ครก
เมื่อพูดถึง “อ่างศิลา” เชื่อว่าสิ่งแรกที่หลายๆ คนจะนึกถึงก็คือ “ครก”
ตัวอิฉันเองสมัยยังละอ่อนได้ไปเยือนอ่างศิลาหลายครั้งพอประมาณ
แต่ด้วยความที่เป็นเด็กน้อย ก็มิได้นำพากับเรื่องราวของ “ครก”
ที่ก็ไม่เข้าใจว่า…คุณแม่อิฉันจะหลงใหลได้ปลื้มอะไร
กับการซื้อ “ครก” น้อย-ใหญ่ กลับบ้านมาแทบจะทุกครั้ง
กาลผ่านมาเนิ่นนาน อิฉันเพิ่งมีโอกาสได้ไปเยือนอ่างศิลาอีกครั้ง
ในเวลาอันวัยเกษียณใกล้จะมาเยือน ที่ดูเหมือนสิบเอ็ดปีจะไกล
แต่อิฉันว่ามันใกล้นิดเดียว ด้วยว่าเวลาเดี๋ยวนี้มันติดปีกบินไวเสียจริงๆ
“อ่างศิลา” เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ใน ต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี
อยู่ห่างจากตัวเมืองชลบุรี ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
ในอดีตช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
คนในพื้นที่เรียกขานนามหมู่บ้านย่านนี้ว่า “อ่างหิน”
แต่หลังจากที่ชาวยุโรปและชาวบางกอกพากันมาพักตากอากาศมากเข้า
นาม “อ่างหิน” ดูเหมือนจะไม่เป็นสากลสมดังใจของผู้มาเยือน
หมู่บ้านแห่งนี้จึงถูกเปลี่ยนนามเรียกขานเป็น “อ่างศิลา”
คำเรียก “อ่างศิลา” นี้ มีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๑๙
ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
คราวเสด็จประพาสประทับแรม ณ อ่างศิลา กล่าวว่า
“…เรียกชื่อว่าอ่างศิลานั่นฅ
เพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนิน มีศิลาก้อนใหญ่ๆ เป็นศิลาดาด
และเป็นสระยาวรีอยู่ ๒ แห่งๆ หนึ่งลึก ๗ ศอก กว้าง ๗ ศอก ยาว ๑๐ วา
แห่งหนึ่งลึก ๖ ศอก กว้าง ๑ วา ๒ ศอก ยาว ๗ วา
เป็นที่ขังน้ำฝน น้ำฝนไม่รั่วซึมไปได้
ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี เห็นว่าเป็นประโยชน์กับคนทั้งปวง
จึงให้หลวงฤทธิ์ศักดิ์ชลเขตรปลัดเมืองชลบุรีเป็นนายงาน
ก่อเสริมปากน้ำมิให้น้ำที่โสโครกไหลกลับลงไปในบ่อได้
ราษฎร ชาวบ้านและชาวเรือไปมาได้อาศัยใช้น้ำฝนในอ่างศิลานั้น
บางปีถ้าฝนตกมาก ถ้าใช้น้ำแต่ลำพังชาวบ้าน
ก็ใช้ได้น้ำทั้งสองแห่ง และบ่ออื่นๆ บ้าง พอตลอดปีไปได้
บางปีฝนน้อย ราษฎรได้อาศัยใช้แต่เพียง ๕ เดือน ๖ เดือน ก็พอหมดน้ำในอ่างศิลา
แต่น้ำในบ่อแห่งอื่นๆ ที่ราษฎรขุดขังน้ำฝนไว้ใช้นั้น มีอยู่หลายแห่งหลายตำบล
ถึงน้ำในอ่างศิลา สองตำบลนี้แห้งไปหมดแล้ว ราษฎรใช้น้ำบ่อแห่งอื่นๆ ได้…”
ในพระราชหัตถเลขาฉบับดังกล่าว ยังมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า
พระองค์ทรงโปรดอ่างศิลามาก โดยกล่าวว่า
“…ที่อ่างศิลาเป็นที่สนุกแลเป็นที่สบายมาก
เราอยากใคร่อยู่นานๆ แต่ไม่ใคร่จะมีเวลาจะไปอยู่พ้น ๑๐ วันเลย…”
“อ่างศิลา” มิได้เพิ่งมีความสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๕
หากแต่ ในพระราชพงศาวดารฯ รัชกาลที่ ๔ หน้า ๒๐๗
ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็ได้มีการกล่าวถึงว่า
“ที่อ่างศิลาแขวงเมืองชล อากาศดี โปรดให้ทำที่ประทับแห่ง ๑
ได้ทำแต่อิฐปูนขึ้นไว้กับถมสะพานศิลาเป็นถนนออกมาสาย ๑
พณฯ หัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมสร้างตึกใหญ่ขึ้นไว้หลัง ๑
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้สร้างตึกขึ้นไว้หลัง ๑
เพื่อจะให้พวกยุโรปที่เจ็บไข้ไปอยู่รักษาตัวตากอากาศที่นั้นเป็นการบุญ
และที่ตลาดหลังเขาสำมุขนั้น โปรดให้ทำพลับพลาเป็นที่ประพาสขึ้นไว้หมู่ ๑ฅ
ให้ถมศิลาเป็นถนนออกมาสาย ๑…”
อาคารทั้ง ๒ หลังนี้ เมื่อล่วงมาถึง สมัยรัชกาลที่ ๕
ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระนางเจ้าศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฅ
ขณะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อเสด็จประพาสยุโรป
ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์ขึ้น
พร้อมกับพระราชทานนามใหม่ หลังใหญ่นามว่า “ตึกมหาราช”
ส่วนหลังเล็ก ทรงพระราชทานนามว่า “ตึกราชินี”
เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากบทบาทในการเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองแล้ว
ใน พ.ศ. ๒๔๔๙ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงประชวรพระโรคปอด
ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ ณ อ่างศิลา
โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นตามไปถวายการรักษาพยาบาล
และในระหว่างที่ทรงประทับอยู่นั้น ได้สังเกตว่าที่บริเวณนี้ขาดแคลนน้ำจืด
พระราชชายาจึงทรงจ้างขุดบ่อน้ำจืดให้ประชาชนใช้
จากความสำคัญในครั้งเก่าแห่งอดีตของบริเวณอ่างศิลา
ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ โดยมีผู้สนับสนุน คือ เทศบาลตำบลอ่างศิลา
จึงร่วมกันพัฒนาตลาดอ่างศิลาขึ้น ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์
ให้ชื่อว่า “ตลาดเก่าอ่างศิลา ๑๓๓ ปี” โดยได้จัดงานเฉลิมฉลองไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒
และเปิดให้เข้าเที่ยวชมในวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์
ในแง่ของความเป็นสถานที่สำคัญเก่าแก่ของอ่างศิลา
ซึ่งมีความเกี่ยวข้องในด้านประวัติศาสตร์ ดังอิฉันเกริ่นไว้ข้างต้น
จะว่าไป ก็เป็นเรื่องราวของอดีต ที่ยังคงอนุสรณ์สถานต่างๆ ให้ได้รำลึกถึง
แต่หากจะมองในเรื่องราวที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวัน
สัญลักษณ์อันโดดเด่น ที่ไม่ได้เป็นเพียง “ตำนาน”
แต่เป็น “ภูมิปัญญา” อันเลื่องลือ
อิฉันคิดว่าคงไม่มีใครปฎิเสธ “ครกหินอ่างศิลา”
สินค้าพื้นเมือง ที่มีชื่อเสียงมานมนาน
ทั้งยังมีที่มา ที่(ไม่ได้)ไปไหน ที่น่าสนใจ ดังอิฉันจะซุย…เอ้ยยย คุย ต่อไป
แรกเริ่มเดิมทีนั้น วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อ่างศิลา
ก็มิได้มีอะไรแตกต่างจากหมู่บ้านชายทะเลทั่วไป คือมีอาชีพประมงทะเลเป็นหลัก
และในยามว่างจากฤดูกาลทำนา หญิงสาวชาวอ่างศิลา
ที่เชื่อกันว่าได้ฝึกปรือวิทยายุทธ์การทอผ้าจากมิชชันนารีอเมริกัน
ก็ทอผ้าไว้ใช้สอยเหมือนชาวบ้านพื้นถิ่นทั่วไป
ผ้าทออ่างศิลา มีชื่อเสียงมาเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓
ว่ากันว่าผ้าทรงของพระมหากษัตริย์บางส่วนมาจากแหล่งทอผ้าแห่งนี้
ดังมีเรื่องเล่ากันต่อๆ มาว่า ครั้งหนึ่งสาวชาวอ่างศิลานี้
ได้ติดตามเจ้านายเข้าไปเป็นครูสอนทอผ้าให้กับชาววัง
การทอผ้าแบบโบราณของชาวอ่างศิลา มีลวดลายที่ขึ้นชื่อ
อาทิ ลายตาสมุก ลายดอกราชวัตร ลายตาสก๊อต ลายตาหมากรุก เป็นต้น
นอกจากอาชีพพื้นถิ่นอันขึ้นชื่อมาแต่เดิมแล้ว
ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์
มีโครงสร้างทางธรณีวิทยาเอื้ออำนวย
มีหินอัคนีประเภทหินแกรนิตและหินทรายอยู่เป็นจำนวนมาก
จึงทำให้ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒
ได้มีชาวจีนแต้จิ๋วพากันอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำกินกัน
เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่มาของ
การเกิดอาชีพใหม่ คือ “การทำครกหิน”
ผู้ริเริ่มทำครกหินที่อ่างศิลาเป็นใคร
อิฉันเองมิได้เพียรเสาะแสวงหา เพียงแต่ได้พบบทสัมภาษณ์
บุคคลรุ่นลูกหลาน ที่คลุกคลีกับการทำครกพอประมวลความได้ว่า
คุณวันเพ็ญ ฉันทะโสพล เป็นคนไทยเชื้อสายจีน
มีคุณพ่อเดินทางมาจากประเทศจีนมาอยู่ในกรุงเทพฯ
ต่อมาครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่อ่างศิลา
ตามคุณลุงพี่ชายของพ่อที่เดินทางมาจากประเทศจีนด้วยกัน
จากบทสัมภาษณ์นั้น ทำให้อิฉันไล่เรียงลำดับการเกิดน้อง “ครก”
ได้พอเป็นสังเขป คือ
คุณลุงของคุณวันเพ็ญเดินทางมาจากประเทศจีนทางเรือ
โดยมาอยู่ที่แหลมแท่นในครั้งแรก
เมื่อมาอยู่ก็ได้ขุดหินบริเวณนั้นมาแกะสลักป้าย
แต่ก็พบว่าหินที่ใช้อยู่นั้นมีคุณภาพไม่ค่อยดี
ไม่ทนทาน แข็งแกร่ง เพราะเป็นหินที่อยู่ในทะเล
ต่อมาคุณลุงก็ได้พบหินที่อ่างศิลาซึ่งมีจำนวนมาก
และเป็นหินที่อยู่บนบก มีความแข็งแกร่ง ทนทานมากกว่า
ด้วยความที่ชาวจีนส่วนใหญ่รวมทั้งคุณลุง
มีความชำนาญในการแกะสลักหินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
คุณลุงจึงเห็นโอกาส ขักชวนเพื่อนที่มาด้วยกันไปทำกินในที่แห่งใหม่
โดยพวกเขาได้ช่วยกันขุดหินที่อ่างศิลามาผ่าดูและพบว่า
เป็นหินที่มีคุณสมบัติพิเศษ มีความแข็งแกร่ง ทนทานสูงมาก
จึงได้นำมาแกะสลักเป็นป้ายสุสาน ทำโม่หิน และอื่นๆ
รวมทั้งทำครกหินจำหน่ายเป็นอาชีพเรื่อยมา
จากข้อมูลข้างต้น อิฉัน ก็เดาๆ เอาว่า
การเกิดของ “ครกหิน” อาจเป็นผลพวงจากวัฒนธรรมการกินอยู่ร่วมกัน
ระหว่างชุมชนชาวจีนผู้มาใหม่ กับ ชาวไทยพื้นถิ่นดั้งเดิม
ที่มักมีอาหารหลักประจำครัวไม่ว่าจะภาคไหนถิ่นใด คือ “น้ำพริก”
ซึ่งสืบสาววัฒนธรรมการรับทานกลับไปได้ถึงครั้งกรุงสุโขทัย
ดังนั้น เมื่อชาวจีนซึ่งมี “ภูมิปัญญา” ในการแกะสลักหินมาอยู่ร่วม
ก็อาจได้สังเกต “ครก” แบบดั้งเดิมของพี่ไทย
ที่ตำได้ในระดับหนึ่ง แต่แตกหักเสียหายง่าย เพราะทำจากดินเผา
จึงเกิดไอเดียบรรเจิดประดิษฐ์ “ครกหิน” เอาใจ(กะตังค์)เจ้าถิ่น…รึปล่าววว??
อย่ากระนั้นเลยกับการเดา
อิฉันลองไปเลียบๆ เคียงๆ ถามอากู๋ดู ก็พบบทความที่น่าสนใจ
เรื่อง “ช่างแกะสลักหินอ่างศิลา(ทำครก)” โดยคุณที่ใช้นามว่า baby
ในบทความนั้นมีบทวิเคราะห์ สรุปในตอนท้าย
อิฉันก็เลยเดาๆ (… เอาอีกแล้ว ฮาาาาา) เอาว่า
น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย อัลไลปามานน้านนน
เนื้อหาบางส่วนของบทความนั้นแจ้งว่า
การแกะสลักหินอ่างศิลา มีจุดกำเนิดบริเวณแหลมแท่น ต.แสนสุข
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)
โดยมีการมาสกัดหินแกรนิตตรงโขดหินบริเวณชายหาดนั้น
และนำไปสร้างงานสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ
ต่อมาในปลายสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่แหลมแท่น
ในระยะแรกได้สกัดโขดหินบริเวณนั้นมาทำป้ายฮวงจุ้ย ทำโม่หิน
จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย
จึงเริ่มพัฒนามาแกะสลักหินทำเป็นครก
บทความนั้นยังได้พูดถึง…เหตุ…
ซึ่งอิฉันคาดว่าน่าจะเป็นเบื้องหลังของการย้ายฐานที่มั่น
ของการทำอาชีพสลักหินจากแหลมแท่น
ที่ต่างไปจากข้อมูลสัมภาษณ์ที่อิฉันยกมาก่อนหน้า
และดูเหมือนเหตุนี้…จะเป็นเหตุแห่งความจำเป็นที่ยิ่งกว่า
นั่นคือ มีการควบคุมการขุดตัดหินที่แหลมแท่น
จึงต้องขยับขยายที่ทำกินมาหาแหล่งหินแห่งใหม่
ซึ่งก็คือบริเวณด้านหลังวัดอ่างศิลานอก ที่อุดมไปด้วยหินแกรนิต
ในการการแกะสลักหินเพื่อทำเป็นครกนั้น
ยุคแรกได้พัฒนารูปแบบเลียนจาก “กระถางธูปของจีน”
ที่สังเกต คือ ครกอ่างศิลาของแท้ดั้งเดิม จะมีปุ่มนูนสองข้างคล้ายหูกระถางธูป
แต่ครกสมัยนี้ มีรูปแบบที่พัฒนาหลากหลายมากขึ้น
เช่น ทรงกลีบมะเฟือง ทรงสัปรด ทรงฟักทอง
และบางครั้งมีการตบแต่งลวดลายเพิ่มเติม
นอกจากรูปร่างหน้าตาของน้องครก ดังว่านั้น
ด้วยคุณสมบัติที่เหนือกว่า แข็งแรงทนทาน
ใช้งานได้ดีกว่าครกดินเผาไทยๆ แบบดั้งเดิม
สมัยหนึ่ง “ครกหิน” จึงเป็นที่หมายปองของแม่บ้านแม่เรือนอย่างมากมาย
นับตั้งแต่ราวๆ พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา
แต่ในยุคนั้นก็ใช่ว่าใครๆ จะได้ครอบครองกันง่ายๆ
ชนชั้นสูง กับผู้มีฐานะเท่านั้น ถึงจะมีโอกาสได้เชยชม “ครกหิน”
ซึ่งอาจจะเป็นด้วยปัจจัยของราคาประการหนึ่ง และที่สำคัญ
การจะไปท่องเทียวหัวเมืองชายทะเลในสมัยก่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
และในปัจจุบัน เมื่อหินอ่างศิลาเริ่มหมดไป
จึงจำเป็นที่จะต้องหาหินแกรนิตจากแหล่งอื่น
ซึ่งแม้จะเป็นหินที่มีคุณภาพด้อยกว่าก็จำเป็นต้องใช้ทดแทน
แต่ก็ใช่ว่า ของแท้ดั้งเดิมจะหาไม่ได้เสียทีเดียว
ทั้งนี้ ผู้ซื้อก็ต้องสังเกตความเป็น original ซึ่งก็ทำได้ไม่ยาก(รึเปล่า??)
ลักษณะพิเศษของครกหินอ่างศิลาแท้ ต้องเป็นหินแกรนิต
มีสีขาวนวล สีเทาอ่อน หรือ สีชมพูอมเหลือง ที่ชาวบ้านเรียกว่า เนื้อหินมันปู
มีเกล็ดเงินเป็นประกาย เนื้อหินเนียนเรียบ เมื่อลูบเนื้อหินต้องไม่สะดุดมือ
ไม่มีฝุ่นผงบนพื้นผิวและที่ก้นครก และหากได้นำพากลับไปถึงครัวเรือนแล้ว
ให้ทดสอบความแข็งแกร่งด้วยการตำ เมื่อตำแล้วต้องไม่เป็นทราย
ประการหลังนี้ หากเจอ ก็งานเข้าล่ะค่ะ ท่านผู้ชม
เพราะน้ำพริกฝีมือนาง จะออกอาการ…กรุบกรอบ…อย่าบอกใครเชีย ^^
สำหรับสนนราคาของครกหินอ่างศิลานั้น
เขาใช้วิธีคิดกันเป็นนิ้ว ตามเส้นผ่าศูนย์กลางของครก
เริ่มต้นกันตั้งแต่ ๒๐๐ ไปจนใบละ ๑,๐๐๐++ กันเลยทีเดียว
ฟังแล้วก็อาจจะตกอกตกใจกันไป แต่ถ้าเทียบกับฝีไม้ฝีมือ
คุณภาพ รวมทั้งวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำ คือ หินอ่างศิลา ที่หายากเข้าไปทุกวัน
ราคาที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับครกหินทั่วๆ ไป
ก็น่าจะพอช่วยคลายอาการตกใจไปได้บ้าง
แต่จะว่าไป ในยุคสมัยที่คุณแม่บ้านมีแต่ความเร่งด่วน…ถึงด่วน “เรือ” หาย
ที่มักนิยมบริโภค “แกงแกะ” หรือพูดอย่างมีรสนิยมว่า แกงบรรจุถุงพร้อม “แกะ”
อีกทั้งมีเครื่อง “บด” “สับ” “หั่น” “ซอย” ไว้ประดับครัวเรือน
ความนิยมในการซื้อครกหินอ่างศิลา ไว้ใช้คู่บารมีอย่างคุณแม่อิฉัน
ก็นับวันลดน้อยลงไปเช่นกัน อิฉันเข้าใจว่า ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้
คนส่วนใหญ่มักซื้อเป็นของฝาก ของเก็บสะสม กันเสียมากกว่า
ที่อิฉันว่ามาก็ต้องมากความ…เยอะแยะตาแป๊ะไก๋แระ
ไหนๆ ก็หลวมตัวอ่านมาจนนี่แระ
อีกสักนิดละกันนะเจ้าคะ
อิฉัน อุตส่าห์ถ่ายภาพขั้นตอนการทำเอามาขวาก
บังเอิญวันนั้น ขณะที่เดินเพลิดเพลิน ช็อป ชม ชิม ไปตลอดทาง
เหลือบไปเห็นป้ายแนะนำการทำครกฉบับย่ออันนี้เข้า
เลยเป็นเหตุทำให้อิฉันต้อง “ค้น” “คว้า” มาร่ายยาวเล่าสู่กันฟัง
ขั้นตอนการทำครกหิน ที่ดูจากฉบับมินินี่
ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาก…ถ้าเราเป็นช่างตีหินน่ะ ^^
เริ่มจากการสกัดหิน..ภาษาช่าง หรือ ตัดหิน..ภาษาเราๆ จากหินก้อนใหญ่ๆ
ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม สกัดผิวหน้าของหินให้พอเรียบเสมอกัน
นำมาโกลนรูปด้านข้างพอให้ได้รูปร่างของครก
เป็นเค้าโครงคร่าวๆ มีขนาด สัดส่วนตามที่ต้องการ
ที่มา และขอบคุณภาพ
จาก http://goo.gl/6zuFQ
หลังจากนั้นจึงใช้ไม้ฉาก และไม้กี๊
ชุบหมึกจีนลากเส้นตรงตัดกันเพื่อหาศูนย์กลาง
แล้วใช้วงเวียนไม้ไผ่แบบโบราณตั้งให้ได้ศูนย์กลาง
แล้วลากตามความกว้างและความยาวที่ต้องการ
สกัดหินโดยเจาะลงไปให้เป็นหลุมตามเส้นวงกลมรอบในให้ได้ขนาดตามต้องการ
พอได้ขนาดแล้วก็ใช้เหล็กสกัด สกัดผิวนอกครกให้เป็นทรงอย่างที่ต้องการ
เมื่อได้ส่วนโค้ง เว้า ลึก สมใจแล้วก็ส่งเข้าประกวด เอ้ยย…
แล้วหลังจากนั้นก็ขัดผิวครกด้านในให้เรียบพร้อมใช้งาน
การขัดผิวครกนี้ สมัยก่อนจะใช้ทรายใส่ลงไปในครก
ตำจนกว่าผิวครกด้านในจะเรียบเสมอกันซึ่งใช้เวลาหลายวัน
ปัจจุบันมีเครื่องทุ่นแรง คือ “เครื่องเจียหิน” ช่วยให้เร็วและทุ่นแรงได้มาก
เพียงเท่านี้ก็สำเร็จเสร็จเป็นน้อง “ครก”
ที่สำคัญ เอกลักษณ์ของครกหินอ่างศิลา
แบบของแท้ดั้งเดิม “ต้องมีสองหู” เท่านั้น
ส่วนอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ที่ใช้แกะสลักหินทำครกของช่างพื้นบ้านแบบดั้งเดิมนั้น
ส่วนใหญ่ก็จะเน้นการใช้ด้วยมือเป็นหลัก มีเครื่องทุ่นแรงไม่มากนัก
เครื่องมือบางชิ้นต้องทำเองเฉพาะตัวเพื่อจะได้ถนัดมือเจ้าของ
เครื่องมือที่ใช้หลักๆ มี ลิ่ม ค้อน จ๋ำ แต้ พก พง และต๊อก
นอกจากนี้ยังมีตัวช่วย เช่น ค้อนลบเหลี่ยม ค้อนเก็บละเอียด ไม้ลาก
วงเวียนโบราณทำจากไม้ไผ่ หมึกจีน น้ำ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก :
ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ เล่ม ๒. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔.
ภูมิปัญญาไทย.blogspot.com/2012/09/blog-post_7445.html
http://goo.gl/6zuFQ
http://goo.gl/mS15K
http://goo.gl/oEr6E
http://kanchanapisek.or.th/oncc-cgi/text.cgi?no=20250
http://panthita53040892.blogspot.com/2012/12/blog-post.html
http://www.biogang.net/blog/blog_detail.php?uid=17742&id=787
http://www.m-culture.go.th/ckfinder/userfiles/files/phoompanyathai/11.pdf
http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/45470 /ตึกมหาราช-จังหวัดชลบุรี/
http://www.oknation.net/blog/countrygirl/2012/04/27/entry-