นักเขียนรางวัลซีไรต์ผู้จากไป

     ประเทศไทยเรามีการมอบรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ รางวัลซีไรต์ มาแล้ว 33 ปี ปีนี้เป็นปีที่ 34 ซึ่งยังไม่ได้ตัดสินว่าผู้ใดจะได้รับรางวัลนี้ และห้วงเวลาที่จะตัดสินรางวัลก็อยู่ในเดือนกันยายนนี้เช่นกัน ในช่วง 33 ปีที่ผ่านมานั้นเรามีนักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์รวม 31 คน โดยมีผู้ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ถึงสองครั้งอยู่สองคนคือ ชาติ กอบจิตติ (ได้รับปีพ.ศ. 2525 และปี 2537) และวินทร์ เลียววาริณ (ได้รับปีพ.ศ.2540 และปี 2542) รางวัลนี้ประเทศไทยเป็นผู้ก่อตั้งและเริ่มมอบรางวัลมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522  ในห้วงเวลา 34 ปีนี้เราได้สูญเสียนักเขียนเจ้าของรางวัลอันทรงคุณค่านี้ไปถึง 4 ท่านแล้ว
    เริ่มจาก คำพูน บุญทวี เจ้าของรางวัลซีไรต์คนแรก ของปีพ.ศ. 2522 ท่านเกิดเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ที่จังหวัดยโสธร เสียชีวิตเมื่อ 4 เมษายน พ.ศ. 2546 รวมอายุ 75 ปี ท่านได้รับรางวัลซีไรต์จากนวนิยายเรื่อง ลูกอีสาน ซึ่งเรื่องนี้เคยได้รับรางวัลดีเด่นประเภทนวนิยายมาก่อนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ. 2519 แล้วยังได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้วย ทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่นและภาษาฝรั่งเศส นอกจากนั้นยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2525 อีกด้วย นอกจากเรื่องลูกอีสานแล้วยังมีนวนิยายที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คำพูน บุญทวี อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง นายฮ้อยทมิฬ เรื่องนี้ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ. 2520 แล้วถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เช่นกัน นอกจากท่านจะเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์แล้ว ท่านยังได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2544
   ท่านที่สองคือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปีพ.ศ. 2539 จากหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง แผ่นดินอื่น เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 เป็นชาวพัทลุง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ด้วยโรคไข้หวัดและปอดติดเชื้อ รวมอายุ 40 ปี นอกจากนั้นกนกพงศ์ ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลอื่นด้วยจากเรื่องสั้นเรื่อง สะพานขาด ได้รางวัลช่อการะเกด ปีพ.ศ. 2532 และเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติประจำปี 2535 อีกด้วย
   ท่านที่สามคือ วาณิช จรุงกิจอนันต์ เจ้าของรางวัลซีไต์ประจำปีพ.ศ. 2527 จากหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง ซอยเดียวกัน เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2491 เป็นชาวบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ด้วยโรคลูคีเมียเฉียบพลัน รวมอายุ 62 ปี วาณิช จบปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร มีผลงานที่ได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือมากมายหลายเล่มและหลายปี เช่น เด็กชายกมลเที่ยวบ้านทุ่ง (ปี 2521)/ เขี้ยวสิงโต (ปี 2522)/ แม่หนูผู้กล้าหาญ (ปี 2523)/ เลาะยุโรป (ปี 2525)/ แม่เบี้ย (ปี 2530) แล้วยังมีรางวัลอื่นๆอีก ผลงานหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่นเรื่อง แม่เบี้ย เคหาสน์ดาว ตุ๊กตา เป็นต้น วาณิชมีความสามารถในการเขียนหนังสือได้แทบทุกรูปแบบทั้ง บทกลอน เรื่องสั้น นิยาย หนังสือสำหรับเด็ก สารคดี บทละครโทรทัศน์ บทภาพยนตร์ งานเขียนต่างๆนี้มีตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในนิตยสาร หนังสือพิมพ์และเป็นรูปเล่มหนังสือมากมาย
    ท่านที่สี่คือ อังคาร กัลยาณพงศ์ เจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปีพ.ศ. 2529 จากกวีนิพนธ์เรื่อง ปณิธานกวี  เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 เป็นชาวนครศรีธรรมราช เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555  รวมอายุ 86 ปี ท่านจบจากคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ได้เรียนกับท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี นอกจากนี้ท่านยังเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ดีเด่น ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป เมื่อปีพ.ศ.2515  ท่านได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์(กวีนิพนธ์) เมื่อปีพ.ศ. 2532 ท่านเป็นทั้งกวีและเป็นจิตรกรด้วย
     ตามที่นำเสนอมาจะเห็นว่าสองในสี่ท่านที่จากไปนี้เป็นศิษย์เก่าของศิลปากรเราถึงสองท่าน แล้วยังมีนักเขียนที่เกิดในจังหวัดภูมิภาคตะวันตกด้วยหนึ่งท่านคือคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร