ศัพท์สูง ชวนสงสัย
วันนี้ตรวจหนังสือใหม่ออกบริการ ก็ต้องสะดุดหยุดกึกกับหนังสือเล่มหนึ่งจึงเปิดดูเนื้อหาในเล่ม และพลิกไปหลายหน้าก็ไปพบกับคำแปลกใหม่และอลังการงานสร้าง พร้อมกับงุนงงสงสัยว่า คำที่พบนี้มันมีความหมายว่าอย่างไรหนอ?? ขอบอกว่าเป็นคำภาษาไทยค่ะ แต่ให้สงสัยเหลือประมาณว่าท่านนักวิชาการทางสังคมระดับ “ดร.” ทั้งหลาย ทำไมช่างไปสรรค์สร้างคำประเภท “ศัพท์สูง” มาใช้กันให้เวียนหัวสำหรับคนทั่วๆไปด้วย เจ้าคำที่ว่านี้ก็คือ “นวัตกรสังคม” ขอย้ำว่า นวัตกร ค่ะมิใช่ นวัตกรรม ตอนตรวจครั้งแรกก็คิดว่าท่านบรรณารักษ์เขาพิมพ์ผิด เพราะเคยเห็นแต่ นวัตกรรมสังคม จึงทำให้ต้องพลิกไปดูในตัวเล่มให้แน่ใจ แล้วก็ไปป๊ะกับคำอลังการอีกคำหนึ่งคือ “สุนทรียปรัศนี” โอ้!!แม่เจ้า จึงต้องไปอ่านคำแปลความหมายอีกชั้นหนึ่งของเจ้า ศัพท์สูง ที่ว่านี่ให้หายข้องใจ (แต่ไม่หายคันใจจ้ะ) โปรดอ่านความหมายของเขาดูค่ะ
“นวัตกรสังคม” หมายถึง บุคคลที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชนและสังคม และต้องทำงานร่วมกับบุคคลและกลุ่มบุคคลเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นตามที่ต้องการ (ยัง!!ยังไม่หมดนะจะบอกให้ ยังมีการขยายความอีกครึ่งหน้ากระดาษจ้า!! ไปหาอ่านเอาเองในหนังสือก็แล้วกันนะคะ)
“สุนทรียปรัศนี” หมายถึง การเสริมสร้างพลังชุมชนโดยการเรียนรู้ความสำเร็จ และร่วมค้นหาความฝันของชุมชนด้วยกัน โดยการใช้คำถามเชิงบวกเพื่อการมีส่วนร่วมโดยใช้ทุนทางสังคมของชุมชนเป็นฐาน
เป็นอย่างไรบ้างคะคำหรูเริ่ดซะขนาดนี้ ในเล่มยังมีคำว่า เครือข่ายแนวราบ เครือข่ายแนวตั้ง อีกนะ ท่านนักวิจัยทางสังคมคงรู้ความหมายกันดี แต่คนความรู้น้อยหรือชาวบ้านธรรมดาสามัญอย่างอิฉัน งง! และ งง! จ้า.. แล้วก็แปลกใจมั่กมากก..ว่าในเมื่อท่านนักวิจัยที่มากด้วยความรู้ทั้งหลายที่ต้องลงไปทำงานกับชาวบ้าน ต้องมีแบบสอบถาม,มีคำถามให้พวกเขาตอบ ใยต้องสรรค์สร้างคำหรูเลิศอลังการมาใช้ให้ลำบากลำบนทำไม?ขนาดนี้ สำหรับหนังสือที่ว่านี้เป็นของสถาบันพระปกเกล้า ที่บริจาคให้หอสมุดชื่อหนังสือ “นวัตกรสังคมคลองพน : ทุนทางสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เลขหมู่ HN700.55Z9C6ถ56