บวชหน้าไฟ
เมื่อวันหยุดสิ้นปี 4 วันตั้งใจว่าจะไปเที่ยววัน 2 วัน พอถึงวันที่ 30 ธ.ค. 55 คุณป้าซึ่งเป็นพีสาวคุณแม่ของข้าพเจ้าซึ่งเป็นป้าแท้ ๆ ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 91 ปี มีการการสวดพระอภิธรรมศพ 6 คืน เท่าที่สังเกตุเวลามีผู้เสียชีวิต จะมีญาติ ๆ ถามลูกหลานว่าใครจะบวชให้ผู้ตายบ้าง ทุกครั้งก็จะมีลูกหลานอาสาบวชให้ เพราะบวชตอนเช้าของวันเผาศพ สึกตอนเย็นเมื่อฌาปนกิจเสร็จ
การบวชสามเณรหน้าไฟ คือการบรรพชาสามเณร (บวชเณร) ที่นิยมบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายโดยปรกติการบวชหน้าไฟมักนิยมบวชกันในวันเผาศพ โดยการทำพิธีฌาปนกิจเสร็จก็สึก เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า บวชเช้าสึกเย็น ที่เรียกว่าบวชหน้าไฟจึงน่าจะมีสาเหตุมาจากบวชเพื่อเป็นเณรอยู่หน้าไฟเท่านั้่น
การบวชสามเณรหน้าไฟ เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาเป็นประเพณีนิยมโดยผู้บวชและญาติพี่น้องเชื่อว่าการบวชเณรหน้าไฟ จะทำให้ผู้ตายได้รับบุญมาก อีกประการหนึ่งการบวชเณรหน้าไฟกระทำได้ง่าย เพียงแค่โกนศีรษะและเตรียมจีวรเข้าหาอุปฌาย์ก็สามารถทำการบวชได้แล้ว ดังนั้นการบวชเณรจึงไม่ยุ่งยากเหมือนการบวชพระภิกษุซึ่งมีขั้นตอนในการรับรอง ในทางพระวินัยมากมาย คนทั่วไปจึงนิยมบวชเณรหน้าไฟมากกว่าบวชพระหน้าไฟ
ขั้นตอนของหลวงพ่อวัดบันไดทอง พระครูสิริพัชรานุโยค จังหวัดเพชรบุรี บวชเณรหน้าไฟ มีดังนี้ สอนขั้นตอนการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ขั้นตอนการกราบทั้งหมดมี 3 ขั้นตอนหลักคือ อัญชลี (การพนมมือไหว้ระหว่างอก) วันทา (การพนมมือจรดศีรษะ) และอภิวาท (การก้มลงกราบ) ต่อไปเป็นขั้นตอนท่านั่ง 1.นั่งชันเข่า 2.ระหว่างเข่าห่างประมาณ 1 ฝ่ามือ 3.นั่งหลังตรง ขั้นตอนท่าอัญชลี 1.นำมือทั้งสองมาพนมบริเวณหน้าอก 2.มือทั้งสองข้างอูมเพียงเล็กน้อยคล้ายดอกบัวที่ใช้บูชาพระ 3.นิ้วทั้ง 5 เรียงชิดติดกัน ขั้นตอนท่าวันทา 1.นำมือจรดศีรษะ นิ้วโป้งจรดประมาณหัวคิ้ว 2.ตัวตรง ขั้นตอนอภิวาท 1.กราบโดยสัมผัสพื้น ได้แก่ฝ่ามือ 2 หัวเข่า 2 หน้าผาก 1 2.ความห่างระหว่างฝ่ามือทั้ง 2 เท่ากับความกว้างของบริเวณหน้าผาก ข้อศอกต่อเข่า กราบทั้งหมด 3ครั้ง ต่อไปเป็นการบวช หลวงพ่อกล่าวเป็นภาษาบาลีให้ผู้บวชว่าตาม จนถึงขั้นตอนใกล้บวชเสร็จ หลวงพ่อจะถามว่ายินดีบวชใช่ไหม ผู้บวชเณรหน้าไฟ จะต้องตอบว่า ยินดีบวชครับ เสร็จพิธีพอดีฉันเพล พระและเณร ศีลไม่เท่ากัน ไม่ได้นั่งฉันอาหารร่วมกัน ต่อจากนั้นเณรจะต้องนั่งอยู่ในพิธีที่จะเผาศพ จนเสร็จพิธี เณรจึงสึก