ประวัติและวิวัฒนาการของพจนานุกรม (ตอนที่1)

   “พจนานุกรม” เป็นคำภาษาไทย ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Dictionary”  พจนานุกรมจัดเป็นหนังสืออ้างอิง หรือ Reference Book เป็นหนังสือที่รวบรวมคำในภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเรียงลำดับคำตามตัวอักษร แล้วให้ความรู้หรือความหมายของคำนั้นๆเพียงสั้นๆและบอกประวัติที่มาของคำ บอกวิธีการเขียน สะกด การันต์ การออกเสียงอ่าน  คำว่า “Dictionary” นั้นเริ่มมีใช้ในยุคกลางราวศตวรรษที่ 16 มีรากคำมาจากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า dictio, dictionarium หลังจากศตวรรษที่ 18 พจนานุกรมได้รับความสนใจและถูกพัฒนาให้ก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน พจนานุกรมจึงเปรียบเสมือนบันทึกความเปลี่ยนแปลงของภาษา เพราะทุกภาษานั้นมีชีวิต มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่งตามอิทธิพลต่างๆในสังคม วัฒนธรรม การเมือง การศึกษา การใช้ภาษาในยุคหนึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนไปจากแบบเดิมที่เคยใช้มา แต่ความต้องการของผู้ใช้พจนานุกรมไม่เคยเปลี่ยนไป จึงมีการสร้างพจนานุกรมใหม่ขึ้นตลอดเวลา แต่ยังต้องคงคุณสมบัติหรือคุณลักษณะที่สำคัญของความเป็นพจนานุกรมเอาไว้อย่างครบถ้วนเสมอ
   ในยุคแรกๆที่มีการทำพจนานุกรมนั้น การจัดทำจะใช้วิธีการจดบันทึกข้อมูลด้วยมือลงกระดาษ ซึ่งต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมาก ตั้งแต่การจดบันทึกรายการคำศัพท์ การเขียนนิยามศัพท์ การเพิ่มคำใหม่หรือความหมายใหม่ การแก้ไขคำผิด การสะกดคำ จนกระทั่งในปีค.ศ. 1604 ได้มีการตีพิมพ์ dictionary เล่มแรกขึ้นใช้ชื่อว่า Dictionary of Hard Words โดย Robert Cawdrey แต่ผู้ที่มีชื่อเสียงและเปรียบเสมือนผู้วางรากฐานให้เกิดการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการสร้างพจนานุกรมอย่างเด่นชัดคือ Samuel Johnson ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากองค์กรด้านการจัดพิมพ์และจำหน่าย ในปีค.ศ. 1750-1755 เขาใช้เวลาร่วมสิบปีในการเขียนพจนานุกรมชื่อ A Dictionary of the English Language ซึ่งพจนานุกรมฉบับนี้ของเขาได้รับการยอมรับและนำไปใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลาย รวมทั้งกลายเป็นต้นแบบของพจนานุกรมและสารานุกรมที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน อย่างเช่น Oxford English Dictionary เป็นต้น
     หลังจากเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบันนี้นับว่าเป็นยุคใหม่อย่างแท้จริงของการจัดทำหรือสร้างพจนานุกรม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาษาอย่างชัดเจนมีสามประการ คือ 1) ความเจริญรุ่งเรืองของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  2) การพัฒนาภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการออกเสียงและไวยากรณ์ ทำให้เกิดคำศัพท์เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย จนเห็นความแตกต่างระหว่างภาษาแบบอังกฤษ(British English) และแบบอเมริกัน (American English)  3) การเกิดภาษาอังกฤษแบบใหม่ ที่ผันแปรไปตามท้องถิ่นหรือภูมิประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษแบบอินเดีย แบบออสเตรเลีย แบบฟิลิปปินส์ แบบแอฟริกัน เป็นต้น
      ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงศตวรรษที่ 20 นั้นการทำพจนานุกรมมีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มรูปแบบเนื่องจากคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในการสร้างพจนานุกรมทุกขั้นตอน ใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์มาสร้างโปรแกรม จัดเก็บข้อมูลต่างๆจนเป็นคลังข้อมูลทางภาษาที่สมบูรณ์และหลากหลาย ตัวอย่างพจนานุกรมที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ยุคปี 1980 คือ Collins Cobuild English Language Dictionary (COBUILD) ที่ใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยพัฒนาทั้งโครงสร้างและเนื้อหาทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงอีกเป็นจำนวนมากที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิตผลงานเช่น  Oxford English Dictionary, Longman English Dictionary, Macmillan English Dictionary, Merriam-Webster]s Dictionary. ซึ่งสำนักพิมพ์ต่างๆเหล่านี้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือออกจำหน่ายทั่วโลก เป็นหนังสืออ้างอิงที่ห้องสมุดแทบทุกแห่งโดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาต้องมีไว้บริการแก่ผู้ใช้เพื่อการค้นคว้าและอ้างอิง 
        ปัจจุบันการนำเสนอข้อมูลพจนานุกรมมีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย จากสิ่งพิมพ์ที่เป็นกระดาษหรือรูปเล่มหนังสือ ก็แปรเปลี่ยนเป็นสื่อดิจิทัลเข้ามาแทนที่ เนื่องจากสื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ การค้นหาข้อมูลสะดวกรวดเร็วกว่า ทำให้สำนักพิมพ์และสถาบันต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตแทน ที่เรียกว่า พจนานุกรมออนไลน์ (Online Dictionaries) หรือ พจนานุกรมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Dictionary) จากการเปลี่ยนแปลงนี้เองผู้ผลิตพจนานุกรมแบบเดิมจึงต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวให้ทันกับยุคดิจิทัล โดยบางสำนักพิมพ์ได้ยุติการพิมพ์จำหน่ายไปแล้ว เช่น สารานุกรม Britanica ซึ่งมีอายุยาวนานถึง 244 ปี ผลิตสิ่งพิมพ์ชุดสุดท้ายเมื่อปี 2010 ซึ่งมี่ 32 เล่ม/ชุด ซึ่งปกติจะจัดพิมพ์ทุก 2 ปี (แจ้งยกเลิกการผลิตเมื่อเดือนมีนาคม 2555) และหันมาให้บริการทางออนไลน์แทน ส่วนสำนักพิมพ์ Oxford University Press  ก็จะยุติการพิมพ์พจนานุกรมแบบชุดหนังสือเช่นกันทั้งที่ผลิตมาร้อยกว่าปีแล้ว เพราะมีผู้ซื้อใช้น้อยลงและไม่ได้รับความนิยม (แต่ยังพิมพ์ขนาดเล่มเล็กอยู่) และหันมาใช้ออนไลน์แทนเช่นกัน
 
 

One thought on “ประวัติและวิวัฒนาการของพจนานุกรม (ตอนที่1)

  • ใครไม่รู้ยังไง แต่หนุชอบอ่านพจนานุกรมภาษาไทยมากๆ ปัจจุบันก็ยังอ่านอยู่ เคยฟังหลายๆพูดเรื่องการฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยการท่องศัพท์จากพจนานกรม A-Z

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร