เทคนิคการถ่ายภาพ
เห็นรูปที่พี่ๆหอสมุดฯถ่ายภาพจากการไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่ละภาพที่ถ่ายออกมาดูแล้วสวย มีมิติ จึงลองถ่ายดูบ้างแต่ปรากฏว่าถ่ายไม่ได้เรื่องซักที จนกระทั่งได้เข้าอบรมการถ่ายภาพที่จัดโดยหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ วิทยากรที่มาแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพในครั้งนี้คือ คุณสมภพ แสนสมบูรณ์สุข โดยได้แนะนำเริ่มตั้งแต่ประเภทของกล้อง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ กล้อง compact เป็นกล้องที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้ มีขนาดเล็ก พกพาได้สะดวก มีความคล่องตัว ราคาไม่แพง และที่สำคัญใช้งานง่าย และอีกประเภทหนึ่งคือ กล้อง DSLR คือกล้องขนาดใหญ่ที่มีราคาค่อนข้างสูง ต้องมีกระเป๋าใส่เฉพาะ เนื่องจากมีอุปกรณ์เสริมมากมาย เป็นกล้องที่มีความสามารถในการถ่ายภาพสูง สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ ผู้ใช้กล้องประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นช่างถ่ายภาพมืออาชีพหรือผู้ที่สนใจเป็นพิเศษ
ลักษณะทั่วไปของกล้องจะมีโหมดการถ่ายภาพที่คล้ายคลึงกัน คือ
– โหมดอัตโนมัติ (A) เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้เรื่องกล้องเล็กน้อย เพราะระบบกล้องจะตั้งค่าให้เรียบร้อยแล้ว
– โหมดโปรแกรม (P)
– โหมดปรับรูรับแสง (AV) สามารถปรับรูรับแสงของกล้องได้ตามความต้องการ เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้เรื่องรูรับแสงของกล้อง ส่วนใหญ่ใช้ถ่ายภาพคนเป็นหลัก
– โหมดปรับความเร็วชัตเตอร์ (SV/TV) เหมาะกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว เช่น การถ่ายภาพนักกีฬา รถแข่ง เป็นต้น
– โหมด Manual เป็นการปรับตั้งค่าด้วยตนเองและโหมดการถ่ายภาพตามสถานการณ์ เป็นต้น
การตั้งค่าต่างๆของกล้อง
– ความไวแสง มีผลต่อการตั้งค่ารูรับแสง การปรับค่า iso เมื่อกำหนด iso สูง ความเร็วชัตเตอร์ก็จะสูงขึ้นตาม ยิ่งปรับ iso สูงมากเท่าใด สัญญาณรบกวน(noise)ในภาพจะมีสูงเช่นกัน เหมาะกับการถ่ายภาพในที่แสงน้อย
– รูรับแสง เป็นการควบคุมให้แสงไปตกที่เซ็นเซอร์รับภาพ ค่า (f) มีค่าตัวเลขน้อย หมายถึง การเปิดรับรูรับแสงกว้าง ทำให้แสงสามารถตกกระทบได้มาก หากค่า (f) มีค่าตัวเลขมาก รูรับแสงน้อย จะทำให้ภาพชัด มักใช้กับการถ่ายภาพประเภทที่ต้องการเน้น เช่น หน้าชัดหลังเบลอ เป็นต้น
– ความเร็วชัตเตอร์ คือการกำหนดค่าความเร็วในการเปิด-ปิดรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์สูงจะทำให้ได้ภาพการเคลื่อนไหวจะนิ่งมาก ภาพที่กำลังเคลื่อนไหวจะนิ่งมาก
มุมมองในการถ่ายภาพ มีดังนี้
– จุดตัด 9 ช่องและกฎ 3 ส่วน เป็นการถ่ายภาพให้จุดเด่นของภาพอยู่ในบริเวณเส้นตัด
– เส้นนำสายตา คือการถ่ายแบบมีแนวเส้น จุด แสง นำไปหาวัตถุที่ต้องการให้เด่น
– เงาสะท้อนของภาพ คือ การถ่ายภาพสะท้อนของน้ำ เช่น การถ่ายภาพโบราณสถาน เจดีย์ที่ตั้งอยู่ริมน้ำ เป็นต้น
– การถ่ายภาพย้อนแสง เช่นการถ่ายภาพบรรยากาศช่วงพระอาทิตย์กำลังตก เป็นต้น
– การถ่ายภาพขาว-ดำ เหมาะกับการถ่ายอาคารสิ่งก่อสร้างเก่าๆ
– การถ่ายภาพ pattern เช่น การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม
– การสร้างกรอบให้ภาพ เป็นการปิดพื้นที่ว่างเกินไป และเพิ่มความโดดเด่นให้วัตถุ
– Close up เป็นการถ่ายภาพที่ต้องการเน้นเฉพาะส่วน
– มุมกดและมุมเสย เป็นการถ่ายที่จะทำให้ได้ภาพถ่ายในรูปแบบที่แปลกไป การถ่ายภาพมุมเสย คือ การนั่งยองๆ หรือย่อตัวแล้วกระดกหน้ากล้องขึ้นเพื่อถ่ายในมุมเสย เช่น การถ่ายต้นไม้ใหญ่ ต้องการให้เห็นตั่งแต่โคนที่ใหญ่มหึมาไปจนถึงยอดไม้ การถ่ายมุมกด คือการยกกล้องขึ้นสูงเหนือศีรษะแล้วกดหน้ากล้องลง เช่นการถ่ายภาพฝูงชน
“We are not photographer but we are memory capturer” ท่านวิทยากรได้ให้ข้อเสนอไว้ว่า เราไม่ได้เป็นช่างถ่ายภาพ แต่เราเป็นเพียงผู้บันทึกความทรงจำ แม้ว่าเราจะไม่มีความรู้มากมายเท่าช่างภาพมืออาชีพ แต่เราสามารถถ่ายภาพได้โดยที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคนิคการถ่ายภาพมากมาย แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้เรื่องเทคนิคการถ่ายภาพมากมายแต่หากขาด “มุมมอง” ภาพที่ได้อาจขาดมิติ ขาดความมีชีวิตชีวา เป็นต้น วิทยากรจึงเน้นย้ำเสมอว่า “มุมมองสำคัญกว่าเทคนิค“และที่สำคัญและต้องไม่ลืมในการถ่ายภาพคือ ก่อนที่เราจะกดชัตเตอร์แต่ละครั้งต้องระลึกไว้เสมอว่า ภาพที่จะถ่ายต้องการจะนำเสนออะไร จุดเด่นในภาพคืออะไร และจุดมุ่งหมายในการถ่ายภาพคืออะไร
จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ คือการลงพื้นที่ถ่ายรูปจริงโดยเลือกสถานที่บริเวณสระแก้ว แต่ละคนต่างก็ไปหามุมที่ตนชื่นชอบ จากนั้นนำภาพที่แต่ละคนถ่ายมาดู พร้อมกับคำแนะนำของวิทยากร งานนี้มีทั้งเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเจ้าของภาพและบุคคลที่เป็นนายแบบนางแบบทั้งแบบตั้งใจและแอบถ่าย และที่สำคัญทำให้ได้รู้ว่ามีหลายมุมมองในการถ่ายภาพ แต่ละมุมเหมาะกับภาพประเภทไหน จากเดิมที่หยิบกล้องได้ปุ๊บก็กดแช๊ะทันที
One thought on “เทคนิคการถ่ายภาพ”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
น่าจะมีภาพตัวอย่างที่ถ่ายไว้ เอามาให้ชมบ้างนะ…