รถกับล้อ

จั่วหัวเรื่องแบบนี้เพื่อนๆ คงแปลกประหลาดใจเป็นแน่แท้ แม่นี่มันมีรถกับเขาซะที่ไหนแม้แต่รถจักรยานซักคันก็ไม่เคยมี (มันขี่จักรยานได้ซะที่ไหนเล่า) หน็อยยังจะมาเขียนเรื่องรถเรื่องล้อกับเขาด้วย แต่…ช้าก่อน!โปรดติดตามอ่านต่อไปแล้วจะรู้ว่าไม่ธรรมดา ว่าไปนั่น  เข้าเรื่องอันมีสาระดีกว่า
เริ่มที่ “รถ” ก่อน คิดว่าทุกคนคงเคยใช้บริการรถบัสโดยสารทั้งแบบประจำทาง และแบบไม่ประจำทาง (รถนำเที่ยวน่ะ) กันมาแล้วทั้งสิ้น แต่เราเคยรู้ไหมว่า รถบัสในเมืองไทยของเรานี้มีสองประเภท คือ รถที่ทะเบียนขึ้นด้วยเลขหนึ่งศูนย์ (10) เป็นรถบัสโดยสารประจำทางหรือรถทัวร์ของ บขส.นั่นละ รถประเภทนี้ส่วนใหญ่ต่อหรือประกอบตัวรถที่โคราช (อู่เชิดชัย)  ส่วนรถที่ทะเบียนขึ้นด้วยเลขสามศูนย์ (30) เป็นรถบัสนำเที่ยวหรือรถเช่าของเอกชน รถประเภทนี้ต่อหรือประกอบรถที่บ้านโป่ง จ.ราชบุรีนี่เอง  ใครที่เคยนั่งรถหรือขับรถผ่านเส้นทางนครปฐมไปบ้านโป่งจะพบว่าสองข้างทางนั้นจะมีอู่รถมากมายทั้งอู่ซ่อมรถและอู่ต่อรถ
สมัยก่อนเคยมีคำพูดว่า “บ้านโป่งสร้าง นครปฐมซ่อม” คือ บ้านโป่งจะเป็นแหล่งของอู่ต่อรถขนาดใหญ่แทบทุกชนิดและเป็นแหล่งต่อรถบัสที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่นครปฐมจะมีอู่รับซ่อมรถทุกชนิดเช่นกัน  สำหรับรถบัสที่เป็นรถสำหรับเช่าเพื่อการท่องเที่ยวนั้นแหล่งต่อรถในแถบบ้านโป่งนับว่ามีชื่อเสียงที่สุดและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดด้วย จะเนรมิตรให้ทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต่อตัวถัง ตกแต่งภายใน ไปจนกระทั่งเพ้นท์ลวดลายข้างตัวถังรถ ที่มีตั้งแต่ลายสวยงาม,ลายการ์ตูน,หรือลายสุดสวิง โฉบเฉี่ยวสีฉูดฉาดบาดตาอย่างที่เราเห็นวิ่งกันนั่นละ (ยกว้นรูปโป๊และวัดวาอาราม กฎหมายเขาห้ามไว้)
ว่ากันว่าที่บ้านโป่งนี้มีช่างมือทอง และเป็นช่างดังฝีมือดีในระดับเซียนของการออกแบบเพ้นท์ลายข้างรถอยู่สามรายด้วยกันมีงานตลอดทั้งปี หนึ่งในช่างใหญ่มือทองนั้นจบมาทางจิตรกรรมสากลจากเพาะช่าง และอีกคนหนึ่งที่มีแนวเพ้นท์ไม่เหมือนใครคือ “ช่างตูนโคตรแพง” แห่งบ้านโป่ง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการเพ้นท์ทั้งลวดลายและลีลา ในการออกแบบของช่างเพ้นท์จะใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือช่วยที่สำคัญ แล้วสั่งตัดสติกเก้อร์แล้วนำภาพมาต่อรวมกันเป็นภาพใหญ่(เหมือนต่อจิ๊กซอว์) แล้วนำไปติดข้างรถ(ต้องเหมือนกันทั้งสองข้างของตัวรถ) ใช้แอร์บรัช (Air Brush)ช่วยในการลงสี ช่างจะแกะสติกเก้อร์ออกแล้วค่อยพ่นสีลงทีละช่อง งานนี้เป็นงานที่ละเอียดต้องใช้ความอดทนบวกกับความชำนาญและความมีศิลปะด้วย ช่างและลูกทีมจะใช้เวลา 3-5 วันกว่าจะเสร็จหนึ่งคันหรืออาจจะนานกว่านี้แล้วแต่ลวดลาย การเพ้นท์ลวดลายข้างรถบัสนำเที่ยวนี้เริ่มฮอตฮิตในช่วงเกือบสิบปีมานี้ คงไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่มีรถเพ้นท์มือมากเท่าที่เมืองไทย แถมช่างใหญ่ฝีมือดีก็อยู่ที่บ้านโป่่งของเรานี่เอง น่าภูมิใจจัง
เมื่อมีรถแล้วก็ต้องมี “ล้อ” ใช่ไหมไม่อย่างนั้นมันจะวิ่งหรือแล่นไปได้อย่างไรละเนอะ ล้อของรถนั้นเป็นล้อยางแทบทั้งสิ้น (ยกเว้นรถไฟที่ใช้ล้อเหล็กเท่านั้น) เมื่อล้อรถใช้งานไปอาจจะเกิดการรั่วหรือชำรุดจากสาเหตุต่างๆได้ ก็ต้องนำไปซ่อมหรือ ปะยาง เป็นเรื่องธรรมดา ร้านปะยางมีให้บริการอยู่ทั่วไปริมถนนแทบทุกสายในเมืองไทย เราจะเห็นเขาเอาล้อยางเก่ามาทาสีขาว แล้วเขียนตัวอักษรสีแดง ว่า “ปะยาง 24 ช.ม.” หรือ “ปะยาง ทุกชนิด” เป็นแพทเทิร์นเดียวกันแทบทุกที่ ทำไมไม่ใช้สีอื่นล่ะในเมื่อมีสีให้เลือกใช้ตั้งหลายสี ทำไมต้องสีขาว-แดงเท่านั้น  ที่นี่มีคำตอบค่ะ ก็เพราะมันเห็นชัดที่สุดในตอนกลางคืนน่ะสิ ในยามที่ต้องแสงไฟหน้ารถในเวลาค่ำคืนจะเห็นชัดเจนกว่าสีอื่นๆ จบข่าว!!
ขอบคุณข้อมูลส่วนใหญ่จากหนังสือ เรื่องริมทาง เขียนโดย กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์  เลขเรียกหนังสือ G155.ท9 ก622

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร