โรคนิ้วล็อก(2)

หนึ่งปีเศษๆ ผ่านไป เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2554ได้นำความรู้เรื่องโรคนิ้วล็อก มาเล่าสู่กันฟัง กล่าวถึงอาการของโรค ผู้เสี่ยงต่อโรค วิธีการรักษา พร้อมได้แนะนำหนังสือที่หอสมุด พระราชวังสนามจันทร์ มศก. ซื้อมาให้บริการในหมวด RC 73.6 ว 62 ณ อาคารหอสมุดฯ ชั้น 2   และยังได้รับความคิดเห็นพร้อมข้อมูลความรู้เพิ่มเติมจากเพื่อนอีก 2 ท่าน  คือคุณบุญตาและคุณเอกอนงค์ ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ และในBlog อื่นๆ ก็ต้องขอขอบพระคุณท่านอื่นๆที่แสดงความคิดเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
วันนี้ขอนำความรู้เพิ่มเติมโรคนิ้วล็อก ที่อ่านพบในนิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 34 ฉบับที่ 400 เดือนสิงหาคม 2555 หน้า 10 – 18 เรื่องโดย รศ.นวลอนงค์ ชัยปิยะพร คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจะขอนำเฉพาะบางส่วนมาเพิ่มเติมดังนี้
นิ้วไหนล็อกได้บ้าง
อาการนิ้วติดหรือนิ้วล็อก จะเกิดขึ้นที่นิ้วมือนิ้วใดนิ้วหนึ่งได้ทุกนิ้ว โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ ที่มีความสำคัญ ทำงานได้หลายลักษณะ พบว่าเกิดนิ้วล็อกมากที่สุด รองลงมาพบที่นิ้วนาง นิ้วกลาง และนิ้วชี้ ส่วนนิ้วก้อยพบน้อยที่สุด สำหรับนิ้วเท้า ยังไม่มีข้อมูลใดพบนิ้วเท้าติดล็อก
กล้ามเนื้อฝ่ามือ เป็นกล้ามเนื้อชิ้นเล็ก เกาะอยู่บริเวณฝ่ามือ มีทั้งหมด 20 มัด แบ่งตามที่อยู่ได้ 3 กลุ่ม
1.กลุ่มกลางฝ่ามือ เป็นกล้ามเนื้อชิ้นเล็กยาวเรียว คล้ายใบไม้แทรกอยู่ระหว่างกระดูกฝ่ามือ ทำหน้าที่กางนิ้ว หุบนิ้วและงอโคนนิ้วตั้งฉากกับฝ่ามือ
2.กลุ่มด้านนิ้วหัวแม่มือ ทำหน้าที่กาง หุบ ยก เหยียด และยกนิ้วหัวแม่มือไปแตะปลายนิ้วก้อยและนิ้วอื่นๆ
3.กลุ่มด้านนิ้วก้อย ทำหน้าที่กางนิ้ว งอข้อต่อกลางนิ้ว และยกปลายนิ้วก้อยไปแตะปลายนิ้วหัวแม่มือ
นิ้วหัวแม่มือ มีความพิเศษกว่านิ้วอื่น คือมีกล้ามเนื้อเกาะที่โคนนิ้วถึง 5 มัด มีกระดูกนิ้วเพียง 2 ชิ้น ทำให้ไม่เกะกะ อยู่ในตำแหน่งที่เคลื่อนไหวสะดวก ทำงานได้หลายรูปแบบ ที่สำคัญสามารถเคลื่อนนิ้วเป็นวงผ่านฝ่ามือไปแตะปลายนิ้วและลูบสัมผัสนิ้วทั้ง 4 ทั้งด้านหน้าและด้านหลังได้
วงจรการเกิดนิ้วล็อก
เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เมื่อมีเกิด ย่อมมีเสื่อม มีดับไปตามวาระ การเสียดสีไปมาของเส้นเอ็นกับปลอกหุ้มเส้นเอ็น(อุโมงค์) ขณะที่งอหรือเหยียดนิ้ว เส้นเอ็นหรืออุโมงค์อาจบาดเจ็บหรืออักเสบได้ เมื่อเกิดซ้ำๆ เส้นเอ็นหรืออุโมงค์จะปรับต้วหนาขึ้น เส้นเอ็นจะสูญเสียความยืดหยุ่น ประกอบกับช่องอุโมงค์ที่แคบเข้า ส่งผลให้เส้นเอ็นลอดผ่านอุโมงค์ลำบากยิ่งขึ้น ถ้าฝืนใช้นิ้วมือที่เจ็บ จะทำให้ตำแหน่งที่เส้นเอ็นเคลื่อนเสียดสีกับอุโมงค์อักเสบและบวมมากขึ้น ที่สุดจะปรับตัวหนาเป็นปม ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนลอดผ่านอุโมงค์ลำบากและเกิดความเจ็บปวดมากขึ้น ถ้าพยายามเหยียดนิ้วต่อไปจะเกิดเสียงดัง ” ป๊อป.” คล้ายเสียงไกปืนลั่น เป็นสัญญาณว่าปมเส้นเอ็นปลิ้นลอดผ่านอุโมงค์ได้แล้ว นิ้วจึงเหยียดได้
ความพยายามจะงอหรือเหยียดนิ้ว ทั้งๆที่ทำด้วยความยากลำบาก ทำให้บริเวณนั้นอักเสบและบวมมากขึ้น เป็นวงจรของการเกิดนิ้วล็อก อักเสบ บวม งอได้ เหยียดไม่ออก เมื่อไม่ได้รับการรักษานิ้วนั้นจะติดในท่างอเหยียดไม่ได้ถาวร
การป้องกันนิ้วล็อก
การป้องกันก็เป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยอาศัยพื้นฐานที่เกิดจากการคาดเดาปัญหาและต้นเหตุที่ทำให้เกิด ดังนี้
พักนิ้วมือเป็นระยะๆ ในระหว่างวันที่ต้องใช้มือทำงานหนักและนาน
ออกกำลังกล้ามเนื้อมือ ยืดกล้ามเนื้อฝ่ามือและนิ้วมือในท่าต่างๆ เท่าที่ทำได้ แม้จะเป็นท่าที่ไม่ค่อยได้ทำในชีวิตประจำวัน เช่น สะบัดหรือแอ่นนิ้วมือ
นวดและดูแลมือให้สะอาด เช่นเดียวกับใบหน้าและร่างกายส่วนอื่น
ระมัดระวังอย่าให้มือบาดเจ็บ ถ้ามือบาดเจ็บต้องรีบรักษา
ไม่ใช้มือทำงานผิดประเภท เช่น ฉีกเปลือกมะพร้าวหรือขุดดิน
การหมั่นเหยียดหรือยืดฝ่ามือและนิ้วมือระหว่างวัน จะช่วยให้มือผ่อนคลายและรู้สึกสบายมือ
ท่าออกกำลังนิ้วมือ ดังรูปภาพ ได้ค้นหาเพิ่มเติมจาก.http://doctor.or.th ดังนี้
217-00620pic1

ท่าที่ ๑ กางนิ้วทั้ง ๕ ออกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้และหุบเข้าหากัน
ท่าที่ ๒ กำมือให้แน่นที่สุด ขณะที่หัวแม่มือกดอยู่ทางด้านนอกของนิ้วอื่น ๆ
ท่าที่ ๓ งอปลายนิ้วทั้ง ๔ ในขณะที่โคนนิ้วเหยียดตรง
ท่าที่ ๔ เหยียดนิ้วทั้ง ๔ แล้วพับหัวแม่มือไปจรดโคนนิ้วก้อย
ท่าที่ ๕ กระดกข้อมือขึ้น-ลงให้ได้มากที่สุด
ท่าที่ ๖ข้อมือเหยียดตรง พยายามเอียงมือมาทางด้านหัวแม่มือให้มากที่สุด สลับเอียงมาทางนิ้วก้อย
นอกจากท่าบริหารดังกล่าวแล้ว ควรบริหารเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของนิ้วให้มากขึ้น ดังนี้

217-00620pic21

ท่าที่ ๑ นำดินน้ำมันมาคลึงเป็นแท่งยาวประมาณ ๔ นิ้วแล้วต่อให้เป็นวงกลม นำมาคล้องบนนิ้วชี้และนิ้วกลาง จากนั้นพยายามกางนิ้วดันดินน้ำมันให้ขาด ทำ ๕-๑๐ ครั้ง ทำสลับข้าง
ท่าที่ ๒ คลึงดินน้ำมันเป็นแท่งกลมยาวประมาณ ๓ นิ้วและเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ นิ้ว วางดินน้ำมันบนฝ่ามือแล้วพยายามกำให้แน่นที่สุด ทำ ๕-๑๐ ครั้ง ทำสลับข้าง
ท่าที่ ๓ คลึงดินน้ำมันเป็นแท่งกลมยาวประมาณ ๓ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้ว วางไว้ตรงโคนนิ้วทั้ง ๔ แล้วงอปลายนิ้วทั้ง ๔ กดลงบนดินน้ำมัน ทำ ๕-๑๐ ครั้ง ทำสลับข้าง
ท่าที่ ๔ คลึงดินน้ำมันเป็นก้อนกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้ว วางไว้ตรงโคนนิ้วก้อย แล้วพยายามงอนิ้วหัวแม่มือกดไปบนดินน้ำมัน ทำ ๕-๑๐ ครั้ง ทำสลับข้าง
ท่าที่ ๕ คลึงดินน้ำมันเป็นก้อนกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ นิ้ว กำแล้วกระดกข้อมือขึ้น-ลง ทำ ๕-๑๐ ครั้ง ทำสลับข้าง
ท่าที่ ๖ กำดินน้ำมันเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ นิ้วในขณะห้อยแขนข้างลำตัว แล้วกระดกข้อมือไปทางด้านหัวแม่มือและนิ้วก้อยทำ ๕-๑๐ ครั้ง ทำสลับข้าง
ท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโชคดี ปราศจากนิ้วล็อกค่ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร