ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET)

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2556) ได้เข้าร่วมการสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 29 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ในการสัมมนามีหัวข้อที่น่าสนใจมากมายหลายเรื่อง แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง นั่นก็คือเรื่องของความร่วมมือในลักษณะที่เป็นเครือข่าย หรือข่ายงาน และข่ายงานหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงอยู่ตลอดในการสัมมนาก็คือ ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค หรือพูลิเน็ต (PULINET)
ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) เกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ซึ่งมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นประธาน ได้มีมติให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคร่วมกันคิดรูปแบบ “โครงการความร่วมมือ” ที่เหมาะสม โดยมอบหมายให้สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการหารือกับผู้บริหารห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ซึ่งในการหารือครั้งแรกมีห้องสมุด 5 แห่งคือ
1)  สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2)  สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
3)  หอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ปัจจุบันคือ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร)
4)  สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)
5)  กองห้องสมุด สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (ปัจจุบันคือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้)
รวมทั้งได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาในการจัดตั้งข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค เพื่อพิจารณาร่วมกันหาแนวทางพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศ การสร้างฐานข้อมูลร่วมกัน ให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อนาคต ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ร่วมกันทำกิจกรรม และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
สมาชิกในข่ายงาน
ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคได้ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 โดยในระยะเริ่มแรกใช้ชื่อว่า “โครงการจัดตั้งข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (A Plan for the Establishment of Provincial University Library Network – PULINET)”  จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2536 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (Provincial University Library Network – PULINET)” โดยมีสมาชิกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกข่ายงานจำนวน 12 ห้องสมุด  คือ
1)  สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2)  สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
3)  สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
4)  สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
5)  สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
6)  หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร
7)  สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้
8)  สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร
9)  สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา
10) สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
11) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
12) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ
หลังจากปีพ.ศ. 2536 มีห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่อยู่ในส่วนภูมิภาคเข้าร่วมเป็นสมาชิกในข่ายงานจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนรวม 20 แห่ง
13) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
14) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
15) สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
16) สำนักหอสมุด กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
17) สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยนครพนม
18) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา
19) ห้องสมุดมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
20) สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
การดำเนินงานของข่ายงาน
การดำเนินงานของข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคอยู่ในรูปของคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งมีผู้อำนวยการของแต่ละห้องสมุดเป็นกรรมการ เพื่อร่วมกันบริหารข่ายงาน และหมุนเวียนกันเป็นประธาน มีการเก็บค่าสมาชิกเพื่อใช้ในการบริหารข่ายงาน พร้อมทั้งมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีในการดำเนินงาน และมีคณะทำงานตามพันธกิจ ในปัจจุบันมี 5 คณะทำงานคือ คณะทำงานบริการ คณะทำงานวารสาร คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น คณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ และ คณะทำงานพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการดำเนินงานห้องสมุด โดยที่สมาชิกของข่ายงานต้องมีส่วนร่วมในแต่ละคณะทำงานด้วย
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 นี้ ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคจะมีอายุครบ 27 ปี นับว่าเป็นข่ายงานหนึ่งที่มีความมั่นคงมาอย่างยาวนาน และคงจะมีความยั่งยืน หากสมาชิกของข่ายงานยังคงมีความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งต่อไป
—————————————-
บรรณานุกรม
นรงค์ ฉิมพาลี.  (2556).  แนวโน้มในอนาคตของความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา

ในประเทศไทย ใน เอกสารประกอบการสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา

ครั้งที่ 29 มิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัย

ธรรมศาสตร์.

สุวันนา ทองสีสุขใส และอัจฉรา จันทสุวรรณ์, บรรณาธิการ.  (2539).  หนึ่งทศวรรษ ข่ายงานห้องสมุด

มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค.  ม.ป.ท. : ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค.

Provincial University Library Network : PULINET. (ม.ป.ป.).  วันที่ค้นข้อมูล

2 กุมภาพันธ์ 2556, จากข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค เว็บไซต์: http://

pulinet.thailis.or.th/web/main/

One thought on “ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET)

  • ว่างๆ จะออกข้อสอบให้บรรณารักษ์ตอบ อย่างน้อยก็ควรตอบได้ว่า หอสมุดของเราเข้าร่วมข่ายงาน รุ่นใด

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร