ประวัติและวิวัฒนาการของพจนานุกรม(ตอนที่ 2)

    ในตอนที่ 1 นั้นได้กล่าวถึงประวัติและวิวัฒนาการของพจนานุกรมของต่างประเทศแล้ว ในตอนที่ 2 นี้จะขอเขียนถึงพจนานุกรมที่เป็นภาษาไทยของเราบ้างว่ามีประวัติและความเป็นมาอย่างไร พจนานุกรมไทยนั้นมีประวัติการจัดทำทั้งภาษาเดียว สองภาษา และหลายภาษา เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) โดยพจนานุกรมของไทยในยุคแรกๆนั้น ผู้รวบรวมหรือผู้จัดทำคือกลุ่มมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนาชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
     พจนานุกรมฉบับแรกเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ราวปีพ.ศ. 2207-2236(ค.ศ.1664-1689) เป็นพจนานุกรมสองภาษา คือฝรั่งเศส-ไทยและไทย-ฝรั่งเศส จัดทำโดยสังฆราชหลุยส์ ลาโน บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ต้นแบบเป็นลายมือเขียนในส่วนของภาษาไทยนั้นเขียนด้วยอักษรโรมัน ส่วนพจนานุกรมฉบับที่สอง คือ คำฤษฎี จัดทำในช่วงปีพ.ศ. 2333-2396(ค.ศ.1790-1853) เป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 2 ถึงต้นรัชกาลที่ 4 โดยสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร และกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เป็นหนังสืออธิบายคำศัพท์ที่ส่วนใหญ่เป็นคำยืมมาจากภาษาสันสกฤตสำหรับวรรณคดีไทย ต้นฉบับเป็นลายมือเขียนเช่นกัน (ปัจจุบันยังมีรูปเล่มเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติและราชบัณฑิตยสถาน) ยังมิได้เรียงคำศัพท์ตามลำดับตัวอักษร ต่อมาได้พิมพ์ฉบับปรับปรุงขึ้นโดยอ้างอิงตามคำฤษฎี เมื่อปีพ.ศ. 2516 (ค.ศ.1973)ผู้จัดพิมพ์คือ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ซึ่งลักษณะและรูปแบบการจัดทำคำศัพท์หลักและความหมายต่างจากต้นฉบับอยู่บ้าง ครั้งล่าสุดมีการนำมาจัดพิมพ์ใหม่โดย มูลนิธิทุนพระพุทธยอดฟ้า เมื่อปีพ.ศ.2533 ในวาระสมโภช 200 ปีสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ฉบับนี้มีที่หอสมุดเราค่ะ)  พจนานุกรมฉบับที่สาม นั้นเป็นพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย และไทย-อังกฤษ จัดทำขึ้นโดย J. Taylor Jones ซึ่งเป็นหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน (ฉบับนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน) พจนานุกรมฉบับที่สี่ เป็นพจนานุกรมที่จัดทำโดย Rev. J. Caswell และJ.H. Chandler เมื่อปีพ.ศ. 2407(ค.ศ.1846) ต้นฉบับเป็นลายมือเขียนโดยเรียงลำดับตามตัวอักษร การสะกดคำจะแตกต่างจากคำในปัจจุบัน เป็นการใช้คำในสมัยรัชกาลที่ 3 ต้นฉบับจัดเก็บอยู่ที่ราชบัณพิตยสถาน
     ต่อมาสังฆราชปาลเลอกัว ชาวฝรั่งเศส ได้ทำพจนานุกรมขึ้นสองฉบับ  โดยฉบับแรกมีสองภาษา คือภาษาละตินและภาษาไทย ชื่อ Dictionarium Thai AD Usum Missions Siamensis…เมื่อปี พ.ศ.2393 แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะคนไทยที่รู้ภาษาละตินยังมีน้อย (ฉบับนี้ยังมีจัดเก็บอยู่ที่ห้องหนังสือหายาก หอสมุดแห่งชาติ) อีก 47 ปีต่อมาจึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ในปีพ.ศ.2440 ทำให้ค้นได้ง่ายขึ้น  ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือ สัพะ พะจะนะ พาสา ไท หรือ Dictionarium Linguae Thai Sive Siamesis Paris เป็นพจนานุกรม 4 ภาษาคือ ไทย-ละติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ต้นฉบับพิมพ์ในฝรั่งเศสสำเร็จเมื่อปีพ.ศ.2397 [ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงใหม่โดยสังฆราช Jean-Louis Vey เปลี่ยนชื่อเป็น ศิรพจนะภาษาไทย พิมพ์เผยแพร่ในปีพ.ศ.2439] ภายหลังพจนานุกรมฉบับนี้ได้นำมาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้งเมื่อปีพ.ศ.2542 ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 5 ธันวาคม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ที่หอสมุดเรามีฉบับนี้ค่ะ) นอกจากนั้นยังมีพจนานุกรมอีกสองฉบับคือ พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ของหมอยอร์ช แมกฟาแลนด์ พิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.2408 (ที่หอสมุดเรามีฉบับพิมพ์ปีค.ศ. 1972 ใช้ชื่อว่า Thai English Dictionary) และพจนานุกรมชื่อ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ เป็นภาษาไทย แต่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Dictionary of the Siamese Language พิมพ์เมื่อปีพ.ศ.2414 ต่อมาได้มีการจัดพิมพ์ใหม่ โดยองค์การค้าคุรุสภา เมื่อปีพ.ศ.2514 (ฉบับนี้ที่หอสมุดของเรามีค่ะ)
     ในช่วงก่อนปีพ.ศ.2475 ก่อนที่จะมีการใช้คำว่า “พจนานุกรม” อย่างปัจจุบันนี้ ทางกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น(กระทรวงศึกษาธิการในสมัยนี้) ได้ใช้คำว่า “ปทานุกรม” มาก่อน จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2475 จึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อชำระปทานุกรมขึ้น เพื่อชำระข้อบกพร่องและแก้ไขปรับปรุงใหม่ จึงได้มีมติและความเห็นที่จะให้ใช้คำว่า พจนานุกรม แทนคำว่า “ปทานุกรม” เพราะมีความหมายตรงกับคำว่า Dictionary มากกว่าต่อมาได้โอนความรับผิดชอบในการชำระแก้ไขให้แก่ ราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ปี 2477เป็นต้นมา สำหรับพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานได้มีการชำระและปรับปรุงแก้ไขมาแล้วรวม 3 ฉบับคือ ฉบับปีพ.ศ.2493, ฉบับปีพ.ศ. 2525 และฉบับปีพ.ศ.2542  พจนานุกรมฉบับของราชบัณฑิตยสถานนี้ทางหน่วยงานราชการและสถานศึกษากำหนดให้ใช้เป็นมาตรฐานในการอ้างอิงตลอดมา
       นอกจากพจนานุกรมของทางราชการแล้วทางเอกชนและส่วนบุคคลก็มีการจัดทำพจนานุกรมกันออกมาอย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมมากเช่นกันทั้งในอดีตและปัจจจุบัน เช่น พจนานุกรมของ ส.เศรษฐบุตร ของดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ของเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ และของสำนักพิมพ์ต่างๆอีกมากมายหลายแห่ง จนกระทั่งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างและการใช้งาน จึงทำให้เกิดพจนานุกรมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ขึ้นมาอย่างแพร่หลาย เช่น พจนานุกรมของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, พจนานุกรมลองดู(Longdo), พจนานุกรมของไทยซอฟต์แวร์ เป็นต้น  ในยุคดิจิทัลการค้นหาคำและความหมายมีความสะดวกและรวดเร็ว แล้วยังมีความหลากหลายของพจนานุกรมประเภทต่างๆให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมและตรงตามความต้องการกับจุดประสงค์ของผู้ใช้้ด้วย ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากหาอ่านได้จากหนังสือที่อ้างถึงได้ค่ะ
     สำหรับแหล่งที่มาของข้อมูลทั้งสองตอนนี้ได้มาจากหนังสือชื่อ พจนานุกรมยุคดิจิทัล เขียนโดย พรพิมล ผลินกูลและกนกอร ตระกูลทวีคูณ เลขหมู่หนังสือ QA76.79 D37พ43

One thought on “ประวัติและวิวัฒนาการของพจนานุกรม(ตอนที่ 2)

  • นี่คือ การเก็บความที่ได้ใจความโดยที่เราไม่ต้องอ่านเล่มจริง ช่วยลดเวลาการอ่านไปได้มากทีเดียว ขอบคุณนะคะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร