (plagiarism)
2. การลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรมของตนเอง (self-plagiarism) คือ การนำผลงานบางส่วนในผลงานครั้งก่อนของตนเองมาใช้ซ้ำให้ดูเสมือนกับเป็นงานเขียนใหม่ ซึ่งอาจเป็นงานเขียนของตนเองร่วมกับผู้อื่น หรือ งานเขียนของตนเองที่มีชื่อผู้เขียนร่วมต่างๆ กัน โดยไม่ระบุว่าเป็นงานเขียนที่ปรากฎในที่อื่นมาแล้ว สามารถแบ่งประเภทการลอกเลียนงานของตนเองออกเป็น 3 ประเภท ด้วยกันคือ
2.1 การตีพิมพ์เกินความจำเป็น (redundant publication) คือ การนำผลงานของตนเองที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วมาเพิ่มเติม หรือแก้ไขเพียงเล็กน้อย เช่น ใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน หรือเพิ่มเติมข้อมูลเล็กน้อย แต่มีคำบรรยายแตกต่างกัน เช่น ต่างกันที่บทนำ หรือ บทวิจารณ์ แล้วนำมาตีพิมพ์ซ้ำให้ดูเสมือนกับเป็นงานเขียนใหม่
2.2 การตีพิมพ์ซ้ำ (duplicate publication) คือ การนำผลงานของตนเองที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วมาแ้กไขให้แตกต่างกันเล็กน้อย เช่้น เปลี่ยนชื่อเรื่อง บทคัดย่อ และ/หรือ ลำดับผู้แต่ง แล้วส่งงานของตนเองเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ในแหล่งพิมพ์ต่างๆ พร้อมกัน ให้ดูเสมือนว่าเป็นงานหลายชิ้น
2.3 การแบ่งซอยงานออกเป็นส่วนๆ (salami slicing) คือ การนำผลงานของตนเองที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วมาแบ่งซอยย่อยเป็น “งานเขียนใหม่” หลายชิ้น แล้วส่งไปตีพิมพ์ในแหล่งพิมพ์เดียวกันหรือหลายแหล่งให้ดูเสมือนว่าเป็น “งานหลายชิ้น”
– แบ่งตามระดับเจตนา มี 2 ลักษณะ คือ
1. การคัดลอกงานวิชาการและวรรณกรรมแบบตั้งใจ (deliberated plagiarism) หมายถึง การที่บุคคลนั้น มีเจตนาหรือตั้งใจคัดลอกเลียนงานวรรณกรรมของผู้อื่น ทั้งที่ทราบดีว่า เป็นการประพฤติผิดทางวิชาการ แล้วเสนอว่าเป็นงานของตนเองโดยปราศจากการอ้างอิง หรือ บอกแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น ทั้งนี้รวมถึงการอ้างอิงที่เป็นเท็จเพื่อสร้งความน่าเชื่อถือต่อผลงานของตนเองด้วย
2. การลักลอกงานวิชาการและวรรณกรรมแบบไม่ตั้งใจ (unintentional plagiarism) หมายถึง การที่บุคคลไม่ได้มีเจตนาจะลักลอกงานวรรณกรรมของผู้อื่นแล้วนำมาเป็นของตนเอง แต่เป็นเพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงขอบเขตของการลักลอกวรรณกรรมและขาดความรู้เรื่องหลักเกณฑ์การอ้างอิงที่ถูกต้อง
– แบ่งตามวิธีการ มีหลายรูปแบบด้วยกัน คือ
1. การลักลอกแบบคำต่อคำ (word by word plagiarism) คือ การคัดลอกข้อความจากแหล่งที่มาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำพููดหรือแนวคิดใดๆ
2. การถอดความแบบนำวลีหลายๆ วลีมาปะติดปะต่อกัน (patchwork paraphrasing) โดยที่วลีเหล่านั้นอาจมาจากแหล่งที่มาเดียวกัน หรือ หลายแหล่งก็ได้ การตัดข้อความจากแต่ละแหล่งมาปะติดปะต่อกันทำให้ดูเสมือนเป็นงานชิ้นใหม่
3. การแปลงานจากภาษาต้นฉบับของแหล่งที่มา แล้วนำฉบับแปลนั้นมาเป็นงานของตนเอง
4. การอ้างอิงและใส่ข้อมูลเท็จ คือ การลอกข้อความ เนื้อหา บทความ งานวิจัย หรืองานทางวิชาการอื่นๆ มาทั้งหมด หรือ บางส่วนจากแหล่งที่มา แล้วอ้างอิงแหล่งที่มา แต่ตั้งใจใส่ข้อมูลของแหล่งที่มาที่เป็นเท็จ
5. การถอดความ (paraphrasing) คือ การที่ผู้เขียนถอดความหรือเปลี่ยนโครงสร้างของประโยคเดิมของแหล่งที่มา โดยยังคงความคิดของเจ้าของงานไว้
6. การนำข้อความจากแหล่งที่มามาใช้โดยใส่อัญประกาศ แต่ไม่ได้อ้างถึงแหล่งที่มา
7. การนำโครงสร้างประโยคจากแหล่งที่มา และนำมาใช้โดยเปลี่ยนคำในประโยคแต่ไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มา
8. การคัดลอกคำบางคำที่มีความหมายเหมาะสม (apt term) หรือนำแนวความคิดจาแหล่งที่มาและนำมาใช้เป็นเนื้องานส่วนใหญ่ของตนเอง ไม่ว่าจะอ้างอิงแหล่งที่มาหรือไม่ก็ตาม
วิธีการตรวจสอบ
โดยท่าน ศาสตราจารย์ ดร. สุวิมล ว่องวาณิชและวิไลวรรณ ศรีสงคราม นำเสอนว่า การตรวจสอบการลักลอกงานมักจะใช้หลายวิธีควบคู่กันไป เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการตรวจสอบที่ถูกต้องและเที่ยงตรง ประกอบด้วยการตรวจสอบโดยใช้ประสบการณ์ของผู้ตรวจสอบเองไปจนถึงการใช้ซอฟต์แวร์ในการสืบจับ ดังนี้
1. การใช้สามัญสำนึก (common sense) วิธีนี้เหมาะสำหรับอาจารย์ผู้สอน ซึ่งมีความคุ้นเคยกับนักศึกษาในสาขาวิชาที่ตนเองสอนเป็นอย่างดี ใช้การประเมินจากความรู้สึก ความรู้และประุสบการณ์ของตนเองในการสืบจับงานที่ได้ลักลอกมา เช่น การสืบจับจาก คำศัพท์ สไตล์การเขียน การใช้ภาษา เป็นต้น
2. การวิเคราะห์ทางด้านภาษา (linguistic analysis) วิธีนี้โดยมากใช้ในการตรวจสอบงานเขียนที่มีลักษณะเป็นเิชิงปริมาณ โดยงานเขียนประเภทนี้ ผู้เขียนแต่ละคนจะมีสไตล์การเขียนที่เป็นของตนเอง หากอ่านแล้วสะดุดในสไตล์หรือผิดแผกไปจากสไตล์การเขียนโดยภาพรวมของเอกสารนั้นๆ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าผลงานชิ้นนั้นอาจจะมีการลักลอกฯ เกิดขึ้น
3. การสืบจับโดยใช้ซอฟต์แวร์ (software detection) วิธีนี้เป็นการนำผลงานที่ต้องการตรวจสอบเ้ข้าคอมพิวเตอร์แล้วใช้ซอฟต์แวร์ในการตรวจสอบข้อความ แล้วนำไปตรวจสอบกับเว็บไซต์หรือฐานข้อมูลต่อ จากนั้นก็รายงานความเหมือนกันของข้อมูล แล้วคำนวณเป็นอัตราค่าลักลอกงาน โดยมีโปรแกรมต่างๆ ที่ได้นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ ดังนี้
3.1 โปรแกรม Turnitin
3.2 โปรแกรม plagiarism-detector
3.3 ฐานข้อมูล Deja Vu
3.4 โปรแกรม eTBLAST
3.5 โปรแกรม WCopyfind
3.6 โปรแกรม อักขราวิสุทธิ์ เป็นโปรแกรมที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวฯ และ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมทำเป็นโครงการวิจัยฯ โดยใช้งบลงทุนหลักล้านในการศึกษาและพัฒนาโปรแกรมนี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการ 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2556 ซึ่งปัจจุบันโครงการพัฒนาโปรแกรมอักขราวิสูทธิ์ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เป็นโปรแกรมที่สามารถตรวจสอบได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 และจะเปิดให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ สามารถดาวน์โหลดใช้ฟรีได้ด้วย
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าแหล่งข้อมูลที่คุณค้นหามาได้จะเป็น ข้อมูลประเภทหนังสือหรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ก็ตาม จัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่จะต้องได้ัรับการคุ้มครองลิืขสิทธิ์ การลักลอกไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จัดเป็นพฤติกรรมที่ฉ้อฉล เพราะเข้าข่ายเป็นการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ถึงแม้การลักลอกจะมีอยู่หลายวิธีการ จนดูเสมือนว่าจะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ยาก แต่ในทางปฏิบัติแล้วน่าจะอิง “หลักสามัญสำนึก” ก็คือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจ/เตรียมความพร้อมในเรื่องที่ตนเองต้องการจะศึกษาอย่างแท้จริงก่อน แล้วจึงลงมือเขียนงานด้วยรูปแบบและภาษาของตนเองอย่างจริงจัง เมื่อจำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบหรืออ้างอิงผลงานของผู้อื่น ก็ต้องไม่ลืมการให้เกียรติเจ้าของผลงานต้นฉบับทุกครั้ง
ข้อมูลอ้างอิง : กัญจนา บุณยเกียรติ. (2554). การคัดลอกงานวิชาการและวรรณการ (Plagiarism). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.