การผูกเสี่ยวที่ขอนแก่น


 
 
ลองมาศึกษาประเพณีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูกันบ้างค่ะ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2555 ได้เข้าประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการ คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับหัวหน้างานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ในตารางการฝึกอบรมมีหัวข้อการฝึกปฏิบัติการเก็บรวบรวมข้อมูลท้องถิ่นและถ่ายภาพนอกสถานที่ (เทศกาลงานไหมและประเพณีผูกเสี่ยว) เทศกาลงานไหมฟังแล้วพอเข้าใจอยู่บ้าง แต่ประเพณีผูกเสี่ยวนี้เป็นอย่างไร?  ลองมาติดตามดูกันค่ะ
สำหรับปีนี้มีนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และมีการแสดงของนักเรียนในพิธีเปิดด้วยค่ะ การผูกเสี่ยวหรือพิธีผูกเสี่ยว จัดเป็นประเพณีเก่าแก่และดีงามพิธีหนึ่งของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่เราคุ้นเคยกันว่าชาวอีสาน ที่ได้ประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานานนับศตวรรษประเพณีผูกเสี่ยวเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
คำว่า เสี่ยว เป็นภาษาอีสานแท้ๆ ซึ่งชาวอีสานทุกคนต่างมีความซาบซึ้งกับคำๆนี้เป็นอย่างดีและเป็นคำที่มีความหมายไปในทางที่ดีงามอีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ชาวภาคอื่นๆยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า  เสี่ยว และนำไปใช้ในทางที่ผิดๆเช่นเข้าใจว่าเสี่ยวหมายถึง พวกบ้านนอกคอกนา พวกโง่เง่าเต่าตุ๋น เป็นต้น
แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า “เสี่ยว”เป็นคำที่มีความหมายในทางที่ดีงาม เพราะหมายถึง มิตรแท้ เพื่อนแท้หรือเพื่อนตายซึ่งมีความซื่อสัตย์ความจริงใจต่อกัน มีความผูกพันทางด้านจิตใจกันอย่างจริงใจและเต็มใจ ไม่มีอำนาจใดๆจะมาพรากให้จากกันได้แม้แต่ความตาย ทั้งนี้ความผูกพันของเสี่ยวนี้ไม่มีเฉพาะกับเสี่ยวเท่านั้น หากมีความหมายผูกพันเชื่อมโยงไปถึงครอบครัว ญาติ พี่น้อง และหมู่บ้านของเสี่ยวด้วย
คำว่า “เสี่ยว”หมายถึง “เพื่อนรัก” เพื่อนสนิทที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขที่เกื้อกูลกันมาและเอื้ออาทรต่อกัน มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเหมือนญาติสนิท บางทีเรียกว่าคนอีสานจำเป็นต้องมีเพื่อนสนิทคือ เสี่ยว ไว้ทุกคน เพราะการเดินทางไปมาหาสู่กันต้องนอนค้างหมู่บ้านต่างๆ หรือคราวมีเทศกาลงานบุญสำคัญเกิดขึ้น เช่น บุญบั้งไฟ บุญเข้าพรรษา บุญกฐิน เป็นต้น เสี่ยวทั้งหลายก็จะได้ไปเยี่ยมยามถามข่าวกันและพักนอนด้วยกัน ถ้าลูกผูกเสี่ยว บิดามารดาก็จะกลายเป็นญาติสนิทกัน ซึ่งลูกๆจะเรียกพ่อแม่ได้อย่างสนิทใจ ถ้าพ่อแม่ผูกเสี่ยวกับใคร ลูกๆจะเรียกพ่อเสี่ยวแม่เสี่ยวตามไปด้วย
การผูกเสี่ยว ก็คือ การนำบุคคลสองคนมาผูกพันกันเป็นมิตรกัน หลักเกณฑ์ในการเลือกคู่เสี่ยวนั้น ปกติแล้วมักจะเลือกเพศเดียวกัน ชายก็มีคู่เสี่ยวเป็นชาย หญิงก็มีคู่เสี่ยวเป็นหญิงนอกจากนี้คู่เสี่ยวต้องมีลักษณะ ท่าทางรูปร่าง หน้าตา อายุ อารมณ์ จิตใจ บุคลิกภาพ ทัศนคติ ที่คล้ายคลึงกันหรือเหมือนกันอีกด้วย ญาติผู้ใหญ่ที่สองฝ่ายก็จะจัดพิธีผูกเสี่ยวให้โดยใช้เส้นฝ้ายผูกข้อมือของคู่เสี่ยวแต่ละคน พร้อมทั้งให้โอวาทและอวยพรให้ทั้งคู่เป็นเพื่อนตายต่อกัน
การผูกเสี่ยว เป็นสายสัมพันธ์แห่งความรัก ถ้าคนเรามีแต่ความรักมีแต่มิตรไม่มีศัตรูโลกจะมีแต่สันติสุข การผูกเสี่ยวจึงเป็นฐานมิตรภาพที่ให้คนทั้งโลกหันมาเป็นมิตรกัน
จังหวัดขอนแก่นได้ผนวกประเพณีผูกเสี่ยวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำปีของจังหวัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 ในชื่อว่า “เทศกาลงานไหมและประเพณีผูกเสี่ยว ปี พ.ศ.2523 ” และนับจากนั้นมาจังหวัดขอนแก่นได้จัดประเพณีผูกเสี่ยวเป็นงานประจำปีของจังหวัดมาจนทุกวันนี้
ข้อมูล : องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น สำนักปลัด ฝ่ายพัฒนาสังคม กองการศึกษาฯฝ่ายส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม
ดูข้อมูลเพิ่มเติม www.kkpao.go.th

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร