ครบรอบ ๑๕๐ ปี วันพระราชสมภพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา) ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ แรม ๒ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. ๑๒๒๔ ตรงกับวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นพระเจ้าลูกเธอองค์ที่ ๖๐ ในจำนวนพระราชโอรสและพระราชธิดา ๘๒ พระองค์
พระองค์ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ พระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม ๘ พระองค์ ดังนี้
๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (ในปีพ.ศ. ๒๔๒๙ ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย)
๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา
๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
๕. สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
๖. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ
๗. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
๘. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม)
พระราชโอรสและพระราชธิดา ๖ พระองค์ (ลำดับ ๑, ๒, ๓, ๔, ๖ และ ๘) สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ด้วยความเข้มแข็งและการเข้าซึ้งถึงแก่นแห่งธรรมะ ทำให้ทรงผ่านพ้นความทุกข์โศกอันใหญ่หลวงนี้ และทรงดำรงมั่นในการทรงงานเพื่อส่วนรวม พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ เช่น
ด้านการศึกษา พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในการพัฒนามนุษย์ ทรงเล็งเห็นคุณค่าของความรู้ และความสำคัญของการศึกษา ดังพระราโชวาทว่า “วิชานี้พระบาลีท่านยกย่องว่าดีกว่ามีทรัพย์ ส่วนมีทรัพย์อาจมีโจรภัยมาแย่งชิงไปได้ ถ้ามีวิชาแล้วโจรจะมาทำลายแย่งชิงไม่ได้” ทรงพระราชดำริว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพและช่วยพัฒนาประเทศ ทรงส่งเสริมการศึกษาทุกระดับ ทรงสนับสนุนสตรีให้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนในระดับสูง ทรงเน้นให้ศึกษารอบด้าน ไม่เพียงแต่ความรู้ในห้องเรียน ทรงมีพระราชกรณียกิจทั้งด้านการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ทรงตั้งโรงเย็บผ้า สอนการทอผ้า ตั้งโรงสีข้าว เป็นต้น
ด้านการแพทย์ พระองค์ทรงตระหนักของความสำคัญของการแพทย์ การอนามัยเพื่อปวงชน ทรงช่วยเกื้อหนุนการรักษาพยาบาลแบบตะวันตกในสังคมไทย รวมทั้งได้พระราชทานความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้เจ็บป่วย พระองค์ทรงริเริ่มงานเกี่ยวกับ การก่อตั้งสถานพยาบาล หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ (นับเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในสังคมไทย) สภาอุณาโลมแดง-สภากาชาดไทย และยังทรงสนับสนุนการจัดสร้างโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรก ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระราชโอรส) สนพระทัยและอุทิศพระชนม์ชีพเพื่อพัฒนาการแพทย์ และการสาธารณสุขไทย
ด้านการศาสนา พระองค์ทรงมีพระราชอัธยาศัยใฝ่รู้ และสนพระราชหฤทัยศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยทรงเลื่อมใสศรัทธา และได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อทำนุบำรุงพระศาสนาอยู่เสมอ
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงดำรงพระชนม์ชีพยืนยาว จากรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๙ รวม ๖ แผ่นดิน ทรงผ่านทั้งความสุข ความทุกข์โศกใหญ่หลวง ทรงดำรงพระเกียรติยศอย่างเหมาะควรในทุกสถาน พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ วังสระปทุม ด้วยพระอาการพระหทัยวาย รวมพระชนมายุ ๙๓ พรรษา ๓ เดือน ๗ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และมีพระราชพิธีถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙
ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ ๓๖ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ได้ประกาศยกย่อง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (สาธารณสุข) การอนุรักษ์พัฒนาวัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ในวาระครบรอบวันพระราชสมภพ ๑๕๐ ปี วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕
——————————-
บรรณานุกรม :
มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. (2549). ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มูลนิธิฯ.
สมภพ จันทรประภา. (2551). สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : ศยาม.
ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล และ อมลวรรณ คีรีวัฒน์. (2555). สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. เข้าถึงเมื่อ 7 กันยายน 2555, จาก http://www.queensrisavarindira.net/th/history.php