รอบรั้วองค์พระปฐมเจดีย์

ในจังหวัดนครปฐม ศูนย์รวมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีคนรู้จักมากที่สุดคือองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งถ้ากล่าวแล้วในจังหวัดเรามีสถานที่ทางประวัติศาสตร์อีกมากมายหลายสถานที่ ที่พวกเราควรกล่าวถึง หรือช่วยกันดูแล บูรณะให้สมบูรณ์ คงทน สวยงามและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สู่ลูกหลานในอนาคตต่อไป
องค์พระปฐมเจดีย์
เป็นปูชนียสถานสำคัญประจำจังหวัดนครปฐม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สันนิษฐานว่าสร้างครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 3 และได้บูรณะปฏิสังขรณ์ต่อมาอีกหลายสมัย ในพ.ศ.2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเจดีย์ทรงระฆังครอบไว้ เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นที่รู้จักและเลื่อมใสศรัทธาของคนทั่วไป
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
ตั้งอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน เป็นมรดกของชาวนครปฐม ที่เก็บรวบรวมไว้ตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนใหญ่เป็นศิลปะสมัยทวารวดีที่มีอายุราวพ.ศ.1100-1500
สะพานเจริญศรัทธา
เดิมเป็นสะพานไม้ข้ามคลองเจดีย์บูชาจากสถานีรถไฟนครปฐม มายังองค์พระปฐมเจดีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้   สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบสร้างใหม่ เมื่อพ.ศ. 2461พระราชทานนามว่า “สะพานเจริญศรัทธา” นับเป็นสะพานปูนแห่งแรกของจังหวัดนครปฐม ด้วยเหตุที่สะพานนี้ประดับด้วยภาพปูนปั้นรูปยักแบก เลียนแบบศิลปะทวารวดี ทำให้คนทั่วไปเรียกว่า“สะพานยักษ์” เป็นจุดที่สร้างมุมมอง เสริมให้องค์พระปฐมเจดีย์สง่างามยิ้งขึ้น
พระราชวังสนามจันทร์

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับนอกพระนคร เริ่มสร้างเมื่อพ.ศ.2447ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอร สาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ประกอบด้วยพระที่นั่งและตำหนักทับขวัญ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังค์ ในปัจจุบันสำนักพระราชวังได้ดำเนินการบูรณะและเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทุกวัน

พระประโทณเจดีย์

  • อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 5กิโลเมตรเป็นโบราณสถานสำคัญคู่กับองค์พระปฐมเจดีย์ ส่วนฐานสี่เหลี่ยมและยอดพระปรางค์เป็นส่วนที่มาสร้างเพิ่มเติมสมัยหลัง โดยสร้างซ้อนทับบนเนินดินที่เป็นซากโบราณสถานสมัยทวารวดี(ราวพ.ศ.1100-1500) เจดีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครปฐม ได้พบหลักฐานโบราณวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาที่ทำจากหิน ดินเผา และปูนปั้นจำนวนมาก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ และที่อื่นๆ

จุลประโทนเจดีย์

  • อยู่ห่างจากพระประโทณเจดีย์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ500เมตร เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี(ราวพ.ศ.1100-1500)ทำการขุดค้นทางโบราณคดีพ.ศ.2482และพ.ศ.2513พบว่าเป็นเจดีย์ที่มีฐานสี่เหลี่ยมประดับส่วนฐานด้วยภาพที่ทำจากปูนปั้นและดินเผา เล่าเรื่องชาดกในพุทธศาสนาสะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อและวิถีชีวิตของคนนครปฐมโบราณในสมัยทวารวดี หลักฐานสำคัญเหล่านี้ส่วนใหญ่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ยังคงอยู่แต่เนินอิฐแห่งนี้ที่นับวันจะเสื่อมสลายไปโดยเปล่าประโยชน์ หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนนครปฐม

วัดพระเมรุ

  • อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ1กิโลเมตร เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี(ราวพ.ศ.1100-1500) ทำการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อพ.ศ.2481เดิมเป็นสถูปกลม ตรงกลางมีฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาประทับนั่งปางประธานขนาดใหญ่ ทำจากหินอ่อนสีขาว 4 องค์ และทำจากปูนสีเขียว 1 องค์ โบราณสถานแห่งนี้ในอดีตคงมีความยิ่งใหญ่ไม่น้อย น่าเสียดายที่ด้านทิศใต้ของเจดีย์ ถูกถนนเพชรเกษมพาดผ่านและปัจจุบันมองเห็นเป็นเพียงเนินอิฐ หินเท่านั้น

วัดพระงาม

  • อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี(ราวพ.ศ.1100-1500)ที่ยังไม่เคยทำการขุดค้นทางโบราณคดี สภาพปัจจุบันเป็นเนินดินขนาดใหญ่ที่มีต้นไม้ปกคลุม น่าเสียดายที่ด้านทิศเหนือของเนินถูกทางรถไฟสายใต้พาดผ่านไป ทำให้ตัวโบราณสถานถูกทำลายไปซีกหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า”เพราะพระพุทธรูปดินเผาที่ขุดได้ในบริเวณนี้มีฝีมืองามเป็นเลิศจึงทำให้ได้ชื่อว่า “วัดพระงาม”

เนินพระ

  • อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 10 กิโลเมตร ในเขตตำบทดอนยายหอมชาวบ้านรู้จักกันในนาม “โคกยายหอม” เป็นโบราณสถานสมัยทวารวดี(ราวพ.ศ.1100-1500)ทำการขุดค้นทางโบราณเมื่อ พ.ศ.2480และพ.ศ.2511 หลักฐานสำคัญที่พบ คือ ธรรมจักรศิลาพร้อมเสาแปดเหลี่ยม และกวางหมอบ เป็นสัญลักษณ์ของปรางปฐมเทศนา หากได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีและพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียง จะทำให้พุทธสถานแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

 
สระน้ำจันทร์

  • อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ1กิโลเมตร เป็นสระน้ำโบราณมีพื้นที่10ไร่เศษ คนทั่วไปรู้จักกันในนามว่า “สระบัว” ได้พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวกันว่าในสมัยโบราณ ครั้งนครปฐมเป็นราชธานี ได้ใช้น้ำในสระนี้ประกอบพิธี เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคลมาแล้ว กระทั้งทุกวันนี้ น้ำในสระน้ำจันทร์ยังเป็นหนึ่งในน้ำที่ใช้ในพิธีสำคัญ อาทิ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ปัจจุบันชาวนครปฐมได้อาศัยสระน้ำจันทร์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

ที่มา ข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร